เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2020 เพียง 11 วันก่อนการลงจอดบนดาวเคราะห์น้อย Bennu ของยาน OSIRIS-REx เท่านั้น นำโดยทีมวิจัยที่ NASA’s Goddard Space Flight Center (GSFC) ประกาศการค้นพบสสารจำพวกคาร์บอนและสารอินทรีย์กระจายทั่วพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย Bennu รวมถึง Site Nightingale ที่ยาน OSIRIS-REx จะทำการลงจอดในวันที่ 20 ตุลาคม 2020 ด้วย ซึ่งสารอินทรีย์ที่ตรวจพบนั้นอาจอยู่ในรูปของสารประกอบทางชีววิทยาซึ่งจำเป็นต้องนำกลับมาตรวจสอบบนโลกเท่านั้น เพราะว่า OSIRIS-REx ไม่ได้ออกแบบมาให้ทำการทดลองได้แม้แต่นิดเดียว แต่มันทำสิ่งที่ต่างออกไป
นอกจากนี้ทางทีมวิจัยยังพบว่าหินที่อยู่บนดาวเคราะห์น้อย Bennu นั้นมีส่วนที่เรียกว่า “Vein” หรือสายแร่บนพื้นผิว ซึ่งสายแร่ดังกล่าวประกอบไปแร่ธาตุจำพวกคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบทางด้านธรณีวิทยาซึ่งคาร์บอเนตนั้นเกิดจาก Hydrothermal system (หรือการหมุนเวียนความร้อนภายใน) ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์
OSIRIS-REx จะเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อย Bennu และนำตัวอย่างกลับมายังโลกเพื่อทำการตรวจสอบต่อไป และนั่นก็เข้าทางนักวิทยาศาสตร์เลยทีเดียวเพราะว่าตอนแรกตั้งใจจะส่ง OSIRIS-REx ไปเก็บตัวอย่างพื้นผิวเพื่อวิเคราะห์วิวัฒนาการของระบบสุริยะแต่ดันไปเจอสารอินทรีย์พอดี แถมในพื้นที่ที่จะเก็บตัวอย่างก็ยังมีสารอินทรีย์ให้เห็นด้วย ทำให้มีโอกาสสูงมากที่ระหว่างการเก็บตัวจะมีสารอินทรีย์ดังกล่าวติดมาด้วย
และระหว่างการสำรวจพื้นผิว ณ จุดลงจอดหรือ Site Nightingale นักวิทยาศาสตร์พบว่าพื้นที่บริเวณ Site Nightingale เป็นพื้นที่ที่พึ่งสัมผัสอวกาศหมาด ๆ เพราะก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์น้อย Bennu เคยเป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์น้อยอีกดวง (Parent body) แล้วแตกออก ซึ่ง Parent body ดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นเหตุผลที่ Bennu มีระบบหมุนเวียนความร้อนภายใน (Hydrothermal system) เป็นของตัวเองซึ่งทำให้เกิดปฏิกริยาจนเกิดสารจำพวกคาร์บอเนตขึ้นบน Bennu บ่งบอกว่า Parent body ของมันอาจเคยมีน้ำ ยังเคยมีการค้นพบร่องรอยของน้ำด้วยอุปกรณ์ Spectrometer ด้วย (อ่านบทวาม ยาน OSIRIS-REx พบร่องรอยของน้ำบนดาวเคราะห์น้อยเบนนู) ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า Parent body ของ Bennu อาจมีน้ำในรูปแบบของของเหลวอยู่ด้วย ส่วน Site Nightingale อาจจะเป็นพื้นที่ที่ดาวเคราะห์น้อย Bennu แตกออกมาทำให้มันพึ่งได้สัมผัสอวกาศ และนั่นจะช่วยให้เราสามารถเก็บตัวอย่างที่เรียกได้ว่าใหม่เอี่ยมเพื่อนำไปทดลองได้นั่นเอง
นอกจากนี้จากการวิเคราะห์สเปกตรัมของดาวเคราะห์น้อย Bennu นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าสเปกตรัมของมันไม่เหมือนกับที่คาดการณ์ไว้ซึ่งน่าจะเกิดจากสารประกอบจาก Parent body ของมันและระยะเวลาที่มันสัมผัสกับอวกาศซึ่งเสี่ยงต่อสัมผัสรังสีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รังสีคอสมิกหรือลมสุริยะ จากการเรนเดอร์ภาพของดาวเคราะห์น้อย Bennu แบบ False-color renderings ด้วยข้อมูลจากกล้อง MapCap พบว่าบริเวณ Site Nightingale นั้นมีสเปกตรัมไปทางสีแดงมากกว่าพื้นที่อื่น โดยสเปกตรัมไปทางสีแดงหมายความว่าพึ่งสัมผัสกับอวกาศ ส่วนสเปกตรัมไปทางสีฟ้าหมายความว่าพื้นที่ตรงนี้สัมผัสอวกาศมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนพื้นทีที่มีสีเขียวหมายถึงพื้นที่ที่มีแร่ธาตุ Pyroxene
อีกเปเปอร์หนึ่งซึ่งใช้ข้อมูลจาก OSIRIS-REx ยังพบว่าหินบนดาวเคราะห์น้อย Bennu นั้นแบ่งได้หลัก ๆ เป็นสองประเภท คือ หินประเภทที่มีสีดำและหยาบ กับหินที่สว่างและมีผิวที่เรียบ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติทางกายภาพที่แตกต่างกันด้วย โดยหินที่มีสีดำและหยาบจะอ่อนและเปราะกว่าหินที่สว่างและมีผิวหยายซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าหินที่สว่างและมีผิวเรียบอาจเกิดจากมีสารจำพวกคาร์บอเนตมาเคลือบทำให้มันแข็งขึ้นและไม่เปราะง่าย อย่างไรก็ตามหินทั้งสองแบบก็ยังเปราะกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ถึงขั้นที่ถ้าเก็บหินสีดำกลับมา ตอนถึงโลกมันอาจจะกลายเป็นผง ๆ ไปแล้วยังไม่รวมกับตอนนำกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาได้แค่หินที่มีคาร์บอเนตเคลือบเพียงเท่านั้น
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง