สรุปภารกิจรัสเซียหั่นยานโซยุสกลางอวกาศ เพื่อหาที่มาของรูปริศนาบน ISS

11 ธันวาคม นักบินอวกาศรัสเซีย 2 คน เซอร์เกย์ ปราโกเปียฟ และ โอเลก กานาเนียนกา ได้ส่งให้ไปทำภารกิจ EVA หรือการออกไปนอกสถานีพร้อมกับเครื่องมืออย่างมีด กรรไกร และคีม ภารกิจของพวกเขานับว่าเป็นหนึ่งในการทำ EVA ที่แปลกที่สุด เพราะมันคือการไปหั่นส่วน Orbital Module ของยานโซยุส หมายเลข MS-09 ที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศในเดือนสิงหาคม แต่ไม่กี่อาทิตย์หลังจากนั้นก็ได้มีการพบรูรั่วบนยาน นักบินอวกาศตรวจพบการสูญเสียความดันและใช้เครื่องมือพิเศษตรวจสอบจนเจอรูขนาด 2 มิลิเมตรที่ผนังของยาน นักบินอวกาศเอานิ้วไปอุดรู และเอาเทปมาแปะเพื่อซ่อม และ 3 วันต่อมาพวกเขาก็ได้ใช้วัสดุพิเศษไปอุดรูรั่วนั้น เนื่องจากพวกเขาพบว่าการใช่นิ้วอุดมันเมื่อย!

รูปริศนาบนยานโซยุส ที่มา – NASA/Roskosmos

แน่นอนว่าปัญหานี้ไม่จบลงง่าย ๆ เกิดเป็นข้อสังเกตนานาว่าทำไมถึงได้มีรูไปอยู่บนยานโซยุสลำนี้ได้ บ้างก็บอกว่าเกิดจากความผิดพลาดในการสร้างจากพื้นดิน หรือบางคนก็บอกว่านักบินอวกาศไปเจาะเอง (เอ้า) และปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถบอกได้จึงทำให้เกิดการ EVA ครั้งนี้ขึ้น

ทำไมถึงต้องออกไปสำรวจด้วยตัวเอง

ทีนี้ก็อาจจะสงสัยกันว่า แล้วทำไมถึงได้ต้องให้นักบินอวกาศทั้ง 2 คนออกไปด้วย ทำไมไม่รอให้ยานลงจอดกลับมายังโลกก่อนถึงทำการสำรวจ คำตอบก็คือการ EVA ออกไปนอกยานและสำรวจถึงความเสียหายด้วยตัวเองนั้นเป็นเพียงโอกาสเดียว เนื่องจากยานโซยุสนั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Orbital Module, Reentry Module และ Service Module ซึ่งแต่ละส่วนนั้นสามารถแยกออกจากกันได้ และส่วนเดียวที่จะได้กลับลงสู่โลกก็คือ Reentry Module เท่านั้น Service Module และ Orbital Module จะต้องถูกดีดออกให้เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากมันถูกออกแบบมาเพื่อการเดินทางเท่านั้น ไม่ได้ให้กลับสู่โลก

ยานโซยุส จะเห็นส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ Orbital Module ตรงปลายสุด Reentry Module ตรงกลาง และ Service Module ที่มีแผง Solar Arrays ที่มา – Roskosmos

ยานโซยุส MS-09 มีแผนจะนำนักบินอวกาศกลับสู่โลกในช่วงอาทิตย์ก่อนปีใหม่ 2019 และส่วนเดียวที่จะตกกลับมายังโลกก็คือ Reentry Module ที่พวกเขาเช็คอย่างแน่ใจแล้วว่าไม่มีรูรั่ว (ฮา) ก็นับว่าเป็นความใจแข็งของ NASA และ Roskosmos ที่ตัดสินใจใช้ยาน MS-09 ต่อแม้ว่าจะมีปัญหาก็ตาม

สภาพของยานโซยุสส่วน Reentry Module ที่กลับลงสู่โลกจะเห็นว่า ส่วนวัสดุกันความร้อนจะถูกเผาไหม้ออกหมดในชั้นบรรยากาศ ที่มา – Roskosmos

ยานโซยุสนั้นดูจากภายนอกแล้ว อาจจะไม่เหมือนกับยานอวกาศของอเมริกามันดูเหมือนมีถุงขยะสีดำห่อหุ้มอยู่ แต่สิ่งนั้นไม่ใช่ถุงขยะ มันคือวัสดุห่อหุ้มหรือ Blanket หนาหลายชั้นวัตถุประสงค์หลักของมันก็เพื่อควบคุมอุณหภูมิและปกป้องภายในยานจากรังสีต่าง ๆ ในอวกาศ

มันประกอบไปด้วยวัสดุแบบ Fiber Glass ทั้งหมด 8 ชั้น รวมถึง Thermal Blanket ที่ป้องกันการถ่ายโอนอุณหภูมิระหว่างวัสดุภายในของยานกับอวกาสด้านนอก

ด้วยเหตุนี้เองทำให้การจะรู้ได้ว่ารูปริศนานั้นเกิดขึนได้อย่างไร พวกเขาต้องตัดผ่านวัสดุห่อหุ้มเหล่านี้เพื่อตรวจสอบ ถ่ายภาพ เก็บตัวอย่าง และทำความเข้าใจรอยแผลที่อาจจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อสถานีอวกาศนานาชาติได้ถ้าเราปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

ภารกิจการหั่นยานโซยุส

กานาเนียนกา และ ปราโกเปียฟ ถือมีดและอุปกรณ์ตัดถ่างออกจากโมดูลของรัสเซียชื่อเปียส์ที่ใช้เป็นส่วนเชื่อมต่อยานและเป็นประตูสู่อวกาศเบื้องนอกด้วย นับเป็นภาพที่ดูโหดสัสรัสเซียดี ทำให้นึกถึงจากในเรื่อง Armageddon ที่นักบินอวกาศรัสเซียเอาประแจไปตีเครื่องมือแล้วตะโกนว่า “This is how we fix problems on a Russian space station!”

ในการเคลื่อนที่จากโมดูลเปียส์ ไปยังยานโซยุสนั้นพวกเขาใช้อุปกรณ์ที่เป็นเหมือนท่อนเหล็กค่อย ๆ ต่อให้ยื่นห่างออกไปและผูกตัวพวกเขาไว้กับท่อนเหล็กนั้นซึ่งแตกต่างจากการทำ EVA ของฝั่งอเมริกันและยุโรปที่จะใช้แขนกล Canadarm 2 ที่มีขนาดใหญ่และสามารถควบคุมได้อย่างอิสระกว่า (แต่แขนกล Canadarm ไม่สามารถยื่นมาถึงฝั่งรัสเซียได้) ขั้นตอนนี้ใช่เวลานานถึง 3 ชั่วโมง เพื่อให้พวกเขาเคลื่อนที่ออกมาเพียงไม่กี่เมตรจากทางออกของเปียส์

และเมื่อพวกเขาไปถึงบริเวณที่เหมือนว่าจะเป็นจุดที่มีรูนั้นแล้ว พวกเขาก็ต้องใช้อุปกรณ์ในการตัดผ่านชั้นกันความร้อนที่เราได้พูดถึงก่อนหน้านี้ไป พวกเขาใช้มีดเพื่อตัดแผ่นกันความร้อน หลังจากนั้นพวกเขาควรจะใช้กรรไกรค่อย ๆ ตัดมันออก แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นเพราะกรรไกรนั้นไม่สามารถใช้ได้ พวกเขาจึงตัดสินใจใช้มีดเลาะต่อไป แน่นอนว่าแผลที่ออกมาก็คงไม่สวยแน่ ชิ้นส่วนต่าง ๆ หลุดลุ่ยออกมาจากตัวยานล่องลอยไปทั่ว เป็นภาพที่ดูแล้วแปลกตามาก เมื่อปกติที่เราเข้าใจกันงานด้านเกี่ยวกับอวกาศจะเน้นความปราณีตและสวยงาม (แต่นี่รัสเซีย)

หลังจากที่พวกเขาตัดผ่านชั้นกันความร้อนแล้ว ก็ได้เจอกับรอยสีดำที่ดูสังเกตเห็นได้ชัด รอยสีดำนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัสดุที่ใช้ในการซ่อมแซมอุดรูรั่ว แต่รูจริง ๆ นั้นมีขนาดเพียงแค่ 2 มิลิเมตรเท่านั้น สิ่งที่ทั้งสองคนทำก็คือการบันทึกภาพของบริเวณนั้น และเก็บเอาตัวอย่างของวัสดุที่ใช้ในการอุดรูเพื่อส่งกลับลงมายังโลกสำหรับตรวจสอบเพิ่มเติม เผื่อมันจะสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง

หลังจากการทำงานนานหลายชั่วโมงนอกสถานี พวกเขาก็ทำงานนี้สำเร็จ และนำตัวอย่างกลับเข้าสู่สถานีเพื่อส่งกลับลงมายังโลกวันที่ 20 ธันวาคม พร้อมกับการลงจอดของยานโซยุส MS-09 ที่มีปัญหานี้เอง ตัวอย่างนี้จะถูกส่งไปตรวจสอบต่อไป

เพื่อน ๆ นักบินอวกาศถ่ายรูปร่วมกับ เซอร์เกย์ และโอเลก หลังจากที่ทำภารกิจสำเร็จ ที่มา – NASA/Anne McClain

เทคโนโลยีอวกาศนั้นเป็นอะไรที่ Sensitive เป็นอย่างมาก และความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะนำไปสู่ผลที่เราไม่คาดคิดได้ ดังนั้นหนึ่งในวิศวกรรมที่ละเอียดที่สุดก็คือวิศวกรรมอวกาศ แต่อย่างไรก็ตามการเจอปัญหานั้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสมอไป เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถทำงานที่ดีขึ้นได้ในอนาคต การเจอปัญหากับงานที่เรายิ่งรู้ว่าเป็นงานที่ปราณีตที่สุด ยิ่งช่วยให้เราสร้างงานที่ปราณีตมากกว่าเดิม

เพราะอย่างไรมนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ เราคงไม่อาจสร้างความสมบูรณ์หรือ Perfection ขึ้นมาได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือการกำจัดความไม่สมบูรณ์  (Imperfection) ต่างหาก แม้ว่าปัญหานี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ ที่อยู่ดี ๆ กลับมีรูเกิดขึ้นบนยานอวกาศได้ แต่บทเรียนที่เราจะได้รับกันในวันนี้ ก็จะช่วยให้การสำรวจอวกาศในอนาคตปลอดภัยขึ้นแน่ ๆ

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.