เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา ทีมงานมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุม Press Conference ร่วมกับ European Space Agency หรือ ESA และบริษัท Airbus Defence and Space ในหัวข้อเรื่อง European Service Module ที่จะถูกใช้ในโครงการ Artemis ซึ่งเป็นโครงการที่จะพามนุษยชาติเดินทางไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2024 นี้และบุกเบิกเส้นทางสู่การเดินทางไปยังดาวอังคารในอนาคต
ก่อนที่เราจะพูดถึงเนื้อหาของการประชุม ที่มาของ European Service Module ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ที่มาของ European Service Module (ESM)
เราอาจจะได้ยินกันคุ้นหูแล้วว่าในภารกิจ Artemis เราจะใช้ยาน Orion พร้อมกับจรวด Space Launch System หรือ SLS ของ NASA ในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ แล้ว European Service Module หรือ ESM มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมอยู่ ๆ จึงจะเข้ามามีบทบาทในโครงการ Artemis ในขณะที่เรามี Orion แล้ว
โครงการ Artemis นั้นเป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติที่มีเป้าหมายจะพาความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลกพามนุษย์ไปยังดวงจันทร์ การที่มันเป็นโครงการนานาชาติหมายความว่าส่วนประกอบของโครงการทั้งหมดไม่ได้มาจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง กลับเป็นแต่ละหน่วยงานร่วมด้วยช่วยกันออกแบบ พัฒนา วิจัยและผลิตแต่ละชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องใช้ในโครงการ ต่างจากยุค Apollo โดยสิ้นเชิงที่ NASA เป็นผู้รับผิดชอบต่อการดำเนินงานแต่เพียงผู้เดียว
เมื่อเทียบกับยุค Apollo ยาน Apollo ก็สามารถแบ่งได้เป็นสองส่วนซึ่งก็คือ Command Module (CM) และ Service Module (SM) โดยที่ CM ก็คือยานบังคับการซึ่งนักบินอวกาศใช้ในการอยู่อาศัย ควบคุมและนำทางยานไปยังดวงจันทร์ และยังใช้ในการเชื่อมต่อยานเข้ากับ Lunar Module (LM) ซึ่งเป็นยานไว้ใช้ลดระดับลงสู่ดวงจันทร์ ส่วน SM เป็นส่วนของยาน Apollo ที่ Unpressurized ประกอบไปด้วยถังเชื้อเพลิง ถังออกซิเจน เสาวิทยุสื่อสาร ระบบขับเคลื่อน ระบบแปลงวงโคจร (Attitude Control and Translational Capability) และ Fuel cells นอกจากนี้ยังสามารถเอาไว้ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย เมื่อ CM และ SM รวมกัน มันจึงเป็นยานอวกาศโดยสมบูรณ์แบบจึงเรียกร่วมกันว่า Command and Service Module หรือ CSM นั่นเอง
ในโครงการ Artemis เราก็ต้องมีสิ่งที่ใช้ทำหน้าที่แบบเดียวกับ CSM เช่นกัน และชื่อของมันก็คือ Orion Multi-Purpose Crew Vehicle หรือ Orion MPCV แยกได้เป็นสองส่วนแบบเดียวกับยาน Apollo เช่นกันซึ่งก็คือ Crew Module เทียบกับ Apollo มันก็คือ Command Module และ European Service Module (ESM) เทียบกันก็คือ Service Module ของ Apollo นั่นเอง
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ESM ก็ทำหน้าที่เดียวกับ SM ของ Apollo นั่นเอง แค่คนละผู้ผลิตและออกแบบ และ ESM ก็ไม่ได้ถูกสร้างมาตั้งแต่จากกระดาษ แต่ใช้การออกแบบเก่านำมาปรับปรุงใหม่ โดยยืนต้นแบบจากยาน ATV (Automated Transfer Vehicle) ของ ESA ซึ่งเป็นยานขนเสบียงวงโคจร LEO สำหรับขนส่งสิ่งของไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่ง ATV เป็นยานแบบ Expendable หรือไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้นั่นเอง เพราะว่ามันจะถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศพร้อมกับของเสียต่าง ๆ จาก ISS ด้วยการบังคับให้ยานกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยมุมชัน
ATV นั้นมีขนาดที่ใหญ่กว่ายานขนส่งของรัสเซียอย่าง Progress เป็นอย่างมาก โดยสามารถบรรจุเสบียงได้มากกว่า Progress ถึง 3 เท่า และยังสามารถขนแก๊สที่จำเป็นต้องใช้บน ISS ได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเดินทางถึง ISS แล้วมันยังมีเชื้อเพลิงเหลือพอที่จะใช้ในการ Re-boost ISS ขึ้นไปยังวงโคจรที่สูงขึ้นซึ่งเรียกว่า Station Keeping Maneuver ได้อีกด้วย
และที่ทำให้ ATV นั้นพิเศษกว่ายาน Progress หรือยานขนส่งอื่น ๆ ก็คือระบบการนำทางของ ATV แทบจะเป็นระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ หลังจากแยกตัวออกจากจรวด Ariane 5 หลังปล่อยเรียบร้อยแล้ว ATV จะสามารถคำนวณเวลาถึงจุดนัดพบกับ ISS และปรับวงโคจรเพิ่มระดับให้เท่ากับ ISS ได้อัตโนมัติ หลังจากนั้นระบบ GPS และ Astronavigation ของมันพร้อมกับ Telemetry contact กับ ISS จะนำทาง ATV ไปยังจุด Rendezvous และเริ่มการเชื่อมต่อแบบอัตโนมัติกับ ISS วิศวกรสามารถควบคุมแบบ Manual ได้หากจำเป็น
จากความสามารถที่หลากหลายเหล่านี้ทำให้ ATV ได้รับการรับรองให้เป็น Human-rated แต่แรก เพียงแต่ ESA ไม่ได้ใช้ ATV ในการขนส่งนักบินอวกาศไปยัง ISS ทำให้ ESA และ Airbus Defence and Space ร่วมกัน Propose การพัฒนายาน ATV ให้เป็น Crewed Spacecraft ในปี 2008 แต่โครงการพัฒนาดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธและ ESA ก็ประกาศยกเลิกโครงการ ATV ในปี 2012 อย่างไรก็แม้จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตามแต่การออกแบบของ ATV นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการใช้ร่วมกันยาน Orion ของ NASA ที่กำลังพัฒนาอยู่ ESA จึงเสนอการใช้แบบของ ATV ร่วมกับยาน Orion
ในปี 2013 ESA และ NASA ประกาศจะร่วมกันพัฒนายาน Orion พร้อม Service Module แบบใหม่ที่จะใช้ต้นแบบจากยาน ATV ซึ่ง Service Module ใหม่ดังกล่าวก็คือ European Service Module ในวันนี้นั่นเอง
ซึ่งก่อนที่ ESA และ NASA จะร่วมมือกันกับ ESM อย่างเป็นทางการ ESA ได้จัดทำสัญญามูลรวมกว่า 470 ล้านบาทให้กับ Airbus บริษัทพัฒนาและผลิตอากาศยานอย่าง Airbus A320 ที่เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมการบินปัจจุบัน เพื่อให้ Airbus วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อพัฒนา ESM ด้วยต้นแบบจากยาน ATV ซึ่งหลังจากการเปิดโครงการ ESM ในปี 2014 ESA ก็ได้มอบสัญญาพัฒนาและผลิต ESM มูลค่ากว่า 14,657 ล้านบาทให้กับ Airbus Defence and Space หน่วยงานลูกของ Airbus
ก่อนหน้านี้ Service Module ของยาน Orion ถูกออกแบบมาพร้อมกับแผงโซลาร์เซลล์แบบวงกลมจนกระทั่งการเข้ามามีส่วนร่วมของ ESA และ Airbus ซึ่งใช้ดีไซน์ของยาน ATV ที่มีแผงโซลาร์เซลล์แบบแผ่นพร้อมกับ Configuration รูปตัว X แทนทำให้ ESM มีหน้าตาแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้ โครงสร้างหลักของยานใช้ Aluminium-lithium alloy ในการสร้าง
นอกจากนี้ Lockheed Martin ซึ่งเป็นผู้ผลิต Crew Module ของยาน Orion ยังใจดีสร้าง Adapters สำหรับเชื่อมต่อ ESM เข้ากับ CM และ SLS ให้ด้วย
เมื่อเปรียบเทียบยาน Orion กับ Apollo CSM แล้วพบว่า ESM สามารถผลิตพลังไฟฟ้าได้มากกว่า Apollo ถึง 2 เท่า (ESM: 11.2 kW / Apollo: 6.3 kW) และยังเบากว่าอีกด้วยเมื่อเทียบน้ำหนักพร้อมเชื้อเพลิง (ESM: 15,461 kg / Apollo: 24,520 kg) ในขณะที่มีขนาดตัวยานเท่า ๆ กัน ในส่วนของ Crew Module ESM มีขนาดใหญ่กว่า CM ของ Apollo ถึง 45% (ESM: 8.96 ตารางเมตร / Apollo: 6.17 ตารางเมตร) อย่างไรก็ตาม ESM มีเชื้อเพลิงสำหรับการปรับวงโคจรน้อยกว่า Apollo CSM 50% (ESM: 8,600 kg / Apollo: 18,584 kg) โดย ESM สามารถรองรับการอยู่อาศัยของนักบินอวกาศได้นานสูงสุดที่ 21 วัน (4 คน) ในขณะที่ Apollo สามารถรองรับได้เพียง 14 วัน (3 คน)
European Service Module จะถูกใช้ในภารกิจ Artemis ตั้งแต่ Artemis I (2021) ไปจนถึง Artemis VI (2027)
การประชุม Press Conference วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2021
ทีมงาน Spaceth.co ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม Press Conference ในฐานะ Press ของประเทศไทยเพื่อร่วม Virtual tour และ Q&A Session กับ ESA และ Airbus Defence and Space เรื่อง European Service Module ซึ่งมีนักข่าวรับเชิญจากหลาย ๆ ประเทศเข้าร่วมด้วยกว่า 70 คน และเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ใน Session การตอบคำถามนั้น Press แต่ละคนจะสามารถถามคำถามกับทาง ESA และ Airbus ได้อย่างอิสระซึ่งผู้ที่จะตอบคำถามก็คือ Director จากแต่ละหน่วยงานซึ่งเป็นผู้ที่คลุกคลีกับโครงการเหล่านี้โดยตรง อย่างเช่น
- Johann-Dietrich “Jan” Wörner – ผู้อำนวยการ European Space Agency
- Alexander Gerst – นักบินอวกาศสัญชาติเยอรมนีในภารกิจ “Blue Dot” Expedition 40/41 และ Expedition 56/57 บน ISS
- David Parker – ผู้อำนวยการภาค Human and Robotics Exploration ของ ESA
- Liver Schmidt – Network Specialist จาก Airbus Defence and Space
คนเหล่านี้แม้จะมีตำแหน่งสูงระดับ Chief/Director แต่ก็มีความรู้ความเข้าใจในงานที่พวกเขาทำอย่างลึกซึ้งและสามารถตอบคำถามจาก Press ได้อย่างชัดเจน แน่นอนว่าเราก็ได้ฟังคำถามจาก Press นานาชาติและคำตอบจาก ESA และ Airbus มาเช่นกันและเราจะมาสรุปรวม ๆ กันว่า Press ถามอะไรไปบ้าง
ใน Q&A Section คำถามแรกจาก Press ถึง ESA ก็คือ
“การเปลี่ยนผ่านอำนาจ (Change of Administration) จากการบริหารของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ไปยังคณะบริหารของประธานาธิบดี Joe Biden ในปัจจุบันจะส่งผลต่อโครงการ Artemis อย่างไร”
ซึ่งถือเป็นคำถามที่ดีมากเพราะเคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตซึ่งเป็นการเปลี่ยนคณะบริหารจากอดีตประธานาธิบดี George W. Bush ไปยังอดีตประธานาธิบดี Barack Obama
ทันที Obama เข้ารับตำแหน่งในปี 2009 เขาก็แต่งตั้ง Augustine Committee เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ Constellation ที่จะพามนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2020 ซึ่งหลังจากการประเมินพบว่าโครงการ Constellation นั้นใช้งบประมาณเยอะเกินไปแต่กลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เลย Obama จึงสั่งถอนงบประมาณโครงการออกจากปีงบประมาณ 2011 และลงนามใน NASA Authorization Act of 2010 ยกเลิกโครงการ Constellation อย่างเป็นทางการ เหลือไว้เพียงแค่ Space Launch System และยาน Orion
จึงมีความเป็นไปได้ที่ Joe Biden อาจจะทำแบบเดียวกันกับโครงการ Artemis ซึ่งทาง ESA ก็ให้คำตอบมาว่าเพราะเขาเป็น ESA ซึ่ง Base in ยุโรปจึงไม่สามารถให้คำตอบได้มาก อย่างไรก็ตามโอกาสที่โครงการ Artemis จะถูกยกเลิกนั้นน้อยมากเพราะว่าความคืบหน้าของโครงการนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก และโครงการ Artemis เป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติ ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดต้องแบกรับภาระโครงการไว้คนเดียว จึงช่วยแบ่งเบาโอกาสทีโครงการ Artemis จะล่าช้าจนถูกยกเลิกได้นั่นเอง
“การส่งมอบอุปกรณ์ให้กับ NASA เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมาสำคัญอย่างไร”
ESA ก็ได้ตอบว่า European Service Module ลำแรกนั้นสร้างเสร็จพร้อมกับทดสอบเรียบร้อยแล้วจึงส่งมอบให้กับ NASA ทันทีเพื่อให้ NASA ทำการตรวจสอบสภาพของยานและรับรองการส่งมอบก่อนที่จะนำไปทำ Launch Preparations พร้อมกับ Orion Crew Module นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ Propulsion Qualification Model สำหรับการทดสอบในยาน Orion ตัวเต็มเพื่อทดลองว่าระบบ RCS (Reaction Control System) นั้นสามารถทำงานรวมกับตัวยานได้นั่นเอง
“เครื่องยนต์ของ European Service Module ในอนาคตจะเป็นเครื่องยนต์ของยุโรปหรือไม่”
ต้องเกริ่นก็ว่าเครื่องยนต์ของ ESM ที่จะใช้ในโครงการ Artemis 1 นั้นเป็นเครื่องยนต์จาก Orbital Maneuvering System (OMS) ของกระสวยอวกาศ เครื่องยนต์ AJ10-190 ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้วกว่า 19 ภารกิจ เป็นการจุดเครื่องยนต์กว่า 89 ครั้งนั่นเอง ทาง ESA ได้ให้คำตอบว่ายังไม่มีแผนที่ชัดเจนเพียงแต่ AJ10-190 จะถูกใช้ไปในภารกิจ Artemis I ก่อนเท่านั้น ในภารกิจหน้าอาจจะเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ AJ10-118k ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ใน Second Stage ของจรวด Delta II ที่เบากว่าและมีกำลังขับสูงกว่า
ทำไมจึงไม่ปรับปรุงยาน ATV และจรวด Ariane 5 ให้เป็น Human-rated แต่แรก
เพราะว่ามันแพงและไม่จำเป็นประกอบกับงบประมาณของเราในตอนนั้นไม่รองรับการปรับปรุง Launch System อย่าง ATV และ Ariane 5 ถึงทั้งสองอย่างจะปลอดภัยสำหรับ Human-rated แต่แรกอยู่แล้ว แต่การปรับปรุงด้วยดีไซน์เดิม Launch System แบบเดิมจากที่ใช้ขนเสบียงมาเป็นยานสำหรับนักบินอวกาศนั้นท้าทายพอสมควร ESM จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าโดยเฉพาะที่มันถูกออกแบบมาใหม่พร้อม ๆ กับ SLS และ Orion ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาตาม ๆ กันนั่นเอง
ในคำถามต่อ ๆ มาเป็นคำถามที่เกี่ยวเนื่องกันจึงขอสรุปคำตอบจากทาง ESA ไว้ทีเดียวดังนี้
การกลับไปดวงจันทร์ในปี 2024 ซึ่งเป็นภารกิจ Crewed Mission ภารกิจแรกที่ ESA มีส่วนร่วมอาจเป็นไปได้ยากเพราะเหตุใด
ประสบการณ์ทำงานใน NASA-driven programs เป็นอย่างไรบ้าง ในอนาคตจะมีการร่วมมือกับองค์การอวกาศในประเทศอย่าง รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น หรือไม่
ในอนาคตเป็นได้หรือไม่ที่ ESA และ EU จะมีโครงการอวกาศเป็นของตัวเองที่พามนุษย์ไปดวงจันทร์หรือดาวอังคาร
ESA ได้ให้คำตอบว่าทุน ESA นั้นไม่ได้หนาขนาดนั้น ESA เองเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็น Intergovernmental organization ที่มีสมาชิกเป็นประเทศ 22 ประเทศ งบประมาณต่าง ๆ จึงมาจากหลาย ๆ ประเทศ และงบประมาณที่ได้มาจากหลาย ๆ ประเทศเป็นงบประมาณร่วมกันและก็เน้นการใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีร่วมกันด้วย อย่างไรก็ตามงบประมาณดังกล่าวไม่ได้เยอะเหมือน NASA ที่มีทุนหนากว่ามาก ESA มีงบประมาณรายปีเพียงประมาณ 240,000 ล้านบาท ในขณะที่ NASA นั้นมีงบประมาณรายปีถึง 680,000 ล้านบาท มากกว่าเกือบ 3
อย่างไรก็ตามถึง ESA จะมีรายได้ตั้ง 1 ใน 3 ของ NASA ก็น่าจะทำภารกิจแบบ NASA ได้ซัก 1 ใน 3 ของ NASA เช่นกัน แต่อย่าลืมว่า ESA เป็นหน่วยงานนานาชาติที่มีหลายประเทศเข้าร่วม แต่ละประเทศที่สนับสนุน ESA แน่นอนว่าก็ต้องอยากได้ประโยชน์จากการสนับสนุนเช่นกัน ประโยชน์ที่เรากำลังพูดถึงคือความร่วมมือในโครงการอวกาศต่าง ๆ
โครงการอวกาศส่วนใหญ่ของ ESA จะเป็นการร่วมมือกันระหว่าง ESA กับหน่วยงานอวกาศของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งจะเป็นประเทศใน EU หรือประเทศสมาชิก ESA ก็ได้เช่นกัน อย่างเช่นโครงการ COROT ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ESA และ CNES ซึ่งก็คือหน่วยงานอวกาศของฝรั่งเศสที่เป็นสมาชิกของ ESA ด้วยเช่นกัน และหลาย ๆ ประเทศใน ESA ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีองค์การอวกาศเป็นของตัวเอง เช่น DLR ของเยอรมนี ทำให้งบประมาณที่ดูเหมือนจะเยอะนั้น จริง ๆ แล้วก็ถูกลดทอนลงไปมากเพราะต้องเน้นการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ต่างจาก NASA ที่เป็นหน่วยงานอิสระ (Independent agency) มีงบเป็นของตัวเอง จัดการงบได้อย่างอิสระ
ในโครงการ Artemis ซึ่งเป็น NASA-driven programs ที่ ESA มีส่วนร่วมก็เป็นความร่วมมือจากนานาประเทศใน ESA เช่นกัน และเราไม่อยากใช้คำว่าเรากำลังจะ “กลับ” ไปดวงจันทร์ แต่เรากำลังมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ต่างหาก เพราะ Artemis นั้นไม่ใช่ Apollo เมื่อ 50 ปีก่อน โครงการ Apollo เป็นโครงการที่ NASA ทำแต่เพียงผู้เดียวจึงอาจไม่สามารถพูดได้ว่าเรากำลังกลับไป เพราะเรายังไม่เคยไป แต่ Artemis กำลังจะเป็นโครงการแรกที่เกิดจากความร่วมมือกับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกไม่ใช่แค่ NASA ไม่ใช่แค่ ESA อีกต่อไป เรากำลังจะพามนุษยชาติไปดวงจันทร์อย่างแท้จริง
ถึงแม้เราจะเน้นการร่วมมือกับชาติตะวันตกก็ตามเราก็ไม่ได้ร่วมมือแค่กับ NASA เรายังร่วมมือกับประเทศใน Asia อย่าง รัสเซีย จีน และญี่ปุ่น อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นสถานีอวกาศนานาชาติหรือ Lunar Gateway ของโครงการ Artemis ในอนาคตนั้น ESA และ EU ก็อาจจะมีโครงการอวกาศแบบ Artemis เช่นกัน เพราะเหตุผลที่ประเทศเหล่านี้สนับสนุนงบประมาณก็เพื่อที่จะส่งประเทศยุโรปไปยังอวกาศเช่นกัน Artemis คือก้าวแรก ไปดวงจันทร์ภายในปี 2024 มันยาก แต่มันเป็นไปได้ และเราเชื่อว่าภายในปี 2025 หรือไม่ก็ 2026 เราจะมีมนุษย์อยู่บนดวงจันทร์แน่นอน และพวกเขาอาจจะเป็นชาวยุโรป
อุตสาหกรรมอวกาศสำคัญอย่างไรต่อ Cologne area
Cologne area (อ่านว่า โคโลญ) ผู้เขียนซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ฟังครั้งแรกโดยเฉพาะใน Press Conference ก็จะอิหยังวะหน่อย
Cologne area คือ เมืองในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นที่ตั้งของ DLR German Aerospace Center ซึ่งเป็นหน่วยงานอวกาศของประเทศเยอรมนี เยอรมนีก็เป็นประเทศใน ESA เช่นกัน นอกจากนี้ DLR ยังร่วมมือกับ ESA ในหลาย ๆ โครงการอีกด้วย เช่น โครงการนักบินอวกาศที่คนสัญชาติเยอรมนีก็สามารถเป็นนักบินอวกาศให้กับ ESA ได้ อย่างคุณ Alexander Gerst นักบินอวกาศสัญชาติเยอรมนีที่ขึ้นไปเป็นลูกเรือของ ISS ถึง 2 Expeditions ซึ่งก็อยู่ในการประชุมด้วย ไม่จำกัดเพียงแค่ DLR เท่านั้น สัญชาติอื่นใน ESA ก็สามารถเป็นนักบินอวกาศให้กับ ESA ได้เช่นกัน
ESA มีท่าทีต่อ Space Democratization ในโครงการอวกาศอย่างไร
คำถามนี้เป็นคำถามสุดท้ายของการประชุมในครั้งนี้และเป็นคำถามจากทางทีมงาน Spaceth.co เองซึ่งเราเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ Space Democratization มาแล้วสามารอ่านได้ที่นี่ Democratizing Access to Space อวกาศเป็นของราษฎรและมนุษยชาติ
ซึ่งทาง David Parker ผู้อำนวยการภาค Human and Robotic Exploration ของ ESA ก็ได้ให้คำตอบว่า ESA ทำงานร่วมกับ Private Sector อยู่แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือเราทำงานร่วมกับ Airbus และ Airbus Defence and Space และยังมีความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานเอกชนหน้าใหม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการหลาย ๆ อย่างของ ESA ได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการวางตัวที่ดีมาก ถึงทรัพยากรที่ ESA มีจะไม่ได้มาก แต่ ESA อาศัยความร่วมมือกับหลาย ๆ ภาคส่วนเพื่อทดแทนส่วนที่ตัวเองไม่มี อย่างเช่นงบประมาณที่ไม่ได้มาก และยังเป็นการเปิดให้ประเทศที่สนับสนุน ESA 22 ประเทศ ซึ่งบางประเทศไม่มีหน่วยงานอวกาศเป็นของตัวเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศได้
ยังมีอีกหลายคำถามมาก ๆ ที่เราไม่ได้พูดถึงในบทความนี้ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่น่าสนใจเช่นกัน และทาง ESA และ Airbus ก็ตอบคำถามจาก Press ได้ดีมากเช่นกัน รวมถึงความเอาใจใส่ของตัวแทนจาก ESA และ Airbus ซึ่งเป็นถึงระดับผู้อำนวยการระดับหัวหน้าต่อ Press ที่เข้าร่วมการประชุมก็ทำให้ Press ที่เข้ามาถามคำถามรู้สึกสบายใจที่จะถามคำถามอะไรก็ได้ใน Q&A Session เขาสามารถตอบได้หมด และหากขาดตกข้อมูลตรงไหนก็จะมีคนเสริมให้ตลอด นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ Press คนหนึ่งขอให้ตอบคำถามของเขาเป็นภาษาเยอรมันให้หน่อยเพราะอาจจะไม่คล่องภาษาอังกฤษ ทางคุณ Alexander Gerst ซึ่งเป็นคนเยอรมันอยู่แล้วก็จัดให้ทันที ถือว่าเป็น Press Conference ที่ดีมากครั้งหนึ่งเลย
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง