เจาะลึกกรณีจรวดจีนตก เรื่องใหญ่จริงที่นักดาราศาสตร์จับตา หรือแค่เพราะว่าคำว่าจีน

ข่าวการตกกลับสู่โลกของชิ้นส่วนจรวด Long March 5B ที่จีนใช้ในการส่ง Core Module เทียนเหอของสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนในวันที่ 29 เมษายน 2021 กลายเป็นข่าวใหญ่ประจำสัปดาห์ในแวดวงดาราศาสตร์และข่าวต่างประเทศ ข่าวนี้ค่อย ๆ เริ่มต้นในแวดวงนักดาราศาสตร์ โดยเฉพาะคุณ Jonathan McDowell หรือ @planet4589 จาก Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics ซึ่งปกติจะทวีตการ Track วัตถุต่าง ๆ ในวงโคจร และให้ข่าวด้านดาราศาสตร์ผ่านช่องทางของเขาอยู่แล้ว ก็ได้ออกมาทวีตแสงความเป็นห่วงกรณี ชิ้นส่วนของ Long March 5B ในขณะที่หน่วยงานอวกาศทั่วโลกก็ต่าง Track กิจกรรมอวกาศที่เกิดขึ้นโดยจีน

จรวด Long March 5B ของจีน ที่มา – CNSA/Xinhua

Jonathan ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Atlantic ในบทความ Don’t Fall to Pieces Just Because China’s Rocket Is ว่า “ถ้าจะทำจรวด ก็อย่าทำแบบจีน คือพอถึงความเร็วที่ต้องการ (ในการส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศ) แล้วก็ปล่อยให้ควบคุมไม่ได้”

ข้อความของ Jonathan นั้นเรียกได้ว่าสรุปเนื้อหาที่เราจะมาพูดคุยกันในวันนี้ เพราะเราจะมาหาคำตอบกันว่า ทำไมจีนถึงโดนด่ากรณีจรวดตก ทั้ง ๆ ที่ประเทศที่มีการส่งจรวด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาฯ รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย ก็ใช้หลักการจรวดเหมือน ๆ กัน คือปล่อยขึ้นไปก็ต้องมีชิ้นส่วนตกลงมาอยู่แล้ว อย่างเคยมีกรณี ชิ้นส่วนของจรวด SpaceX ตกใส่ทุ่งนาในมลรัฐวอชิงตัน หรือมีข่าวซากจรวดเกยตื้นเป็นประจำ แต่ทำไม จีน ดูเหมือนจะเป็นประเทศเจ้าปัญหาอยู่เจ้าเดียว

เข้าใจการทำงานของการปล่อยจรวด ทำไมถึงมีจรวดตก

ถ้าใครที่คุ้นเคยกับเรื่อง Orbital Mechanic อาจจะข้ามหัวข้อนี้ไปก็ได้ เพราะเราแค่จะอธิบายว่าทำไมถึงมีจรวดตกได้ ต้องบอกว่า การเอาวัตถุใด ๆ ขึ้นไปไว้บนวงโคจร หรือไปสำรวจดาวดวงใดในระบบสุริยะก็ตาม คือการที่เราจะต้องผลักให้วัตถุนั้นมีวงโคจรที่เสถียร เสถียรที่ว่านี่ก็คือไม่ตกกลับลงมายังโลก ให้นึกภาพว่าเรากำลังเขวี้ยงสิ่งของชิ้นหนึ่งให้ไปโคจรรอบโลก ถ้าเราเขวี้ยงไม่แรงพอ สิ่งของนั้นก็จะตกกลับลงมา เหมือนเราออกแรงนิดหน่อย ปาของออกไป ของก็จะตกกลับลงมาตรงหน้า พอออกแรงมากหน่อยก็ปาออกไปไกลหน่อย และถ้าเราออกแรงมากพอ เราจะสามารถปาของชิ้นนั้นไปที่ยุโรป อเมริกาเลยก็ได้ (นี่คือหลักการของขีปนาวุธข้ามทวีป) แล้วถ้าเราออกแรงขึ้นไปอีก มันก็จะไปอยู่บนวงโคจร คือไปไกลมาก ๆ จนไม่ตกกลับมาสู่โลก

หลักการทำงานของจรวดที่เราใช้กันทุกวันนี้นั้นจะทำงานกันเป็น Stage อธิบายง่าย ๆ คือ สมมติเราปล่อยจรวดจากไทย เราจะไม่ได้ใช้จรวดชิ้นเดียวปล่อยขึ้นไปบนวงโคจรเลย แต่เราจะใช้จรวดหลาย ๆ ท่อน แต่ละท่อนเรียกว่า Stage ซึ่ง Stage แรกอาจจะพายานอวกาศของเราไปมีจุดตกไกลได้แค่อ่าวไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันจะสลัดตัวเองทิ้งแล้วให้ท่อนที่ติดอยู่บนท่อนแรกอีกทีจุดจรวดเพื่อทำงานต่อ ทีนี้จุดตกอาจจะอยู่ที่แปซิฟิก พอเชื้อเพลิงของท่อนที่สองหมด ก็จะมีท่อนที่สามรับช่วงต่อ ท่อนที่สามอาจจะพาเข้าวงโคจรได้ แต่เป็นวงโคจรที่ยังมีแรงเสียดทานจากชั้นบรรยากาศอยู่ ก็มีท่อนที่สี่รับช่วงต่อเอายานของเราไปไว้ในวงโคจรที่สูงขึ้น นั่นหมายความว่า ถ้าเราออกแบบระบบของเราแบบนี้ จะมีจรวดตกที่ อ่าวไทย, แปซิฟิก และ อีกจุดหนึ่งที่ตกมาในอีกหลายวันถัดมา เนื่องจากมันเข้าวงโคจรได้แล้ว แต่แรงเสียดทานจากชั้นบรรยากาศที่ยังมีอยู่บ้างก็จะทำให้มันตกกลับลงมาบนโลกเพราะความเร็วโคจรลดลงเรื่อย ๆ

ความบ้าบอของจีนก็คือ จีนแม่งประสบความล้มเหลวในการจัดการกับจรวดทั้ง 3 ท่อนเลย (ฮา) The New York Times ได้ไปสัมภาษณ์ Ted Muelhaupt ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวัตถุอวกาศตกกลับลงมายังโลก เอาจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งในบทความเดียวกัน พี่ Jonathan แกยังได้ย้ำอีกว่า “วิธีแก้ก็คือ ออกแบบวิถีการส่งให้ชิ้นส่วนจรวดตกกลับลงมาบนโลกทันทีหลังการปล่อย จะช่วยให้ Track ง่ายขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ล่อง ๆ ลอย ๆ ไป ไม่รู้จะตกกลับลงมาเมื่อไหร่”

Controlled และ Uncontrolled Reentry

ที่ Jonathan บอกว่า อย่าทำจรวดแบบจีน ก็เรื่อง Controlled และ Uncontrolled Reentry นี่แหละ ปกติแล้วการที่จรวดตกกลับลงมายังโลกจะต้องถูก Controlled หรืออย่างน้อยก็ต้องสามารถ Predict ได้ว่าจะลงตรงไหน หรือย้อนกลับไปตั้งแต่การตั้ง Launch Site หรือฐานปล่อย ที่ต้องตั้งให้ทิศตะวันออกหรือทิศใต้เป็นน้ำ หรือที่ว่างรกร้าง ไม่ใช่หลักฮวงจุ้ยนะแต่เพราะว่าจะได้เป็นพื้นที่ให้จรวดท่อนแรกตกกลับลงมาได้อย่างไม่ไปรบกวนใคร สหรัฐอเมริกาทำได้ ญี่ปุ่นทำได้สร้างฐานปล่อยติดทะเล รัสเซียทำได้สร้างฐานปล่อยติดทะเลทราย แต่จีน ทำไม่ได้ สร้างฐานปล่อยอยู่เหนือหมู่บ้านคน (อะไรวะ)

ฐานปล่อยจรวดในจีน ที่มา – China Great Wall Industry Corporation

ถ้าเราดูจากแผนที่ด้านบน จีนมีฐานปล่อยอยู่หลากแห่งด้วยกัน ตั้งแต่ที่ไท่หยวน จิ่วฉวน ซีชาง และเวิ่นชาง จะเห็นว่าอยู่กลางประเทศหมดเลย มีแค่เวิ่นชาง ที่อยู่ไห่หนาน หรือเกาะไหหลำ ซึ่งถ้าเราดูภูมิศาสตร์ของจีน ก็จะพบว่าพื้นที่บนิเวณตอนกลาง ๆ และตอนใต้ของจีนจะเป็นพื้นที่เกษตร มีหมู่บ้านมีคนอาศัยอยู่ ดังนั้น เวลาจีนปล่อยจรวดก็ซวยกันไป

เวลาปล่อยจรวดจะมีการปล่อยสองทางด้วยกัน คือปล่อยไปทางตะวันออก จะเฉียงเหนือหรือเฉียงใต้ก็แล้วเพื่อให้เข้าวงโคจรที่ทำมุมองศาต่าง ๆ กับโลกตามที่ต้องการ หรือการปล่อยไปยังวงโคจรค้างฟ้า ซึ่งจะเกือบขนานกับเส้นศูนย์ศูตร อันนี้ชิ้นส่วนจรวดจะตกไปทางทิศตะวันออก กับการปล่อยอีกแบบคือการปล่อยวงโคจร Polar หรือตัดขั้วเหนือใต้ อันนี้จะปล่อยไปทางใต้

อันนี้เป็นแค่ความเฟลแรก เพราะจรวดท่อนแรกจะตกไม่ไกลจากฐานปล่อยมากนัก ส่วนท่อนที่สอง ท่อนที่สามก็จะมีระยะตกที่ไกลขึ้น บางทีก็มาตกที่อุบลบ้างอะไรบ้าง ภาคอีสานเรานี่เจอประจำ ซึ่งถ้าเจอเราก็ขอให้แจ้งกองทัพอากาศ แจ้ง GISTDA อะไรก็ว่าไป เพราะของพวกนี้เป็นเชื้อเพลิงเคมีอันตราย อันนี้ก็ยังเป็นผลพวงจากการออกแบบ Launch Site อยู่ ว่ามาออกแบบ Launch Site เหนือประเทศชาวบ้านได้ไง

กับอีกอันที่สร้างปัญหากรณี Core Module เทียนเหอ นี้ก็คือเรื่องที่ ชาติอื่นทำได้แต่จีนทำไม่ได้ (หรือไม่ทำ) คือ ชิ้นส่วนจรวดที่ขึ้นไปบนวงโคจรพร้อมกับดาวเทียมหรือยานอวกาศซึ่งจะต้องตกกลับลงมาบนโลกในหลักวันหรือหลักสัปดาห์หลังจากที่มีการปล่อย ปกติแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาจะใช้วิธีทำ Controlled Reentry โดยมี Solution หลัก ได้แก่

  • ออกแบบวงโคจรตั้งแต่การปล่อยให้สามารถคำนวณจุดตก ระยะเวลา ได้ว่าจะไม่ไปตกในบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่
  • มีการจุดจรวดเพื่อควบคุมจุดการตกหลังจากที่ชิ้นส่วนจรวดนั้นส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศเรียบร้อยแล้ว
  • ออกแบบชิ้นส่วนจรวดให้เผาไหม้หมดในชั้นบรรยากาศจากแรสงเสียดสีระหว่างเข้าชั้นบรรยากาศ ไม่ต้องตกกลับลงมาบนโลก

ซึ่งจีนก็คือสอบตกทั้งสามอย่าง ผลที่เกิดขึ้นก็คือกรณีที่ชาติอื่นจะต้องมารับผลกระทบ และหน่วยงานอวกาศต่างประเทศที่จะต้องมา Track บริเวณจุดตก

ภาพการ Track ชิ้นส่วนของจรวด Long March 5B หรือ CZ-5B ของจีนจะเห็นว่าครอบคลุมในลองติจูดส่วนมากของโลกตั้งแต่เหนือถึงยุโรปใต้ มาจนถึงออสเตรเลีย ที่มา – The Aerospace Corporation

ซึ่งการ Track นั้นก็เกิดขึ้นทั้่งจากบริษัทอวกาศต่าง ๆ หรือหน่วยงานรัฐฯ ที่ทำงานด้านอวกาศตั้งแต่กองทัพอากาศสหรัฐฯ, สถาบันวิจัยต่าง ๆ หรือ Roskosmos หน่วยงานอวกาศของรัสเซียเองก็ Track อย่างใกล้ชิด

สรุปแล้วเราควรกังวลกับกรณีจรวดจีนมากแค่ไหน

สุดท้ายย้อนไปตอบคำถามว่า เราต้องจับตาเพราะมันอันตรายมาก ๆ หรือจริง ๆ แล้วกรณีจรวดจีนเป็นแค่ Political Agenda ที่สหรัฐฯ และนานาชาติใช้เป็นข้ออ้างในการคว่ำบาตรจีน คำตอบก็เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง เราเองก็ต้องจับตากับจรวดจีนเพราะมันอันตราย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องตื่นตระหนก เพราะโอกาสที่มันจะตกใส่เรานั้นก็ไม่ได้มีมากเท่ากับการตกของจรวดชิ้นที่หนึ่งหรือชิ้นที่สองที่ตกกลับลงมาหลังปล่อยในบริเวณที่มี Footprint แน่นอน แน่ ๆ เพราะโอกาสที่มันจะตกในทะเลก็มีมาก อย่างกรณี Tiangong-1 และ Tiangong-2 ที่ตกกลับสู่โลกก็ตกลงในทะเลเช่นเดียวกัน

ส่วนเรื่องที่ว่าเป็น Politcal Agenda นั้นก็ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ ในขณะที่ทั่วโลกกำลังผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และการทำให้อวกาศเป็นทรัพยากรที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ การทำงานอวกาศแต่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นทั้งด้านชีวิตและด้านทรัพย์สิน ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการกระทำที่ควรกระทำ นี่แค่ในระดับประชาชนกับรัฐฯ เองด้วยนะ ยังไม่นับเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหากไปตกใส่ชาวบ้านอีก (แต่ถ้ามาตกในไทยเราว่าไทยก็ไม่มีปัญญาทำอะไรเขาอยู่ดี ถ้าปล่อยให้ทหารพม่ามายิงปืนใส่แล้วกองทัพฯ บอกว่าเขาแค่จะซื้อของ)

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.