พิพิธภัณฑ์อวกาศ ทีมงาน SPACETH.CO ได้รับเกียรติจาก GISTDA ให้ไปเยี่ยมชม Space Inspirium พิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่องอวกาศแห่งแรกในไทย ที่ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี สถานที่เดียวกับสถานีดาวเทียม THEOS ดาวเทียมสำรวจโลกสัญชาติไทย ซึ่งเดินทางไปง่ายมาก ๆ นั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปเพียงแค่ราว ๆ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เหมาะสำหรับการไปเที่ยวแบบเช้าเย็นกลับ Google Maps หรือเป็นที่แวะทางผ่านในการไปเที่ยวภาคตะวันออกได้
Space Inspirium นั้นทาง GISTDA สร้างชึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และรวมบรวมเรื่องราวสนุก ๆ เกี่ยวกับอวกาศ และการสำรวจอวกาศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนหรือผู้สนใจ เด็ก ๆ ที่ได้มาชมก็จะตื่นเต้น ส่วนผู้ที่สนใจอยู่แล้วนั้นแทบไม่ต้องห่วงอะไรเลย เพราะเราจะได้เจอกับของเล่นเจ๋ง ๆ มากมาย เกี่ยวกับอวกาศที่หาที่ไหนไม่ได้ ตั้งแต่แบบจำลองยานอวกาศต่าง ๆ จรวดรุ่นต่าง ๆ และเครื่องเล่นสมจริงอย่าง VR ก็มีมาให้เล่นใน Space Inspirium นี้ด้วย
วันนี้ทีมงาน SPACETH.CO จะพาทุกคนมาดู 10 ไอเทมที่คนชอบอวกาศควรไปชาบู ณ Space Inspirium แห่งนี้ รวมถึงพาชมบรรยากาศการเที่ยวในฉบับแฟนพันธุ์แท้อวกาศ โดยทีมที่เราไปนั้นประกอบไปด้วยทีม 3 คน คือ เติ้ล (Nutn0n) บล็อกเกอร์สายอวกาศ, กร แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ และ อิ๊ง นักเขียนผู้ชื่นชอบด้านอวกาศ
Falcon 9 ลำใหญ่ แม้ใหญ่ไม่เท่าของจริง แต่ใหญ่มาก
สิ่งแรกที่เราเห็นตั้งแต่เดินเข้าไปในบริเวณของ Space Inspirium ก็คือ Falcon 9 จำลองสูงกว่า 15 เมตร (แต่ขนาดจริง 70 เมตร) พอได้เห็นแบบจำลองนี้ก็รู้สึกเลยว่า Falcon 9 ของจริงนั้นจะใหญ่แค่ไหน แล้วการที่จรวดลำนี้บินมาลงจอดที่ฐานได้เองเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ๆ ซึ่งแบบจำลองนี้ถือว่าสมจริงทีเดียว มีตั้งแต่ลายลำตัว, ขาตั้ง, เครื่องยนต์ Merlin Engine 9 ตัว และรายละเอียดต่าง ๆ ที่ช่วยให้เราเห็นภาพ Falcon 9 ของจริง มากขึ่น (แต่ของจริงจะใหญ่กว่านี้ 4-5 เท่า)
นับว่าไอเทมชิ้นแรกที่ควรไปดูก็น่าตื่นเต้นแล้ว หลังจากที่เดินชมบริเวณด้านนอกซึ่งเป็นที่ตั้งของจานดาวเทียมของจริงที่ใช้ในการติดต่อกับดาวเทียม THEOS เราก็ได้เดินเข้าไปในบริเวณของ Space Inspirium เพื่อชมว่าด้านในจะมีอะไรรอเราอยู่
รำรึกยูริ กาการิน นักบินอวกาศคนแรก
หลังจากที่เดินเข้ามาด้านใน Space Inspirium เราก็จะเห็นกับเคาเตอร์เจ้าหน้าที่ โดยราคาสำหรับการเข้าชมคนไทยจะอยู่ที่ 50 บาท โดยการเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ นั้นจะรวมอยู่ในนี้แล้ว คุ้มมาก ก็ติดต่อเรื่องบัตรเข้าชมอะไรกันให้เรียบร้อย บริเวณด้านข้างก็จะเป็นร้านคาเฟ่ สามารถมานั่งพักทานกาแฟกันได้ แต่สิ่งที่สะดุดตาของพวกเรามากเลยก็คือ ซุ้มรำลึกยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวโซเวียตคนแรกของโลก
ตรงกลางก็จะพบกับรูปปั้นของยูริ กาการินในชุดอวกาศ ซึ่งก็เป็นความร่วมมือระหว่าง GISTDA กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คุณกาการิน โดยในบริเวณรอบ ก็จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวประวัติ และเรื่องราวการบินของกาการิน เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษารัสเซีย
โดยรูปภาพที่เราเห็นนี้บอกได้เลยว่า เป็นภาพหายากที่ไม่สามารถพบเจอได้ในอินเทอร์เน็ตทั่วไป หรือถ้าเจอก็จะเป็นภาพกาก ๆ ที่ไม่มีความคมชัด แต่ภาพที่เราเห็นที่ Space Inspirium นี้เป็นภาพแบบความละเอียดสูงที่เกิดจากการนำฟีล์มมาแสกนเข้าคอมพิวเตอร์ เพราะคนที่จัดทำคือสถานทูตรัสเซียเอง จึงทำให้ได้ภาพที่เป็น Original และหายากมาก ๆ มาให้เราได้ชมกัน
อุโมงค์กาลเวลา จากบิ๊กแบงสู่ระบบสุริยะ
หลังจากที่ได้กราบคุณกาการิน เสริมมงคลให้กับตัวเองกันแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะมาเดินเข้าอุโมงค์กาลเวลาเพื่อเข้าชม Space Inspirium กันซักที โดยบนผนังก็จะมีการเล่าเรื่องราวของการกำเนิดระบบสุริยะ ยาวไปจนถึงเรื่องราวของระบบสุริยะจักรวาล ชมแบบจำลองของดาวเราะห์ต่าง ๆ ตั้งแต่ดาวเนปจูน ไล่เข้ามาจนถึงดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์แห่งระบบสุริยะ
หลังจากที่เราเดินมาจนสุดปลายอุโมงเราก็จะพบกับห้องโถงขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากที่จักรวาลถือกำเนิดแล้ว ก็มาถึงตาที่มนุษย์เราจะเดินทางสำรวจอวกาศกัน โดยในห้องนี้ก็จะมีการจัดแสดงแบบยานอวกาศต่าง ๆ ตั้งแต่ Sputnik ไปจนถึงดาวเทียม Thaicom 4 และ THEOS
แบบจำลองจรวด Long March 3B ยัน Saturn V
จรวดลำแรกที่เราเห็นเลยก็คือจรวด Long March 3B ของจีน จรวดที่จีนในในการส่งดาวเทียมและยานอวกาศ ซึ่งโมเดลนี้ก็มีความสมจริงมาก สามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ ได้ และแน่นอนว่าคนที่ชอบจรวด ก็พลาดไม่ได้ที่จะมาชาบูจรวดลำนี้เช่นกัน
นอกจาก Long March 4 แล้ว จรวดอีก 1 ลำที่เราตื่นเต้นกันมาก ๆ เมื่อได้เห็นก็ตือ Saturn V จรวดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและยังครองสถิติมาจนถึงปัจจุบัน Saturn V มีบทบาทสำคัญในการส่งคนไปยังดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo โดยจรวด Saturn V นี้ถูกใช้งานครั้งสุดท้ายในช่วงภารกิจ Skylab ของอเมริกา ที่สามารถส่งสถานีอวกาศมวลมหาศาลขึ้นไปบนวงโคจรได้
จะเห็นว่าด้านหลังของ Saturn V นั้นก็จะมีรูปของจรวดรุ่นต่าง แทบจะทุกรุ่นที่เรารู้จักปรากฏอยู่ ตั้งแต่จรวดลำเล็ก ๆ ที่ใช้ในการส่ง CubeSat ไปจนถึงจรวดยักษ์อย่าง Saturn V และ N1 จรวดไปดวงจันทร์ที่ล้มเหลวของสหภาพโซเวียต โดยด้านข้างก็จะมี Facts ต่าง ๆ เกี่ยวกับจรวดให้เราได้อ่านด้วย
และนี่ก็คือภาพของนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าไปกับกร แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ ก็ต้องเล่นเกมกันซักหน่อย เติ้ลก็ทำการชี้ถามเลยว่า กร ๆ คนนี้ชื่ออะไรวะ กรก็ตอบได้แทบจะหมดที่ชี้ ภายหลังมีสูตรลับว่าถ้าอยากรู้ว่าใครเป็น Commander ก็ให้ดูแถบสีแดงที่แขน (อ๋อ) ส่วนใครอยู่ใน Apollo ภารกิจไหนก็ให้ดูโลโก้ที่ปรากฏบนหน้าอกนั่นเอง
Timeline ของการสำรวจอวกาศ
หลังจากที่เราได้เดินชมส่วน Apollo เรียบร้อยแล้วเราก็มาเดินดู Timeline ของการสำรวจอวกาศ ซึ่งก็มีเล่าตั้งแต่สมัยโบราณที่มนุษย์มองท้องฟ้า จนมาถึงตอนที่เราเริ่มต้นเดินทางขึ้นไปหามัน ซึ่งการเล่านี้ค่อนข้างละเอียดมากเลยทีเดียว
และคนคนนี้ก็คือฮีโร่ของเรา เซอร์เกย์ คาราลอฟ บิดาแห่งจรวดรัสเซีย คนนี้เติ้ลเคยเขียนบทความแบบเจาะลึกเล่าไปแล้วในบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์ของจรวด ซึ่งแน่นอนว่าคุณเซอร์เกย์ นี้ก็เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถเดินทางท่องอวกาศได้อย่างอิสระ
หลังจากที่ดู Timeline ของการสำรวจอวกาสแล้ว ณ ปัจจุบันเราอยู่ในยุคของสถานีอวกาศ ซึ่งสถานีอวกาศ ณ ปัจจุบันหลัก ๆ ก็คือ ISS หรือสถานีอวกาศนานาชาติและสถานีอวกาศเทียนกงของจีน ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงที่กำลังตกลงสู่โลก ที่ Space Inspirium ก็มีโมเดลแบบละเอียดของเทียนกง กับยานเฉินโจ่ว ยานอวกาศที่พานักบินอวกาศจีนเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศมาโชว์ด้วย
โดยแบบจำลองนี้ก็จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกภารกิจการ Dock เข้ากับเทียนกงครั้งแรกของยานอวกาศ เฉินโจ่ว 10 นั่นเอง (โชคดีที่กรอ่านภาษาจีนออกเลยแปลได้ แต่ก็มารู้ทีหลังอีกว่ามันมีภาษาอังกฤษอยู่ด้านล่าง อ่าว) โมเดลพวกนี้จัดทำขึ้นมาอย่างจำนวนจำกัด แม้จะหาเจอบน Ebay แต่ก็มีราคาสูงมาก ๆ การที่มี Model มาโชว์ให้เราดูใกล้ ๆ นี้ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีชุดอวกาศจำลอง ที่ดูแล้วก็เหมือนจริงมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะในรายละเอียดของหมวก ซึ่งชุดนี้เป็นชัดที่นักบินอวกาศใช้ในการทำ EVA หรือการออกไปนอกยานหรือสถานีอวกาศนั่นเอง
โลกของดาวเทียม
แน่นอนว่ามาถึง GISTDA จะพลาดเรื่องดาวเทียมไม่ได้ GISTDA เป็นเจ้าของโครงการดาวเทียมสำรวจโลกสัญชาติไทยอย่าง THEOS ดังนั้นที่นี่จะไม่ใช่ GISTDA ถ้าไม่มีดาวเทียม THEOS จำลองอัตราส่วนเท่าของจริง วัสดุใกล้เคียงของจริงมาให้เราชมกัน
ซึ่งดาวเทียม THEOS นี้ถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา ก็นับว่าเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ปัจจุยันก็มีโครงการ THEOS 2 ทีกำลังดำเนินการกันอยู่และจะทีอัพเดทที่น่าตื่นเต้นมาให้เราฟังกันเร็ว ๆ นี้ (รอชมจาก SPACETH.CO ก็ได้ เพราะตอนนี้เราค่อนข้างใกล้ชิดกับ GISTDA พอสมควร) กลับมาดู THEOS 1 อัตราส่วนเท่าจริงกันก่อน
ก็อยากให้ลองเทียนขนาดของดาวเทียม THEOS กับตัวคนดู จะพบว่า THEOS นั้นมีขนาดใหญ่มาก แต่ใหญ่ขนาดนี้ THEOS ก็เป็นเพียงดาวเทียมขนาดกลางเท่านั้น พอรู้เช่นนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามนุษย์เก่งมากที่นำของหนักเป็นตัน ๆ ไปโคจรรอบโลกแล้วทำการกิจต่าง ๆให้เราได้
นอกจากดาวเทียม THEOS ขนาดเท่าจริงแล้ว ยังมีแบบจำลองของ THEOS ในห้อง Clean Room ซึ่งเป็นห้องที่ใช้ในการประกอบดาวเทียม โดย THEOS นี้ผลิตโดยบริษัท Astrium ประเทศฝรั่งเศส
โมเดลนี้ก็เป็นโมเดลพิเศษที่มีอยุ่ไม่กี่ชิ้น เป็นการแสดงดาวเทียม THEOS กำลังถูกยกโดยเครื่องยกบนเพดาน ซึ่งบอกได้เลยว่าที่ GISTDA ศรีราชานี้ก็กำลังก่อสร้างห้องสำหรับประกอบดาวเทียมอยู่ด้วย หลังสร้างเสร็จเราจะมีโอกาสที่จะสามารถสร้างดาวเทียมขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ได้เองในประเทศ
นอกจาก THEOS แล้วเราก็จะพบแบบจำลองของดาวเทียมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นดาวเทียมสำรวจโลก (ก็เพราะเป็น GISTDA นี่หน่า) ซึ่งเราก็สะดุดตากับโมเดลของดาวเทียม WorldView ดาวเทียม WorldView เป็นดาวเทียมถ่ายภาพโลกความละเอียดสูง ที่ใช้ในการถ่ายรูปโลกของบริษัท Digital Globe ที่มีดาวเทียม 2 ชุดได้แก่ WorldView และ Geoeye
เช่นนี้แล้วก็ต้องทำการชาบู เพื่อความเป็นสิริมลคล เผื่อว่าซักวันจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการประกอบและผลิตดาวเทียมจริง ๆ ซึ่งก็หวังว่าผู้อ่านของเราจะติดตามจนถึงวันนั้น แล้วเราสัญญาว่าเราจะพยายามอย่างที่สุดเพื่อที่จะเอาเรื่องอวกาศมาเล่าให้ทุกคนฟังในฉบับที่เข้าใจง่ายและไม่น่าเบื่อ
มาลองเล่นใช้ชีวิตในอวกาศผ่าน VR กัน
หลายคนอาจจะบอกว่า เบื่อแล้ว มีแต่ของให้ดูอย่างเดียวเลย อย่าเพิ่งเบื่อไป เพราะว่าที่ Space Inspirium นั้นมีของเล่นให้เราได้ลองสัมผัสประสบการณ์อวกาศกับตัวเองจริง ๆ เยอะแยะ มากมายจนเล่นแล้วเล่นอีกก็ไม่เบื่อ ซึ่งทีมงาน SPACETH.CO โชคดีมาก ที่ทาง Space Inspirium เปิดโอกาสให้ได้ลองเล่นทุกอย่างเลย
เริ่มต้นจาก Mars Walk ซึ่งเป็นการจำลองการเดินบนดาวอังคารโดยเราจะส่วมแว่น VR แล้วสวมอุปกรณ์เป้หลังของนักบินอวกาศ โดยจะมีสลิงที่คอยดึงคัวเราไว้เพื่อลดแรงโน้มถ่วงให้เหมือบกับเรากำลังเดินบนแรงโน้มถ่วงที่น้อยกว่าโลกของดาวอังคาร
นอกจากนี้ยังมีเครื่องเล่นอีกตัวคือ VR Sphere ซึ่งจะจำลองการขับยานเที่ยวในโลกอนาคต โดยเราจะเข้าไปนั่งในลูกบอลกลม ๆ แล้วสวมแว่น VR จะมีจอย 2 อันให้เราถือ จากนั้นเราก็จะถูกพาเข้าไปอยู่ในโลกอนาคต โดยคอนเซปของเกมนี้ก็คือเราจะได้ไปสำรวจโลกอนาคตของประเทศไทย มีสนามบิน มีรถไฟความเร็วสูง มีท่าเรือน้ำลึกต่าง ๆ
ความเจ๋งของอันนี้จะอยู่ตรงที่เก้าอี้นี้จะขยับซ้ายขวาและก้มเงยได้ทำให้เรารู้สึกสมจริงมากขึ้น จะมีช่วงนึงที่เราไปสำรวจสนามบินแล้วเราจะหล่นลงมาจากท้องฟ้า ตอนนั้นบอกได้เลยว่าเสียวมาก ใครที่กลัวความสูงอาจจะต้องไม่กดไปด่านนั้น โดยเราจะมีเวลาให้เดินสำรวจตามใจก่อนจะหมดเวลา ซึ่งก็นับว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่และน่าเล่นดี
โมดูล ISS พร้อมส้วมอวกาศ
ต้องบอกก่อนว่าใน Space Inspirium จะมีส่วนจัดแสดงอื่น ๆ อีกที่อาจจะไม่เกี่ยวกับอวกาศโดยตรงแต่เป็นผลพวกจากเทคโนโลยีอวกาศ เช่นการจัดการ Geoinformatics หรือ ภูมิสารสนเทศ ซึ่งก็ต้องลองเดิน ๆ ดูกัน แต่ทีมงานก็ได้ลองออกมาดูด้านนอกตัว Inspirium ดู ก็จะพบว่ามี Module ตัวนึงของ ISS อยู่ พอลองเขาไปก็จะพบว่าเป็นการจำลองโมดูลด้านในของสถานีอวกาศนานาชาติอยู่
ในโมดูลก็จะมีการจำลอง “ห้องน้ำอวกาศ” ด้วย ซึ่งทำออกมาค่อนข้างเหมือนจริงเลยทีเดียว สำหรับตัวส้วมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ครบถ้วนตั้งแต่ตัวโถ และตัวท่อ (อ่านเรื่องราวอันแสนยากลำบากของการขับถ่ายในอวกาศได้ที่บทความ การขี้ในอวกาศ)
นอกจากตัว Space Inspirium แล้วบริเวณด้านข้างยังมีร้านอาหารชื่อ Cosmo Cafe ซึ่งหลังจากเยี่ยมชมแล้วสามารถไปทานอาหารได้หรือซื้อกาแฟทานได้
เคล็ดลับในการชม
Space Inspirium นั้นเป็นพิพิธภัณฑ์อวกาศที่น่าสนใจเลยทีเดียว เหมาะสำหรับคนที่สนใจหรือชื่นชอบด้านอวกาศ จริง ๆ แล้วการชม พิพิธภัณฑ์นั้น เราควรจะมีความ Active พอสมควร เพราะในทุกเรื่องราวมันมีความน่าสนใจของมันอยู่ ให้สิ่งของในพิพิธภัณฑ์ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเปิดใจเรียนรู้หรือเตือนเราให้นึกถึงเรื่องเหล่านี้ แล้วเราจะรู้สึกว่ามันไม่น่าเบื่อ ซึ่งปกติแล้วอาการแบบนี้เราจะพบเห็นได้ในเด็กคือมีความตื่นเต้นเมื่อได้เห็นอะไรใหม่ ๆ
ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นคนที่ไม่ได้สนใจด้านอวกาศเลยก็ตาม หากเราเปิดใจได้ลองฟังและรับรู้เรื่องราวของมัน หรือไปกับเพื่อนที่มีความชอบด้านอวกาศหรือมีความรู้ด้านนี้ ก็จะทำให้การชมพิพิธภัณฑ์สนุกมากขึ้น ไม่ใช่แค่กับ Space Inspirium แต่กับทุกพิพิธภัณฑ์
ในฐานะที่เป็นคนที่ชื่นชอบอวกาศก็ขอแนะนำว่า Space Inspirium เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนสำหรับการเดินดูและสร้างแรงบันดาลใจ แต่ก่อนที่จะได้รับแรงบันดาลใจนันเราต้องเปิดใจและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสียก่อน เพราะแท้จริงแล้วพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าสิ่งของที่จัดแสดงจะเป็นของแท้หรือไม่ จะเป็นของดีแค่ไหน จะเป็นของมีมูลค่า หรือมีแค่ชิ้นเดียวในโลก มันก็เป็นแค่สิ่งของ สิ่งที่ถ่ายทอดอยู่เบื้องหลังนั้นคือความคิดของคน ที่ทำให้สิ่งของเหล่านี้มีค่าขึ้นมาได้