ทำไมยังมีคนเชื่อว่า NASA ไม่เคยไปดวงจันทร์ จิตวิทยาเบื้องหลังทฤษฎีสมคบคิด

“คุณทำอะไรอยู่ในวันที่มนุษย์ก้าวขาลงบนดวงจันทร์” คำถามนี้คงได้รับคำตอบอย่างง่ายดาย หากคุณได้ถามไถ่ผู้ที่เคยนั่งดูการถ่ายทอดสด การเหยียบดวงจันทร์ของภารกิจอะพอลโล 11 มากกว่า 650 ล้านคนผ่านโทรทัศน์ทั่วโลก ซึ่งสัญญาณถ่ายทอดสดได้เดินทางผ่านคลื่นวิทยุที่ตรงเข้ามายังโลกด้วยความเร็วแสง ผ่านห้วงอวกาศกว่า 384,400 กิโลเมตร ในเวลา 1 วินาทีกว่า ๆ เข้าสู่ระบบจานรับสัญญาณขนาดยักษ์ แล้วค่อยเชื่อมต่อไปยังสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ก่อนที่จะปรากฎบนจอโทรทัศน์ด้วยอัตราการแสดงผลที่ 10 ภาพต่อวินาที ณ วันที่ 20 กรกฏาคม 1969 มันคือช่วงเวลาสุดวิเศษที่ผู้คนทั่วโลกต่างลืมเลือนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันทั้งหมดและจดจ่อกับความสำเร็จของมนุษย์ชาติในครั้งนี้

โครงการอะพอลโล 11 ที่ส่งมนุษย์ไปเยียบดวงจันทร์ นับได้ว่าคือจุดสูงสุดของการแข่งทางด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ได้ใช้งบประมาณทั้งหมดในโครงการอะพอลโลไปกว่า 20,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตีเป็นเงินไทยราว 650,000 ล้านบาท) ในปี 1969 และยังต้องอาศัยทีมงานภาคพื้นทั้งหมดกว่า 400,000 คนทั่วสหรัฐฯ ตลอดทั้งโครงการอะพอลโล เพื่อส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่เหล่านี้กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องหลอกลวงในอีก 30 ปีให้หลัง ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟู จึงเป็นคำถามสำคัญว่าถึงแม้ NASA จะมีหลักฐานมากมายมหาศาลว่า โครงการอะพอลโลมีอยู่จริง ก็ยังมีผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธความจริงเหล่านี้และยึดมั่นใน “ทฤษฎีสมคบคิด” อยู่ในปัจจุบัน และผู้คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดนี้ส่งผลต่อสังคมอย่างไรบ้าง ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักธรรมชาติของทฤษฎีสมคบคิดกันให้มากขึ้นแล้วเราควรจะรับมือกับมันยังไง

อ่านเรื่องราวของหลักฐานการบันทึกเหตุการณ์อะพอลโล 11 เพิ่มเติมได้ที่นี่ Apollo 11 (2019) สารคดีจากฟิล์ม 65 มม. ที่หายไปนานครึ่งศตวรรษ ที่ควรค่าแก่การชมบน Netflix

ผู้คนที่รวมตัวชมการปล่อยจรวด Saturn V ที่จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ในเช้าวันที่ 16 กรกฎาคม 1969 ที่มา Apollo 2011 (2019)

ทฤษฎีสมคบคิดคืออะไร

“ยิ่งคุณฟังทฤษฎีสมคบคิดไปเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งหลงเชื่อมันไปมากขึ้นเท่านั้น” คำกล่าวนี้ก็อาจจะไม่ผิดนักเพราะทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ มักเป็นเรื่องราวที่น่าเหลือเชื่อ ลี้ลับ หรือมีองค์กรขนาดใหญ่หรือรัฐบาลปกปิดไว้ อย่างเช่น เรื่องโลกแบน, มนุษย์ต่างดาวใน Area 51, สหรัฐฯเป็นคนสั่งถล่มตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์เอง และทฤษฎีเรื่อง NASA ไม่เคยส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ ที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น โดยทฤษฎีสมคิดส่วนใหญ่อย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นล้วนแต่เป็นการอ้างสิทธิ์ในสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์มาแล้ว และไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะไปพิสูจน์ได้จริง (ยกเว้นในด้านศาสนาที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล)

แต่คนก็จำนวนมากพร้อมที่จะเชื่อ จะเห็นได้ว่ากระบวนการคิดเหล่านี้มักมีลักษณะของการจับแพะชนแกะ เพื่อหาเหตุผลทางตรรกะมาเชื่อมโยงเพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ดูยิ่งใหญ่ เกินจริง และที่จริงมันยังมีเรื่องตรรกะทางความคิดที่ผิดพลาดด้วย ซึ่งไม่เหมือนกับการหลงเชื่อในข่าวปลอมหรือโฆษณาชวนเชื่อที่เกิดจากการรับข้อมูลที่ผิดพลาด

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Operation Avalanche (2016) ที่พยายามเล่าถึงการสร้างหลักฐานการไปดวงจันทร์ปลอมของสหรัฐฯ

ทำไมผู้คนถึงเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด

ทฤษฎีสมคบคิด ถือว่าเป็นการเลือกมองโลกแบบขาวกับดำเท่านั้น ว่าทุก ๆ อย่างนั้นต้องล้วนต้องมีคำตอบเดียวทั้งสิ้น การมองโลกในลักษณะนี้เรียกว่า อันตนิยม (Teleological Thinking) เช่นสมมติว่าคุณไปถามเด็กคนหนึ่งว่า “ทำไมฝนถึงตก” ในหัวของเด็กคนนั้นก็จะเริ่มคิดวิธีการแก้ปัญหาโดยมี 2 ตัวเลือกคือ

  1. หาคำตอบที่ง่ายและไวที่สุด
  2. หาเหตุผลที่แท้จริง

ซึ่งปกติแล้วธรรมชาติสมองของมนุษย์จะหาคำตอบที่ง่ายและไวที่สุดตามสัญชาติญาณ เพื่อที่จะได้ไม่เปลืองพลังงานและเวลา ดังนั้นเด็กจึงมีแน้วโน้มที่จะตอบคำถามประมาณว่า “ก็เพราะดอกไม้กระหายน้ำไง” มากกว่าที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมมาตอบตามหลักเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิงเพราะการเกิดฝนตกนั้นเกิดจากหลายปัจจัยในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ฝนจึงตก ไม่ได้มีเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งแน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เป็นเรื่องผิดพลาดร้ายแรงสำหรับเด็ก เราทุกคนล้วนแต่ผ่านกระบวนการเรียนรู้นี้มาแล้วทั้งสิ้น เมื่อเราโตขึ้นเราจึงรู้ว่าการหาเหตุผลที่แท้จริงกับธรรมชาติรอบตัว ช่วยให้เราอยู่รอดในสภาพแวดล้อมได้มากกว่าการรีบหาคำตอบ

พนักงาน NASA ขณะนั่งรอดูการถ่ายทอดสดบนอวกาศครั้งสุดท้ายของลูกเรือ Apollo 11 ที่มา Apollo 11 (2019)

ในทางชีววิทยาแล้วเราสามารถอธิบายวิธีการคิดแบบนี้ได้ว่า เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ชอบความไม่แน่นอน ตั้งแต่อดีตเพื่อเป็นกลไกการเอาชีวิตรอด ลองจินตนาการว่ามนุษย์ยุคโบราณกำลังเดินในทุ่งหญ้าสะวันนาตอนกลางคืนแล้วเห็นพงหญ้าสูงพลิ้วไหว ไม่ว่าจะเกิดจากแรงลมหรืออะไรสิ่งมีชีวิตอะไรก็ตาม สมองเราก็จะเริ่มคิดว่าอาจจะมีอันตราย ต้องรีบหนี สมองได้จึงอาจทำให้มนุษย์โบราณคนนั้นระวังตัวมากขึ้น หรือสร้างความกลัวขึ้นมาให้เราออกไปจากสถานที่นั้นทันที โดยให้เหตุผลว่ามันอาจจะมีนักล่าหรือภูตผีอยู่ในดงหญ้านั้นก็ได้ เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอด

ต่อเมื่อมนุษย์ได้วิวัฒนาการและมีการสะสมองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นมากขึ้น เราจึงเริ่มที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของมนุษย์หายไปเมื่อเราได้รับข้อมูลที่มากพอป้อนให้แก่สมอง แต่ทว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นต้องอาศัยองค์ความรู้รอบด้านเพื่ออธิบายสิ่งต่าง ๆ หรือนำความรู้ไปสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เปรียบเสมือนเหมือนหอคอยแห่งความรู้ที่ถ้าเราปีนขึ้นไปได้เราก็จะสามารถมองเห็นภาพมุมกว้างได้มากขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้น กลับกันถ้าเราอยู่บนพื้นดินเราก็จะไม่เห็นอะไรเลย การขึ้นไปบนหอคอยจึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าจะทำให้ความเป็นอยู่ของเผ่าพันธ์ุเราให้ดีขึ้นผ่านระบบที่เรียกว่า “การศึกษา”

ภาพจากภาพยนตร์ที่ตัวละครกำลังจัดฉากการไปดวงจันทร์ ที่มา Operation Avalanche (2016)

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะปีนหอคอยนั้นไปเพื่อศึกษาองค์ความรู้นั้นทั้งหมด เพราะบางหอคอยแห่งความรู้ ก็ไม่ได้จำเป็นต่อการเอาชีวิตรอดทั้งหมด บางคนเก่งด้านหอคอยศิลปะ บางคนก็ถนัดด้านหอคอยคณิตศาสตร์ ทีนี้เรามาลองมองตัวอย่างกระบวนการคิดฝั่งผู้คนที่เชื่อในฝั่งทฤษฎีสมคบคิดกันบ้างเพื่อที่จะได้เข้าใจกระบวนความคิดให้มากขึ้น เช่น ถ้าเราถามชายธรรมดาคนหนึ่งว่า “สหรัฐฯไปดวงจันทร์ได้อย่างไร” สิ่งที่จะเกิดขึ้นในหัวของผู้ชายคนนั้นก็จะมี 2 ตัวเลือกเช่นเดียวกับเด็กในตัวอย่างก่อนหน้า แต่ดันมีความต่างอยู่ที่ว่า เรื่องการไปดวงจันทร์มันไกลตัวมนุษย์คนหนึ่งมาก ยิ่งถ้าเขาไม่มีได้อยู่บน “หอคอยแห่งความรู้ด้านอวกาศ” จึงมีแนวโน้มสูงที่เขาจะเลือกคำตอบที่ง่ายและอธิบายเหตุผลได้รวดเร็วที่สุดอย่าง “NASA ไม่เคยไปดวงจันทร์ ทุกอย่างเป็นเรื่องโกหก” การคิดในลักษณะ อันตนิยม นี้ล้วนง่ายกว่าการหาข้อมูลหรือการปีนหอคอยนั้นอยู่แล้ว

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยจะเชื่อไปเหมือนกันไปทั้งหมด ที่เราอาจจะต้องแยกกันระหว่างความสงสัย (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี) กับการหลงเชื่อในทฤษฎี เพราะปัจจุบันก็มีข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมากมายที่ออกมาโต้แย้งทฤษฏีสมคบคิดที่พวกเราสามารถหาอ่านได้โดยใช้แค่ปลายนิ้ว ดังนั้นเราอาจจะต้องลงลึกที่ความต้องการทางจิตวิทยาส่วนบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดนี้ด้วย

อ้างอิงจากงานวิจัยเมื่อปี 2017 ผู้คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดอย่างแน่วแน่มักจะมีลักษณะนิสัย ที่ชอบเปิดรับประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นแปลกใหม่ แต่บุคคลนั้นไม่ค่อยน่าคบหาหรือพึ่งพาได้ และมักสนใจแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งทฤษฎีสมคบคิดนั้นช่วยเติมเต็มให้บุคคลที่เชื่อรู้สึกว่า “ตนเองพิเศษกว่าผู้อื่น” เพื่อหาจุดเด่นของตนเองว่ามีชุดความรู้หรือข้อมูลที่คนอื่นไม่มี ยิ่งเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่มักเกี่ยวกับรัฐบาลหรือองค์กรลับเลยทำให้เพิ่มพูนความโดดเด่นของผู้เชื่อทฤษฎีเหล่านี้ให้ต่างจากคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้คนเหล่านี้มักประกาศความเชื่อของตนออกสู่สังคมตลอกเวลาไม่ว่าจะตามอินเตอร์เน็ตหรือที่สาธารณะ แถมผู้คนที่เชื่อทฤษฏีสมคบคิดอย่างเอาจริงเอาจังอย่างเรื่อง “NASA ไม่เคยไปดวงจันทร์” ก็มักจะหลงเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มความพิเศษของตน

กลุ่มผู้ประท้วงที่เชื่อว่าโรคโควิด 19 ไม่มีจริง ที่มา Kevin Chang

ยิ่งไปกว่านั้นผู้คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด จะไม่เชื่อในเรื่องหลักการของหอคอยที่เราได้คุยกันมาว่า การที่ได้ขึ้นไปในหอคอยจะทำให้พวกเขามองเห็นภาพที่กว้างขึ้น แต่พวกเขาจะเชื่ออะไรก็ตามที่พิสูจน์ได้โดยง่ายที่ไม่ต้องอาศัยความรู้เยอะ เช่นการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า อาทิถ้าอยากพิสูจน์ว่า NASA ไปดวงจันทร์จริงไหม ก็ต้องถ่ายรูปมายืนยันด้วยกล้องโทรทรรศน์จากบนโลกเป็นการพิสูจน์ ถ้าถ่ายมาไม่ได้แสดงว่าไม่ได้ไปจริง ในขณะที่ปัจจุบันเราสามารถยืนยันได้จากการใช้เลเซอร์ยิงไปยังกระจกที่นักบินอวกาศยุคอะพอลโลทิ้งไว้บนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคิดก็จะไม่รับฟังเหตุผลเหล่านี้ที่ไม่ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 พื้นฐานอยู่ดี

และด้วยนวัตกรรมอย่างอินเตอร์เน็ต ผู้คนที่เชื่อเรื่องราวทฤษฎีสมคบคิดจึงมารวมตัวกันในสังคมได้ง่ายขึ้นและทำให้พวกเขาลดการเผชิญกับการโดนหักล้างความเชื่อจากบุคคลอื่น จนเกิดการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมของกลุ่มขึ้นมาเพื่อได้สร้างคุณค่าบางอย่าง เช่นในต่างประเทศก็จะมีชมรมคนเชื่อว่าโลกแบนจัดงานประชุมสัมมนากันทุกปี ทั้งที่มนุษย์ก็พิสูจน์กันมาเป็นพันปีแล้วว่าโลกกลม หรือแม้แต่กลุ่มในโซเชียลมีเดียที่มีผู้เชื่อว่าสามารถนั่งสมาธิติดต่อกับเอเลี่ยนได้ก็มีการนัดรวมกลุ่มกัน

งานสัมมนาของกลุ่มคนที่เชื่อว่าโลกแบนในสหรัฐฯ ที่มา Colorado Sun

ทฤษฎีสมคบคิดมีผลเสียอย่างไรต่อสังคม

การคิดแบบ “อันตนิยม” ในทฤษฎีสมคบคิดนี่เองนั้นสามารถทำให้กระบวนการคิดและการใช้เหตุผลในสังคมมีปัญหา โดยเฉพาะการปฏิเสธความจริงที่มีอยู่ตรงหน้า จนปัจจุบันเราอาจจะยังเจอตรรกะสุดคลาสสิคอย่าง “รู้ได้ไง เกิดทันหรอ” ทั้งที่เรื่องราวต่าง ๆ นั้นมักได้รับการยืนยันและมีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วมากมาย ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ที่สามารถอธิบายเรื่องราวในอดีตได้อย่างมีที่มาที่ไป จนอาจเริ่มแยกแยะระหว่างความเป็นจริงกับเรื่องแต่งไม่ออก ซึ่งอาจนำไปสู่การตกเป็นเหยื่อของการไม่รู้เท่าทันสื่อได้ง่ายอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นทฤษฎีสมคบคิดอาจนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นได้อย่างเช่น ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า โรคโควิด 19 เกิดขึ้นมาก็เพราะว่ามีองค์กรลับอยู่เบื้องหลังที่ต้องการจะลดจำนวนประชากรโลกและการฉีดวัคซีนจะทำให้คนที่ฉีดเป็นหมัน คนที่เชื่อจึงไม่ยอมฉีดวัคซีน หรือแม้แต่เรื่องอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า ภาวะโลกร้อนไม่มีจริงและเป็นแผนการของจีนที่จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯตกต่ำ ทำให้สมัยของ Trump สหรัฐอเมริกา จึงถอนตัวออกจากสนธิสัญญาภูมิอากาศปารีส ตัวอย่างเหล่านี้จึงชี้ให้เห็นว่าวิธีคิดลักษณะนี้สามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ และความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดก็ยังอยู่ติดตัวผู้เชื่อต่อไปจนกว่าผู้ที่เชื่อจะลดทิฐิตนเองลงมาเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ

Donald Trump ผู้ที่เชื่อว่าโรคร้อนไม่มีจริง หาเสียงด้วยนโยบายเปิดเหมืองถ่านหินใหม่ ที่มา CNN

แล้วความเชื่อเรื่อง NASA ไม่เคยไปดวงจันทร์มาจากไหน

อย่างที่กล่าวไปในช่วงต้นของบทความว่าการเหยียบดวงจันทร์ของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกต่างตื่นเต้นและให้ความสนใจจากสื่ออย่างล้นหลาม การเกิดขึ้นของทฤษฎีสมคบคิดจึงเป็นไปได้ยากจนกระทั่งโครงการอะพอลโล 17 ภารกิจสุดท้ายที่มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์สิ้นสุดลงเมื่อปี 1972 ได้เพียง 4 ปีก็ได้มีการตีพิมพ์หนังสือชื่อ We Never Went to the Moon แปลไทยได้ว่า พวกเราไม่เคยไปดวงจันทร์ เขียนโดย Bill Kaysing เจ้าพ่อต้นกำเนิดทฤษฎี NASA ไม่เคยไปดวงจันทร์ ซึ่งหนังสือที่เขาเขียนนั้นขายไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก แต่ก็ทำให้ทฤษฎีมนุษย์ไม่เคยไปดวงจันทร์เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น จนกระทั่งการเข้ามาของสารคดียาว 45 นาที ที่มีชื่อว่า Did we land on the moon ในปี 2001 ที่จุดกระแสให้ทฤษฎีสมคบคิดนี้โด่งดังเป็นพลุแตกไปทั่วโลก

รวมถึงในประเทศไทยเองช่วงปี 2001 ทางช่อง UBC หรือ True Vision ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสื่อโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของไทยในตอนนั้น ก็ได้มีการนำเข้าสารคดีนี้มาถ่ายทอดในรูปแบบภาษาไทย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการฉายทางโทรทัศน์ครั้งแรกนั้นก็มีการโปรโมทครั้งใหญ่ทั้งโฆษณา ทั้งเอาคนมาแต่งตัวเป็นนักบินอวกาศเดินไปตามท้องถนน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีคนไทยให้ความสนใจมากในตอนนั้น และด้วยการที่เป็นสื่อขนาดใหญ่ที่เองเลยทำให้มีผู้คนหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ทั้งที่แท้จริงแล้วสารคดีตัวนี้ไม่มีหลักความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ เลยด้วยซ้ำ

และด้วยความที่ทฤษฎีสมคบคิดที่ดังไปทั่วโลกทำให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าจากสื่อก็คงหนีไม่พ้นเหล่านักบินอวกาศจากโครงการ อะพอลโลที่ได้เคยไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้ว อย่าง บัซ อัลดริน มนุษย์คนที่ 2 ที่เหยียบดวงจันทร์หลังจาก นีล อาร์มสตรอง ได้ราว 20 นาที ก็ถูกผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งพยายามเข้าไปท้าทายให้ บัซ อัลดริน สาบานตนต่อคัมภร์ไบเบิลว่าเขาเคยไปเหยียบดวงจันทร์จริง ๆ ซึ่งในขณะนั้น บัซ อัลดริน ก็พยายามเดินหนี ไม่ได้ให้ความสนใจชายคนนั้นแต่อย่างใด ได้ถูกตะโกนเย้ยหยันต่อว่า บัซ อัลดริน ว่าเป็นคนที่ขี้ขลาด ลวงโลก หัวขโม- ยังไม่ทันสิ้นเสียง หน้าของชายที่ต่อว่าก็โดนหมัดของชายอายุ 72 ปีซัดเข้าไปอย่างจัง (สามารถดูคลิปได้ที่นี่ ) ถ้าการลวงโลกเรื่องการไปดวงจันทร์เป็นความจริง เรื่องนี้ก็คงเป็นการจัดฉากที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

นีล อาร์มสตรอง และ บัซ อัลดริน ขณะฝึกซ้อมการเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ ที่มา NASA

บทสรุป

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมากมายที่ได้หักล้างทฤษฎีสมคบคิดไปนัดต่อนัดแล้ว แต่ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ก็ยังอยู่รอดมาได้เรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นก็อาจจะสรุปแบบกวน ๆ ได้ว่า ทฤษฎีสมคบคิดไม่ใช่ทฤษฎีแต่เป็นผู้คน ก็ว่าได้ ซึ่งความน่ากลัวของทฤษฎีสมคบคิด ไม่ใช่แค่ข่าวปลอมธรรมดาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเหมือนอย่างข่าวปลอม (Fake News) ที่เรารู้จัก แต่มันคือตรรกะและวิธีการคิดที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ที่มนุษย์สั่งสมมาตลอดระยะเวลาหลายพันปี ที่ตัวผู้เชื่อเลือกที่จะไม่เชื่อเอง ที่อาจส่งผลเสียในสังคมระยะยาวได้หากมีการแพร่หลายออกไปเป็นวงกว้าง

หากพูดในแง่ของสิทธิแล้ว คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดก็มีสิทธิที่จะเชื่อแบบนั้น เราก็คงจะไปเปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้ และถ้าจะมองในแง่ดีหน่อยมันก็มีทฤษฎีสมคบคิดส่วนน้อย (มาก ๆ) ที่ต่อมากลายเป็นความจริงอย่างโครงการจับตาสอดส่องพลเมืองของสหรัฐฯ ที่ Edward Snowden ออกมาแฉเมื่อปี 2013 ที่ได้กลายเป็นเรื่องจริง ส่วนพวกทฤษฎีสมคบคิดประเภทที่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยอย่างเรื่องมนุษย์อพยพมาจากดาวอังคาร หรือ NASA ไม่เคยไปดวงจันทร์ ก็ได้รับการพิสูจน์ไปแล้วนัดต่อนัดว่าทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ไม่เป็นความจริงแน่นอน แต่มันก็ยังคงอยู่กับเราต่อไปอยู่ดี (ฮา) จึงเกิดคำถามถัดมาว่า เราจะพูดคุยกับผู้คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดอย่างไรได้บ้างถ้ามีการเผชิญหน้ากันเกิดขึ้น โดยอาจจะต้องดูเป็นกรณีไปว่าเขาพร้อมที่จะเปิดรับฟังความอีกด้านหรือไม่

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง

Why Do People Embrace Conspiracy Theories?

There’s a psychological link between conspiracy theories and creationism

The role of need for uniqueness in belief in conspiracy theories

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.