ธันวาคมปี 2019 ยังจำกันได้หรือเปล่าช่วงเวลานั้น ช่วงที่ทุกคนออกจากบ้านโดยยังไม่ต้องใส่หน้ากาก ช่วงที่สหรัฐฯ ยังไม่มียานอวกาศสำหรับส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และกล้องโทรทรรศน์ James Webb Space Telescope ยังอยู่ระหว่างการทดสอบขั้นท้าย ๆ แม้เวลาจะผ่านมาแค่ไม่ถึง 3 ปีนับจากวันที่บทความนี้ลง แต่อะไร ๆ ก็ดูเปลี่ยนไปเยอะมาก เราคงใช้คำพูดนี้ได้เช่นกันกับภารกิจการทดสอบ Orbital Test Flight หรือ OFT ของ Boeing สำหรับยานอวกาศรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า Boeing CST-100 “Starliner”
ในบทความเรื่อง CST-100 Starliner ยานอวกาศลำใหม่ความหวังของ Boeing และโลกทุนนิยม ในเที่ยวบินแรก ที่เราได้เล่าเรื่องเที่ยวบินแรกของยาน Starliner ได้สรุปเหตุการณ์การทดสอบครั้งแรกในวันที่ 21 ธันวาคม 2019 ว่าภารกิจ ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากยาน Starliner ที่ในภารกิจถูกกำหนดว่าจะต้องเข้าเทียบสถานีอวกาศนานาชาติ ไม่สามารถเดินทางเข้าไปเทียบกับสถานีฯ ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้เป็นเหตุให้ต้องลดวงโคจรกลับสู่โลกเร็วกว่ากำหนด
ซึ่งในตอนนั้นฟังดูก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรมาก เพราะยาน Crew Dragon ของ SpaceX เองก็เพิ่งจะเทียบท่าสถานีอวกาศในแบบไม่มีมนุษย์โดยสารไปด้วย (Uncrewed Mission) ไม่กี่เดือนตอนหน้า และ Boeing เองก็คงต้องแค่ปรับแก้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ภารกิจต่อไปเดินหน้าไปได้ และให้ยาน Starliner เทียบท่าสถานีอวกาศเป็นยานอวกาศเอกชนสำหรับคนนั่งลำที่สองที่ประสบความสำเร็จในการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานชาติ
แต่ รายงานในเดือนกรกฎาคม 2020 นั้น ระบุว่าจากการตรวจสอบเที่ยวบิน OTF-1 อย่างละเอียดนั้น พบว่าจุดที่เกิดความผิดพลาด เป็นเรื่องร้ายแรงมากจนถึงขั้นที่อาจเกิดอันตรายต่อภารกิจ จึงต้องมีการปรับแก้ระบบต่าง ๆ อย่างละเอียด โดยทีมวิศวกรของ Boeing ก็ได้รับความช่วยเหลือจากทาง NASA เพื่อช่วยให้ Starliner สามารถขึ้นบินในภารกิจ OFT-2 ได้โดยเร็ว
แต่อุปสรรคก็ยังคงมากลั่นแกล้งเรื่อย ๆ โดยจริง ๆ แล้ว OTF-2 จะต้องเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ของปี 2021 แต่ดันเกิดอุบัติเหตุ ที่เรียกได้ว่า Boeing ซวยไป ก็คือ โมดูล Nauka ของรัสเซียที่เพิ่งส่งขึ้นไปใหม่ ดันจุดเครื่องยนต์เองพาเอาสถานีอวกาศนานาชาติหมุนมั่วอยู่เป็นเวลาพักเล็ก แต่ก็เป็นเหตุให้ Boeing ต้องยกเลิกเที่ยวบินทดสอบนี้ และไปตั้งหลักใหม่ในต้นเดือนสิงหาคม แต่พอเอาเข้าจริง ๆ Starliner กลับพบปัญหาในขั้นตอนท้าย ๆ ก่อนการปล่อย และยกเลิกการปล่อยไปในที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหา
และสุดท้าย Boeing และ NASA ก็สามารถเข็น Starliner มาบินอีกครั้งได้โดยใช้เวลาถึงสองปีกว่า ๆ เลยทีเดียว ซึ่งภารกิจ OFT-2 ก็ถูกปล่อยขึ้น 05:54 ช่วงเช้าของวันที่ 20 พฤษภาคม ตามเวลาประเทศไทย จากฐานปล่อย Space Launch Complex 41 ฐานทัพอากาศ เคอเนอเวอรัล
Starliner รอบนี้จะใช้จรวด Atlas V ในการนำส่ง ในลักษณะ configuration แบบ N22 คือมีการใช้ Solid Booster ขนาบข้างสองตัว หลังจากการปล่อย Atlas V ทำงานได้ดีไม่มีปัญหา และส่ง Starliner ขึ้นสู่วงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตรได้
อย่างไรก็ดี Loren Grush จาก The Verge รายงานว่า เครื่องยนต์ 2 ตัว ของยาน Starliner ที่จะต้องใช้ในการปรับวงโคจร ดันเกิดใช้งานไม่ได้ ทำให้ต้องมีการใช้เครื่องยนต์ตัวที่ 3 ช่วย Burn แทน ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับ Starliner ในเที่ยวบินนี้ แต่ก็ยังพอประคับประคองให้ Starliner เข้าเทียบกับสถานีอวกาศนาชาติได้
จนในที่สุดยาน Boeing CST-100 Starliner ก็เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติสำเร็จในช่วงเช้าของวันที่ 21 พฤษภาคม 2022 นับเป็นยานอวกาศคนนั่งเอกชนรุ่นที่ 2 ที่เดินทางเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ โดยเทียบเข้ากับพอร์ตเชื่อมต่อ International Docking Adapter ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าสุดของสถานีอวกาศนานาชาติหรือโมดูล Harmony สำเร็จเรียบร้อยเมื่อเวลา 20:28 EDT หรือ 7 โมง 28 นาทีตามเวลาประเทศไทย
แม้จะเป็นเพียงเที่ยวบินทดสอบ แต่ NASA และ Boeing ก็ไม่พลาดที่จะใช้ภารกิจทดสอบนี้ในการเติมเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติด้วยเช่นกัน
โดยหลังจากการเชื่อมต่อ นักบินอวกาศก็ได้เข้าไปเช็คความเรียบร้อยในตัวยาน รวมถึงได้มีการเผยรูปภายใน Hatch ของยาน CST-100 Starlinerยปรากฎภาพของหุ่นนักบินอวกาศ Rosie The Rocketeer (หุ่นสำหรับทดสอบ อารมณ์ประมาณ Starman ของ SpaceX) และเซอร์ไพรส์สำคัญอย่างนักบินอวกาศ Jebediah Kerman แห่งเกม Kerbal Space Program ที่สร้างความฮือฮาให้กับแฟน ๆ เกม Kerbal Space Program ไม่น้อย
และเวลาประมาณ 5 นาฬิกาทีของวันที่ 26 พฤษภาคม 2022 ยาน Starliner ภารกิจ Orbital Flight Test 2 ของ Boeing Space ได้เดินทางมาลงจอดที่ White Sands Space Harbor เป็นที่เรียบร้อยหลังจากที่ Undock ออกจากสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อประมาณ 4 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น
โดยสรุปการทดสอบ OFT-2 นี้กินระยะเวลา 6 วันโดยประมาณ โดยเวลาที่เชื่อมต่ออยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติทั้งสิ้น ก็คือ 4 วัน 18 ชั่วโมง 8 นาที
นี่คือเรื่องราวอย่างคร่าว ๆ ของการทดสอบภารกิจ OFT-2 ซึ่งเอาจริง ๆ สิ่งที่เราอยากชี้ให้เห็นเกี่ยวกับภารกิจนี้ ก็คือข้อสังเกตตรงที่ว่า คุ้น ๆ กับกรณีอะไรแบบนี้มั้ย ใช่ เรากำลังจะบอกว่ามันมีอะไรที่เหมือนกับโครงการ Artemis อยู่ ถ้าใครที่ตามอ่านบทความที่ชื่อว่า NASA เลื่อนเหยียบดวงจันทร์ภารกิจ Artemis เป็นปี 2025 ผลพวงจากข้อพิพาท HLS ก็จะรู้ว่าเรากำลังพูดถึงอะไร
ปกติแล้ววิธีการดำเนินงานของ NASA จริง ๆ ก็ไม่ต่างจากระบบราชการเท่าไหร่ ที่จะต้องมีคู่เทียบเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า ซึ่งถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือถ้า NASA ให้งบ SpaceX ในการพัฒนยานอวกาศในสัญญาใด ๆ ก็ต้องมีอีกบริษัทด้วย (อย่างน้อยสองบริษัท) เช่น ถ้าในโครงการ Commercial Resupply Program (CRS) ก็จะมี SpaceX และ Orbital ATK (ยาน Cygnus) โครงการ Commercial Crew ก็จะมี SpaceX และ Boeing ดังนั้นโครงการ HLS ที่ดันมีผู้ทำยานเพียงแค่ SpaceX จึงเป็นความฉิบหายที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ NASA
ทีนี้มากรณีเรื่อง Commercial Crew สิ่งที่เราอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ
- Timeline การพัฒนาระหว่าง Dragon กับ Starliner นั้นเรียกว่าห่างกันอยู่หลายปี เพราะ Crew Dragon นั้น เทียบสถานีอวกาศครั้งแรกตั้งแต่ภารกิจ Demo-1 ในเดือนมกราคม 2019 ในลักษณะการบินยานเปล่า ก่อนที่ในปี 2020 จะสามารถส่งคนขึ้นไปได้สำเร็จในภารกิจ Demo-2 ตอนนี้ Crew Dragon นำไป 4 รอบสัญญาแล้ว (Crew-4) ในขณะที่ Boeing ยังทดสอบอยู่เลย
- Starliner เป็นยานในระดับ Low-Earth Orbit เท่านั้น ไม่สามารถใช้งานใน Deep Space ได้ เหมือนกับ Orion (หรือแม้กระทั่ง Crew Dragon เองก็ยังไม่ได้รับ Certificate การบินแบบ Deep Space แม้ SpaceX จะเคยโม้เรื่องว่า Dragon ลงจอดบนดาวอังคารหรือดวงจันทร์ได้) ทำให้ไม่สามารถเอาไปเทียบกับ Orion ได้ แม้หน้าตาจะคล้ายกัน
- การทดสอบบินยานพร้อมนักบิน หรือที่เรียกว่า CFT Crew-Test Flight นั้น กำหนดตอนนี้อยู่ในปลายปี 2022 ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเลื่อนไปอีกหรือเปล่า
ดังนั้น เราจะได้เห็น Starliner บินส่งนักบินอวกาศจริง ๆ เหมือน Crew-1, Crew-2, Crew-3, Crew-4 ของ SpaceX ก็อาจจะปาไปปี 2023 เลยทีเดียว ซึ่งเหตุผลที่ NASA ยังคงต้องช่วยเลี้ยงโครงการนี้ต่อไป ก็คือเรื่องของการป้องกันการผูกขาดทางการค้านั่นเอง
อีกอย่างก็คือสำหรับเราแล้ว Boeing กับอวกาศเป็นสิ่งที่ตัดกันไปขาด เรียกได้ว่า ต่อให้ Boeing ทำอะไรออกมาแล้วพลาด แต่ด้วยความที่ Boeing เป็น Boeing เปรียบเหมือนแมวเก้าชี้วิตแห่งวงการอวกาศที่ยังไงก็ฆ่าไม่ตาย ก็น่าจะทำให้เราได้เห็นอะไรออกมาอีก แม้การทดสอบต่าง ๆ จะไม่ค่อยราบรื่นมากนักก็ตาม
เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็นถึงภารกิจ Starliner นี้ ซึ่งใครจะมองอย่างไรก็แล้วแต่จะคิด
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co