UPDATE: เช้าวันที่ 1 มกราคม ยาน OSIRIS-REx ได้จุดจรวดเพื่อส่งยานเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเบนนูสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
Orbit insertion burn design has been finalized: @OSIRISREx will fire its thrusters to enter orbit about Bennu at 19:43:55 UTC (14:43:55 EST) tomorrow, December 31st! The engines will burn for 8 seconds. pic.twitter.com/gSI24og2Ix
— KinetX SNAFD (@KinetXSNAFD) December 31, 2018
วันที่ 31 ธันวาคมนี้ ยาน OSIRIS-REx กำลังจะถูกส่งเข้าสู่วงโคจรรอบเบนนู ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกขนาดเพียง 500 เมตร ที่มันเดินทางไปถึงตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ประเด็นก็คือนาซาจะพายานลำนี้ไปโคจรรอบเบนนูได้อย่างไร ในเมื่อแรงโน้มถ่วงของดาวนั้นน้อยมาก จนถึงขั้นที่คุณสามารถหลุดลอยไปสู่อวกาศได้จากการกระโดดขึ้นจากผิวดาวเท่านั้น
ปกติแล้วเวลานาซาส่งยานอวกาศไปโคจรรอบวัตถุต่าง ๆ มันจะมีขนาดที่ใหญ่มากพอที่แรงโน้มถ่วงจะสามารถรักษาให้ยานโคจรรอบดาวได้อย่างเสถียร เช่น ดาวเคราะห์ต่าง ๆ และดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ ส่วนบรรดาดาวหางและวัตถุที่มีขนาดเล็กลงมานั้นก็จะเป็นการบินผ่านเพียงเท่านั้น นั่นทำให้ภารกิจนี้น่าสนใจตรงที่นาซาจะงัดกลวิธีใดออกมาเพื่อนำ OSIRIS-REx ไปโคจรรอบเบนนูได้สำเร็จ
ยาน OSIRIS-REx เดินทางไปถึงเบนนูในวันที่ 3 ธันวาคม 2018 หลังจากการเดินทางกว่า 2 ปี โดยยานจะรักษาระยะห่างประมาณ 5 กิโลเมตรจากผิวดาว ซึ่งจะใช้เวลาราว 20-30 วันในการสำรวจโดยรอบของเบนนูอย่างละเอียด ทั้งการถ่ายภาพ สร้างโมเดลจำลอง และข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการคำนวณวงโคจรที่ปลอดภัย และอ้างอิงจากทีมของภารกิจ ยาน OSIRIS-REx จะทำความเร็วเพียงแค่ 10 เซนติเมตร/วินาทีสัมพัทธ์กับดาวเท่านั้น
วงโคจรที่ยานเลือกใช้ในครั้งนี้นั้นถูกเรียกว่า “Safe Home Orbit” ซึ่งเป็นจุดที่แรงโน้มถ่วงของเบนนูกับรังสีจากดวงอาทิตย์จะหักล้างกัน และนั่นช่วยให้ยานสามารถโคจรรอบเบนนูอย่างเสถียรได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับแก้วงโคจรบ่อยครั้งนัก ทั้งนี้ OSIRIS-REx จะอยู่ในวงโคจรที่มีความสูง 1 กิโลเมตรจากจุดศูนย์ถ่วงของดาว ดังนั้นยานจะสามารถสำรวจและถ่ายภาพพื้นผิวของดาวอย่างละเอียดได้ โดยยานจะอยู่ในวงโคจรนี้เป็นระยะเวลา 1-2 เดือน ก่อนที่จะมีการปรับวงโคจรและฝึกซ้อมการลงไปแตะผิวดาวเพื่อนำกลับโลกในภายหลัง
ทั้งนี้หากการนำยานไปโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเบนนูในวันสิ้นปีนี้ประสบความสำเร็จ OSIRIS-REx จะทำลายสถิติเป็นยานอวกาศที่โคจรรอบวัตถุขนาดเล็กที่สุดในระบบสุริยะ เพราะเบนนูนั้นมีขนาดเพียงแค่ 500 เมตรเท่านั้น ทำลายสถิติของยาน Hayabusa 2 ที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อย Ryugu ขนาด 1 กิโลเมตรเมื่อกลางปีลง
สุดท้ายนี้เราก็ต้องมาลุ้นกันว่า OSIRIS-REx จะทำได้สำเร็จหรือไม่ และเมื่อมีความคืบหน้าแล้ว ทีมงาน SPACETH.CO จะนำมาแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
และแม้จะผ่านมาไม่ถึงเดือน แต่ยาน OSIRIS-REx ก็ได้ค้นพบร่องรอยของน้ำบนเบนนูตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคมแล้ว อ่านเรื่องราวการค้นพบได้ที่นี่
เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง:
NASA’s OSIRIS-REx Spacecraft Arrives at Asteroid Bennu
OSIRIS-REx Mission & Trajectory Design
How A NASA Probe Will Orbit An Asteroid With Almost No Gravity