Crew Demo-2 ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สำเร็จ ส่งนักบินอวกาศขึ้นวงโคจรจากอเมริกาครั้งแรกในรอบ 9 ปี

บ่ายที่สดใสของวันที่ 30 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่นที่แหลมแคนาเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเวลาตีสองยี่สิบสองนาทีตามเวลาไทย จรวด Falcon 9 ได้ทะยานจาก Launch Complex 39A Kennedy Space Center นำยานอวกาศ Crew Dragon พาสองนักบินอวกาศคุณ Doug Hurley และคุณ Bob Behnken แห่งภารกิจ Crew Demo-2 ไปสู่บนวงโคจรได้สำเร็จ ยาน Crew Dragon ลำนี้จะโคจรไป Rendezvous กับสถานีอวกาศนานาชาติและจะทำการเชื่อมต่อกับอแดปเตอร์​ PMA-2 บนโมดูล Harmony ในอีกไม่กี่ชั่วโมง

อ่านบทความสรุปภารกิจ – สรุปทุกข้อมูล Crew Dragon Demo 2 เที่ยวประวัติศาสตร์ ที่พาอเมริกันกลับสู่อวกาศ

จรวด Falcon 9 บนฐานปล่อย LC-39A ที่มา – NASA/Joel Kowsky

การแคนเซิลการปล่อยครั้งแรก: เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ภารกิจ Crew Demo-2 ได้มีการลองปล่อยครั้งแรก โดยอยู่ถึงขั้นที่ได้คำสั่ง GO for launch จาก ground control แล้ว แต่ก็ได้ถูกยกเลิกในเวลา T-16.53 นาที เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดพายุและฟ้าผ่าน ซึ่งขัดต่อมาตรการด้านความปลอดภัยของ NASA

บทความ: Crew Demo-2 เลื่อนการปล่อยในนาทีที่ 16 ก่อนปล่อย เนื่องจากสภาพอากาศ ปล่อยอีกครั้งวันเสาร์

นักบินอวกาศยืนมองลงมาจากฐานปล่อยและหอที่ถูกดัดแปลงมาจากยุคกระสวยอวกาศ ทางเดินสีขาวที่นำไปสู่ตัวยาน Dragon 2 ได้ออกแบบล้อกับสีขาวดำของจรวด Falcon 9 ที่มา – NASA/Joel Kowsky

เมื่อเช้าวันที่ผ่านมา อากาศบริเวณพื้นที่ก็ยังไม่ค่อนแตกต่างจากวันที่ 28 เท่าไหร่ สามารถสังเกตได้ว่ายังมีเมฆครึ้ม และความเสี่ยงที่จะเกิดฝนตกและฟ้าผ่า โดยทาง Jim Bridenstine ก็ได้ทวิตว่ามีโอกาสที่จะปล่อยหรือแคนเซิลอยู่ที่ 50-50

เช่นเดียวกับในครั้งที่ผ่านมา คุณ Doug Hurley และคุณ Bob Behnken ได้ทำการแต่งตัวและนั่งรถ Tesla Model X ที่ถูกดัดแปลงพิเศษไปที่ฐานปล่อย ทั้งคู่ได้เข้าไปอยู่ในตัวยานและปิด Hatch ที่เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ๆ ก่อนการปล่อย

Doug Hurley และ Bob Behnken เดินทางขึ้นรถ Tesla Model X เพื่อไปยังฐานปล่อย ที่มา – NASA/Joel Kowsky

หลังจากนั้นฟ้าได้เริ่มเปิดมากขึ้นในระดับที่ Weather is a go for launch ในช่วงชั่วโมงก่อนการปล่อย (แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะถูกยกเลิกได้อยู่หากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น)

หลังจากนักบินอวกาศเข้าไปในตัวยานเรียบร้อยแล้ว ได้เริ่มมีการเติมเชื้อเพลิงเข้าไปในตัวยาน (ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ เพราะเมื่อก่อน NASA จะไม่อนุญาตให้เติมเชื้อเพลิงในยานอวกาศขณะที่มีนักบินอยู่เนื่องจากสาเหตุด้านความปลอดภัย แต่ SpaceX ได้มีการพัฒนาระบบด้านความปลอดภัยและ LES ขึ้นทำให้กฎข้อนี้ได้รับการอนุโลม) สะพานเชื่อมตัวยานได้แยกตัวออกมาในช่วง 43 นาทีก่อนการปล่อย หลังจากนั้นจนช่วงประมาณ 10 นาทีก่อนการปล่อย เชื้อเพลิงก็ได้เติมสู่ตัวยานจนเสร็จ

ทีมในห้อง Control Room กำลังดูรายละเอียดและเช็คสถานะการปล่อยในขณะที่นักบินทั้งสองถูกนำเข้าสู่ตัวยาน ที่มา – ที่มา – NASA/Joel Kowsky

T-45 Seconds: SpaceX Go For Launch: 45 วินาทีก่อนการปล่อย การตัดสินใจ Go For Launch ครั้งสุดท้ายได้ถูกตัดสินใจจาก Ground Control โดยหลังจากนั้นแล้วหากมีการยกเลิกจะถูกตัดสินใจโดยระบบคอมพิวเตอร์

God speed Bob and Doug

จรวด Falcon 9 ได้เริ่ม Ignition Sequence บินขึ้นจากพื้นดิน กลายเป็นจรวดที่พามนุษย์ไปสู่อวกาศจากแผ่นดินของสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในรอบ 9 ปีตั้งแต่การจบไปของโครงการ Space Shuttle โดยในช่วงหลังจากนั้น สหรัฐได้ใช้วิธีซื้อตั๋วของจรวด Soyuz ของรัสเซียในการขึ้นไปแทน

ยาน Dragon 2 และจรวด Falcon 9 เดินทางขึ้นจากฐานปล่อย LC-39A ณ Kenedy Space Center สร้างประวัติศาสตร์การปล่อยนักบินอวกาศสู่อวกาศอีกครั้งหลังห่างหายมา 9 ปีเต็ม ที่มา – ที่มา – NASA/Joel Kowsky

หลังจากการปล่อยจรวด Falcon 9 ได้ผ่านจุด MECO (Main Engine Cut Off), ผ่านเส้น Karman Line ที่เป็นเส้นแบ่งเขตอวกาศ, 1st Stage Separation (โดยมันก็ได้กลับลงมาจอดบน Of Course I Still Love You ที่รออยู่ในทะเลได้สำเร็จ), SECO (Second Engine Cut Off), 2nd Stage Separation และ Deploy ได้ในช่วง T+12 นาที มันจะโคจรอยู่รอบโลกและเตรียม Rendezvous และ Dock กับ PMA-2 บนโมดูล Harmony ในอีกประมาณ 19 ชั่วโมงข้างหน้า

นักบินอวกาศทั้งสองและหน้าจอสัมผัสในยาน สร้างมาตรฐานใหม่ของการออกแบบยานอวกาศ ที่มา – NASA/Joel Kowsky

การปล่อยจรวดครั้งนี้นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการสำรวจอวกาศโดยเฉพาะในด้าน Space Commercialization เริ่มทำให้บริษัทเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสำรวจอวกาศ และด้วยอำนาจของทุนนิยมที่จะทำให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้นจนมีการพัฒนาเทคโนโลยีทีรวดเร็วและมีราคาที่ต่ำลง หลังจากนี้เราจะได้เห็นการไปอวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นอย่างแน่นอน

อ่านบทความสรุปภารกิจ – สรุปทุกข้อมูล Crew Dragon Demo 2 เที่ยวประวัติศาสตร์ ที่พาอเมริกันกลับสู่อวกาศ

เรียบเรียงโดยทีมงาน Spaceth.co

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้