ท่ามกลางเสียงเสียงเชียร์อย่างกึกก้องของผู้คนทั่วโลกกับการประสบความสำเร็จในการลงจอดของยาน Apollo 11 และการก้าวลงเหยียบบนดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ มียานสำรวจลำหนึ่งที่หอบเอาความหวังของชาวโซเวียตมุ่งหน้าไปยังดวงจันทร์ด้วย มันคือความหวังสุดท้ายที่จะเอาชนะสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่กับการส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ แต่เป็นการนำ “ตัวอย่างดินของดวงจันทร์” กลับมายังโลกให้ได้ก่อนนั่นเอง
ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ ก็ไม่มีโอกาสอีกแล้ว
โครงการ Luna เป็นหนึ่งในโครงการสำรวจดวงจันทร์หลักของสหภาพโซเวียตมาช้านาน โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 ตัวโครงการเน้นไปที่การส่งยานสำรวจไปยังดวงจันทร์ ทั้งชนิดที่โคจรรอบดวงจันทร์ ไปจนถึงชนิดพุ่งชนและชนิดที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้
นับตั้งแต่ภารกิจ Luna 1 โครงการนี้ประสบกับทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ ยานส่วนใหญ่ล้มเหลวตั้งแต่ตอนส่งขึ้นไป (ทำให้ไม่ได้ใช้ชื่อ Luna) บางภารกิจเช่น Luna-1 เองก็พุ่งวืดผ่านดวงจันทร์ไปเลยเหมือนกัน แต่สิ่งที่ภารกิจนี้ทำสำเร็จก็มีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งยานไปโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก (Luna 1 นั่นเอง) ลงจอดพุ่งชนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก (วัตถุที่สร้างโดยมนุษย์ชิ้นแรกที่ไปถึงดวงจันทร์) ในภารกิจ Luna 2, โคจรรอบดวงจันทร์และถ่ายภาพด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในภารกิจ Luna 3 ไปจนถึง Luna 9 ที่ลงจอดบนดวงจันทร์แบบนุ่มๆได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทันที เมื่อสหรัฐประกาศที่จะส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งทำให้โซเวียตไม่เหลือทางเลือกใดอีกแล้วในการเอาชนะภารกิจ Apollo ของสหรัฐอเมริกา เพราะทั้งโครงการจรวด N1 ที่ก็ยังล้มเหลวอยู่ และโครงการการลงดวงจันทร์ของโซเวียตทั้งหมดในขณะนั้นก็ยังไม่ค่อยพร้อม
ภารกิจ Luna 15 จึงถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อไปลงดวงจันทร์ในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 สามวันก่อนภารกิจ Apollo 11 จะถูกส่งขึ้นไป พร้อมเป้าหมายในการนำตัวอย่างดินดวงจันทร์กลับมายังโลกให้ได้ก่อนสหรัฐอเมริกา นับเป็นจุดเริ่มต้นของ “Moon Rock Race”
Luna 15
แท้จริงแล้วภารกิจ Luna 15 ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของโซเวียตในการนำตัวอย่างดินจากดวงจันทร์กลับมา ภารกิจก่อนหน้าที่มีรหัสว่า E-8-5-402 ถูกส่งขึ้นไปในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1969 แต่ก็ไปไหนได้ไม่ไกล เพราะจรวดท่อนที่สามไม่ทำงาน ทำให้ยานตกแป้กกลับสู่โลกในที่สุด
ทำให้ในภารกิจนี้โซเวียตได้นำเอาบทเรียนจากภารกิจก่อนหน้ามาปรับปรุงยานใหม่ทั้งหมด
ยานสำรวจได้ขนเอาอุปกรณ์หลักไปด้วย 3 อย่าง นั่นก็คือ ระบบบันทึกภาพแบบสเตอริโอ, ระบบแขนกลและระบบเก็บตัวอย่างดินพร้อมแขนกล, เครื่องตรวจจับรังสี รวมไปถึงเซนเซอร์อื่น ๆ สำหรับวัดค่าในการลงจอดและระหว่างเดินทาง ซึ่งสามารถที่จะใช้ตรวจสอบสภาพรอบดวงจันทร์, สนามแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ และที่สำคัญคือการถ่ายภาพพื้นผิวและวิเคราะห์ตัวอย่างดินสำหรับส่งกลับมายังโลกนั่นเอง
ตัวยานมีน้ำหนัก 5,667 กิโลกรัมโดยประมาณ (ไม่นับรวมจรวดที่ส่งขึ้นไปนะ)
ความร่วมมือท่ามกลางการแข่งขัน
ถึงแม้ภารกิจ Luna 15 และ Apollo 11 จะเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับ “การแข่งขัน” มากที่สุดในการชิงจ้าวแห่งดวงจันทร์ (ถึงแม้ภารกิจหนึ่งจะเป็นยานสำรวจ แต่อีกภารกิจได้มีมนุษย์ถึงสามคนเดินทางไปด้วย) แต่ทางสหภาพโซเวียตเองก็ได้ปล่อยข้อมูลเส้นทางการเดินทางของยานโดยละเอียดให้กับทางการสหรัฐ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการชนกันขึ้นระหว่างทาง (แต่ขออุบรายละเอียดของภารกิจไว้) นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันดีและความร่วมมือกันท่ามกลางยุคสงครามเย็นอันสุดแสนจะตึงเครียดนั่นเอง
สู่ดวงจันทร์
13 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 จรวด Proton K/D ได้ทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากฐานปล่อยจรวด Baikonur พร้อมกับยาน Luna 15 หลังจากประสบความสำเร็จในการปล่อยขึ้นสู่วงโคจร ยานได้ทำการโคจรรอบโลกเพื่อตรวจสอบระบบและการสื่อสารกับทางภาคพื้นดิน
หลังจากทำการตรวจสอบระบบเสร็จสิ้นแล้ว ยานก็ได้ถูกส่งเข้าสู่เส้นทางสำหรับมุ่งสู่ดวงจันทร์ทันที ด้วยความหวังที่จะแซงหน้า Apollo 11 ให้ได้ในการลงจอด
แต่แล้วระหว่างทางก็ดันเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นจนได้ ศูนย์ควบคุมได้ตรวจพบระดับอุณหภูมิที่สูงผิดปกติในถังเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ S5.61
ถามว่ามันร้ายแรงขนาดไหน เจ้าตัวเครื่องยนต์ S5.61 นี่แหละคือสิ่งเดียวที่จะทำการส่งแคปซูลสำหรับเก็บตัวอย่างดินออกจากดวงจันทร์ และกลับมายังโลก ทำให้วิศวกรและทีมงานของภารกิจต้องรีบแก้ไขเส้นทางการโคจรของยาน Luna 15 โดยด่วน
วิธีอันชาญฉลาดที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ก็คือการหันยานให้ถังเชื้อเพลิงไม่ไปโดนแสงอาทิตย์โดยตรง นอกจากจะช่วยให้อุณหภูมิกลับมาเป็นปกติแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่ยานจะระเบิดเป็นโกโก้ครั้นช์ระหว่างทางอีกด้วย (ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงเป็นหายนะแน่ๆ)
หลังจากประคับประคองยานสำรวจที่เกือบจะเป็นระเบิดลูกย่อมๆมาจนถึงดวงจันทร์แล้ว และผ่านการปรับระบบไป 1 วันหลังจากวันปล่อย ยานก็ได้เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1969
ตามกำหนดการ ทางศูนย์ควบคุมจะทำการปรับระบบของยาน 2 ครั้งในวงโคจรรอบดวงจันทร์ ในวันที่ 18 และ 19 ตามลำดับเพื่อที่จะนำยานสู่เส้นทางลงจอด แต่ปัญหาใหม่ก็ดันประดังเข้ามาเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นก็คือสภาพพื้นผิวดวงจันทร์ที่เลือกไว้นั้นไม่เหมาะสมต่อการลงจอด ทำให้เกิดการดีเลย์ตามมา
ศูนย์ควบคุมใช้เวลาถึง 4 วันในการทำแผนที่และวิเคราะห์พื้นที่ลงจอดใหม่ทั้งหมด (ต้องทำการติดต่อกับยานถึง 20 ครั้ง)
การปรับและแก้ไขระบบถูกเลื่อนมาทำในวันที่ 19 และ 20 แทน เพื่อให้ยานค่อยๆเข้าสู่เส้นทางลงจอดใหม่ (110 × 16 กม. และพร้อมเอียงถอยหลังลงที่ความชัน 127 องศา)
ไม่ถึง 6 ชั่วโมงหลังการปรับระบบครั้งสุดท้ายของยาน Luna 15 ยาน Eagle พร้อมด้วยลูกเรือ 2 คนคือ Neil Armstrong และ Buzz Aldrin ก็ได้ลงสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์ในที่สุด
เสียงโห่ร้องด้วยความยินดีดังกึกก้องไปทั้งโลกเมื่อชาย 2 คนได้ก้าวลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ แต่แทบไม่มีใครรู้เลย ว่าเหนือขึ้นไปบนนั้น นอกจากยาน CMS นามว่า Columbia ก็ยังคงมียานสำรวจชื่อว่า Luna 15 ที่ยังโคจรอยู่ด้วยเช่นกัน…
ความหวังที่ช้าแต่ก็มา(ไม่)ถึง
ตามแผนการเดิมนั้น ยาน Luna 15 จะลงจอดไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังจากยาน Eagle แต่ด้วยปัญหามากมายที่ได้กล่าวไป ทำให้ทีมควบคุมต้องเลื่อนการลงจอดไปอีก 18 ชั่วโมง
จนกระทั่งในที่สุด หลังจากการติดต่อกับยานไปถึง 86 ครั้งและโคจรรอบดวงจันทร์ไปอีก 52 รอบ การทดสอบระบบของยาน Luna 15 ที่ระดับความสูงต่างๆก็เสร็จสิ้นลง ในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 ยานได้จุดเครื่องยนต์สำหรับลงจอดในที่สุด และค่อยๆลดระดับลงอย่างรวดเร็ว
ยังมีเวลา 2 ชั่วโมงก่อนที่ยาน LM จะแยกตัวออกจากฐานไปรวมตัวกับโมดูล CSM ทางโซเวียตยังไม่หมดความพยายาม อย่างน้อยพวกเขาก็หวังที่จะให้ภารกิจประสบความสำเร็จในการนำตัวอย่างดินกลับมาให้ได้ ในตอนนี้ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว มันไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว
ในระหว่างที่ Neil และ Buzz เตรียมตัวที่จะจุดเครื่องยนต์เพื่อพุ่งออกจากดวงจันทร์ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ยาน Luna 15 ก็เคลื่อนที่เข้ามาใกล้พื้นธรณีของพระจันทร์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างดูปกติดี อย่างน้อยก็ในตอนนี้
ตามแผนแล้วเครื่องยนต์หลักจะต้องทำงานเป็นเวลา 267.3 วินาทีเป๊ะๆ เพื่อนำยานลงมาที่ระดับความสูงประมาณ 2.5 กิโลเมตร
4 นาทีหลังจากการแยกออกจากวงโคจรเพื่อลงจอด สัญญาณและการติดต่อสื่อสารทั้งหมดของยานก็ได้ขาดหายไปที่ระดับความสูง 3 กิโลเมตร
ความพยายามทั้งหมดสูญสลายไปในทันที ยาน Luna 15 หายไปจากระบบสื่อสารอย่างถาวร ไร้ซึ่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า และไม่สามารถทำการติดต่อกลับไปได้อีกเลย…
ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ยาน Eagle ก็ได้ทะยานออกจากดวงจันทร์เพื่อเตรียมพร้อมนำนักบินอวกาศทั้งสามกลับสู่ดาวโลกบ้านเกิด จะเหลือทิ้งไว้บนดวงจันทร์ก็เพียงอุปกรณ์และสิ่งของที่จงใจทิ้งไว้เช่นอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์หรือนำกลับไปไม่ได้ (เช่นขยะและของเสียต่างๆ) เท่านั้น
หลังจากที่ยาน CSM กำลังเตรียมเดินทางกลับโลก หารู้ไม่ว่า ณ อีกจุดหนึ่งบนดวงจันทร์ เศษซากแห่งความหวังของชาวโซเวียตก็ได้นอนนิ่งอยู่อย่างสงบท่ามกลางพื้นฝุ่นของดวงจันทร์ เช่นเดียวกันกับขาตั้งและวัตถุอีกนับร้อยชิ้นที่ได้ลงหลักปักฐานเป็นครั้งสุดท้ายบนดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลก…
ความล้มเหลวที่นำพาสู่ความสำเร็จ
ผลการวิเคราะห์พบว่ายาน Luna 15 น่าจะพุ่งเข้าชนกับด้านข้างของภูเขาบนดวงจันทร์ด้วยความเร็วสูงถึง 480 กม./ชม. ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการจุดเครื่องยนต์ในระดับความสูงที่ผิด รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่ายานจะลดระดับในมุมที่เฉียงเกินไปอีกด้วย
ยาน Luna 15 กระแทกพื้นผิวดวงจันทร์เลยจากจุดลงจอดประมาณ 28 กิโลเมตร ณ บริเวณ Mare Crisium (ละติจูด 17 องศาเหนือ ลองติจูด 60 องศาตะวันออก)
สิ่งหนึ่งที่ Luna 15 ทิ้งเอาไว้คือข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มีส่วนช่วยให้ภารกิจ Luna 16 ที่ตามมา 1 ปีให้หลังประสบความสำเร็จในการนำตัวอย่างดินปริมาณ 101 กรัม กลับมาได้ นี่อาจจะเป็นตัวเลขที่ดูน้อย แต่แท้จริงแล้วกระบวนการในการนำตัวอย่างที่ได้กลับมายังโลกนั้นนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่หุ่นยนต์และระบบอัติโนมัติสามารถนำตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมาได้ โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์เลย นับเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนายานสำรวจและภารกิจ Sample-Return (การนำตัวอย่างกลับมายังโลกนั่นเอง)
บทสรุป
ถึงแม้ภารกิจ Luna 15 จะประสบความล้มเหลว และสหรัฐอเมริกาก็ได้ชนะการแข่งขันการเป็นจ้าวแห่งดวงจันทร์ไปได้อย่างเบ็ดเสร็จด้วยภารกิจ Apollo (ที่ตามมาอีกตั้งแต่ Apollo 12-17 ยกเว้น 13 นะ) แต่การแข่งขันเพื่อนำยานสำรวจไปลงดวงจันทร์ก็ไม่เคยซบเทราลงเลยหลังจากวันนั้น
ในปัจจุบันหลายๆชาติเช่นจีนก็ได้ส่งยานสำรวจไปลงดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน เช่นภารกิจ Chang’e 4 และล่าสุดเลยก็คืออิสราเอลกับภารกิจ Beresheet ที่เกือบจะสำเร็จเช่นเดียวกัน
Luna 15 อาจจะเป็นส่วนเล็กๆที่ถูกลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์เพียงเพราะความล้มเหลว แต่บทเรียนที่ Luna 15 ทิ้งเอาไว้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพลิกหน้าต่อไปของความพยายามในการสำรวจดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
Luna 15 by NASA SSE
Luna 15 crash landed by The Telegraph
Luna 15 tracking by The Independent
Luna 15
Luna 16
Luna programme