ในปี 2013 Elon Musk ได้ทำการเปิดตัวยาน Dragon 2 ซึ่งเป็นยานอวกาศลำแรกที่จะพานักบินอวกาศอเมริกันกลับสู่อวกาศอีกครั้งนับตั้งแต่การปลดระวางกระสวยอวกาศในปี 2011 ในขณะที่ทาง NASA และ Boeing ก็กำลังทำการสร้างยานอวกาศรุ่นใหม่อยู่เช่นกัน แต่ดูเหมือนว่า SpaceX จะมีพัฒนาการที่เร็วกว่ายานรุ่นอื่น ๆ
โครงการ Orion ของ NASA ทดสอบเที่ยวบินแรกในปลายปี 2014 ตามมาด้วยการทดสอบของยาน Dragon ในเที่ยวบินประวัติศาสตร์ที่ยานอวกาศของเอกชน เทียบเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติเป็นครั้งแรกในต้นปี 2019 และปิดท้ายด้วย Boeing CST-100 Starliner ในปลายปีที่ ตัวยานเกิดปัญหาไม่สามารถไปเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติได้
ด้วยความที่ว่าทั้ง 3 ลำเป็นยานอวกาศที่ให้คนนั่ง NASA เลยจำเป็นต้องมีมาตรฐานการทดสอบสำคัญ ๆ ได้แก่
- ตัวยานต้องสามารถดีดตัวออกจากฐานปล่อยหากเกิดเหตุฉุกเฉินเช่น ไฟไหม้หรือจรวดระเบิดบนฐานปล่อย
- ตัวยานต้องสามารถดีดตัวออกจากจรวดได้ในขณะที่กำลังบินอยู่ ในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดในการปล่อย ยานจะต้องพุ่งเอาชนะแรงของจรวด และพานักบินอวกาศกลับสู่พื้นดินอย่างปลอดภัย
- ฐานปล่อยต้องสามารถพาคนลงสู่พื้นดินได้หากเกิดไฟไหม้ที่บันไดทางขึ้น ซึ่งนักบินอวกาศ และทีมงานจะต้องใช้ Zip line โดดสลิงลงมา (ซึ่งได้มีการทดสอบไปก่อนหน้านี้แล้ว)
ในภารกิจนี้ สืบเนื่องมาจากปี 2015 ตอนนั้นยาน Dragon ได้ผ่านการทดสอบ Pad Abort Test ซึ่งเป็นการจุดเครื่องยนต์ของยาน Dragon และพายาน Dragon บินขึ้นก่อนที่จะตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
ภารกิจ Launch Escape Demonstration
ภารกิจนี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 19 มกราคม 2020 เวลาประมาณสี่ทุ่มของเมืองไทย ซึ่งภารกิจถูกเลื่อนมาเป็นเวลา 1 วันโดยประมาณเนื่องจากคลื่นลมที่แรง ภารกิจนี้เป็นการปล่อยจรวด Falcon 9FT พร้อมกับยาน Dragon 2 เป็นชั้นที่ 2 นับตั้งแต่เที่ยวบินแรกในเดือนมีนาคมปี 2019 ในครั้งนี้ ภาพประวัติศาสตร์ก็ได้เกิดขึ้นเมื่อทีม SpaceX ได้เปลี่ยน Launch Control จากห้องเล็ก ๆ ที่แหลมเคอเนอเวอรัล มาใช้ห้อง Launch Control Center ของ Kennedy Space Center ซึ่งเป็นห้องเดียวกับที่ใช้ในภารกิจ Apollo และกระสวยอวกาศ ลองนึกดูว่าในวันที่ Apollo 11 บินขึ้น บรรยากาศที่เกิดขึ้นทำให้ห้องนี้เป็นหนึ่งในห้องที่สร้างประวัติศาสตร์ในการควบคุมการปล่อยมนุษย์กลุ่มแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์
ก่อนหน้าที่จะเทสนี้ยาน Dragon 2 ก็ได้ทดสอบระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำ Static Fire จุดเครื่องยนต์เพื่อทดสอบความพร้อมมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยมีวิศวกรจากทั้ง NASA และ SpaceX เป็นสักขีพยาน รวมถึงมีนักบินอวกาศที่พวกเขาจะต้องบินกับยาน Dragon 2 ลำนี้ดูอยู่ด้วย
เมื่อเวลาประมาณสี่ทุ่มยี่สิบนาทีของประเทศไทย จรวด Falcon 9FT ก็ได้บินขึ้น ในภารกิจนี้ Falcon 9 ไม่ได้ติดตั้งขาตั้ง และ Grid Fins เนื่องจากมันจะต้องสละชีพในการทดสอบครั้งนี้ ในตอนที่ยาน Dragon 2 แยกตัวออกจาก Falcon 9 มันโดนแรงกดดันมหาศาลจากรูปทรงของหัวจรวดที่ไม่มีส่วนที่ลู่ลม ทำให้มันจะระเบิดออกในที่สุด ก่อนที่ซากของมันจะตกลงสู่มหาสมุทร ซึ่ง SpaceX จะรับผิดชอบในการเก็บกู้ซากนี้ต่อไป
ในขณะที่เครื่องยนต์ Draco Engine ของยาน Dragon 2 ก็ได้ถูกจุดขึ้น พาเอายาน Dragon ให้พ้นจากจรวด Falcon 9 ก่อนที่จะดับลงให้ยาน Dragon 2 ตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก และกางร่มชูชีพเพื่อลงจอดในมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อให้ทีมเก็บกู้ได้นำเอายานขึ้นมาและไปวิเคราะห์ผลต่อไป
ผ่านทุกด่าน เที่ยวต่อไป คนนั่งจริง ๆ
หลังจากการทดสอบนี้ ก็เหลืออีกเพียงการทดสอบสุดท้าย ก่อนที่ยาน Dragon จะบินในเที่ยว Commercial Crew ตามสัญญาที่ NASA จ้าง SpaceX ขนส่งนักบินอวกาศระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งการบินโดยคนจริง ๆ นั้นจะอยู่ในเที่ยวบิน Demo 2 ซึ่ง Demo 1 เป็นเที่ยวแรกที่ยาน Dragon 2 เปล่า ๆ เดินทางไปเทียบสถานีอวกาศนานาชาติ ส่วน Demo 2 นั้น ก็จะพา Bob Behnken และ Doug Hurley เป็นมนุษย์สองคนแรกที่ได้นั่งยานอวกาศที่สร้างโดยเอกชนขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เปิดฉากการสำรวจอวกาศโดยเอกชน
SpaceX เมื่อเทียบกับ NASA และ Boeing ในมุมของการทำยานอวกาศสำหรับคนนั่ง ตอนนี้ถือว่านำอยู่และอยู่ในโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันประวัติศาสตร์ที่พามนุษย์ขึ้นสู่อวกาศด้วยยานอวกาศของเอกชน รวมตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นก็แค่ 10 ปี แต่เป็น 10 ปีที่สร้างประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ และจะเป็นทศวรรษที่น่าจดจำไม่แพ้ตอนที่อเมริกาประกาศส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ให้สำเร็จก่อนยุค 60s จะจบลง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co