5 มิถุนายน 2024 หลังจากเลื่อนการปล่อยมานานถึงหนึ่งเดือน จรวด Atlas V และจรวดท่อนที่สอง Centaur ก็ได้พายานอวกาศ Boeing CST-100 Starliner เดินทางสู่อวกาศ เวลาประมาณสิบโมงห้าสิบสองนาที ตามเวลา ณ ฐานปล่อย หรือเวลาสามทุ่มห้าสิบสองนาที ตามเวลาประเทศไทย สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ นับว่าเป็นความพยายามในการปล่อยครั้งที่ 3 ของ NASA, Boeing และ ULA หลังจากที่การปล่อยสองครั้งแรก ถูกเลื่อนมาจากปัญหาด้านตัวจรวด และระบบเชื้อเพลิงของยาน Starliner
จรวด Atals V ใน Configuration แบบ N22 บินขึ้นจากฐานปล่อย Launch Complex 41 ใน Cape Canaveral Space Force Station แหลมคะเนอเวอรัล ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา พานักบินอวกาศ Butch Wilmore และ Suni Williams เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
หลังจากการปล่อยประมาณสองนาที จรวด Solid Rocket Booster ทั้งสองข้างได้แยกตัวออกจากจรวด Atlas V และสี่านาทีสามสิบวินาทีหลังการปล่อย จรวด Centaur Upper Stage ก็ได้จุดเครื่องยนต์ แยกตัวออกจากจรวด Atlas V พายาน Starliner สู่วงโคจร Low Earth Orbit ก่อนที่ในลำดับสุดท้าย ยานอวกาศ Starliner ก็ได้แยกตัวออกจากจรวด Centaur ในนาทีที่สิบห้าหลังจากการปล่อย
การเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานชาติของ Starliner นั้นจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 25 ชั่วโมงด้วยกัน โดยจะมีการ Burn หรือปรับวงโคจรทั้งหมดสี่ครั้งใหญ่ ๆ ได้แก่ Orbital Insertion Burn ครึ่งชั่วโมงหลังการปล่อย หลังจากนั้น ตัวยานจะเดินทางอยู่ใน Low Earth Orbit ก่อนที่ 22 ชั่วโมงหลังจากการปล่อย จะมีการทำ NHPC1 และ NHPC1 เพื่อ ปรับความสูงของวงโคจรให้เท่ากับสถานีอวกาศนานชาติ และสุดท้ายคือการทำ NSRPC หรือ Inbound Coelliptic Maneuver และ Terminal Phase Initiation Burn (TPI) เพื่อมุ่งหน้าตรงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และทำ Poll เพื่อตรวจสอบว่าตัวยาน พร้อมสำหรับการเทียบท่าสถานีอวกาศหรือไม่ ก่อนที่จะเข้าเทียบท่าในที่สุด ใน Port ฝั่ง Forward หรือหน้าสุดของโมดูล Harmony ของสถานีอวกาศนานชาติ
ไล่ลำดับเหตุการณ์กว่าจะได้ปล่อย Starliner
การทดสอบยาน Starliner ในปี 2024 เดิมทีถูกวางไว้ในช่วงเดือนเมษายน ก่อนที่จะมีการเลื่อนมาเป็นเดือนพฤษภาคม เนื่องจากตารางงานของสถานีอวกาศนานาชาติไม่เอื้ออำนวย โดยในเดือนพฤษภาคมนั้น กำหนดวันปล่อยไว้เป็นวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งทีมงานก็ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมชมการปล่อยตามคำเชิญของ NASA ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในการปล่อยรอบแรกนั้น วิศวกรตรวจพบปัญหาวาล์วเชื้อเพลิงของจรวด Centaur ท่อนที่สอง จึงตัดสินใจเลื่อนการปล่อยออกไป ในเวลาก่อนปล่อยประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากนั้น การปล่อยก็ถูกเลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาต่าง ๆ เช่น การตรวจพบแก๊สรั่วไหลในระบบขับดันของยาน Starliner ทำให้วิศวกรจำเป็นต้องใช้เวลาในการประเมินความปลอดภัย ในระหว่างนั้น ลูกเรือทั้ง Butch และ Suni ได้เดินทางกลับไปกักตัวและเตรียมความพร้อมยัง NASA Johnson Space Center ในรัฐเท็กซัส
กำหนดการปล่อยกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะมีการเลื่อนมาเป็นวันที่ 1 มิถุนายน เนื่องจากวิศวกรยังคงต้องตรวจสอบปัญหาแก๊สรั่วดังกล่าว จนกระมั่งมีการประเมินว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อการบินและความปลอดภัยของลูกเรือ จึงตัดสินใจปล่อย อย่างไรก็ดีในวันที่ 1 นั้น เมื่อนาฬิกานับถอยหลังมาได้ถึงเพียงแค่ 4 นาทีก่อนการปล่อย ระบบคอมพิวเตอร์ของฐานปล่อย ก็สั่งยกเลิกการปล่อยอัตโนมัติ ภายหลังตรวจสอบพบว่าเกิดจากความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ภาคพื้นที่ควบคุมการเติมเชื้อเพลิงในจรวดท่อนที่ 2 ทำให้วิศวกรฝั่ง United Launch Alliance หรือ ULA ผู้ดูแลจรวด Atlas V และ Centaur ต้องใช้เวลาซ่อมแซม และได้กลับมาปล่อยในวันที่ 5 มิถุนายน และได้เวลาปล่อยอยู่ที่ สิบโมงห้าสิบสองนาที
การทดสอบยาน Starliner นั้น ใช้ Launch Window หรือห้วงเวลาปล่อยในลักษณะ “Simultaneous Launch Window” ซึ่งจะมีการกำหนดเวลาบินขึ้นที่ชัดเจน ห้ามขาดห้ามเกิน เนื่องจากเป็นเที่ยวบินทดสอบ ที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแม่นยำ จะแตกต่างจาก “Open Launch Window” ที่จะอนุญาตให้ปล่อยในเวลาก็ได้ ตราบใดเท่าที่ยังไม่เกินเวลาที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งอาจอยู่ในหลักนาที หรือชั่วโมงก็ได้
ในวันที่ 5 มิถุนายนนั้น Butch และ Suni เดินทางออกจาก Neil Armstrong Operations and Checkout Facility ใน Kennedy Space Center ในช่วงเช้า ประมาณ 7 โมงเช้า ณ เวลาที่แหลมคะเนอเวอรัล เดินทางมายังฐานปล่อย LC-41 ใน Cape Canaveral Space Force Station ถือว่าเป็นการเดินทางในเส้นทางเดิมรอบที่ 3 สำหรับการปล่อย หลังจากนั้นลูกเรือทั้งสองได้รับความช่วยเหลือจาก Boeing Blue Team ในการเข้าไปนั่งในยาน Starliner
ในการเดินทางครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ CAPCOM หรือ Capsule Commumication ที่คอยติดต่อสื่อสารระหว่างทีมภาคพื้นดินกับลูกเรือ รับบทโดยนักบินอวกาศ Joshua Kutryk แห่ง Canadian Space Agency ซึ่ง Kutryk นั้นก็สื่อสารกับ Butch และ Suni ตลอดการบินขึ้นและการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานชาติ
Starliner คือยานอวกาศลำที่สองของเอกชนที่พามนุษย์เดินทางสู่อวกาศ
สถิติและตัวเลขที่น่าสนใจในเที่ยวบิน Crew Flight Test นี้ก็คือ Starliner ได้กลายเป็นยานอวกาศลำที่สองจากบริษัทเอกชนก็คือ Boeing ที่สามารถพามนุษย์เดินทางสู่อวกาศได้สำเร็จ หลังจากที่ในปี 2020 SpaceX ได้สร้างประวัติศาสตร์ พานักบินอวกาศอเมริกันกลับสู่อวกาศสำเร็จในรอบเกือบสิบปี ในเที่ยวบิน Crew Dragon Demo-2 (อ่าน – ความสำเร็จของ SpaceX Dragon Demo-2 เปิดทางสู่ยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศอย่างไร และ สรุปทุกข้อมูล Crew Dragon Demo 2 เที่ยวประวัติศาสตร์ ที่พาอเมริกันกลับสู่อวกาศ) ซึ่งแม้ Timeline การพัฒนาของ SpaceX และ Boeing ในช่วงหลัง จะอยู่ห่างกันถึง 5 ปี แต่ก็สบายใจได้แล้วว่า Boeing ไล่ตามเพื่อน (และคู่แข่ง) ทันซักที
ในขณะที่ ULA ก็นับว่าเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นการปล่อยจรวดตระกูล Atlas ครั้งที่ 100 พอดี แถมยังเป็นเที่ยวบินแรกของ Atlas V ที่มีมนุษย์เดินทางไปด้วย จรวดตระกูล Atlas นั้น ได้ฝากผลงานการส่งยานอวกาศเดินทางไปทั่วระบบสุริยะ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำส่ง Payload ที่มีคุณค่าที่สุด นั่นคือชีวิตของนักบินอวกาศนั่นเอง
ในขณะที่ในแง่ของประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ นี่ก็นับว่าเป็นครั้งที่ 6 ที่มนุษย์เดินทางไปกับยานอวกาศรุ่นใหม่ จากโครงการ Mercury, Gemini, Apollo, Space Shuttle และยาน Dragon มาถึงตอนนี้ก็คือ Starliner นั่นเอง
การเดินทางรอบนี้ ถือว่าเป็นบททดสอบสำคัญของ Boeing ในการได้มาซึ่ง Human-Rated Certification หรือการยืนยันว่ายาน Starliner จะปลอดภัยพอสำหรับการนำส่งลูกเรือไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งหากได้มาแล้ว Boeing จะสามารถรับงาน NASA ในโครงการ Commercial Crew พานักบินอวกาศเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติได้ในเที่ยวบินตั้งแต่ Starliner-1 เป็นต้นไป
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co