เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา มีการประกาศความร่วมมือระหว่าง NASA, ESA (European Space Agency) และ JAXA (Japanese Aerospace Exploration Agency) ในการจัด International Space Apps Challenge ครั้งพิเศษขึ้นเพื่อใช้ open data โลกและอวกาศมาใช้ในการพัฒนาวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19
Hackathon คืออะไร?
Hackathon มาจากคำว่า Hack + Marathon คือคำเรียกรวม ๆ ของงานอีเวนต์ที่จัดขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างอะไรบางอย่างขึ้นในเวลาที่จำกัด (ปกติที่เห็นกันจะเป็นประมาณ 24-48 ชั่วโมง) ซึ่งมักจะใช้กันในวงการเทคโนโลยีซะเป็นส่วนใหญ่ งาน Hackathon อาจจะมีธีมงานหรือข้อจำกัดที่แตกต่างกัน อย่างเช่นอาจจะเป็นเพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง หรือมีข้อกำหนดให้ใช้โปรแกรมที่กำหนดมาใช้ในการพัฒนาผลงาน
International Space Apps Challenge
International Space Apps Challenge หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Space Apps เป็นงาน Hackathon ที่จัดขึ้นโดย NASA’s Global Organizing Team เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ครั้งแรกในเดือนเมษายนปี 2012 โดยเชิญชวนเหล่าภาคเอกชนที่ทำงานในสายงานต่าง ๆ อย่างนักพัฒนาโปรแกรม, นักวิทยาศาสตร์, ดีไซเนอร์, นักประดิษฐ์ ฯลฯ จากทั่วโลกให้มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อที่ต่างกันไปทุกปี (ที่เกี่ยวข้องกับโลกและอวกาศ)
ตัวอย่างผลงาน: SongSat
SongSat เป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันในปี 2018 จาก challenge ชื่อ Artify the Earth (นำข้อมูลภาพโลกของ NASA ไปใช้สร้างงานศิลปะ/เครื่องมือที่นำภาพไปใช้ในการสร้างงานศิลปะ) โดยทีมนี้ ได้นำ geological data ไปสร้าง algorithm ในการแต่งเพลง – ที่มา SpaceApps
ด้วยความเป็น Global Hackathon ทำให้งานนี้จะมีสถานที่จัดงานจะกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วโลก จาก 25 แห่งในปี 2012 เป็น 225 แห่งจาก 71 ประเทศทั่วโลกในปี 2019 อ้างอิงจากเว็บไซต์ official ของการแข่งขัน นับจากการเริ่มจัดครั้งแรก งานได้ขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นงาน Hackathon ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยการแข่งขันประจำปีนี้ (2020) จะจัดขึ้นในวันที่ 2-4 ตุลาคม 2020
อีเวนต์พิเศษ: Space Apps COVID-19 Challenge
จาก Press Release 20-049 ของ NASA เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา NASA ได้ร่วมมือกับ ESA ซึ่งเป็น Space Agency ของยุโรปและ JAXA ของญี่ปุ่นในการจัด Space Apps ครั้งพิเศษขึ้นโดยโฟกัสไปที่การใช้ open data ที่ space agency ทั้ง 3 provide ให้ในการหาวิธีแก้ปัญหา COVID-19 ในด้านต่าง ๆ
การที่มี Space Agencies ทั้ง 2 เจ้ามาช่วยจัดด้วย ทำให้จำนวนข้อมูลที่ผู้เข้าแข่งขันสามารถนำมาใช้ได้มีจำนวนมากขึ้นและหลากหลายขึ้น โดยทาง ESA จะสนับสนุนข้อมูลจากภารกิจ Sentinel (Sentinel-1, Sentinel-2 and Sentinel-5P) ภายใต้โครงการ European Copernicus ร่วมกับข้อมูลจาก Third-Party ต่าง ๆ และทาง JAXA จะให้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจ ALOS-2, GOSAT, GOSAT-2, GCOM-C, GCOM-W และ GPM/DPR
การแข่งขันครั้งนี้จะเปลี่ยนเป็นการแข่งขันแบบออนไลน์แทน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 30-31 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ผู้ที่เข้าแข่งขันสามารถสนทนากับทีมอื่นหรือหาทีมเมทได้ผ่าน online chat room ที่จะมีเตรียมไว้ให้
โดยทั่วไปแล้ว Space Agency ต่าง ๆ ก็จะออกโครงการ Social Contribution มาหลากหลายรูปแบบตามความถนัดของตัวเอง ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าในเวลาวิกฤตแบบนี้ หน่วยงานเหล่านี้ก็สามารถพลิกแพลงตัวเองและใช้คุณค่าของตัวเองสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อยู่เช่นกัน ผมมองว่านับเป็นความรับผิดชอบที่ดีในฐานะของหน่วยงานรัฐที่จะใช้เงินภาษีอันมีคุณค่าของประชาชนให้เกิดประโยชน์คืนกับมาต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด