รู้จักกับจรวด Hybrid ระบบขับดันลูกครึ่งกับอนาคตใหม่ของวงการ Space Flight

ในวงการสำรวจอวกาศ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากด้วยซ้ำถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “จรวด” สิ่งที่ใช้ในการส่งของ อุปกรณ์หรือแม้แต่มนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ หรือแม้แต่การทำสงครามก็ยังมีการใช้จรวดกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เรียกได้ว่ามันเป็นสิ่งที่มีวิวัฒนาการมานานกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์รถยนต์สันดาปเชื้อเพลิงหรือเครื่องบินด้วยซ้ำ ในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักการรูปแบบจรวดชนิดหนึ่งที่ ณ ทุกวันนี้นั้น น้อยคนมาก ๆ ที่จะรู้จักมัน “Hybrid Rocket Motor” แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับ Hybrid Rocket Motor หรือจรวด Hybrid นั้น เราขอพาทุกคนที่แวะเข้ามาอ่านบทความนี้ไปทำความรู้จักเรื่องจรวดเชื้อเพลิงแข็งและจรวดเชื้อเพลิงเหลวกันก่อน

จรวดเชื้อเพลิงแข็ง

จรวดเชื้อเพลิงแข็ง หรือ Solid Ptoropellant Rocket ถ้าเอาตามหลักฐานที่พบ เรียกได้ว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี Rocket Propulsion เลยก็ว่าได้ โดยจากหลักฐานที่ถูกค้นพบและเป็นที่ยอมรับกันในวงการ มันถูกใช้งานครั้งแรกในช่วงราว ๆ ศตวรรษที่ 13 ในระบบขับดันลูกศรที่ถูกใช้เป็นอาวุธแทนการใช้คันธนูยิง โดยถูกใช้ครั้งแรกในประเทศจีนและแน่นอนว่ามันถูกใช้เป็นอาวุธสงคราม ในยุคเริ่มแรกของมัน มันใช้ดินปืนเป็นเชื้อเพลิงในการขับดันตัวจรวดและถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ โดยผ่านการทดลองหยิบใช้สารชนิดต่าง ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพให้จรวดของตัวเอง และแพร่ขยายการใช้งานไปในประเทศใกล้ ๆ อย่างเกาหลีและญี่ปุ่น จากนั้นไม่นานก็ได้แพร่กระจายการใช้งานไปทั่วโลกเพื่อการสงคราม ซึ่งจริง ๆ แล้วจรวดในยุคนั้นคือการเอาดินปืนที่ใช้ในปืนมาเล่นพิเรนทร์ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นนั่นเอง (ฮา) โดยจรวดเชื้อเพลิงแข็งก็ถูกใช้เป็นอาวุธกันมาอย่างยาวนานมากแม้แต่ในสงครามโลกทั้งสองครั้งก็ยังถูกเอามาใช้งานในหลาย ๆ สนามรบและถูก Apply กับระบบอาวุธใหม่ ๆ มากขึ้น กว่าจะมาถึงมือวงการสำรวจอวกาศก็ปาไปปลายยุคศตวรรษที่ 20 กันแล้ว

ทีนี้เรามาพูดถึงหลักการทำงานของมันดีกว่า จรวดเชื้อเพลิงแข็ง พูดง่าย ๆ ก็คือบั้งไฟที่เราเห็นตามเทศกาลประเพณีบุญบั้งไฟนั่นแหละ แต่ในวงการอวกาศมันมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่ามาก ๆ โดยในเนื้อของเชื้อเพลิงจำเป็นต้องมีสารอยู่สองประเภทคือตัวที่สามารถติดไฟและตัวที่ช่วนให้เกิดการติดไฟ ซึ่งถ้าให้อธิบายในรูปของบั้งไฟคือการเอาผงถ่านไม้ซึ่งเป็นสารที่สามารถติดไฟได้และดินประสิวซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการติดไฟมาผสมเข้าด้วยการ (เรียกได้ว่าบั้งไฟคือการเอากรรมวิธีการทำดินปืนโบราณมาใช้) แต่ในวงการอวกาศจริง ๆ จะใช้สารอื่นซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบด้วยว่าจะใช้สารอะไรมาเป็นแกนเชื้อเพลิงให้จรวดที่ตัวเองสร้างและจะมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันออกไป แต่มันมีประสิทธิภาพมากกว่าบั้งไฟที่เราเห็นกันแน่นอน

หลังจากที่เราได้แกนเชื้อเพลิงมาแล้ว จรวดของเราจะยังทำงานไม่ได้ถ้าเราไม่มีต้นเพลิงให้ตัวจุดระเบิดให้กับมัน แต่เมื่อจุดระเบิดแล้วตัวแกนเชื้อเพลิงจะเริ่มเกิดการเผาไหม้ทันที โดยแกนเชื้อเพลิงจะถูกเผาไหม้และจะสร้างแก๊สที่มีความร้อนสูงซึ่งจะสร้างความดันที่ทำให้แก๊สเกิดการเคลื่อนที่และแน่นอนว่าแก๊สมีมวล เมื่อมันเคลื่อนที่จะเกิดแรงกิริยา-ปฏิกิริยาตามกฎนิวตันข้อที่สามที่พร้อมจะผลักดันจรวดของเราได้ทุกเมื่อ แต่จรวดเชื้อเพลิงแข็งก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันนะ ถึงแม้ว่ามันจะให้แรงขับที่แทบจะทันทีหลังจุดระเบิดและให้แรงขับที่สูงแต่เมื่อจุดระเบิดไปแล้วก็ตาม แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะดับมันได้ จุดแล้วต้องปล่อยทิ้งจนกว่าแกนเชื้อเพลิงจะถูกเผาไหม้จนหมดไปเท่านั้น เราจึงมักเห็นจรวดเชื้อเพลิงแข็งกันในฐานะบูสเตอร์เสริมแรงขับแทนที่จะเป็นจรวดหลักแทน

Diagram อธิบายถึงองค์ประกอบของ Solid Rocket Booster ที่ในโครงการกระสวยอวกาศ ที่มา – NASA

จรวดเชื้อเพลิงเหลว

จรวดเชื้อเพลิงเหลว หรือ Liquid Propellant Rocket เวลาที่เราเล่าถึงจรวดเชื้อเพลิงเหลวให้ใครก็ตามได้ฟังกันเนี่ย ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่โหน Gustaf De Laval, Robert H. Goddard และ Wernher von Braun ให้พวกเค้าเห็นเลย (ฮา) จริง ๆ แล้วเรื่องมันเริ่มมาจากหนึ่งในเรื่องกลศาสตร์ของไหลที่เราอาจคุ้นหูและได้เรียนกันมาตั้งแต่ตอนม. ปลายอย่าง Venturi effect ที่ว่าด้วยความดันและการไหลของของไหลในท่อผ่านท่อที่มีพื้นที่หน้าตัดที่ต่างกัน จากนั้นก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมจากทั้งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรุ่นหลัง การศึกษานี้ถูกประยุกต์และส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ จนถึงมือ De Laval ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานร่วมกับระบบ Impulse Turbine โดยจะเป็น Nozzle ที่มีหน้าตาแบบ Conbergent-Divergent คือเป็นการหยิบเอาประโยชน์ของพฤติกรรมที่แสนประหลาดของแก๊สมาใช้ (ซึ่งในจรวดเชื้อเพลิงแข็งยุคใหม่ก็อาศัยประโยชน์ของ Nozzle แบบนี้เช่นกัน)

ในช่วงเวลาต่อมาก็ได้ถูก Goddard หยิบเอา Nozzle แบบ De Laval มาใช้ร่วมกับจรวดเชื้อเพลิงเหลวเป็นครั้งแรก โดยแนวคิดคือการทำให้เกิดการเผาไหม้เปลี่ยนเชื้อเพลิงเหลวเป็นแก๊สความดันสูงใน Chamber เล็ก ๆ โดยให้ไหลผ่าน Nozzle รูปแบบดังกล่าวเพื่อสร้างแรงขับ (โดยตรงนี้เราเคยเล่าแบบละเอียดไปแล้วใน ออกแบบ Rocket Nozzle อย่างไร ทำไมเครื่องยนต์จรวดถึงหน้าตาแบบที่มันเป็น) แต่ว่างานของ Goddard นั้นเป็นแค่การทดลองและต้นแบบเท่านั้น บินได้ไม่ไกลเท่าไหร่เนื่องจากการใช้ระบบ Pressure Fed ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของน้ำหนักถังอัดความดัน ในเวลาต่อมา ช่วงเวลาที่โลกกำลังระอุจากสงครามโลกครั้งที่สอง แน่นอนว่าอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นคือข้อได้เปรียบในการทำสงคราม ในตอนนั้นเอง หนึ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของ Nazi ที่นำโดย von Braun ได้นำแนวคิดของจรวดเชื้่อเพลิงเหลวมาใช้เพื่อพัฒนาจรวด V-2 แต่ทีนี้จากที่ผ่าน ๆ มา ระบบนี้บินไม่ได้ไกลและมีข้อจำกัดต่าง ๆ เลยทำให้ในช่วงการพัฒนาได้มีการลองใส่ปั๊มเข้าไปเพื่อสูบฉีดเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้แทนที่จะใช้ถังแก๊สความดันสูงผลักเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้โดยตรงแทน ปรากฎว่าการทดลองนั้นได้ผล จากเดิมที่อาศัยถังสามถังใหญ่ ๆ สำหรับ Fuel, Oxidizer และถังอัดแก๊สความดันสูงก็เหลือแค่ถังสำหรับสองอย่างแรกเท่านั้น แถมยังเร็วและบินได้ไกลกว่าขีปนาวุธรุ่นก่อนหน้าอย่าง V-1 ที่ใช้ระบบ Pulse Jet อีก

ภายหลังที่สงครามจบลง เทคโนโลยีจรวด V-2 ก็ได้ถูกส่งมอบไปในหลายประเทศอย่างสหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาเพื่อการศึกษาและต่อยอด และอย่างที่เรารู้กันดีว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน สงครามเย็นก็ได้เกิดขึ้นขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ระหว่างการทำสงครามได้มีการแข่งขันในหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือการแข่งกันด้านอวกาศที่เรารู้จักกันดีอย่าง Space Race ซึ่งส่งผลให้การต่อยอดนำระบบของจรวด V-2 มาพัฒนาต่อเกิดขึ้น ได้มีการปรับปรุงรีดประสิทธิภาพระบบจรวดเชื้อเพลิงเหลวกันในระดับที่เรียกได้ว่าบ้าเลือดสุด ๆ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ก็ส่งผลต่อการพัฒนาจรวดมาจนถึงปัจจุบัน

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่าน ๆ มาจะเห็นได้ว่าจรวดเชื้อเพลิงเหลวมีข้อได้เปรียบในแง่ของการความคุมแรงขับได้จากการจ่ายเชื้อเพลิง สามารถสั่งดับการทำงานของเครื่องยนตืได้เพียงแค่การตัดการจ่ายเชื้อเพลิง ซึ่งข้อดีตรงนี้ได้ถูกต่อยอดให้กับการทำเครื่องยนต์สำหรับยานลงจอดตั้งแต่การส่งยานลงจอดไปลงดวงจันทร์มาจนถึงการเก็บกู้บูสเตอร์จรวดเพื่อการใช้งานซ้ำอย่างที่เห็นกันเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน แต่ใช่ว่าจรวดเชื้อเพลิงเหลวจะเป็นระบบที่มีข้อดีไปหมด ข้อเสียนั้นก็มีให้เห็นมาตลอดเกือบร้อยปีที่มนุษย์ได้รู้จักกับระบบนี้ หลัก ๆ เลยคือความซับซ้อนของระบบการจ่ายเชื้อเพลิง การพัฒนาที่เป็นเรื่องยุ่งยากที่เพียงแค่พลาดนิดเดียวก็สามารถบึ้มเป็นพลุไฟได้ไม่ยาก หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายที่แสนแพงตั้งแต่ค่าเชื้อเพลิงยันค่าผลิตเครื่องยนต์ แต่สุดท้ายแล้วก็อย่างที่บอกเอาไว้ มันเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแล้วในอุตสาหกรรมจรวด

เครื่องยนต์ Raptor หนึ่งในเครื่องยนต์จรวดรุ่นใหม่ที่จะใช้ในยุคถัดไป ที่มา – SpaceX

จรวดไฮบริด ระบบที่วิศวกรจรวด (ส่วนมาก) ไม่ให้การยอมรับ

ในขณะที่ใครหลาย ๆ คนกำลังสนุกกับการเล่นกับจรวดเชื้อเพลิงแข็งและเชื้อเพลิงเหลว ไม่ว่าจะทั้งมืออาชีพหรือคนที่ทำเป็นงานดิเรก ย้อนกลับไปเมื่อปลายยุค 1930 ภายหลังการคิดค้นจรวดเชื้อเพลิงเหลวได้ไม่นาน ได้มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้คิดหาหนทางใหม่ในการออกแบบจรวดขึ้น ซึ่งต้องเล่าเกี่ยวกับบั้งไฟที่เป็นตัวแทนของจรวดเชื้อเพลิงแข็งให้เห็นภาพกันก่อน ในแท่งเชื้อเพลิงของบั้งไฟนั้น (ที่คนท้องถิ่นมักเรียกว่าหมื่อ) จะมีสารสองอย่างหลัก ๆ คือ Fuel อย่างถ่านไม้และ Oxidizer ซึ่งในที่นี้หมายถึงดินประสิว (เหมือนกับจรวดเชื้อเพลิงเหลว แต่ไม่สามารถยัดสารทั้งสองไว้ในถังเดียวกันได้) ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราลองหยิบเอาดินประสิวแยกออกมา? ใช่แล้ว เวลาเผามันก็จะเหมือนการเผาถ่านทำหมูกระทะกินกันเฉย ๆ ไฟจะเบาหรือแรงขึ้นกับอากาศรอบ ๆ มัน อยากได้ไฟแรงก็แค่อัดอากาศเพิ่มเข้าไป ดังนั้นการเผาอะไรซักอย่างก็ต้องอาศัยสารทั้งสองแบบ (ซึ่งจริง ๆ แล้วการเผาไหม้จะต้องอาศัยปัจจัยสามอย่างที่เราเคยเล่าไปแล้วตอน ออกแบบ Rocket Nozzle อย่างไร ทำไมเครื่องยนต์จรวดถึงหน้าตาแบบที่มันเป็น เช่นกัน)

ในทำนองเดียวกัน เราหยิบดินประสิวออกแล้ว อยากให้แท่งเชื้อเพลิงที่เหลือแต่ถ่านไม้สร้างแรงขับดันได้มาก ๆ ก็แค่หาสาร Oxidizer ทดแทนต่อท่อจากภายนอกอัดเข้าไป ในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งแก๊สหรือของเหลว จะแรงไม่แรงก็ขึ้นกับว่าเราจะอัด Oxidizer เข้าไปมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ต้องอยู่ในสัดส่วนที่พอดีด้วยเช่นกัน สรุปหลักการง่าย ๆ คือการทำจรวดเชื้อเพลิงแข็งแต่แยก Fuel กับ Oxidizer ออกจากกัน อันนึงเป็นแท่งแข็ง อีกอันเป็นของเหลวหรือแก๊สอยู่ในถังแยก จะใช้งานก็แค่เปิดวาลล์ให้สารที่อยู่ในถังไหลไปหาแท่งเชื้อเพลิงแล้วจุดระเบิด ทีนี้อย่างที่เกริ่นเอาไว้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ตอนนั้นได้ลองหยิบถ่านหินมาเป็นแท่งเชื้อเพลิงมาใช้ร่วมกับแก๊ส Nitrous oxide ในส่วนของ Oxidizer ซึ่งก็คล้ายกับแนวคิดบั้งไฟที่หยิบดินประสิวออก และมันก็ได้ถูกเรียกว่าจรวดแบบไฮบริด หรือ Hybrid Propellant Rocket

Diagram อธิบายลักษณะของจรวดแบบ Hybrid

การพัฒนาจรวดไฮบริดถูกต่อยอดมาเรื่อย ๆ เริ่มจากการลองหยิบพวก Graphite ตามมาด้วยไม้, Wax, ยาง จนมาถึงในยุคใหม่ที่ได้มีการหยิบนำพวก Polymer สังเคราะห์มาใช้ เพราะเราสามารถคุมอัตราการถดถอยหรือ Regression rate ด้วยการปรับแต่งสัดส่วนของ Polymer ได้ (ในแท่งเชื้อเพลิงของทั้งจรวดเชื้อเพลิงแข็งและแบบไฮบริด เวลาถูกเผาตัวแท่งเชื้อเพลิงจะค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพจากของแข็งเป็นแก๊สซึ่งเท่ากับว่าปริมาตรของตัวแกนจะค่อย ๆ ลดลงด้วย ไล่จากผิวตรงกลางแกนไปด้านนอกสุดของตัวแกน ซึ่งสารแต่ละตัวก็จะมีอัตราการเผาไหม้ต่างกันออกไป นั่นคือจะมีอัตราการถดถอยที่ต่างกันออกไปด้วย)

เมื่อพูดถึงความเป็นไฮบริด เราก็ต้องเปรียบเทียบตัวไฮบริดเองกับของดั้งเดิมด้วย เราเคยถามเพื่อนที่กำลังทำงานให้กับบริษัทที่พัฒนาจรวดไฮบริดว่าไฮบริดเมื่อเทียบกับจรวดเชื้อเพลิงแข็งและเหลวแล้วมันเหมือนหรือต่างกันแบบไหน คำตอบที่ได้จะประมาณว่ามันคือจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่สามารถควบคุมแรงขับได้ซึ่งเป็นข้อดีของจรวดเชื้อเพลิงเหลว ในอีกแง่หนึ่งระบบของไหลในนั้นจะค่อนข้างง่ายกว่าการออกแบบจรวดเชื้อเพลิงเหลวที่ใช้กันในจรวดระดับ Orbital แต่ไม่ง่ายระดับจรวดเชื้อเพลิงแข็ง และแน่นอนว่ามีความปลอดภัยกว่าจรวดเชื้อเพลิงแข็ง เนื่องจากจุดแล้วสามารถดับได้ด้วยการหยุดจ่าย Oxidizer ไม่เหมือนแบบเชื้อเพลิงแข็งที่จุดแล้วดับไม่ได้

ในแง่ของการควบคุมแรงขับที่ทำได้แบบจรวดเชื้อเพลิงเหลวนั้นมีหลักการที่คล้าย ๆ กันคือแบบเชื้อเพลิงเหลวคือการคุมการไหลของเชื้อเพลิงทั้งสอง แต่ในกรณีของแบบไฮบริดคือการควบคุมปริมาณการไหลของสาร Oxidizer เพียงอย่างเดียวซึ่งส่งผลมาถึงข้อที่ว่าทำไมระบบท่อของไหลของไฮบริดถึงมีความซับซ้อนน้อยกว่าแบบเชื้อเพลิงเหลว แถมแบบเชื้อเพลิงเหลวก็ยังมีอะไหล่ในหลาย ๆ ส่วนที่เพิ่มความซับซ้อนให้ระบบ

แต่ภายใต้ข้อดีที่เล่ามานั้นก็มีข้อเสียหลาย ๆ ส่วนที่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมวิศวกรจรวดส่วนหนึ่งไม่ให้การยอมรับกับมัน เริ่มจากที่ตัวเชื้อเพลิงที่ใช้ส่วนใหญ่มักมี Isp ที่ค่อนข้างน้อยกว่าจรวดเชื้อเพลิงเหลวแต่มากกว่าเชื้อเพลิงแข็งในระดับหนึ่ง ซึ่งแปลว่าประสิทธิภาพในแง่น้ำหนักน้ำหนักจะเสียเปรียบจรวดเชื้อเพลิงเหลว (เราเคยอธิบายเรื่อง Isp ไปแล้วใน รู้จักกับจรวด Vulcan Centaur ผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของจรวดตระกูล Atlas)

แต่นั่นดูเป็นข้อเสียที่ไม่ได้ใหญ่มากเมื่อเทียบกับปัญหาการสั่นสะเทือนของตัวแท่งเชื้อเพลิง ปัญหาการสั่นไม่ได้หมายถึงตัวจรวดมันสั่นเวลาขึ้นบิน เพราะอันนั้นมันเป็นเรื่องปกติของจรวด แต่เป็นการที่กราฟวัดค่าความดันใน Combustion Chamber สั่นแบบไม่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับค่าที่ได้จากเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงเหลวและแข็ง ซึ่งมันคือการที่ค่าความดันไม่คงที่ที่จะส่งผลต่อแรงขับทำให้แรงขับจรวดไม่คงที่ด้วยเช่นกัน

แต่ว่าปัญหาการสั่นนี้มันเกิดจากตรงไหน เพื่อนที่ทำงานเกี่ยวด้านนี้ได้อธิบายว่า สาเหตุหลัก ๆ ของปัญหานี้เกิดจากสองปัจจัย คือตัวแท่งเชื้อเพลิงมันใช้เวลากว่าจะสลายตัวได้ ซึ่งมันไม่เหมือนกับแบบเชื้อเพลิงแข็งที่จุดแล้วก็ลุกเป็นไอร้อนทันที โดยอย่างที่บอกว่าแท่งเชื้อเพลิงในยุคใหม่นี้ส่วนใหญ่จะเป็น Polymer แบบผสม ซึ่ง Polymer ส่วนใหญ่นั้นเวลาเผาหรือให้ความร้อนมันจะหลอมก่อนที่จะติดไฟ ตัวอย่างง่าย ๆ คือการเผาแผ่น Acrylic เนี่ยแหละ ถึงแม้เราจะอัด Oxidizer ช่วยให้ติดไฟได้ง่ายขึ้นแล้วก็ยังต้องอาศัยเวลาละลายของตัวแท่งเชื้อเพลิงก่อนแตกตัวเป็นไอให้ติดไฟได้ง่ายขึ้น

ส่วนสาเหตุที่สองจะมาจากตัว Oxidizer เองเลย ใน Oxidizer หลาย ๆ ตัวที่เหมาะกับการใช้งานเป็นเชื้อเพลิงจรวดนั้นค่อนข้างดูดความร้อนก่อนเปลี่ยนตัวเองจากของเหลวเป็นแก๊ส ซึ่งความร้อนที่จำเป็นต้องใช้ในการสร้างความดันในห้องเผาไหม้จะสูญเสียไปบางส่วนในขั้นตอนนี้ เลยกลายเป็นว่าท่อนจรวดจะสูญเสียประสิทธิภาพในการให้ความร้อนบางส่วนไป และกลายเป็นปัญหาที่ทำให้การเผาไหม้เกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอซึ่งส่งผลกับความดันใน Combustion Chamber และการสร้างแรงขับโดยตรง

แต่ข้อเสียที่ดูร้ายแรงขนาดนี้ทำไมถึงยังมีคนเลือกพัฒนาจรวดไฮบริดไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ Sounding Rokcet ส่ง CanSat ไปยันจรวดส่งของระดับ Orbital ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยคือค่าใช้จ่ายในการพัฒนามันถูกมาก ๆ เมื่อเทียบกับจรวดเชื้อเพลิงเหลว ด้วยความซับซ้อนที่น้อยกว่าแถมยังสามารถความคุมแรงขับได้ซึ่งปลอดภัยกว่าจรวดเชื้อเพลิงแข็ง เลยดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเมื่อเทียบกับจรวดแบบอื่น ในส่วนของปัญหาการสั่นของท่อนจรวดในไฮบริดก็สามารถแก้ไขได้ด้วยเช่นกันเลยอาจสามารถมองข้ามปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง

จรวดขับเคลื่อนด้วยระบบ Hybrid ที่ออกแบบและพัฒนาโดย Equatorial Space บริษัทจรวดเอกชนแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทดสอบเทคโนโลยีในภารกิจ Low Altitude Demonstrator

ซึ่งจริง ๆ เราไม่ได้อยากให้ทุกคนว่าจรวดไฮบริดไม่ดี เราเคยพูดเอาไว้ซักที่ว่า ที่จรวดไฮบริดถูกมองว่าแย่ ไม่ใช่เพราะมันแย่ที่แนวคิด แต่มันคือการที่งานวิจัยและการพัฒนามันไม่เด่นชัดพอที่จะทัดเทียมกับจรวดเชื้อเพลิงแข็งและเหลวที่ถูกใช้งานเป็นหลักในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งก็ต้องอาศัยเวลาให้คนได้ลองหันมาศึกษาวิจัยกับความเป็นไฮบริดตรงนี้ก่อน แล้วเวลาจะพิสูจน์ให้เห็นเอง ดังนั้นนี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งอนาคตของวงการอุตสาหกรรมจรวดที่น่าจับตามองเหมือนกัน

โดยสำหรับทุกวันนี้ก็ได้มีบริษัทใหม่หลายรายรวมไปถึงศูนย์วิจัยจรวดหลายแหล่งได้เข้ามาลองของกับจรวดไฮบริด โดยที่เห็นว่าไปได้ไกลสุด ๆ กับเทคโนโลยีนี้คือ Virgin Galactic กับธุรกิจส่งคนขึ้นอวกาศในรูปแบบการท่องเที่ยวด้วยยาน SpaceShipTwo ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราอาจได้เห็นจรวดประเภทนี้ถูกใช้งานกันมากขึ้นในอนาคต

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator, amateur writer who wanted to be a rocket propulsion engineer.