มีนาคม 2019 บรรยากาศ ณ ริมแม่น้ำชาร์ล เมืองเคมบริดจ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผมมีโอกาสได้ร่วมงานอวกาศที่แปลกว่าที่เคยเข้าร่วมมาที่ MIT Media Lab แหล่งกำเนิดของนวัตกรรมหลาย ๆ ต่างบนโลกใบนี้ ตั้งแต่จอ Touch Screen ไปจนถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Device) งานนี้ชื่อว่า Beyond the Cradle ซึ่งตั้งมาจากคำพูดของ Konstantin Tsiolkovsky นักบุกเบิกจรวดชาวรัสเซียที่เปรียบเทียบ “โลก” เป็นเหมือน “เปลเด็ก”
Ariel Ekblaw ผู้ก่อตั้ง Space Exploration Initiative ใน MIT Media Lab พูดถึงอวกาศในแง่มุมที่น้อยคนอาจจะเคยได้ยิน เธอเรียกสิ่งนี้ว่า “Democratizing Access to Space” ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีคำไทยคำไหนถูกนำมาอธิบายได้ แต่ถ้าจะลองเทียบดู มันก็อาจะพูดได้ว่า ทำให้อวกาศเป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็ดูงงไปอีกว่าคืออะไร เลือกตั้งเหรอ ? ซึ่งในตอนนี้ เราจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจแนวคิดเรื่อง Democratizing Access to Space กัน
ในเราลองนึกภาพในสมัยสงครามเย็น ในตอนที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแข่งขันกันส่งมนุษย์ลงจอดบนดวงจันทร์เพื่อชิงความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยี ในตอนนั้นอวกาศเป็นเหมือนสังเวียนสำหรับชาติมหาอำนาจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ในปี 2020 จีนได้ส่งยานฉางเอ๋อ 5 ไปลงดวงจันทร์พร้อมกับปักธงของจีน ซึ่งนับว่าเป็นธงชาติที่ 2 ที่ถูกปักลงบนดวงจันทร์ (สหภาพโซเวียต ใช้วิธีการประกาศความยิ่งใหญ่ด้วยการบรรเลงเพลงชาติโซเวียตบนดวงจันทร์แทน) สิ่งนี้ยิ่งทำให้เรายิ่งต้องมาพูดถึงเรื่องของ Democratization กันมากขึ้น
แน่นอนว่าเดิมมีอวกาศนั้นถูกใช้งานในเชิงอำนาจเป็นหลัก แต่ถ้าเราสังเกตดูสิ่งที่ได้ตามมา ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นผลพลอยได้ แต่จริง ๆ แล้วการสำรวจอวกาศให้อะไรกับเรามากกว่าแค่นัยทางการเมือง ในทางปรัชญา การสำรวจอวกาศทำให้ Carl Sagan ได้นำภาพถ่าย Pale Blue Dot มาเตือนใจคนทั้งโลกถึงความหมายของการมีชีวิต และสันติสุขบนโลก ในทางเทคโนโลยี ผลพวงจากการผลักดันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์บนโลก ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Silicon Valley ที่เป็นต้นกำเนิดของ Tech Company ทุกวันนี้ ยังไม่นับรวมสิ่งที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวันของเราที่ล้วนแล้วมาจากเทคโนโลยีอวกาศ
อ่าน – Pale Blue Dot ภาพถ่ายที่บอกว่าดาราศาสตร์คือความอ่อนน้อมถ่อมตน
ดังนั้นถ้าเราจะมองว่า “การเข้าถึงอวกาศ” คือการเข้าถึงทรัพยากรรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ต้องเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนการขุดแร่ ทำฟาร์ม แต่องค์ความรู้ และสิ่งที่มนุษย์สังเคราะห์ได้นั้นสร้างความเปลี่ยนแปลง และนำให้มนุษย์เดินไปข้างหน้า “จะดีหรือไม่ ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงอวกาศได้” เหมือนกับที่มนุษย์ควรเข้าถึง เสรีภาพ ศิลปะ ดนตรี และปรัชญา
อย่างไรก็ดี การต่อสู้ให้ได้มาเพื่อเสรีภาพใด ๆ ในมิติของสังคม เป็นสิ่งที่ต้องบอกว่าไม่ง่ายนัก เพราะโครงสร้างทางอำนาจในสังคม ยังทำให้อวกาศเป็น “ของสำหรับรัฐฯ หรือผู้มีอำนาจอยู่” แม้ปัจจุบันเราจะมีการสำรวจอวกาศโดยเอกชน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยเอง หรือในหลาย ๆ ประเทศ ภาพของอวกาศยังคงถูกผูกติดกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานด้าน “ความมั่นคง” และ “การทหาร”
อวกาศกับโครงสร้างรัฐฯ และอำนาจ
สิ่งแรกที่เราเห็นอวกาศถูกนำไปผูกติดอย่างชัดเจนเลยคือเรื่องของโครงสร้างทางอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในสงครามเย็น หรือย้อนกลับไปไกลในยุคศาสนจักร การศึกษาวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ (ตอนนั้นเรายังมองอวกาศว่าเป็นพื้นที่บนท้องฟ้า) แม้กระทั่งการศึกษาวัตถุท้องฟ้าเองยังเป็นการถูกใช้เพื่อเสริมอำนาจให้แก่ศาสนจักร หรือแม้กระทั่งโหราศาสตร์ในไทยเอง ที่จะถูกนำมาผูกติดกับราชสำนัก ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุบนท้องฟ้ากับชนชั้นสูงนั้นดำเนินเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน
อ่าน – Eppur si muove แต่โลกก็ยังโคจรต่อไป ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล
โชคดีที่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเราได้เห็นแนวโน้มของศาสตร์ต่าง ๆ ถูกนำมาใช้ในทางสันติมากขึ้น หลังจากแนวคิดความเป็นมนุษยชาติ (Humankind) และการเข้ามาของหลักสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน (Declaration of Human Rights) อวกาศจึงถูกกระจายให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเริ่มมีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาอวกาศเพื่อสันติ หลายปัจจัยที่ชี้นำไปในทางนี้เช่น การก่อตั้งของ UNNOSA ที่ UN มาเปิดหน่วยงานเพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงอวกาศของประเทศกำลังพัฒนา หรือ Artemis According ที่ว่าด้วยเรื่องของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรบนดวงจันทร์เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษย์ เราได้เห็นการปลดล็อกกฎหมายหลายอย่างที่นำพาเอกชนเข้ามาเป็นผู้เล่นด้านอวกาศ
อ่าน – “บนนี้ไม่มีพระเจ้า” สัญญะสำคัญที่อวกาศถูกใช้เพื่อการเมือง
แม้กระทั่งในไทยเอง เราก็ได้เห็นการนำศาสตร์อย่างดาราศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือของชนชั้นศักดินาในอดีตลงมาให้คนทั่วไปได้ศึกษา มีการก่อตั้งหน่วยงานดาราศาสตร์ภาคประชาชน (แม้จะมีหลายอย่างสวนทางไปบ้าง เช่น การเพิ่มบทบาทของกองทัพด้านอวกาศ, การนำอวกาศมาโยงสัมพันธ์กับชนชั้นศักดินาอย่างไม่สมเหตุสมผลตามประวัติศาสตร์ ก็ตาม)
แต่จริง ๆ แล้วอวกาศถูกผูกติดอยู่กับอะไรมากกว่าแค่อำนาจกับรัฐฯ ที่บอกว่ามากกว่ารัฐนั้นรวมถึงการนำอวกาศไปผูกติดอยู่กับ วิทยาศาสตร์, ฟิสิกส์, วิศวกรรม, การทหาร มากกว่าอะไรอย่าง สังคม, ปรัชญา, ศิลปะ, ภาษาศาสตร์, จริยศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ อีกมากมาย
ดังนั้นอุปสรรคของการใช้อวกาศเป็นตัวขับเคลื่อนมนุษย์ ไม่ได้มีแค่การผูกติดอำนาจระหว่างรัฐกับอวกาศเท่านั้น แต่เป็นการนำอวกาศไปผูกติดกับศาสตร์ในฝั่งรูปธรรมมากเกินไปด้วย
ปัญหาการผูกติดอวกาศกับฝั่งรูปธรรมมากเกินไป
แม้เราจะก้าวข้ามการผูกขาดอวกาศในมิติทางอำนาจแล้ว ในมิติทางวิชาการเอง อวกาศนั้นยังไม่ถูกผสมเข้ากับศาสตร์อื่นอย่างหลากหลาย ข้อจำกัดการมองในแบบ Discipline ยังทำให้เรามองอวกาศและการสำรวจอวกาศในฝั่งของวิทยาศาสตร์อยู่มาก สิ่งที่เราต้องทำคือการทำลายข้อจำกัดนี้ด้วยการ เปิดโอกาสให้หลายกลุ่มความรู้ ศาสตร์ วัฒนธรรม รูปแบบสังคม แนวคิด เข้าถึงอวกาศได้อย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างความหลากหลายและอวกาศสำหรับทุกคน
ให้ลองยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมติผมพูดคำว่า “ภูเขา” “แม่น้ำ” หรือ “ทะเล” แต่ละคนก็จะมีภาพที่เห็นแตกต่างกันออกไป นักธณีวิทยาอาจเห็นความซับซ้อนของชั้นหิน นักประวัติศาสตร์อาจเห็นร่องรอยของอารยธรรมต่าง ๆ ในสถานที่นั้น ศิลปินอาจมองภูเขาและทะเลในมุมที่เป็นนามธรรม เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิด นักปรัชญาอาจตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสิ่งนั้น จะเห็นว่าทั้งหมดนี้ผูกติดอยู่แค่กับคำไม่กี่คำ แต่เราเห็นความหลากหลายทางความคิด
ทีนี้พอมาพูดกันถึงคำว่าอวกาศ การสำรวจอวกาศ มิติที่เราเห็นจะแคบลงอย่างเห็นได้ชัด เราจะมองถึงเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว มีคำถามอีกมากมายที่รอการตั้งคำถาม “เราจะปกครองแบบไหนกันบนดาวอังคาร” , “การแสดงดนตรีในสภาวะไร้น้ำหนักเป็นอย่างไร”, “เศรษฐศาสตร์แบบไหนที่จะยั่งยืนบนดวงจันทร์”, “การเดินนทางระหว่างดาวมีสัญญะอย่างไรต่อความรัก” ซึ่งทั้งหมดนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ มีคำถามแนวนี้เกิดขึ้นมาตลอด (แน่นอนว่ามันทำให้เกิดปรัชญา, Sci-fi, สัญญะต่าง ๆ) หากแต่ว่าสังคมจะเป็นอย่างไร ถ้าแนวคิดเหล่านี้ถูกนำมาพูดคุยในวงกว้างมากขึ้น ?
อ่าน – เมื่อเยาวชนก็ทำโครงการอวกาศของตัวเอง
ย้อนกลับไปในงาน Beyond the Cradle ที่ผมบอกว่า ผมได้เห็นความหลากหลายในบทสนทนาด้านอวกาศมากกว่าครั้งไหน เพราะงานนี้เป็นงานที่นักบินอวกาศ นั่งอยู่ข้าง ๆ นักภาษาศาสตร์ ข้าง ๆ ศิลปิน ข้าง ๆ นักปรัชญา ทุกคนล้วนเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาของตัวเอง แต่มีความสนใจเดียวกันคือเรื่องอวกาศ ดังนั้นเราจะได้เห็นการผสมกันข้ามศาสตร์อย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่นเสวนาของ Marc Okrand นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ที่สร้างภาษา Klingon ในภาพยนตร์เรื่อง Star Trek หรือผลงานการออกแบบชุดนักบินอวกาศโดย Neri Oxman นักออกแบบที่ผสมผสานศาสตร์ตั้งแต่ชีววิทยา ไปจนถึงวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน
แล้วเราจะสร้าง Democratizing Access to Space ได้อย่างไร
ในหัวข้อนี้ Ariel Ekblaw เอง เธอได้เขียนบทความเอาไว้บนเว็บไซต์ของ MIT Media Lab ในชื่อว่า Democratizing Access to Space เธอบอกว่าแก่นหลังในการพาทุกคนเข้าถึงอวกาศนั้นได้แก่
- ต้องทำการหลอมรวม discipline ต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านการเชื้อเชิญในมุมสร้างสรรค์ เธอเล่าว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือการไม่ปิดกั้นระหว่างสาขาและความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ สิ่งที่ปิดกั้นเรา (จากความสร้างสรรค์) คือการที่เรามีพื้นหลังมาจากฝั่งสายงานด้านวิศวกรรมและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ดังนั้นเราจึงต้องเชื้อเชิญ (เธอใช้คำว่า inviting and uniting new disciplines in our creative practice) ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ แสดงว่าเราไม่ปิดกั้นนั่นเอง
- ต้องทำการออกแบบเครื่องมือ, ประสบการณ์, การเข้าถึงอวกาศสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแค่คนบางกลุ่มหรือนักบินอวกาศ – ข้อนี้สารสำคัญก็คือ Ariel บอกว่า อวกาศ ณ ปัจจุบันยังจำกัดอยู่แค่กับคนไม่กี่กลุ่ม แต่ถ้าเราต้องการให้อวกาศเป็นเรื่องของทุกคน ประสบการณ์ การเข้าถึง จะต้องเข้าถึงได้ทุกคนจริง ๆ ผ่านข้อจำกัดด้านร่างกาย ภาษา สังคม ฐานะ ที่ผ่านมา Space Initiative ทำโครงการอวกาศที่พูดถึงตั้งแต่ ดนตรี, สุขภาพ, งานสถาปัตยกรรม ซึ่งเราต้องคิดไว้เสมอว่า ทุกคนบนโลกต้องมีพื้นที่ของเขาบนอวกาศ
- ต้องส่งเสริมโอกาสให้ไอเดียจากคนหลากหลายกลุ่มได้เข้ามาพัฒนางานของเรา ผ่านการสร้าง Community หรือเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงทรัพยากร (ข้อด้านบนคือเข้าถึงไอเดีย ข้อนี้จะต้องเข้าถึงทรัพยากรด้วย) เธอยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายมาก ๆ อันนึงคือการเกิด Cloud Computing คือทุกคนไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์แรง ๆ เป็นของตัวเอง แต่ถ้าต้องใช้งานการประมวลผลหนัก ๆ สามารถโยนข้อมูลเช้ามาประมวลในคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง และจ่ายเงินแค่เท่าที่ใช้ได้ (ทำให้ลดต้นทุนในการทำโปรเจคหนึ่งตัวได้ และเอาเวลาไปโฟกัสกับอะไรที่เป็นไอเดียหลักกว่า) ดังนั้นในอนาคต ถ้าจะต้องมีการเปิดให้เข้าถึงอวกาศ การเกิดขึ้นของ Platform สำหรับการทดลองไอเดีย
- ต้องสร้างเรื่องราวและการเฉลิมฉลองแห่งจิตวิญญาณของมนุษยชาติ (ผ่านการเล่าเรื่อง สัญญะต่าง ๆ) ข้อนี้สำคัญมาก ๆ (และผมก็เชื่อว่าเรากำลังกระหน่ำเรื่องนี้อยู่) คือการทำให้อวกาศมีความหมายเชิงจิตวิญญาณให้กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ทุกคน นับตั้งแต่อดีตผู้คนเฝ้ามองบนท้องฟ้าและตั้งคำถามเกี่ยวกับมัน วันนี้เราอยู่ในยุคที่ตัดผ่านระหว่างยุคที่ไม่มีใครเคยไปอวกาศ กับยุคที่มนุษย์กำลังจะเดินทางในอวกาศได้อย่างอิสระ ที่สำคัญเราต้องเชื่อว่าทุกสังคม วัฒนธรรม มีเรื่องราวในตัวมันเอง ให้เกียรติและเคารพ เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับทุกคน
Ariel ทิ้งท้ายบอกว่า Beyond the Cradle คืองานที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่เธอและเพื่อนที่ Space Initative อยู่ จึงเป็นการนำนักวิทยาศาสตร์ นักเขียน sci-fi นักปรัชญา นักคิด มารวมตัวกัน ซึ่งตอนนี้งานหลาย ๆ อย่างที่ Space Initative ทำอยู่ จึงไม่จำกัดแค่งานอวกาศในรูปแบบ Conventional อีกต่อไป เพราะความเป็นไปได้ในอนาคนนั้นมีอยู่มากมายเกินที่ศาสตร์ศาสตร์เดียวหรือคนกลุ่มเดียวจะจิตนตนาการได้
(และคงไม่ต้องสงสัยว่า หลังจากที่ผมเข้าร่วมงาน Beyond the Cradle และได้พูดคุยกับ Ariel จึงเป็นที่มาของภารกิจสำรวจอวกาศที่หลอมรวมเรื่องราวข้ามศาสตร์อย่าง – MESSE – Molecular Encoded Storage for Space Exploration การพัฒนา DNA Storage ที่บันทึกโน้ตดนตรีส่งขึ้นไปอวกาศเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บรักษาความรู้ของมนุษย์ในยุคที่มนุษย์ต้องเดินทางในอวกาศเป็นเวลานาน ด้วยนั่นเอง)
ดังนั้นในบทความนี้ สิ่งที่ผมอยากจะสื่อก็คือ แนวคิดเรื่องการเปิดให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การแจกจ่ายสิ่งที่มีให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม (ไม่งั้นจะกลายเป็น Space Marxism) แต่หมายถึงการไม่ปิดกั้นโอกาสในการใช้ทรัพยากรที่มีในการสร้างประโยชน์โดยรวมให้กับมนุษยชาติ ซึ่ง ณ ตอนนี้สิ่งที่เรามีก็คือแนวคิดเรื่องมนุษยชาติ และสิทธิมนุษยชน มันจึงเป็นกรอบสำคัญที่เราจะนำพาให้ศาสตร์ใด ๆ มาเอื้อประโยชน์ให้มนุษย์ดูแลกันได้ดียิ่งขึ้น
ถ้ามองกันในมิติการพัฒนา การสนับสนุนการศึกษา, การไม่ปิดกั้นทางความคิด, การให้เสรีภาพแก่ร่างกายและการแสดงออก จึงเป็น best practices ที่เราพอจะทำได้ ณ ตอนนี้ เพราะมันคือพื้นฐานที่ทำให้เกิดการสำรวจอย่างที่ว่ามานั่นเอง
บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
- จงฝากรอยเท้าไว้ในจักรวาล และฝากความคิดไว้ในความทรงจำ เพื่อชีวิตอันเป็นนิรันดร์
- เราไม่ได้สำรวจอวกาศเพื่อทิ้งโลก แต่เพื่อดูแลกันได้ดีขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในจักรวาล
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co