สรุปภาพรวมการสำรวจอวกาศในปี 2022 เกิดอะไรขึ้นบ้าง

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่โลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบอีกหนึ่งรอบ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าปี 2022 นั้นเป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมายในการสำรวจอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจระบบสุริยะ การสำรวจดวงจันทร์ หรือการสำรวจดาวอังคาร ซึ่งการสำรวจเหล่านี้ต่างก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายอย่างตั้งแต่ การเมือง สงคราม โรคระบาด และอื่น ๆ มากมาย

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างในการสำรวจอวกาศปี 2022

การสำรวจดวงจันทร์

ปี 2022 นับเป็นปีแห่งการเปิดตัวของโครงการ Artemis และเป็นอีกก้าวหนึ่งสู่งการไปดวงจันทร์ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 นั้น NASA ได้เริ่มภารกิจ Artemis I ซึ่งเป็นภารกิจทดสอบจรวด SLS และยาน Orion ที่จะพามนุษยชาติกลับไปดวงจันทร์ในภารกิจ Artemis III โดย Artemis I ประสบความสำเร็จในการพายาน Orion ไปโคจรรอบดวงจันทร์และกลับมาโลกอย่างปลอดภัย

จรวด SLS พร้อมกับยาน Orion ในภารกิจ Artemis I ขณะกำลังทะยานขึ้นสู่อวกาศจาก Kennedy Space Center – ที่มา NASA/Bill Ingalis

Artemis I นับเป็นภารกิจแรกในศตวรรษนี้ที่มีการยิ่งจรวดที่ทรงพลังยิ่งกว่า Saturn V หรือจรวดที่ใช้ในการปล่อยภารกิจ Apollo เรียกได้ว่าเป็นการเปิดฉากยุคของการสำรวจอวกาศยุคใหม่เลยทีเดียว

นอกจากตัวยาน Orion เองแล้ว ยังมี Secondary Payload ที่ถูกส่งไปพร้อมกับภารกิจ Artemis I อีกด้วย หนึ่งในนั้นเป็นยานลงจอดดวงจันทร์ OMOTENASHI ของ JAXA หรือองค์การอวกาศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามหลังการ Deploy ยาน OMOTENASHI มันก็ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมภารกิจก่อนที่จะเกิดการลงจอดขึ้น ทำให้ภารกิจนั้นล้มเหลว

ภาพจำลองของยาน OMOTENASHI – ที่มา JAXA

นอกจากการปล่อยของ Artemis I แล้ว ยังมีภารกิจเสริมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Lunar Gateway อย่าง CAPSTONE ที่ถูกปล่อยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2022 อีกเดียว โดย CAPSTONE นั้นเป็นภารกิจในการสำรวจความเสถียรของวงโคจรสำหรับ Lunar Gateway โดย CAPSTONE เดินทางถึงดวงจันทร์ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2022 อย่างไรก็ตามภารกิจ CAPSTONE นั้นก็เกิดสะดุดขึ้นนิดหน่อยเมื่อมันขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมภารกิจก่อนที่วิศวกรจะแก้ปัญหาได้ในเวลาต่อมา

ภาพจำลองของยาน CAPSTONE ในวงโคจร Near-Rectilinar Halo Orbit ของดวงจันทร์ – ที่มา NASA

โครงการ Commercial Lunar Payload Services (CLPS) ซึ่งมีกำหนดการปล่อยยาน Peregrine Lander และยาน Nova-C Lander ในปี 2022 นั้นถูกเลื่อนไปเป็นปี 2023

ยาน Peregrine Lander (ซ้าย) โดย Astrobotic Technology, ยาน Nova-C (กลาง) โดย Intuitive Machines และยาน Z-01 (ขวา) โดย OrbitBeyond – ที่มา NASA GSFC

ในวันที่ 9 ธันวาคม 2022 โครงการ DearMoon ได้ประกาศรายชื่อนักท่องเที่ยวดวงจันทร์ซึ่งเป็นศิลปินจากนานาประเทศ โดยภารกิจมีกำหนดการปล่อยในปี 2023 สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ เปิดตัวรายชื่อลูกเรือที่จะเดินทางไปยังดวงจันทร์กับ SpaceX ในภารกิจ Dearmoon

ในวันที่ 11 ธันวาคม 2022 จรวด Falcon 9 ได้ปล่อยภารกิจ Hakuto-R Mission 1 ซึ่งเป็นภารกิจของบริษัทเอกชนในญี่ปุ่น ispace โดย Hakuto-R นั้นเป็นภารกิจยานลงจอดดวงจันทร์และ Lunar Rover จากญี่ปุ่นและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ยังมียานโคจรดวงจันทร์ของ NASA อย่าง Lunar Flashlight ติดไปด้วย โดยการลงจอดบนดวงจันทร์ของ Hakuto-R นั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน เมษายน 2023

ยาน Hakuto-R ในภารกิจ Hakuto-R Mission 1 ถูกติดตั้งเข้ากับจรวด Falcon 9 – ที่มา ispace / SpaceX

ปิดท้ายด้วยการเดินทางถึงดวงจันทร์ของยาน Danuri เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2022 โดย Danuri นั้นเป็นยานโคจรดวงจันทร์ยานแรกของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งถูกปล่อยด้วยจรวด Falcon 9 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2022

ภาพจำลองของยาน Danuri – ที่มา Korea Aerospace Research Institute

การสำรวจดาวอังคาร

วันที่ 20 ธันวาคม 2022 NASA ได้ประกาศว่ายาน InSight ที่อยู่บนดาวอังคารมาตั้งแต่ปี 2018 นั้นขาดการติดต่อกับโลกมาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2022 แล้ว โดยข้อความสุดท้ายจาก InSight นั้นระบุว่าพลังงานข้องมันนั้นต่ำถึงจุดวิกฤตแล้ว จึงคาดการณ์ได้ว่าระบบผลิตกระแสไฟฟ้าของยานนั้นล้มเหลวจากการที่มีฝุ่นจำนวนมาบังบนแผงโซลาร์เซลล์ของยานจนยานไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอ แม้จะมีการปิดอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เกือบทั้งหมด พลังงานของยานก็ยังคงไม่เพียงพอจนถึงจุดวิกฤตเมื่อยานไม่สามารถจ่ายพลังงานให้กับระบบรักษาความร้อน (Thermal Control) ได้ InSight จึงหนาวและหลับไหลบนดาวอังคารตลอดกาล ภารกิจ InSight จบลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ธันวาคม 2022

ภาพสุดท้ายจากยาน InSight แสดงให้เหูน InSight ที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นก่อนที่มันจะขาดการติดต่อกับโลก – ที่มา NASA

วันที่ 3 ตุลาคม 2022 ภารกิจ Mars Orbiter Mission (MOM) หรือ “Mangalyaan” ขององค์การอวกาศอินเดียหรือ Indian Space Research Organization (ISRO) ล้มเหลว หลังจากความพยายามในการติดต่อกับยานไม่เป็นผลสำเร็จ สาเหตุคาดว่ายานเกิดจากระบบเชื้อเพลิงและพลังงานของยานล้มเหลว โดยยาน MOM นั้นอยู่ในวงโคจรของดาวอังคารมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

การสำรวจระบบสุริยะ

NASA ได้ประกาศต่ออายุภารกิจ Juno ซึ่งกำลังโคจรรอบดาวพฤหัสอยู่ไปจนถีงปี 2025 โดย Juno นั้นทำ Flyby ผ่านดวงจันทร์ Europa เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2022

ภาพของดวงจันทร์ Europa จากยาน Juno ถ่ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2022 ระหว่างการทำ Flyby – ที่มา NASA/JPL-Caltech/SWRI/MSSS

วันที่ 12 กรกฎาคม 2022 NASA ได้ปล่อยภาพเซ็ตแรกที่ถ่ายได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb สู่สาธารณชน นับว่าเป็นการเริ่มต้นยุคการสำรวจอวกาศยุคใหม่ที่เรามีเครื่องมือที่ดีกว่าเดิม อ่าน – เผย 5 การค้นพบแรกจากกล้อง James Webb บทสรุป วิเคราะห์ เจาะลึก

ภาพของ Carina Nebula (NGC 3324) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb – ที่มา NASA, ESA, CSA, STScl

วันที่ 26 กันยายน 2022 โพรบจากภารกิจ DART ชนเข้ากับดาวเคราะห์น้อย Dimorphos ซึ่งเป็นดวงจันทร์ของดาวเคราะห์น้อย Didymos เพื่อทดสอบความสามารถในการเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยที่เสี่ยงต่อการชนโลก ในวันที่ 11 ตุลาคม 2022 NASA ได้ประกาศว่า DART นั้นประสบความสำเร็จโดยวงโคจรรอบ Didymos ของ Dimorphos นั้นเปลี่ยนไปจากเดิมถึง 32 นาที จากที่กำหนดไว้เพียงแค่ 73 วินาทีเท่านั้น นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Planetary Defence

ภาพจากโพรบที่พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos ในภารกิจ DART – ที่มา NASA/Johns Hopkins APL

วันที่ 29 กันยายน 2022 ภารกิจ SOFIA หรือหอดูดาวบนเครื่องบิน Boeing 747SP ซึ่งบินไปที่ไหนก็ได้ไหนโลกอันเป็นความร่วมเมือระหว่าง NASA และ DLR (องค์การอวกาศเยอรมนี) สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ปิดฉากการสำรวจของ SOFIA กว่า 12 ปี

อ่าน – SOFIA หอดูดาวบินได้บนเครื่อง 747 ที่ออกแบบให้ไปอยู่ตรงไหน เมื่อไหร่ ก็ได้บนโลก

ภาพของเครื่องบิน Boeing 747SP และกล้องโทรทรรศน์ SOFIA บินคุ้มกันโดยเครื่องบิน F/A-18 ของ NASA – ที่มา NASA

การสำรวจโลก

ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2021 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2022 ภูเขาไฟใต้น้ำ Hunga Tonga–Hunga Haʻapai ในมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดปะทุขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดฝุ่นภูเขาไฟปกคลุมบริเวณภูมิภาค Tongan เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดสึนามิในประเทศที่อยู่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย

ภาพการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ Hunga Tonga–Hunga Haʻapai – ที่มา NASA

การประทุของ Hunga-Tonga ถูกตรวจจับได้โดยระบบดาวเทียม GOES-West และได้ถูกนำมาเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมบนผิวโลกมากขึ้น

Human Spaceflight

จีนประสบความสำเร็จในการสร้างสถานีอวกาศ Tiangong ซึ่งปิดท้ายด้วยการต่อโมดูลวิทยาศาสตร์ Wentian และ Mengtian เข้ากับสถานี Tiangong เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2022 และ 31 ตุลาคม 2022 ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2022 ภารกิจ Shenzhou 15 พร้อมกับลูกเรือประจำสถานีเดินทางมาถึงสถานีอวกาศ Tiangong และเริ่มการผลัดเปลี่ยนลูกเรือในเวลาต่อมา

ภาพจำลองของสถานีอวกาศ Tiangong ของจีน – ที่มา WikiCommons

ในวันที่ 8 เมษายน 2022 ยาน Crew Dragon ของ SpaceX ประสบความสำเร็จในการปล่อยภารกิจ Axiom Mission 1 ซึ่งเป็นภารกิจการท่องเที่ยวอวกาศภารกิจแรกของสหรัฐอเมริกาพร้อมกับลูกเรืออีก 4 คน โดยลูกเรือทั้ง 4 คนอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 17 วัน นับเป็นครั้งแรกที่มีลูกเรือทั้งชุดเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศมายังสถานีอวกาศนานาชาติ

ภาพลูกเรือของ Axiom Mission 1 บนสถานีอวกาศนานาชาติ – ที่มา NASA TV

ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2022 นั้น Boeing ประสบความสำเร็จในการปล่อยยาน Starliner โดยไม่มีลูกเรือเป็นครั้งที่สอง โดย Starliner นั้นอยู่ในวงโคจรเป็นเวลา 6 วัน ก่อนที่จะกลับมายังโลก โดยภารกิจทดสอบโดยมีลูกเรือนั่งไปดูของยาน Starliner จะเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2023

ภาพของยานอวกาศ CST-100 Starliner ของ Boeing พร้อมกับจรวด Atlas V ของ ULA บนฐานปล่อยในภารกิจ Orbital Flight Test-2 – ที่มา NASA/Joel Kowsky

นอกจาก Boeing แล้ว Blue Origin ประสบความสำเร็จในการปล่อยยาน New Shepard พร้อมลูกเรือลำละ 6 คน ใน 3 ภารกิจ ภารกิจ NS-20 วันที่ 31 มีนาคม ภารกิจ NS-21 วันที่ 4 มิถุนายน และภารกิจ NS-22 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2022 อย่างไรก็ตาม ในภารกิจ NS-23 ซึ่งไม่มีลูกเรือนั้น ระบบการปล่อยตรวจจับความผิดปกติของยานได้ การปล่อยภารกิจ NS-23 จึงถูก Scrub ไว้ก่อน

ภาพการปล่อยของยาน New Shepard ของ Blue Origin ในเที่ยวบิน NS-20 – ที่มา Blue Origin

การรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย

จากการเปิดฉากรุกรานประเทศยูเครนโดยรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ทำให้นานาประเทศต่างออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงการอวกาศของรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ โดยมาตรคว่ำบาตรนั้นส่งผลกระทบต่อความรวมมือระหว่างองค์การอวกาศของนานาประเทศและ Roscosmos หรือองค์การอวกาศของรัสเซีย

การปล่อยยาน Soyuz จาก Baikonur Cosmodrome หลายภารกิจนั้นถูกยกเลิก ซึ่งนี่รวมถึงการปล่อยภารกิจ OneWeb ทั้งหมด 6 ภารกิจ ด้วย นอกจากนี้ Roscosmos ยังได้ลบธงของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นออกจากยาน Soyuz ด้วย

ภารกิจ ExoMars 2022 ซึ่งเป็นภารกิจร่วมกันระหว่าง Roscosmos และองค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรปหรือ ESA ในการปล่อยยาน Rosalind Frankin Rover ด้วย Kazachok Lander บนดาวอังคารถูกยกเลิกในช่วงเดือน มีนาคม 2022 จากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย นอกจาก ExoMars แล้ว ภารกิจ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spektr-RG ซึ่งเป็นภารกิจร่วมระหว่างองค์การอวกาศเยอรมนีและ Roscosmos ถูกระงับไว้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2022

ภาพโมเดลของ Kazachok Lander พัฒนาร่วมกันโดย ESA และ Roscosmos – ที่มา WikiCommons

ในการโต้กลับมาตรการคว่ำบาตรของรัสเซีย รัสเซียเองได้ออกมาประกาศว่าจะหยุดการส่งเครื่องยนต์จรวดและหยุดการสนับสนุนเครื่องยนต์จรวดให้กับสหรัฐอเมริกาซึ่งนี่รวมถึงเครื่องยนต์จรวดที่ขายให้กับสหรัฐอเมริกาไปแล้วด้วย

นอกจากนี้ Dmitry Rogozin ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Roscosmos ในขณะนั้นยังได้ขู่นานาประเทศว่ารัสเซียอาจไม่ทำ Orbital Reboost ให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งหมายถึง Roscosmos อาจปล่อยให้สถานีอวกาศนานาชาติตกกลับสู่โลก พร้อมกันนี้ Rogozin ยังได้โพสต์แผนที่แสดงจุดที่สถานีอวกาศนานาชาติอาจตกบนโลกได้ อย่างไรก็ตามด้วยตำแหน่งของสถานีอวกาศนานาชาติในขณะนั้น ต่อให้ไม่มีการทำ Orbital Reboost เป็นปี สถานีอวกาศนานาชาติก็จะยังไม่ตกกลับสู่โลก

ต่อมา Rogozin จึงขู่ว่าเขาจำปล่อยให้นักบินอวกาศ Mark T. Vande Hei ของสหรัฐอเมริกาติดอยู่ในอวกาศด้วยการ Undock โมดูลของรัสเซียจากสถานีอวกาศนานาชาติ พร้อมกันนี้เขายังได้โพสต์ Animation แสดงให้เห็นถึงการ Undock Russia Segment จากสถานีอวกาศนานาชาติ

ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2022 Rogozin ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการของ Roscosmos ก่อนที่เขาจะถูกย้ายไปทำงานในตำแหน่งทางด้านการในกองกำลังอาสา Tsar’s Wolves เพื่อช่วยในการรุกรานยูเครน

อย่างไรก็ตามในวันที่ 21 ธันวาคม 2022 ระหว่างที่เขากำลังฉลองวันเกิดของเขาในร้านอาหารที่ภูมิภาคดอแนตสก์ซึ่งประกาศแยกตัวออกจากยูเครนและอยู่ภายใต้ปฏิบัติการทางทหารโดยรัสเซีย กระสุนจากฝั่งยูเครนเกิดตกลงในที่ ๆ เขาอยู่พอดีทำให้เขาได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดจนต้องเข้ารับการผ่าตัดในเวลาต่อมา คาดว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นการโจมตีแบบเฉพาะเจาะจงโดยฝั่งยูเครน

การสำรวจอวกาศในปี 2022 นั้น มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นมากมายที่จะส่งผลกระทบต่อการสำรวจอวกาศในทศวรรษนี้ ตั้งแต่ทางด้านการเมือง โรคระบาด สงคราม และอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 นั้น วงการสำรวจอวกาศจะยิ่งมีอะไรให้น่าติดตามมากกว่าเดิมโดยเฉพาะเมื่อง COVID-19 ผ่านพ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการสำหรับโครงการ Artemis การท่องเที่ยวอวกาศ หรือแม้แต่วงการอวกาศของไทยก็จะกลับมาอีกครั้ง สามารถอ่านบทความได้ที่ สรุป 2022 ในวงการอวกาศไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.