รุ่งเช้าของวันที่ 8 มกราคม ปี ค.ศ. 2011 แกเบรียล กิฟฟอร์ดส์ (Gabrielle Giffords) ได้เดินทางมาที่ร้านสะดวกซื้อในเมืองทุสซอน รัฐอริโซน่า (Tuscon, Arizona) เพื่อมาเยี่ยมและพบปะกับประชาชนที่อยู่ในเขตที่เธอทำหน้าที่เป็นผู้แทนสหรัฐในสภาคองเกรส ในช่วง 10:10 น. นายจาเรห์ด ลี ลัฟฮ์เนอร์ได้เดินมายังกลุ่มผู้คนที่กำลังร่วมงานนั้น และยิงทุกคนในระยะเผาขนด้วยปืนกึ่งอัตโนมัติกล็อก 19 ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและล้มตายเป็นอย่างมาก
สำหรับ ส.ส. แกเบรียล กิฟฟอร์ดส์นั้น เธอโดนยิงเข้าที่ศรีษะ และถูกส่งเข้าโรงพยาบาลภายในเวลาต่อมา…
กัปตันมาร์ก เคลลี่ย์ (Mark Kelly) กำลังทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในนามของ “นาซา” ที่เมืองฮูสตัน (Houston) ในตอนที่เขาได้รับโทรศัพท์จากผู้ติดตามของ ส.ส. กิฟฟอร์ดส์ทันทีที่เกิดเรื่อง กล่าวถึงข่าวร้ายที่กิฟฟอร์ดส์โดนยิงเข้าที่ศรีษะ และอาการกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ตอนนั้นเองที่เคลลี่ย์ตัดสินใจทิ้งงานทุกอย่าง และรีบบินกลับมาที่เมืองทุสซอนเพื่อมาดูอาการของกิฟฟอร์ดส์
เมื่อมาถึงเมืองทุสซอนแล้ว เคลลี่ย์นั่งข้างเตียงผู้ป่วยของกิฟฟอร์ดส์ในตอนที่เธอพยายามต่อสู้กับความเจ็บปวดเพื่อเอาตัวรอด และตอนนั้นเองที่เธอก็เริ่มกฃัลมาฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง มีหลายครั้งที่คู่สามีภรรยานี้ได้พูดอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีคนมาลอบสังหารเธอเป็นอย่างแน่แท้ เคลลี่ย์ได้ให้สัมภาษณ์ที่หลังว่า “ภรรยาผมมีเมืองทูมบ์สโตน, อริโซน่าในเขตผู้แทนของเธอ เมืองนั้นแทบจะตายได้ยากมาก และภรรยาของผม แกเบรียล กิฟฟอร์ดส์นั้นแข็งแกร่งเกินกว่าที่จะยอมให้เรื่องนี้เอาชนะเธอได้”
ทั้งกิฟฟอร์ดส์และเคลลี่ย์ร่วมชีวิตในฐานะคู่สามรีภรรยากันมาแล้วสามปีเศษ และแน่นอนว่าในช่วงเวลาที่เคลลี่ย์ได้รู้ว่ากิฟฟอร์ดส์เกือบเสียชีวิตเพราะเธอต่อสู้เพื่อในสิ่งที่ถูกต้อง สมาชิกสภาผู้แทนกิฟฟอร์ดส์เคยอยู่พรรครีพับลิกันมาก่อนที่เธอจะเปลื่ยนมาอยู่พรรคเดโมแครติกในปี ค.ศ. 2000 ความคิดและจุดยืนของกิฟฟอร์ดส์นั้นไม่ได้เอียงไปทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป แต่ด้วยจุดยืนของเธอในเรื่องของความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืน และเสียงสนับสนุนของเธอในเรื่องของการควบคุมอาวุธในสหรัฐทำให้เธอตกเป็นเป้าหมายของผู้ที่เชื่อในสิทธิการครองอาวุธ
และสิ่งที่เธอเชื่อนั้น เกือบได้คร่าชีวิตเธอแล้ว แต่เธอก็ยังสู้ต่อไป…
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้เคลลี่ย์ สามีของกิฟฟอร์ดส์เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยอริโซน่า พื้นที่งานที่จัดร่วมกันเพื่อไว้อาลัยแด่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการสังการหมู่ในวันที่ 12 มกราคม หลังจากภรรยาของเคลลี่ย์ถูกยิงมาแล้ว 4 วัน ในวันนั้น เขาได้นั่งร่วมกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชลล์ โอบาม่า และแจเน็ต นาโพลิทาโน่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าการรัฐอริโซน่ามาก่อน และในช่วงจังหวะหนึ่งที่ประธานาธิบดีโอบาม่าได้สวมกอดเคลลี่ย์ และพยายามปลอบใจ ให้กำลังใจเขาได้ผ่านเรื่องนี้ไปได้…
ผ่านไป 8 ปีให้หลังมานั้น เคลลี่ย์ได้ออกมายืนต่อหน้าผู้คนอีกครั้งในเมืองฟีนิกส์ เมืองหลวงของรัฐอริโซน่า เพื่อประกาศว่าตนจะลงรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐคนต่อไปจากรัฐอริโซน่า ในตำแหน่งที่จอห์น แมคเคน ผู้ที่เคยเป็นผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2008 กับประธานาธิบดีโอบาม่า และวุฒิสมาชิกสหรัฐคนก่อนที่ได้เสียชีวิตไปเมื่อปีก่อนหน้านี้ และที่นั่งตอนนี้โดยวุฒิสมาชิกสหรัฐสตรี มาร์ธาร์ แมคแซลลี่ย์ (Martha McSally) ที่เป็นผู้ผ่านศึกเหมือนกับเคลลี่ย์ตอนนั้น โดยที่ก่อนหน้านี้ มาร์ก เคลลี่ย์ได้เริ่มต้นเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากที่ภรรยาของเขาได้พักฟื้นและรักษาตัวเรียบร้อยแล้ว โดยที่เคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกันที่ภรรยาเขาเคยต่อสู้ในสภาคองเกรส และพอถึงจุดนี้ เขาได้ตัดสินใจแล้วว่าการลงเลือกตั้งในสนามวุฒิสภาสหรัฐนี้เป็นทางเลือกของเขา
นักบินอวกาศ – มุมมองและชีวิตการเมืองที่ไม่เหมือนคนบนโลก
แน่นอนว่ากรณีของมาร์ก เคลลี่ย์นั้นไม่ได้เป็นครั้งแรกของสหรัฐ และไม่ใช่ครั้งแรกของโลกด้วยซ้ำไป ถ้าเราย้อนเวลากลับไปในช่วงสงครามเย็น เราจะเห็นได้ว่ามีนักบินอวกาศสตรีคนแรกของโลก วาเลนติน่า เทเรชโคว่า (Valentina Tereshkova) ที่เริ่มต้นชีวิตการงานของเธอในฐานะคนงานในโรงงานทอผ้า ก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศในเวลาต่อมา เริ่มฝึกฝนในยศนายทหารอากาศของกองทัพโซเวียต และได้รับการฝึกเป็นช่างกลก่อนที่จะได้รับการประจำการกับยานอวกาศที่ชื่อว่า วอสตอก 6 (Vostok 6)
เมื่อภารกิจของเธอได้สำเร็จลง และกลับมาที่โลกอย่างปลอดภัย เธอได้รับการตอนรับเสมือนวีรสตรีโดยเหล่าผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ได้รับการเชิดชูต่าง ๆ นา ๆ อย่างมากมาย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวีรสตรีแห่งสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา
หลังจากที่สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายไป เทเรชโคว่าพยายามเข้ามาสู่ในสนามการเมืองตั้งแต่เริ่มปี ค.ศ. 1995 และพยายามอย่างต่อเนื่องจนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในสภาแห่งรัฐ (State Duma) ในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันตอนที่มาร์ก เคลลี่ย์พยายามอยู่เคียงข้างภรรยาและเปลื่ยนผันตัวเองมาอยู่ในวงการการเมืองท้องทิ่นและการทำกิจกรรมทางการเมืองก่อนที่จะประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในเวลาต่อมา
นอกจากนั้นแล้ว มีนักการเมืองในโลกหลายคนที่มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นนักบินอวกาศ และผันตัวเขามาอยู่ในวงการการเมืองตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าจะเป็นจอห์น เกลนน์ (John Glenn) นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐที่ลงชิงตำแหน่งการเมือง โดยที่ได้รับเลือกตั้งในสภาผู้แทน และได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐคนแรกที่เคยเป็นนักบินอวกาศ หรือแม้แต่ในแคนาดา จูลี่ย์ ปาแย็ตต์ (Julie Payette) ที่เคยเป็นนักบินอวกาศในนามของสำนักงานอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency) ที่ภายหลังต่อมาได้รับการเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการใหญ่แทนพระองค์ในแคนาดา (Governor-General of Canada) ในปี ค.ศ. 2017
แน่นอนว่าการที่เราพูดถึงเรื่องวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและการอวกาศมาตั้งแต่ช้านานจนถึงตอนนี้ ไม่มีใครคนไหนเลยที่พูดเรื่องการเมืองและประสบการณ์จากการเป็นนักบินอวกาศ และแน่นอนว่าการที่ได้บินออกไปนอกอวกาศนั้นก็ทำให้ความคิดและมุมมองนั้นเปลื่ยนไปโดยปริยาย โดยเฉพาะกับเอดการ์ ดี. มิทเชลล์ นักบินอวกาศสหรัฐผู้ที่เดินบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นคนที่หกได้เคยกล่าวว่า
“ทันทีที่เห็นโลกจากดวงจันทร์นั้น คุณจะเริ่มมีสติและตื่นรู้ถึงเรื่องของโลกทั้งใบ ความคิดที่ก่อขึ้นมาโดยมีผู้คนเป็นหลัก และความไม่พอใจอย่างมหันต์ต่อสถานการณ์ของโลกตอนนั้น และความแรงกล้าที่จะทำอะไรสักอย่าง โดยจากบนดวงจันทร์นั้น การเมืองระหว่างประเทศดูไร้ค่าไปอย่างมาก จนขนาดที่คุณอยากจะลากคอนักการเมืองออกมาสองแสนห้าหมื่นไมล์จากโลกมาจนถึงตรงนี้ และพูดว่า “มึงดูสะไอ้ลูกหมาวัด”
และด้วยจิตวิญญาณและความตื่นรู้นี้เอง ที่มีผลต่อมาร์ก เคลลี่ย์ในวันที่ได้ขึ้นไปอยู่ในอวกาศ ในวันที่ภรรยาเขาถูกยิง และอีกครั้งในวันที่ประกาศลงเลือกตั้งวุฒิสมาชิกสหรัฐ และอีกครั้งในวันนี้ ที่มาร์ก เคลลี่ย์ได้รับการเลือกตั้งในฐานะวุฒิสมาชิกสหรัฐคนต่อไป… และไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นความคิดที่แปลกใหม่ กับนักบินอวกาศและการเมืองแบบใหม่จากตรงนี้ และต่อไป
บทความนี้เขียนโดย “ฟรานซิส” นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ผู้ได้รับหมายจับในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 ฟรานซิสเป็น นักศึกษารัฐศาสตร์ คณะความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ ปี 2 หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำจัดกิจกรรมแฟลชม็อบนักศึกษามหิดล