หลังจากที่เราได้รายงานเรื่องราวของภารกิจ Fram2 ไปในบทความ Fram2 ภารกิจสำรวจอวกาศโดยมนุษย์แรกที่จะโคจรผ่านขั้วโลก ในที่สุดการเดินทางของภารกิจนี้ก็ได้เริ่มต้นขึ้น และลูกเรือทั้ง 4 คนก็ได้กลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ใช้วงโคจรแบบตัดขั้วเหนือใต้ เดินทางรอบโลก
ในบทความนี้เราจะรายงานตามติดการปฏิบัติภารกิจของลูกเรือกลุ่มนี้หลังจากที่ได้เริ่มต้นการเดินทางสู่อวกาศ ว่าในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลาลูกเรือกลุ่มนี้ทำอะไรกันบ้าง

ในวันที่ 1 เมษายน 2025 เวลา 8:46 เวลาประเทศไทย จรวด Falcon 9 ได้บินขึ้นจากฐานปล่อย LC-39A ใน NASA Kennedy Space Center พาเอายาน Dragon พร้อมลูกเรือ 4 คนได้แก่ Chun Wang, Jannicke Mikkelsen, Eric Philips และ Rabea Rogge เดินทางสู่อวกาศ โดยตัวจรวดได้ใช้เส้นทางบินลงยังทิศใต้ ทำมุม 90 องศากับเส้นศูนย์สูตร ตัดผ่านเมืองใหญ่อย่าง Miami ในฟลอริดา ลงไปยังอ่าวเม็กซิโก ในขณะที่จรวดท่อนแรกได้บินกลับมาลงจอดบนเรือโดรน A Shortfall of Gravitas ได้ประสบความสำเร็จ
จริง ๆ แล้วเรื่องราวการเดินทางของลูกเรือกลุ่ม Fram2 นี้ต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นตั้งแต่ช่วง 7 วันก่อนการปล่อย ทั้งสี่เริ่มต้นการเดินทางจากสนามบิน Los Angeles International Airport หรือ LAX ในแคลิฟอร์เนีย ด้วยเครื่องบินส่วนตัว Gulfstream G450 มายังแหลมคะเนอเวอรัลและลงจอดที่ Space Shuttle Landing Facility ของ NASA (ซึ่งเล่นใหญ่มาก จริง ๆ ตรงนั้นก็มี Executive Airport อยู่) เพื่อการกักตัว และเตรียมพร้อมในช่วงสุดท้าย รวมถึงมีการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ ซึ่ง Chun Wang ได้อัพเดทสถานการณ์ผ่านทางบัญชี X ส่วนตัวของเขาอยู่ตลอด

โดยในระหว่างนี้ลูกเรือทุกคนก็จะปรับเปลี่ยนเวลานอนและตื่นให้เข้ากับช่วงการปล่อย ซึ่งก็คือเวลา 21:46 ตามเวลา ณ ฐานปล่อย ของคืนวันที่ 31 มีนาคม 2025 (ซึ่งตรงกับช่วงเช้าตามเวลาไทย) Chun Wang เล่าว่า ในวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเป็นเวลา 4 วันก่อนการปล่อย เขาจะตื่นนอนเวลาประมาณเที่ยง รับประทานอาหารตอนบ่ายสอง ให้สัมภาษณ์กับสื่อ และเตรียมพร้อมสำหรับการซ้อมขึ้นยาน ซึ่งจรวด Falcon 9 และยาน Dragon ได้ถูกนำมาตั้งไว้บนฐานปล่อย LC-39A เรียบร้อย

การซ้อมขึ้นยานของพวกเขาเกิดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม เป็นการทำ Dry Dress Rehersal หรือการซ้อมเสมือนจริงโดยไม่มีการเติมเชื้อเพลิงเข้าสู่ตัวจรวด และหลังจากการซ้อมนั้นจรวด Falcon 9 เองก็ได้มีการทำ Static Fire หรือการจุดเครื่องยนต์เพื่อทดสอบระบบต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

ในวันซ้อม Chun Wang เล่าว่าเขาตื่นตอนบ่ายสองโมง และเดินทางไปยังอาคาร Hangar X ของ SpaceX ที่เป็นบริเวณที่ SpaceX ใช้เก็บจรวด Falcon 9 เพื่อเตรียมนำกลับมาวนใช้งานใหม่ และอยู่ในบริเวณของ Kennedy Space Center เขาเล่าว่า ตลอดการเดินทางมีรถตำรวจ NASA ขับนำขบวนตลอด โดยขบวนรถของพวกเขาเป็น Tesla Model X จำนวน 3 คัน
หลังจากทานอาหารที่ Hangar X พวกเขาก็เดินทางไปยังฐานปล่อย LC-39A เพื่อซักซ้อมการขึ้นยานอีกครั้ง ซึ่งเขาได้เล่าว่า พวกเขาจะได้รับกระเป๋าสำหรับใส่ของใช้ส่วนตัว เช่นยา และอุปกรณ์ iPhone, iPad, Apple Watch และ AirPods Pro โดยบอกว่า SpaceX ได้ 3D Print อุปกรณ์พิเศษสำหรับคล้อง AirPods สองข้างเอาไว้ จะได้ไม่หายในยาน (ฮา)
Chun Wang บอกว่าเขาโหลดแอพต่าง ๆ รอไว้ในเครื่องอย่าง X, YouTube รวมถึง OpenStreetMap เพื่อเอาไว้ดูแผนที่แบบออฟไลน์ (ซึ่งไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นเพราะบนยานพวกเขามีเน็ตใช้อยู่แล้ว)

ลูกเรือทั้ง 4 จะนำเอาของใช้ไปเท่าที่จำเป็น ส่วนกระเป๋าขนาดใหญ่ เสื้อผ้า จะไปรอพวกเขาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นจุดลงจอดที่พวกเขาจะเดินทางกลับโลก หลังจากที่ SpaceX ได้ SpaceX ย้ายฐานปฏิบัติการเก็บกู้ยาน Dragon ไปฝั่งแปซิฟิก ตรงนี้มีข้อสังเกตก็คือ อุปกรณ์พวก iPhone หรือ Apple Watch อะไรที่เอาไปจะไม่ได้เป็นของส่วนตัว แต่จะเป็น Flight iPhone, Flight Apple Watch เพื่อใช้ในเที่ยวบินเท่านั้น เข้าใจว่าเป็นมาตรการด้านความปลอดภัย
พวกเขาซ้อมทุกอย่างเสร็จเวลาประมาณห้าทุ่ม โดยได้มีรายงานว่า SpaceX พบปัญหาด้านซอฟแวร์บางส่วน และแจ้งให้ลูกเรือทราบเพื่อความปลอดภัย ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางกลับที่พักเพื่อกักตัว และพักผ่อนสำหรับวันปล่อย
การปล่อยเป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีการเลื่อน
ในวันปล่อยพวกเขาเดินทางมายังฐานปล่อยด้วยการนำขบวนของตำรวจอีกครั้ง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ SpaceX ปล่อยจรวด Falcon 9 นำส่งดาวเทียม Starlink พอดี ทำให้ พวกเขาได้ดูการปล่อยในขณะที่อยู่บนรถ และเดินทางมายังฐานปล่อย
We’re gonna watch a rocket launch while on our way to a rocket launch. 🚀 pic.twitter.com/G1IfJdGt1f
— Chun (@satofishi) March 31, 2025
เวลา 7 ชั่วโมงก่อนการปล่อยเจ้าหน้าที่ของ SpaceX ได้ให้สัญญาณ Go for Launch สำหรับการปล่อยในช่วงเวลาเดิมที่กำหนดไว้ ไม่มีการเลื่อนใด ๆ เกิดขึ้น ลูกเรือทุกคนเตรียมตัวและขึ้นยาน และฝายานก็ได้ถูกปิดลงในเวลา 2 ชั่วโมงก่อนการปล่อย ซึ่งตรงกับช่วงค่ำ 19:46 ตามเวลา ณ ฐานปล่อย ของวันที่ 31 พฤษภาคม 2025

และในที่สุด 21:46 ตามเวลา ณ ฐานปล่อย หรือช่วงเช้า 8:46 ของวันที่ 1 เมษายน 2025 ตามเวลาประเทศไทย จรวด Falcon 9 ก็ได้บินขึ้นจากฐานปล่อย พวกเขาทั้ง 4 เริ่มต้นการเดินทาง 8 นาทีหลังการปล่อยจรวด Falcon 9 ได้กลับมาลงจอดบนเรือโดรน A Shortfall of Gravitas

หลังจากการปล่อยในนาทีที่ 9 จรวด Falcon 9 ท่อนที่สองได้พายาน Dragon เข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้คือ โคจรทำมุม 90 องศา อยู่ที่ระดับความสูง 440 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก และจรวด Falcon 9 ท่อนที่สองก็ได้แยกตัวกับยาน Dragon ในที่สุด ในการโคจรแบบนี้ยาน Dragon จะโคจรรอบโลกทุก 90 นาที
วันแรก อ้วกแตกอ้วกกันฉิบหายทั้งลำ
เวลาในวันแรกของภารกิจพวกเขานั้นจะเป็นการเข้านอนเวลา 19:00 ตามเวลาประเทศไทยของวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงหลังจากการปล่อย ในช่วงวันแรกนั้นกิจกรรมของพวกเขาคือการปรับตัวเข้ากับสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศ Chun Wang บอกว่า หลังจากที่เครื่องยนต์ของ Falcon 9 ดับลง เขารู้สึกว่าทุกอย่างปกติมาก ๆ ตอนแรกเขาเข้าใจว่ามันจะเหมือนกับการอยู่ในลิฟท์ที่กำลังตก มันเหมือนกับการนั่งเครื่องบินปกติ ถ้าเขาไม่ปลดตุ๊กตาหมีขาว Tyler ที่ใช้เป็น Zero-G Indicator ของภารกิจนี้ก็แทบไม่รู้เลยว่าตอนนี้กำลังอยู่ในสภาวไร้น้ำหนักแล้ว
Chun Wang เล่าต่อว่าชั่วโมงแรก ๆ ในอวกาศนั้นไม่ได้สบายเลย ทุกคนเมาและเป็น Motion Sickness กันไปหมด ถึงขั้นอ้วกกันเลยทีเดียว (โอ้ เราแทบไม่เคยเห็นนักบินอวกาศอ้วกระหว่างการเดินทางเลย) แต่เขาก็บอกว่า มันไม่เหมือนเมารถหรือเมาเรือ เพราะก็ยังอ่าน iPad ได้ ไม่ได้ทำให้อาการแย่ลง แต่การแค่จิบ ๆ น้ำ ก็อาจจะทำให้รู้สึกอยากจะอ้วกได้ (ไม่อยากจะนึกภาพว่าสภาพจะเป็นยังไงในยาน อ้วกแตกอ้วกแตนกันไม่หวั่นไม่ไหว)

Rabea Rogge นั้นใช้เวลาวันแรกไปกับการติดต่อกับชาวโลกผ่านทาง HAM Radio คุยกับนักวิทยุสมัครเล่นในกรุงเบอลิน เยอรมนี และลูกเรือทุกคนส่วนมากพยายามปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมสุดแปลกที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน ในขณะที่เวลาต่อมา Chun Wang เล่าว่าพวกเขาใช้เวลาในคืนนั้นดูย้อนหลังการถ่ายทอดสดภารกิจของตัวเอง ก่อนที่จะเข้านอนกัน
วันที่สองเมื่อพวกเขาได้มองโลกผ่านอวกาศ
Chun Wang เล่าต่อว่าในวันที่สอง เขาตื่นมาอย่างสดชื่น อาการเมาอวกาศนั้นหายไปแล้วพวกเขาเริ่มปรับตัวและชินกับการเดินทาง พวกเขารับประทานอาหารเช้า และเริ่มต้นการทำการทดลองต่าง ๆ รวมไปถึงการถ่ายภาพ X-Ray ครั้งแรกบนอวกาศ ซึ่งได้เป็นหนึ่งในชุดการทดลองที่ได้เดินทางไปกับภารกิจ Fram2 ด้วย

สัญญาณที่เราเริ่มเห็นพวกเขาในการปรับตัวเข้ากับการเดินทางก็คือเราได้เห็นพวกเขาเล่นอินเทอร์เน็ตกันเยอะขึ้น ซึ่ง Chun Wang เองก็ได้โพสต์ทั้งข้อความ รูปภาพ และวิดีโออยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งอินเทอร์เน็ตที่พวกเขาใช้นั้นก็มาจากเราเตอร์ Starlink บนยาน ที่รับสัญญาณมาจากระบบ Laser Communication ที่ยาน Dragon ต่อตรงเข้ากับโครงข่าย Starlink ของ SpaceX ที่อยู่บนวงโคจรนั่นเอง

และในวันที่สองนี้เองที่พวกเขา ได้มีการเปิด Hatch หรือฝายานด้านบนที่ปกติจะเป็นที่ตั้งของระบบเชื่อมต่อยานหรือระบบ Docking แต่ในภารกิจ Fram2 นี้ได้มีการปรับแต่งให้ด้านบนเป็นกระจกที่เรียกว่า Cupola เพื่อให้สามารถมองเห็นวิวด้านนอกได้แบบ 360 องศา ซึ่งกระจกบานนี้จะถูกใช้สำหรับการศึกษาปรากฎการณ์ต่าง ๆ แถบขั้วโลก แม้ว่าหน้าต่างปกติของยาน Dragon จะใหญ่มาก ๆ อยู่แล้วก็ตาม (ขนาดใหญ่พอ ๆ กับเครืองบินรุ่นใหม่ ๆ อย่าง Airbus A350 หรือ Boeing 787) การติดตั้งกระจกกลมแบบนี้เคยถูกใช้กับภารกิจก่อนหน้าคือ Inspiration4 มาแล้ว

เวลาประมาณบ่ายสามโมงของวันที่ 2 เมษายน 2025 ตามเวลาประเทศไทย Chun Wang ได้โพสต์ลงบน X อีกครั้งเป็นวิดีโอในขณะที่ลูกเรือช่วยกันเปิดฝายาน Hatch ด้านบนออกแล้วเข้าไปในส่วน Cupola เพื่อมองโลกทั้งใบจากอวกาศ ขณะที่พวกเขากำลังโคจรอยู่เหนือทวีปแอนตาร์กติกา
Hello, Antarctica.
— Chun (@satofishi) April 2, 2025
Unlike previously anticipated, from 460 km above, it is only pure white, no human activity is visible. pic.twitter.com/i7JawFYzW2
ภารกิจของพวกเขายังคงดำเนินต่อไป ในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินก็จะเตรียมตัวสำหรับการเดินทางกลับโลก โดย ณ ตอนนี้คาดว่าพวกเขาจะอยู่ในอวกาศประมาณ 3-5 วันด้วยกัน
โดยเป้าหมายหลักของภารกิจ ได้แก่การ ศึกษาสภาพแวดล้อมของขั้วโลกจากอวกาศ ทดลองด้านสุขภาพของมนุษย์ เช่น การสร้างภาพเอ็กซ์เรย์ในสภาวะไร้น้ำหนัก และการศึกษาปรากฎการณ์ที่เรียกว่า STEVE เป็นปรากฏการณ์ทางแสงในชั้นบรรยากาศโลกที่มีลักษณะคล้ายแสงออโรรา แต่มีคุณสมบัติแตกต่างออกไป STEVE ปรากฏเป็นแถบแสงสีม่วงอมชมพูที่ทอดยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co