SpaceX ได้ทำการส่งยาน Dragon ยานอวกาศลำเลียงไร้ขนขับที่ SpaceX พัฒนาขึ้นเองเพื่อส่งสิ่งของให้กับสถานีอวกาศนานาชาติภายใต้สัญญา Commercial Resupply Service หรือ CRS ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 14 แล้ว จากสัญญาทั้งหมด 20 ครั้ง โดยในครั้งนี้ SpaceX ได้ใช้จรวด Falcon 9 หมายเลข B1039 ที่เคยใช้ในการส่งยาน Dragon ในภารกิจ CRS-12 เมื่อเดือนสิงหาคม 2017 ที่ผ่านมา ทำให้นี่จะเป็นการใช้งานจรวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ของจรวดหมายเลข B1039
นอกจากตัวจรวดที่ผ่านการใช้งานมาก่อนแล้ว ยาน Dragon ที่ใช้ในภารกิจนี้ยังเป็นยาน Dragon ที่ถูกใช้งานในภารกิจ CRS-8 ของ SpaceX ในเดือนสิงหาคม 2016 (ซึ่งเป็นไฟลต์ที่ SpaceX ทำการลงจอดจรวด Falcon 9 สำเร็จบน DroneShip ครั้งแรก) โดยยาน Drago ลำนี้ได้ถูกนำมาตรวจสอบทีมงานพบว่าสามารถใช้งานต่อได้และได้รับการอนุมัติให้มาใช้ในภารกิจ CRS-14 นี้
สิ่งของที่ถูกส่งไปกับ CRS-14 นั้น แน่นอนว่าประกอบไปด้วยเสบียงอาหารและเครื่องใช้สำหรับนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อีกหลายตัวที่ถูกส่งขึ้นไปกับเที่ยวบินนี้ด้วย โดยผู้เขียนจะขอยกสิ่งที่น่าสนใจมาดังนี้
- ยาน RemoveDEBRIS ยานอวกาศขนาดเท่าตู้เย็นที่จะทดสอบการเก็บขยะบนอวกาศ ได้ถูกส่งขึ้นไปในห้องสัมภาระของยาน Dragon นี้ด้วย (และมันจะเป็นยานอวกาศลำใหญ่ที่สุดที่ถูกส่งขึ้นไปปล่อยจาก ISS) ผู้เขียนได้เคยเขียนอธิบายเรื่องของ Remove DEBRIS ไว้ใน บทความนี้)
- พรินเตอร์รุ่น HP Envy ISS พริตเตอร์แบบพิเศษที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานในสภาวะไร้น้ำหนัก จะถูกส่งขึ้นไปสำหรับใช้งานบน ISS ด้วย
- Sample Cartridge Assembly – Gravitational Effects on Distortion in Sintering (SCA-GEDS) การทดลองเกี่ยวกับการศึกษา LPS หรือ Liquid phase sintering ซึ่งเป็นการเผารูปแบบนึง
- Veggie PONDS การทดลองเกี่ยวกับการลำเลียงสารอาหารในสภาวะไร้น้ำหนัก
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อีกหลายตัวที่ถูกติดตั้งเข้าไปในส่วนบรรทุกนอกยานที่เรียกว่า Trunk ของยาน Dragon ด้วย
จรวด Falcon 9 พุ่งขึ้นจากฐานปล่อย LC-40 ณ Kenndy Space Center ณ เวลาตี 3 ครึ่งของประเทศไทย และเดินทางขึ้นสู่วงโคจร หลังจากที่จรวดท่อนแรกแยกตัวออกจากจรวดท่อนสอง มันได้ทำการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อเก็บข้อมูลในการทำ Machine Learning แต่ในครั้งนี้ SpaceX จะไม่นำเรือ DroneShip มาลงจอดจรวด เนื่องจากจรวด Falcon 9 รุ่นนี้เป็น Falcon 9 Block 4 รุ่นเก่าที่ SpaceX ต้องการจะทดแทนด้วยจรวด Falcon 9 Block 5 ที่มีแผนจะบินในอีกไม่กี่เที่ยวบินข้างหน้านี้
หลังจากที่ยาน Dragon ขึ้นสู่วงโคจรเรียบร้อยแล้วมันจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วันในการเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยการใช้เชื้อเพลิงบนยานกับเครื่องยนตร์ขนาดเล็กค่อย ๆ เคลื่อนที่ให้ทันกับสถานีอวกาศ ก่อนที่จะมีการใช้แขนกล Canadarm 2 ของ ISS จับเอายาน Dragon เขามาทำการ Dock ในที่สุด
ยาน Dragon ในภารกิจ CRS-14 จะอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 1 เดือนโดยประมาณ ก่อนที่จะกลับลงมาสู่โลกพร้อมสิ่งของหนัก 3,900 กิโลกรัม รวมถึงหุ่นยนต์นักบินอวกาศ Robonaut ด้วย
สถิติที่น่าสนใจในภารกิจครั้่งนี้
- เที่ยวบินที่ 52 ของจรวด Falcon 9
- เป็นการส่งยาน Dragon สู่สถานีอวกาศนานาชาติครั้งที่ 14 โดยไม่นับความผิดพลาดในภารกิจ CRS-7 แต่นับเที่ยวบินทดสอบครั้งแรก
- เป็นการใช้จรวดซ้ำครั้งที่ 11 ของ SpaceX
- เป็นการใช้ยาน Dragon ซ้ำครั้งที่ 2 ของ SpaceX
- ยาน Dragon ส่งของให้ ISS ไปแล้วทั้งหมด 28,635 กิโลกรัม
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co