ดาวอังคาร หรือที่เรารู้จักในฉายาดาวเคราะห์แดง คือสถานที่อันเต็มไปด้วยทะเลทรายหนาวเย็นแห้งแล้ง และพายุฝุ่นขนาดยักษ์ซึ่งสามารถกลืนกินดาวไปได้ทั้งดวง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มได้เสนอว่าแท้จริงแล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์ของเราอพยพมาจากดาวอังคาร เนื่องจากดาวอังคารมีมหันตภัยบางอย่างเกิดขึ้นเมื่อหลายพันล้านปีก่อน จนทำให้มหาสมุทรบนดาวอังคารเหือดหายไปทั้งหมด บางคนก็บอกว่าสาเหตุเกิดจากการที่มนุษย์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของดาวไป บ้างก็ว่าเกิดจากสงครามนิวเคลียร์และการรบราฆ่าฟัน ซึ่งแนวคิดนี้เริ่มแพร่หลายอย่างเป็นวงกว้างในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว
ยิ่งในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้ลงความเห็นพ้องตรงกันว่าในอดีตดาวอังคารเคยมีมหาสมุทรอยู่จริง ๆ เป็นระยะเวลาหลายร้อยล้านปี จากการค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของร่องรอยแม่น้ำโบราณที่มีอยู่เต็มไปหมด ประกอบกับข้อมูลใหม่ของยาน Mars Reconnaissance Orbiter ซึ่งเป็นยานอวกาศที่โคจรอยู่ในวงโคจรของดาวอังคารตั้งแต่ปี 2005 ว่าดาวอังคารอาจมีมหาสมุทรใกล้ยุคของเรามากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ข่าวใหม่นี้จึงได้จุดไฟกระเพื่อมให้ทฤษฎีนี้ขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้นไปอีกขั้น แต่หารู้ไม่ว่าเรื่อง “มนุษย์มาจากดาวอังคาร” ก็เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดโดยที่ไม่มีมูลความจริงทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ต่างอะไรกับทฤษฎีที่ว่า นาซาไม่เคยส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์
แล้วความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ทำไมเรื่องราวมนุษย์มาจากดาวอังคารถึงกลายเป็นเรื่องหลอกลวงไปซะได้ นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานอะไรมาโต้แย้งบ้าง ซึ่งเราจะมาเจาะลึกแบบละเอียดกันในบทความนี้ แต่ก่อนอื่นเราแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง ทำไมยังมีคนเชื่อว่า NASA ไม่เคยไปดวงจันทร์ จิตวิทยาเบื้องหลังทฤษฎีสมคบคิด เพื่อทำความเข้าใจก่อนว่าทฤษฎีสมคบคิดคืออะไร และมีกระบวนการทางความคิดอย่างไรกันแน่
ริเริ่มแนวคิดมนุษย์มาจากดาวอังคาร
ในปี 1976 ขณะที่ยานอวกาศไวกิ้งบนวงโคจรของดาวอังคารกำลังปฏิบัติหน้าที่แสกนหาจุดลงจอดที่เหมาะสมสำหรับยานฝาแฝดไวกิ้ง 2 ตัวยานก็ได้ส่งรูปภาพภูมิประเทศที่เหมือนกับใบหน้าของมนุษย์กลับมา ราวกับว่ามันกำลังจ้องมาที่กล้องของยานอวกาศอย่างไรอย่างนั้น หลังจากนั้นทางนาซาก็ได้มีการปล่อยภาพนี้ออกไปสู่สาธารณชนทำให้ผู้คนบางส่วนได้เสนอว่าภาพใบหน้ามนุษย์ที่เห็นนี้ คือประติมากรรมโบราณของชาวดาวอังคารที่อาจเป็นหลักฐานชั้นยอดถึงการมีอยู่ของอารยธรรมต่างดาว ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานของทฤษฎีว่ามนุษย์อพยพมาจากดาวอังคารในที่สุด
โดยในเวลาต่อมาองค์กรนาซาก็ได้ส่งยานอวกาศรุ่นใหม่ชื่อ Mars Global Surveyor กลับไปถ่ายภาพที่ตำแหน่งเดิม ซึ่งปรากฏว่ากลับพบเพียงเนินเขาธรรมดาเท่านั้น ส่วนภาพรูปหน้าคนที่ได้มาจากยานไวกิ้ง ก็เป็นเพียงแค่ภาพลวงตาที่เกิดจากมุมตกกระทบของแสงและเงา ประกอบกับความละเอียดต่ำของกล้องในอดีต ไม่ได้เป็นประติมากรรมของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในยุคต่อมา นักทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายก็ยังมีการนำภาพถ่ายจากโรเวอร์รุ่นใหม่ของดาวอังคาร มาตีโพยตีพายกันเป็นจำนวนมาก ว่าภาพก้อนหินที่เห็นนั้นแลดูคล้ายกับซากฟอสซิลของสัตว์ต่าง ๆ หรือไม่ก็เป็นร่องรอยของสิ่งก่อสร้างในอดีตบนดาวอังคาร โดยเฉพาะภาพของก้อนหินทรงสามเหลี่ยมประหลาดคล้ายกับพีระมิดของชาวอียิปต์โบราณที่โรเวอร์ Curiosity ได้ถ่ายไว้ในปี 2015 ทำให้นำไปสู่การตีความที่ว่ามีฐานพีระมิดขนาดใหญ่อยู่ด้านใต้พื้นผิวซ่อนอยู่ใต้ทะเลทรายของดาว
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เรื่องราวเหล่านี้จะทำให้นักดาราศาสตร์ปวดหัวไปตาม ๆ กัน เพราะหินลักษณะแปลก ๆ ที่พวกเราเห็นนี้ล้วนสามารถอธิบายได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากการกัดเซาะของลมและน้ำบนดาวอังคารมาตั้งแต่อดีต ไม่ใช่ซากสิ่งก่อสร้างโบราณหรือฟอสซิลแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่สามารถเกิดขึ้นได้บนโลกอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ก้อนหินลักษณะคล้ายกับพญานาค ในจังหวัดบึงกาฬ ของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากการแตกตัวบริเวณผิวหน้าหินทรายขนาดใหญ่ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็วเป็นเวลากว่า 70 ล้านปี
การที่เรามองเห็นวัตถุทางธรรมชาติเป็นลักษณะสัตว์หรือสิ่งของรูปแบบต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางจิตวิทยาทั่วไปที่เรียกว่า แพริโดเลีย (Pareidolia) ซึ่งเกิดจากการที่บางส่วนของสมองมนุษย์ได้ประมวลผลภาพแล้วข้ามขั้นตอนไปยังการสรุปผล ในขณะที่สมองส่วนที่เหลือตามไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นภาพกระต่ายบนดวงจันทร์ หรือการเห็นหินเป็นสิ่งก่อสร้างหรือฟอสซิลต่าง ๆ ในกรณีนี้เช่นกัน โดยถือว่าเป็นเรื่องที่ปลูกฝังอยู่ตามธรรมชาติของมนุษย์ อันเป็นผลมาจากการวิวัฒนาการเพื่อให้เผ่าพันธุ์ของเราสามารถระบุสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการเอาชีวิตรอดในยุคล่าสัตว์หาของป่า แต่ถึงกระนั้นปรากฏการณ์นี้ก็กลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของนักทฤษฎีสมคบคิดอย่างแพร่หลาย
หากก้อนหินเหล่านั้นเป็นฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ หรือซากสิ่งก่อสร้างบนดาวอังคารจริงอย่างที่นักทฤษฎีสมคบคิดกล่าวอ้าง ทางนาซาก็คงไม่มีความจำเป็นที่ต้องปิดเรื่องนี้ไว้ เพราะภารกิจหลัก ๆ ของนาซาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ คือการค้นหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารอยู่แล้ว อย่างเช่น ภารกิจของโรเวอร์ Perseverance ลำล่าสุดของนาซาที่ได้ลงจอดไปในบริเวณที่คาดว่าเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโบราณของดาวอังคาร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีซากฟอสซิลหรือร่องรอยของจุลชีพขนาดเล็กอาศัยอยู่ เมื่อครั้งที่ดาวอังคารถูกเติมเต็มไปด้วยมหาสมุทรราว 4 พันล้าน ถึง 2 พันล้านปีก่อน
มีน้ำไม่ได้หมายความว่ามีมนุษย์
โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทางนาซาได้ตัดความเป็นไปได้ของการกำเนิดสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่บนดาวอังคารออกไปทั้งหมด เหลือแต่เพียงการค้นหาสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่แลดูไม่น่าสนใจเท่าไหร่ในสายตาของคนทั่วไปมากนัก เนื่องจากเราไม่มีหลักฐานเลยว่า ดาวอังคารในอดีตมีปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอต่อการรองรับสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนได้ ถึงแม้ว่าดาวอังคารจะเคยมีมหาสมุทรอยู่จริงก็ตาม
สาเหตุก็เพราะนักดาราศาสตร์ได้พบว่าชั้นบรรยากาศโบราณของดาวอังคารในอดีตนั้น เต็มไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซค์เป็นส่วนใหญ่ ที่มนุษย์ไม่สามารถหายใจได้ ส่งผลให้ดาวอังคารในอดีตปราศจากชั้นโอโซนที่จะปกป้องรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ต่อสิ่งมีชีวิตไป อีกทั้งชั้นบรรยากาศบนดาวที่ว่ากันว่ามีความหนาแน่นในอดีต ก็ยังถือว่าเบาบางเทียบเมื่อเทียบกับความดันบรรยากาศของโลก โดยคิดเป็นความดันบรรยากาศเท่ากับอากาศบนภูเขาที่สูงกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ถึงสองเท่า ประกอบกับน้ำทะเลในอดีตของดาวอังคารที่มีสภาพความเป็นกรดสูงอีกด้วย
อ่าน – มหาสมุทรที่เคยอยู่บนดาวอังคารหายไปไหน
เพราะฉะนั้นการค้นหาร่องรอยของจุลชีพจึงสมเหตุสมผลมากกว่าการค้นหาสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่กว่ามาก อย่างกรณีที่บนโลกของเราเอง ก็จะเห็นได้ว่าบนยอดเขาที่มีอากาศเบาบางและหนาวเย็นนั้น มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับดาวอังคารในอดีต ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่อาศัยอยู่เลย นอกเสียจากพวกจุลชีพขนาดเล็กเพียงเท่านั้น โดยที่พวกมันสามารถอาศัยอยู่ได้ทุกแห่งหนบนพื้นโลกในที่ที่มีความชื้น ทั้งตามแหล่งบ่อน้ำพุร้อนที่อุดมไปด้วยแก๊สพิษของเอธิโอเปีย หรือตามธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ที่มีอุณภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าติดลบ 28 องศาเซลเซียสก็ตามที
แต่ถึงแม้ว่าดาวอังคารจะมีความเป็นไปได้มหาศาลที่จะมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กถือกำเนิดขึ้นมาเฉกเช่นโลก ก็ยังไม่มีองค์กรอวกาศไหนในปัจจุบันมาป่าวประกาศว่าค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารเลยสักนิด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยีการตรวจสอบของยานอวกาศบนดาวอังคารไม่ละเอียดเพียงพอเหมือนกับห้องทดลองบนโลก แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่าหากเรายังค้นหาสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวกันยังยากขนาดนี้ ก็ไม่ต้องไปหวังกับสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนสูงแบบมนุษย์ว่าจะเคยอาศัยอยู่เลย
ยิ่งถ้าเรามานั่งดูตัวเลขของระยะเวลาที่ดาวอังคารมีมหาสมุทรก็จะพบว่า ช่วงเวลาที่สภาพแวดล้อมบนดาวอังคารมีความเสถียรเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตยาวนานแค่เพียง 2 พันล้านปีเท่านั้น เทียบกับโลกที่มีเวลาถึง 4 พันล้านปี หรือมากกว่าดาวอังคารถึง 2 เท่าด้วยกัน หากว่าดาวอังคารเคยมีจุลชีพอาศัยอยู่จริง ๆ พวกมันก็คงมีเวลาไม่เพียงพอที่จะสามารถวิวัฒนาการจนเกิดกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงได้แบบจุลชีพบนโลกในอดีตที่มีชื่อว่า ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) ซึ่งการสังเคราะห์ด้วยแสงนั้น เป็นกระบวนการที่นำคาร์บอนไดออกไซค์และน้ำมาทำปฏิกริยากับแสงแดดเพื่อผลิตอาหาร ในขณะที่ได้ของเสียเป็นออกซิเจนออกมา
ดังนั้นจุลชีพที่มีกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงได้จึงเป็นตัวแปรสำคัญของโลกในอดีต ที่ทำให้ออกซิเจนเริ่มปรากฏขึ้นในชั้นบรรยากาศเมื่อราว 3,100 ล้านปีก่อน และเมื่อเรามากางเส้นเวลาดู (สังเกตได้จากภาพด้านล่างโดยมีหน่วย MYA เป็นหลักพันล้านปี) ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ว่ายุคที่พืชและสัตว์อย่างที่เรารู้จักกันดี เพิ่งเริ่มที่จะวิวัฒนาการขึ้นมาบนโลก เมื่อราว 500 ล้านปีก่อนเท่านั้น ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า การระเบิดทางชีวภาพในยุคแครมเบียน (Cambrian Explosion) หลังจากที่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวได้ครองโลกมาเป็นเวลากว่า 3,500 ล้านปี ส่วนมนุษย์ก็พึ่งถือกำเนิดมาเมื่อราว 200,000 ปีก่อน และได้กระจายไปทั่วทุกทวีปบนโลกเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน สภาพแวดล้อมที่เสถียรของโลกจึงส่งผลอย่างมากต่อการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ต่างจากดาวอังคารที่มีเวลาน้อยเกินไปเพียงแค่ 2 พันล้านปี ซึ่งไม่เพียงพอให้สิ่งมีชีวิตในรูปแบบที่เรารู้จักได้วิวัฒนาการขึ้นมาจนมีความซับซ้อนสูงได้
หลักฐานโต้แย้งจากทฤษฎีวิวัฒนาการ
นอกจากนี้ในทฤษฎีมนุษย์อพยพมาจากดาวอังคาร ก็มักมีการกล่าวอ้างว่าเผ่าพันธุ์ของมนุษย์นั้นช่างแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกเสียเหลือเกิน เพราะเรานั้นแลดูฉลาดเกินไป ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันเรามีหลักฐานมากมายอยู่เต็มไปหมดว่า โฮโมเซเปียนส์ (Homosapiens ชื่อเป็นทางการของเผ่าพันธุ์มนุษย์) มีญาติร่วมวงศ์ตระกูลอย่างมากมาย อย่างเช่นพวก นีแอนเดอร์ทัล (Homo Neanderthalensis) และโฮโมอีเร็กตัส (Homo Erectus) ที่มีความสามารถในการจุดไฟกับความรู้ในการทำอุปกรณ์ล่าสัตว์จากหิน เฉกเช่นเผ่าพันธุ์ของเรา ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถศึกษาจากร่องรอยโครงกระดูกและข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
หากไล่สืบวงศ์วานของมนุษย์ย้อนกลับไปอีก ก็จะพบว่าบรรพบุรุษของเราเป็นพวกวงศ์ลิงใหญ่ไร้หาง (Great apes) ที่วิวัฒนาการไล่เลี่ยมาพร้อมกับพวกชิมแพนซีและกอริลล่า โดยมีต้นกำเนิดร่วมกันมาตั้งแต่ประมาณ 6-8 ล้านปีก่อน ซึ่งในปัจจุบันความรู้ทางด้านมานุษยวิทยาของมนุษย์สามารถไล่ลำดับวิวัฒนาการไปได้ไกลถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงเป็นข้อสรุปที่กระจ่างแจ้งว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามมนุษย์ย่อมมีความผูกพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกอย่างตัดขาดมิได้ จึงเป็นไม่ได้เลยแม้แต่น้อยที่เราจะมีต้นกำเนิดมาจากดาวอังคาร มิฉะนั้นเราก็คงจะต้องปัดตกทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลส์ ดาร์วิน ไปซึ่งเป็นทฤษฎีสำคัญที่นำมาสู่ศาสตร์การตัดต่อพันธุกรรมพืชและสัตว์ในปัจจุบัน
อิทธิพลของสื่อบันเทิง
แม้จะมีหลักฐานมากมายขนาดนี้ว่ามนุษย์ไม่ได้อพยพมาจากดาวอังคารแน่นอน เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้คนบางส่วนก็ยังคงเชื่อทฤษฎีสมคบคิดนี้อย่างเป็นตุเป็นตะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของสื่อนวนิยายและภาพยนตร์ที่ได้มีการหยิบเรื่องราววิทยาศาสตร์มาปรุงแต่งขึ้นและได้มีการเผยแพร่ไปเป็นวงกว้าง จนอาจทำให้มีการนำเรื่องราวจากสื่อต่าง ๆ มาผสมกับข้อเท็จจริงได้
(*มีการสปอยเหตุการณ์ในภาพยนตร์)
อย่างเช่นภาพยนตร์ เรื่อง ฝ่ามหันตภัยมฤตยู หรือ Mission to Mars ในภาษาอังกฤษ ซึ่งค่อนข้างโด่งดังในประเทศไทยช่วงปี 2000 โดยที่ตัวภาพยนตร์ได้มีการเล่าเรื่องถึงนักบินอวกาศที่ได้ค้นพบสิ่งก่อสร้างลึกลับบนดาวอังคาร ก่อนที่จะรู้ความจริงในฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง ว่าสิ่งก่อสร้างนั้นคือยานอวกาศของชาวดาวอังคารที่หลงเหลือไว้ เนื่องจากในอดีตเกิดเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์พุ่งชนดาวอังคาร จนทำให้ตัวดาวไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ชาวดาวอังคารจึงได้ออกเดินทางและส่งรหัสพันธุกรรมกระจัดกระจายไปตามดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในกาแล็กซี่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือดาวโลกของเรา ที่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ริเริ่มมาจากรหัสพันธุกรรมของชาวดาวอังคาร นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องล่าสุดอย่าง โพรมีธีอุส (Prometheus) ที่มีเนื้อเรื่องว่ามนุษย์มีต้นกำเนิดมาจากเอเลี่ยนเช่นกัน
อ่าน – ทำไมการจัดให้อวกาศเป็นเรื่องลี้ลับ ถึงเป็นปัญหาในการสื่อสารวิทยาศาสตร์?
บทส่งท้าย
ดังนั้นการมีความรู้เท่าทันสื่อและการแยกแยะระหว่างจินตนาการกับข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในยุคสมัยนี้ มิฉะนั้นพวกเราก็อาจตกเป็นเหยื่อของทฤษฎีสมคบคิดได้โดยง่าย เนื่องจากทฤษฎีสมคบคิดมีลักษณะข้อมูลที่ดูน่าเหลือเชื่อและน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งหากเราลองเราเปิดใจให้กว้าง ๆ แท้จริงแล้วข้อเท็จจริงวิทยาศาสตร์ก็น่าทึ่งไม่แพ้กับทฤษฎีสมคบคิดเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดาวอังคารเคยมีมหาสมุทรมาก่อน หรือแม้แต่การกำเนิดออกซิเจนบนโลกจากจุลชีพตัวเล็ก ๆ ในบทความนี้ ก็ตามที
“ยิ่งสังคมหนีห่างจากความจริงมากเท่าไหร่ สังคมก็จะยิ่งเกลียดผู้ที่พูดความจริงมากขึ้นเท่านั้น”
George Orwell ผู้แต่งหนังสือเรื่อง 1984
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
Introduction to Human Evolution
Competition in Cambrian seas helped cause an explosion in diversity
NASA’s MRO Finds Water Flowed on Mars Longer Than Previously Thought
That ‘Human Bone’ Found in a NASA Mars Photo Isn’t Even New. Here’s The Real Story