Climate change จะเป็นอย่างไรต่อไปในปี 2019

Climate Change หรือ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอย่างไม่เคยหยุดหย่อน ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นผลให้ชั้นบรรยากาศของโลกค่อย ๆ กักเก็บพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกโดยรวมสูงขึ้นอย่างมหาศาล

ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับการคาดการณ์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก ผลของมันนั้นรุนแรงเกินกว่าที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ จะคาดคิดถึงผลกระทบของมันได้ จนเปรียบได้ว่ามนุษย์นั้นเปรียบเสมือนมะเร็งของโลกใบนี้

โลกจะยังคงร้อนและร้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ

โลกจะยังคงร้อนอยู่เหมือนเดิม และไม่มีทีท่าว่าจะสามารถลดระดับความร้อนลงได้เลย เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์นั้นได้ปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมาและปล่อยมันสะสมอยู่ภายในชั้นบรรยากาศของโลกเรามาอย่างเนินนาน หากเราไล่ดูอุณหภูมิของโลกช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมไล่จนมาถึงปัจจุบันนี้เราจะพบว่า อุณหภูมิของโลกของเรานั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ มาโดยตลอด

กราฟอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มา NASA

ปัจจุบันอุณหภูมิอากาศและมหาสมุทรโดยเฉลี่ยทั่วโลกนั้นเมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมินั้นร้อนขึ้นเกือบจะแตะ 1 องศาเซลเซียสแล้ว ( เหลืออีก 0.1 องศา ) ซึ่งนั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อมนุษย์และโลกใบนี้เลย เพราะเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศโลกนั้นสูงขึ้น มันส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น อุณหภูมิในฤดูร้อนมีอุณหภูมิที่สูงเกินกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยปกติ หรือ ฤดูหนาวที่อุณหภูมิลดลงต่ำกว่าระดับเฉลี่ยโดยปกติ เป็นต้น

อุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นไม่มีทีท่าว่าจะลดลงหากมนุษย์ยังคงกิจกรรมที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกอยู่และดูเหมือนว่าวิธีเดียวที่จะช่วยลดระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคือหยุดการขุดสารใต้โลกและหันมาพึ่งพาแหล่งพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า สำหรับมนุษย์ สัตว์ต่าง ๆ และโลกของเราใบนี้

วิกฤติที่ไม่เคยมีใครเห็นความสำคัญ

หากกล่าวถึงเรื่องสถานการณ์โลกร้อนแล้ว หลายคนมักไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะพวกเรานั้นได้ยินมันบ่อยและนานมากแล้ว แต่ไม่ค่อยเห็นผลกระทบของเหตุการณ์เหล่านี้มากเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะประเทศไทยนั้นอยู่ในพื้นที่เขตร้อนรวมถึงภูมิประเทศของไทยนั้นค่อนข้างได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศน้อย ทำให้เราเห็นผลกระทบเหล่านี้น้อยจนบางคนบอกไม่เคยรู้สึกด้วยซ้ำ ผิดกับพื้นที่ในเขตหนาวอย่างกรีนแลนด์ พื้นที่เหล่านั้นมีปริมาณน้ำแข็งน้อยลงในทุกปีและมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยในฤดูหนาวที่สูงขึ้นเนื่องจากสภาวะโลกร้อน

ปัญหาในตอนนี้คือเรายังไม่เห็นถึงปัญหานี้ควรเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน แม้แต่ผู้นำประเทศทั้งหลายยังไม่เห็นถึงปัญหาเหล่านี้แถมยังออกมาต่อต้านว่าไม่เชื่อเสียอีก นั้นนับว่ามันคือปัญหาใหญ่ เพราะในเมื่อมนุษย์ของเรามองไม่เห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่สามารถถูกแก้ไขได้เลย ดังนั้นสิ่งแรกคือการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนว่าปัญหาเหล่านี้เข้าสู่สถานะวิกฤติแล้ว มิใช่เป็นแค่ปัญหาที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเท่าไหร่ รอประเทศเป็นประชาธิปไตยก่อนค่อยแก้ไขก็ยังทัน

ซึ่งการทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาเหล่านี้จะทำให้ปัญหานี้เรื้อรังและใหญ่โตมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งแรกในการแก้ปัญหาโลกร้อนคือการมองเห็นว่าปัญหาโลกร้อนคือปัญหาที่ควรแก้ไขโดยเร่งด่วนพร้อมให้ความรู้แก่ประชาชนให้ทราบถึงปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อให้เขาเข้าใจถึงปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาเพื่อร่วมกันแก้ปัญหานี้

การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกใต้กับถิ่นที่อยู่ของเหล่าเพนกวิน

นกเพนกวินที่แสนน่ารักซึ่งอาศัยอยู่ในแอนตาร์กติกานั้น ขณะนี้มันกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด เนื่องจากสภาวะโลกร่อนที่กำลังดำเนินเข้าขั้นวิกฤติในปัจจุบัน

พวกมันประสบปัญหาการละลายของน้ำแข็ง ทำให้พวกมันต้องว่ายน้ำออกจากฝั่งไกลขึ้น รวมถึงต้องใช้เวลาที่นานขึ้นในการว่ายน้ำกลับยังฝั่งที่พวกมันอาศัยอยู่ เมื่อน้ำแข็งน้อยลง พื้นที่ที่พวกมันจะอาศัยอยู่ได้ก็น้อยลงตามไปด้วย บางตัวอาจหมดแรงขาดใจก่อนที่ว่ายถึงชายฝั่งบ้างก็มี ซึ่งการลดลงของพื้นที่น้ำแข็งของแอนตาร์กติกานั้นส่งผลให้ขี้ของเหล่าเพนกวินนั้นไปสู่ทะเลในปริมาณที่เข้มข้นน้อยลง ส่งผลให้เหล่าแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของปลานั้นน้อยลง และปลาที่เป็นอาหารของเหล่าเพนกวินนั้นก็น้อยลงตามไปอีก นี่คือสัญญาณที่การเตือนต่อการความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของเหล่าเพนกวินตัวน้อยที่อาศัยอยู่ภายในทวีปแอนตาร์กติกา หากพวกเราไม่แก้ไขพฤติกรรมที่พวกเรายังคงทำอยู่ในทุกวันนี้

ภาพถ่ายภูเขาน้ำแข็งที่แตกออกมาจากธารน้ำแข็งของแอนตาร์กติกานั้นละลายอย่างรวดเร็วขึ้น ที่มา NASA

ศพมนุษย์ใต้หิมะสีขาวบนเทือกเขาแอลป์

เมื่อเร็ว ๆ นี่มีข่าวการพบศพของคู่สามีภรรยาสวิตเซอร์แลนด์ที่สูญหายไปเมื่อ 75 ปีก่อนบนเทือกเขาแอลป์เนื่องจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์กำลังละลายเนื่องด้วยสภาวะโลกร้อน

ภาพถ่ายเทือกเขาแอลป์จากอวกาศ ซึ่งเห็นได้ว่าปริมาณธารน้ำแข็งบนเทือกเขานั้นมีน้อยลงในทุกปี ที่มา NASA

โดยธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ที่โด่งดังของยุโรปนั้นกำลังละลายตัวอย่างรวดเร็ว โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความเร็วในการละลายของธารน้ำแข็งนั้นทำให้ความหนาของชั้นน้ำแข็งลดลงมากถึงปีละ 2-3 เมตรแต่ในปีนี้การละลายเร็วเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจซึ่งระดับการละลายอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 10 เซนติเมตร  ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องสภาวะโลกร้อนโดยเร่งด่วน ภายในเวลาไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ เทือกเขาแอลป์อันเป็นเอกลักษณ์แห่งยุโรปอาจไม่มีน้ำแข็งให้เราเห็นอีกก็เป็นไปได้ และนั้นจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวยุโรปอย่างรุนแรง เพราะว่าเทือกเขาแอลป์นั้นเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายหลักหลายสายภายในทวีปยุโรป

แอร์เย็น โลกร้อน

ปัจจุบันเราใช้งานเครื่องปรับอากาศกันมากขึ้นจากในอดีต ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทุกวันสวนทางกับราคาของเครื่องปรับอากาศที่ถูกลง ทำให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศของประชาชนเพิ่มขึ้น

เครื่องปรับอากาศเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานไฟฟ้ามากที่สุดภายในบ้านหลังหนึ่ง เมื่อการใช้งานเครื่องปรับอากาศของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการไฟฟ้าก็เพิ่มสูงตามส่งผลให้ภาครัฐต้องผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนที่ร้อนระอุและดูเหมือนจะหนักหนามากขึ้นทุกปี

ปริมาณการใช้รถใช้ถนนทีเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอากาศที่ร้อนมากขึ้นในกรุงเทพ

อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นไม่ได้เพียงแต่ประเทศในเขตร้อนอย่าง ประเทศไทย ประเทศในทวีปยุโรปที่เป็นเขตอบอุ่นก็ได้รับผลกระทบของคลื่นความร้อนด้วยเช่นเดียวกัน การใช้เครื่องปรับอากาศในแต่ละปีจึงเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการใช้รถยนต์ก็เพิ่มสูงขึ้นเพราะว่าไม่อยากเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัดภายนอก (นั่งรถแอร์เย็นสบายกว่า) ทำให้ปริมาณคาร์บอนในแต่ละปีปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เทรนด์พลังงานทดแทนในอนาคต

ในปี 2018 เป็นปีที่มีการใช้งานพลังงานจากแสงอาทิตย์มากที่สุดนับตั้งแต่มนุษยชาติถือกำเนิดขึ้น เรานำพลังงานแสงที่ดวงอาทิตย์ส่องมาถึงโลกใบนี้มาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบายของชีวิตเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากการผลิตแผงโซลาเซลล์ที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ราคาต่อหน่วยในการติดตั้งถูกลง ประชาชนรวมถึงภาคเอกชนจึงหันมาใช้งานพลังงานจากดวงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้าที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นทุกปี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรอีกด้วย

โดยในปีนี้ ประเทศที่ใช้งานพลังงานจากดวงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟฟ้ามากที่สุดยังคงเป็นประเทศจีนอยู่เช่นเดิม และจีนก็เป็นประเทศที่ผลิตคาร์บอนออกมามากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน

ทุ่นผลิตกระแสไฟฟ้าจากคลื่นทะเลของสหราชอาณาจักรอังกฤษ ที่มา Scottish Government

นอกจากนี้แล้วยังมีพลังงานรูปแบบอื่นที่รอให้เราหยิบมาใช้งานอีกมากมายไม่ว่าจะเป้นพลังงานจากกระแสลม พลังงานจากน้ำ พลังงานจากคลื่นทะเล หรือจากความร้อนใต้พิภพ ซึ่งตอนนี้หลายประเทศ (ในแถบยุโรป) กำลังเร่งในการพัฒนาระบบในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน พร้อมช่วยเหลือโลกด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

มนุษย์รุ่นสุดท้ายที่จะหยุดมหัตภัย

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเวลานับถอยหลังสู่จุดที่เราจะไม่สามารถหยุดวิกฤตภาวะโลกร้อนได้อีกต่อไป คือ 15 ปีนับจากนี้และเวลาก็ลดลงเรื่อย ๆ ทุกวินาทีขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เด็กใน Gen Z กำลังเติบโตและเป็นผู้ใหญ่ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการหยุดยั้งสถานการณ์โลกร้อนที่กำลังวิกฤติอยู่ในตอนนี้ ซึ่งหากภายใน 15 ปีนี้เราไม่สามารถหยุดการใช้พลังงานจากฟอสซิลใต้โลก ลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้การเผาไหม้โดยเครื่องยนต์สันดาปภายในมาใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า เท่ากับระดับที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน เราจะไม่สามารถหยุดวิกฤตินี้ได้ตลอดกาล เพราะว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์และความร้อนภายในชั้นบรรยากาศนั้นสูงจนเกินระดับที่ธรรมชาติไม่สามารถกำจัดมันได้อีกแล้ว และจากที่ธรรมชาติเป็นผู้ที่คอยกำจัดของเสียเหล่านี้ให้แก่เราได้มีชีวิตที่แสนสบาย มันจะกลายเป็นสภาพเป็นผู้สร้างมลพิษแทน

ป่าจากเดิมที่เป็นปอดของโลกใบนี้ เมื่ออุณหภูมิสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อใด ป่าจะกลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันดับหนึ่งของโลกแทนที่มนุษย์ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึงจุดนั้น เหล่าแบคทีเรียและเชื้อราซึ่งเป็นผู้ย่อยสลายจะขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น มันจึงแข่งกันย่อยอาหารทั้งหลายทั้งแหลที่อยู่ภายในป่าและขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างมากมายมหาศาลเกินกว่าที่เหล่าต้นไม้ภายในป่าจะสามารถดูดซับไหว อีกทั้งน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกนั้นจะละลายหายไปจนหมด อาจทำให้ระบบกระแสน้ำภายในทะเลนั้นหยุดนิ่ง ออกซิเจนภายในทะเลจึงต่ำลงจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ อีกทั้งเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเหล่าแพลงก์ตอนที่อยู่ในทะเลจึงขยายพันธุ์อย่างท่วมท้นและแย่งกันใช้ออกซิเจนในน้ำจนไม่เหลือ ทำให้เหล่าสัตว์น้ำในทะเลต่างทยอยกันสูญพันธุ์เนื่องจากขาดออกซิเจนในการดำรงชีวิต

นอกจากนั้นสภาพอากาศของโลกยังจะแปรปรวนอย่างรุนแรงอย่างคาดการณ์ไม่ได้เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากปกติเนื่องจากความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ระบบพยากรณ์อากาศที่เราใช้งานอยู่บนโลกในปัจจุบันจะไม่สามารถคาดการณ์อากาศพรุ่งนี้ได้อีกเลย แม้แต่ 5 นาทีข้างหน้ายังยากที่จะคาดการณ์ได้เลยด้วยซ้ำ

กลุ่มเด็ก Gen Z ในปัจจุบันจึงน่าจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะเติบโตและได้เรียนรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่สวยงามในปัจจุบัน ตอนนี้อยู่ที่ว่าพวกเราจะเลือกเดินเส้นทางไหน เส้นทางที่เห็นแก่ตัวเลือกเพียงแต่หนทางเอาตัวรอดของตัวเองเพียงสปีชีร์เดียวอย่างเห็นแก่ตัว และทิ้งโลกอันแสนเน่าเฟะให้แก่ลูกหลานได้เชยชมและกร่นด่า หรือเลือกเส้นทางที่ยอมรักษาทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่กลุ่มพวกเราจะสามารถทำได้ในตอนนี้ ยอมลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลเพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้เพื่อส่งต่อสิ่งที่สวยงามให้แก่ลูกหลานเพื่อให้เหล่าลูกหลานจะได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่สวยงามเหมือนที่เราเคยได้รู้จักในตอนนี้

อนาคตของมนุษยชาติอยู่ในกำมือของพวกเราในตอนนี้

 

อ้างอิง

Global Climate Change – NASA

ธารน้ำแข็งละลายจนพบศพผู้สูญหาย 75 ปีที่แล้ว

Jirasin Aswakool | Researcher Assistant | นักวิจัยอยากผันตัวกลับมาทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์