ณ วันที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น ทีมงาน NASA กำลังวางแผนในการพานักบินอวกาศในภารกิจเที่ยวบินทดสอบ Crew Flight Test ของยานอวกาศ Boeing Starliner เดินทางกลับโลกในภารกิจ Crew-9 พร้อมยาน Dragon ซึ่งทำให้นักบินทั้งสองได้แก่ Butch Wilmore และ Suni Williams จะต้องอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลากว่า 8 เดือนเลยทีเดียว และแผนดังกล่าวก็จำเป็นจะต้องลดจำนวนของลูกเรือในภารกิจ Crew-9 จาก 4 คนเป็น 2 คน เพื่อให้ในขากลับสามารถรับ Butch และ Suni กลับลงมาด้วยได้ ซึ่งกรณีนี้ ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่หากจะมีการส่งยานอวกาศเปล่า ขึ้นไปรับทั้งคู่โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยภารกิจอวกาศเดิมที่มีอยู่แล้ว แม้ NASA จะยังไม่ได้มีการประกาศใด ๆ ต่อกรณีดังกล่าว และหาก NASA ตัดสินใจให้ Butch และ Suni ต้องกลับกับยาน Dragon จริง ๆ ก็คงจะเป็นการกลับกับ Crew-9 อยู่ดี
NASA วางแผน พาลูกเรือ Starliner กลับโลกด้วยยาน Dragon
อย่างไรก็ดี เราอยากชวนทุกคนมาพูดถึง “ภารกิจกู้ภัย” กลางอวกาศ ที่จำเป็นต้องมีการส่งยานอวกาศเปล่า ขึ้นไปทดแทนยานอวกาศลำที่เสียหายไป ซึ่งพอพูดแบบนี้เราอาจจะนึกย้อนกลับไปไกล แต่จริง ๆ แล้ว เหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นไปในปี 2022-2023 ที่ผ่านมานั่นเอง นั่นคือกรณีที่ยานอวกาศ Soyuz MS-22 ดันเกิดการรั่วไหลของระบบรักษาอุณหภูมิ จากการถูกปะทะโดยสะเก็ดหินขนาดเล็กในอวกาศ สร้างรอยโหว่เพียงแค่ 0.8 มิลิเมตร จนทำให้นักบินอวกาศที่เดินทางขึ้นไปกับภารกิจดังกล่าว ได้แก่ Sergey Prokopyev, Dmitry Petelin และ Francisco Rubio ต้องติดอยู่บนสถานีอวกาศนานกว่า 370 วัน จนได้กลับลงมาอีกทีเมื่อมีการส่งยาน Soyuz MS-23 เป็นยานเปล่า ขึ้นไปรับทั้งสามกลับลงมา เป็นภารกิจการสำรวจอวกาศที่ยาวนานที่สุดในโลกยุคใหม่ก็ว่าได้
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในภารกิจ Soyuz 32 ปี 1979 ที่เครื่องยนต์เสียหาย จนไม่สามารถพานักบินอวกาศ Vladimir Lyakhov และ Valery Ryumin กลับจากสถานีอวกาศ Salyut 6 ได้ และต้องมีการส่งยานเปล่า Soyuz 34 ขึ้นไปรับ ทำให้ตอนนั้นทั้งคู่ได้สร้างสถิติใหม่การอยู่ในอวกาศยาวนาน 175 วัน
ในกรณีของ Soyuz MS-22 นั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งลูกเรือกลุ่ม Expedition 67/68 ได้แก่ Sergey Prokopyev, Dmitry Petelin จาก Roscosmos และ Francisco Rubio จากโครงการแลกเปลี่ยนนักบินอวกาศกับ NASA ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติตามปกติ โดย Soyuz MS-22 ได้บินขึ้นจากฐานปล่อยที่ Baikonur ในวันที่ 21 กันยายน 2022 ตามปกติ ก่อนที่จะเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติในเวลาเดียวกัน ในโมดูล Rassvet ในทิศหันลงมายังโลก (Nadir)
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการผลัดเปลี่ยนลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติได้ในบทความ สถานีอวกาศนานาชาติ มีขั้นตอนการผลัดเปลี่ยนลูกเรืออย่างไร รู้จัก Direct และ Indirect Handover
ในวันที่ 15 ธันวาคม 2022 นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ ได้พบว่ามีสสารบางอย่างรั่วไหลออกจากยานอวกาศ Soyuz MS-22 ภายหลังพบว่าออกมาจากระบบรักษาอุณหภูมิ (Radiator) ของยาน โดย NASA และ Roscosmos ได้ตั้งทีมทำงานเพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นและได้พบว่า ชิ้นส่วนสะเก็ดหินขนาดเล็กในอวกาศ ได้ปะทะเข้ากับบริเวณ Service Module ของยาน จนสร้างรอยรั่วเพียงแค่ 0.8 มิลิเมตร หลังจากนั้นได้มีการใช้แขนกลนำกล้องไปส่องเพื่อตรวจสอบและประเมินความเสียหาย
จนกระทั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ก็ได้มีข้อสรุปว่า ยานอวกาศ Soyuz MS-22 นั้นเกิดความเสียหายและเสี่ยงในการนำเอานักบินอวกาศกลับโลก ซึ่งเดิมทีลูกเรือทั้งสามจะต้องเดินทางกลับโลกในช่วงเดือนมีนาคม และส่งไม้ต่อให้ Oleg Kononenko, Nikolai Chub และ Loral O’Hara ขึ้นมาเป็นลูกเรือกลุ่ม Expedition 68/69 แต่สุดท้าย Roscosmos ก็ตัดสินใจให้ภารกิจ Soyuz MS-23 เป็นการบินยานเปล่าขึ้นมาแทน และเลื่อนเอาลูกเรือทั้งสามที่จะเดินทางในภารกิจ Soyuz MS-23 ไปบินกับ Soyuz MS-24 แทน (เรียกได้ว่าเลื่อนภารกิจไปครึ่งปีเลยทีเดียว)
Soyuz MS-23 บินขึ้นจาก Baikonur ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2023 และเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2023 (เพราะพอไม่มีนักบินเดินทางมาด้วยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ Fast Track) และเชื่อมต่อเข้ากับโมดูล Poisk ในทิศหันขึ้นฟ้า (Zenith)
28 มีนาคม 2024 ยานอวกาศ Soyuz MS-22 ที่เกิดปัญหา ก็ได้ถอนตัวออกจาก Rassvet และลงจอดตามแผนเดิมตามปกติทุกประการด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งหลังจากการลงจอด ณ ทุ่งหญ้าในคาซักสถาน Roscosmos ก็ได้ เก็บกู้แคปซูลส่วนกลับโลกของ Soyuz MS-22 เพื่อไปศึกษา แต่อย่างไรก็ตามส่วนที่เกิดความเสียหายนั้นเป็นส่วนของ Service Module ซึ่งถูกแยกตัวออกและเผาไหม้ในบรรยากาศโลกไปก่อนที่ส่วน Capsule สำหรับคนนั่งจะเดินทางกลับโลก ทำให้น่าเสียดายที่เราไม่ได้ศึกษารูที่เกิดจากการปะทะดังกล่าว
สาเหตุที่ ยังไม่มีการปลดเอา Soyuz MS-22 ที่เกิดปัญหาออกทันที แม้จะรู้แล้วว่าลูกเรือจะไม่ได้เดินทางกลับกับยานลำนี้แน่ ๆ ก็เพราะว่าทั้ง NASA และ Roscosmos เอง มีมาตรการในการรับเหตุฉุกเฉินก็คือนักบินอวกาศทุกคนจะต้องมียานประจำเป็น Lifeboat ของตัวเอง ในกรณีที่สถานีเกิดความเสียหาย หรือต้องกลับโลกฉุกเฉิน เรียกว่า Safe Haven Protocol
ซึ่ง Soyuz MS-22 ก็ยังคงต้องทำหน้าที่เป็น Lifeboat ให้กับ Prokopyev, Petelin และ Rubio อยู่นั่นเอง และ Soyuz MS-23 ก็เข้ามารับหน้าที่เป็น Lifeboat แทนที่ Soyuz MS-22 หากมีการส่งลูกเรือมากับ Soyuz MS-23 ก็จะทำให้จำนวนนักบินบนสถานี “เกิน” กว่าจำนวนยาน Lifeboat ที่มี
ในกรณีของปัญหายาน Starliner ที่เกิดขึ้นกับ Butch และ Suni ก็เป็นแบบนี้เช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไม NASA ถึงได้ตัดสินใจให้มีการส่งลูกเรือ 2 คนขึ้นไปแทน เพราะจริง ๆ จะส่งไป 4 คนแบบปกติ แล้วให้ Dragon ลำดังกล่าวรับ Butch กับ Suni ลงมาก็ได้ แต่มันจะทำให้จำนวน Lifeboat ไม่ตรงตามมาตรการความปลอดภัย และแม้ว่า Starliner จะมีปัญหา แต่ Starliner ก็ยังคงทำหน้าที่เป็น Lifeboat ให้กับ Butch และ Suni อยู่ดี เหมือนกรณีวันที่ 28 มิถุนายน 2024 ที่ลูกเรือในสถานีฯ ต้องเข้าไปหลบในยาน เมื่อมีรายงานขยะอวกาศจากเศษซากดาวเทียมเก่าของรัสเซีย อยู่ในวงโคจรที่อาจเป็นอันตราย ทั้ง Butch และ Suni ก็ได้เข้าไปหลบในยาน Starliner ตามมาตรการเดิม
ย้อนกลับมาที่สถานีอวกาศนานาชาติในตอนนั้น หลังจากที่มีการส่งยาน Soyuz MS-23 ขึ้นมา Prokopyev, Petelin และ Rubio ก็ต้องส่งไม้ต่อให้กับตัวเอง (ฮา) กลายเป็นลูกเรือกลุ่ม Expedition 67/68/69 ไปโดยปริยาย (แต่ก็ยังไม่ทำลายสถิติเลข Expedition ของ Scott Kelly และ Mikhail Kornienko ที่กินไป 4 เลข ได้แก่ Expedition 43/44/45/46)
และหลังจากที่ Expedition 69 จบ ในเดือนกันยายน 2023 ลูกเรือทั้งสาม ก็ได้กลับโลกในวันที่ 27 กันยายน 2023 และได้ลงจอด ณ ทุ่งหญ้าในคาซักสถาน ปิดฉากภารกิจการอยู่บนอวกาศอย่างยาวนาน 370 วัน 21 ชั่วโมง 23 นาที
ทีนี้มาถึงข้อสรุปที่ว่าเหตุการณ์นี้แสดงให้เราเห็นอะไรบ้าง อย่างแรกและที่ชัดเจนที่สุดก็คือ นักบินอวกาศทุกคนจะต้องมียานสำรองฉุกเฉินของตัวเอง ตาม Safe Haven Protocol ดังนั้นจะไม่มีใครที่ “ติด” อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือกลับบ้านไม่ได้เพราะไม่มียานอวกาศ
อย่างที่สองก็คือจากกรณีดังกล่าวทำให้ NASA มีการเปิดแผนการศึกษา การใช้ยานอวกาศ Dragon ซึ่งเป็นยานอวกาศส่งมนุษย์ลำเดียวที่ NASA มีในตอนนี้เป็นยานสำรองฉุกเฉินอีกชั้น ให้เกิดความยืดหยุ่นในการพานักบินอวกาศของ NASA กลับโลก หากยาน Soyuz เกิดปัญหาขึ้นอีก (NASA และ Roscosmos มีแผนการแลกเปลี่ยนนักบินกัน) ซึ่งหลังจาก Frank Rubio ลูกเรือฝั่ง NASA ได้แก่ Loral O’Hara และ Tracy Caldwell-Dyson ก็ได้เดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยยาน Soyus MS-24 และ 25 ตามลำดับ ไม่ได้มีการล้มเลิกโครงการแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า NASA ยังคงเชื่อใจในมาตรการของ Roscosmos ต่อความปลอดภัยของนักบินอวกาศอยู่
กรณีศึกษาความยืนหยุ่นในการปรับแก้เที่ยวบินฉุกเฉินนั้นถูกเปิดเผยมาในปี 2024 วันที่ 8 สิงหาคม 2024 ในช่วงเดียวกับปัญหา Starliner ว่า SpaceX ได้รับคำสั่งจาก NASA ให้ศึกษาและวางแผนในการพานักบินอวกาศฝั่ง NASA (ปัจจุบันคือ Tracy Caldwell-Dyson) กลับโลก หากไม่ได้กลับกับ Soyuz MS-25 แต่ก็เป็นการศึกษาเฉย ๆ เพื่อวางแผนในอนาคต ปัจจุบันยังไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้ต้องมีการสลับที่นั่งแต่อย่างใด
ในยุคกระสวยอวกาศเอง ก็มีแผนในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน อ่านได้ใน STS-400 ภารกิจกู้ภัยกลางอวกาศ (ที่ไม่เกิดขึ้นจริง)
สุดท้าย Soyuz MS-23 ก็แสดงให้เราเห็นถึงการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินและการรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นบนอวกาศ ดังนั้น มองไปที่ Starliner ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Starliner นั้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่ “อยู่นอกเหนือจากความคาดหมาย” ขนาดนั้น ไม่ใช่บอกว่า Boeing ทำยานดีหรือไม่ดีอย่างไร นั่นไม่ใช่ประเด็นที่เราจะบอก แต่ประเด็นที่เราจะบอกก็คือภารกิจ “กู้ภัย” ในอวกาศ และ Safe Haven Protocol การมี Lifeboat ยิ่งช่วยทำให้เรามั่นได้ใจว่า ในการสำรวจอวกาศยุคใหม่ ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกจริง ๆ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co