ความสำเร็จของโครงการ Shenzhou 12 ของจีน กับการกลับสู่อวกาศครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปีของจีน และการสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ทั่วโลกต้องจับตามอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา เราเห็นความเอาจริงด้านอวกาศของจีนรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ ตั้งแต่การลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ ไปจนถึงการเดินทางไปเป็นชาติที่ 2 ที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ แต่ในมุมของ Humanned Spaceflight ของจีนนั้น ก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 14 ตุลาคม 2021 จีนประกาศโครงการอวกาศสำคัญอีกหนึ่งโครงการก็คือเที่ยวบิน Shenzhou 13 หลังจากที่ลูกเรือภารกิจ Shenzhou 12 เดินทางกลับโลกในวันที่ 17 กันยายน โดยรวมระยะเวลาในการอยู่ในอวกาศทั้งสิ้น 92 วัน
ที่น่าสนใจมาก ๆ ก้คือ Shenzhou 13 นั้น เป็นเหมือนกับของจริงจัดเต็ม หลังจากที่ Shenzhou 12 เป็นเหมือนภารกิจโชว์ของเป็นตัวอย่างถึงศักยภาพในการทำงานอวกาศในทศวรรษที่ 2020s ของจีน แน่นอนว่าภารกิจหลัก ๆ ยังคงเป็นการก่อสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่อย่าง Tiangong ซึ่งจะเป็นฐานสู่การเดินทางระหว่างดาวของจีนในอนาคต
Shenzhou 13 นี้จีนใส่มิติของการเมือง สังคมและวัฒนธรรมเข้าไปค่อนข้างเยอะ เริ่มต้นตั้งแต่การเปิดตัวนักบินอวกาศ 3 คนที่จะเดินทางไปกับภารกิจนี้ ได้แก่ Zhai Zhigang, Wang Yaping และ Ye Guangfu โดยเฉพาะ Wang Yaping นั้น นับว่าจะเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีนที่จะได้ทำ EVA หรือการออกไปนอกยานอวกาศ (Spacewalk นั่นเอง) นอกจากนั้น Yaping เอง เธอก็ยังจะทำการส่งเสริม Space Education ด้วยการทำการเรียนการสอนจากอวกาศเพื่อกระตุ้นความสงสัยและสร้างแรงบันดาลใจในการสำรวจอวกาศให้กับเยาวชนจีน
Wang Yaping นั้นเคยขึ้นสู่อวกาศแล้วในภารกิจ Shenzhou 10 เมื่อเดือน มิถุนายน 2013 และเธอก็เป็นนักบินอวกาศหญิงคนที่สองของจีน ต่อจาก Liu Yang (ซึ่ง Yang เคยเดินทางมาประเทศไทยด้วยในปี 2017) และเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกที่ปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศจีน
Shenzhou 13 นั้นจะพาเอานักบินอวกาศทั้งสามอยู่บนสถานีอวกาศ Tiangong เป็นเวลานาน 6 เดือน และมีแผนจะกลับมายังโลกในเดือนเมษายนปี 2022
ในระหว่างที่ภารกิจ Shenzhou 13 ดำเนินไปนั้น แน่นอนว่าสถานีอวกาศ Tiangong ของจีนก็จะอยู่ระหว่างก่อสร้างด้วยเช่นกัน เหตุการณ์สำคัญๆ ในระหว่างภารกิจก็เช่น การเตรียมความพร้อมระบบการทำงานกลางของตัวสถานีเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเชื่อมต่อของโมดูลใหม่ที่จะถูกส่งขึ้นไปในกลางปี 2022 คือโมดูล Wentian โมดูลหลักสำหรับการทำการทดลองวิทยาศาสตร์ (ปัจจุบัน Tiangong ยังมีแค่ Core Module ที่ชื่อ Tianhe) และการเชื่อมต่อกับยานส่งเสบียงของจีน ที่จะต้องส่งเสบียงให้นักบินอวกาศทั้งสาม
ภารกิจ Shenzhou 13 นั้นมีแผนเดินทางสู่อวกาศในวันที่ 15 ตุลาคม 2021 เวลาประมาณห้าทุ่มของประเทศไทย โดยจรวด Long March 2F ขึ้นจากฐานปล่อยจรวด Jiuquan ซึ่งเป็นฐานเดียวกับที่ใช้ในการปล่อยภารกิจ Shenzhou 12
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co