สรุป SpaceX ในปี 2020 ก้าวกระโดดสำคัญของธุรกิจอวกาศ และแนวโน้มใหม่

อย่างที่เรารู้กันดีว่า SpaceX เป็นบริษัทการขนส่งทางอวกาศภาคเอกชนสัญชาติอเมริกาที่ก่อนตั้งมาตั้งแต่ปี 2002 โดย Elon Musk ซึ่งก็เป็น CEO แห่ง Tesla และปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 18 แล้วที่ SpaceX ได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสนองความต้องของชายผู้หนึ่งผู้ที่ต้องการพามนุษย์ไปอยู่อาศัยบนดาวอังคารและทำให้การเดินทางไปอวกาศนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นซึ่งก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ชาติได้รับผลประโยชน์ไปเลยเต็ม ๆ ในบทความนี้จะพาทุกคนไปทบทวนสิ่งที่ SpaceX ทำไว้ในปี 2020

จรวด Falcon 9 กับสถิติใหม่ในปี 2020

เราทราบกันดีว่า Falcon 9 เป็นจรวดหลักที่ SpaceX ใช่ส่งของไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม ส่งคนขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ หรือแม้แต่ส่งยานเติมเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติในโครงการ Commercial Resupply Service หรือ CRS โดยเป็นจรวดรุ่นแรกของโลกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้จริง และเป็นจรวดที่สร้างชื่อให้ SpaceX มาร่วม 11 ปีด้วยกัน โดยภายในปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่สามแล้วที่ SpaceX ได้ใช้จรวด Falcon 9 Block 5 ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็น major final update ของจรวดตระกูล Falcon 9

อ่าน – Falcon 9 Block 5 จรวดรุ่นใหม่ การปล่อยครั้งแรก และอนาคตของมัน

สำหรับภายในปีนี้หรือปี 2020 นั้นเป็นปีที่ SpaceX นั้นได้มีการส่งจรวด falcon 9 มากกว่าทุก ๆ ปี (และแน่นอนว่าปีต่อ ๆ ไปจะมีจำนวนเที่ยวบินที่มากกว่าปีนี้แน่นอน) โดยภายในปีนี้มีการส่งจรวด Flacon 9 Block 5 ทั้งหมด 26 ภารกิจซึ่งไม่มีการส่ง Falcon Heavy เลยแม้แต่ภารกิจเดียว

ภาพจรวด Falcon 9 Block 5 ภารกิจ Bangabandhu Satellite-1 ที่มา – SpaceX

โดยเที่ยวบินแรกของ Falcon 9 ในปีนี้นั้นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2020 ในภารกิจ Starlink L2 v1.0 ซึ่งเป็นการส่งกลุ่มดาวเทียมในโครงการ Starlink โครงการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยใช้เครื่องข่ายดาวเทียมโคจรห่อรอบโลกเอาไว้เป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณ โดยจะเป็นการส่งกลุ่มดาวเทียมนี้ขึ้นสู่วงโคจรเที่ยวบินครั้งละไม่เกิน 60 ดวง ในภารกิจนี้นับเป็นภารกิจที่สามของการส่งดาวเทียมในโครงการ Starlink ซึ่งถัดจากการภารกิจ Starlink v0.9 และ Starlink L1 v1.0 เมื่อปี 2019 สำหรับภายในปีนี้มีการส่งดาวเทียมในภารกิจ Starlink ไปแล้ว 14 ภารกิจด้วยกัน ซึ่งทำให้ภายในปีนี้โลกมีกลุ่มดาวเทียม Starlink โคจรรอบโลกไปแล้วมากกว่า 800 ดวง

ภาพดาวเทียม Starlink 60 ดวงที่อยู่ภายใน Fairing ของ Falcon 9 ที่มา – Twitter @elonmusk

สำหรับโครงการ Starlink นั้นนอกจากการส่งดาวเทียมของตัวเองเพียงอย่างเดียวแล้วยังทำให้ SpaceX มีสถิติการส่งจรวด falcon 9 มากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา รวมทั้งจรวดที่ใช้ซ้ำมากที่สุดลำแรกของ SpaceX ที่ทำสถิติการบินสูงสุด 7 เที่ยวบินอย่าง Falcon 9 B1059 โดยลำนี้ถ้าดูในประวัติการบินจะเห็นได้ว่ามีการส่งดาวเทียมในภารกิจ Starlink มากถึง 5 ภารกิจ ถ้าหากวิเคราะห์ดูแล้ว SapceX อาจพยายามทดสอบการส่งจรวดของตัวเองเพื่อใช้ซ้ำได้มากที่สุด โดยจะเร่งการทดลองด้วยวิธีการส่งดาวเทียมของตัวเองขึ้นไป ซึ่งวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องรอลูกค้ามาติดต่อขอส่งของให้ โดยที่ SpaceX ทำเช่นนี้ไปนั่นก็เพราะจะทดสอบดูว่าจรวดของตัวเองสามารถใช้ซ้ำได้ถึง 10 เที่ยวบินตามที่เคยได้กล่าวไว้หรือไม่

ภารกิจของ Starlink ยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้จากการส่งจรวดถี่ ๆ นั่นคือการที่ SpaceX ได้เปิดโครงการ Smallsat Rideshare Program โดยเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ส่ง payload ขนาดเล็กของตัวเองขึ้นสู่อวกาศในราคาที่ถูกมาก ๆ ในราคา 30 ล้านบาทต่อ 200 กิโลกรัม สำหรับ payload ในที่จะส่งไปในโครงการนี้นั้นจะไปในฐานะ secondary payload หรือ payload รองที่ต้องรอตารางการส่งของ payload หลัก (ซึ่งแน่นอนว่ารอไม่นานมากเพราะเนื่องการการส่งที่ถี่ขึ้นของ Falcon 9) โดยในตอนนี้มีผู้ที่ส่ง payload ของตัวเองไปกับภารกิจ Starlink แล้วร่วม 3 รายในปี 2020

อ่าน – โครงการ Starlink ของ SpaceX ทำงานอย่างไร แบบละเอียด

สำหรับการนำจรวด Falcon 9 มาใช้นั้นในปีนี้มีสัดส่วนการส่ง Falcon 9 ของใหม่ต่อ Falcon 9 ของเดิมอยู่ที่ 5 ต่อ 16 หรือให้พูดง่าย ๆ เลยก็คือในปีนี้มีการใช้จรวด Falcon 9 ซ้ำมากกว่า 80% ของเที่ยวบินทั้งหมดภายในปีนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า SpaceX นั้นประสบความสำเร็จในการนำจรวดมาใช้ซ้ำในปีนี้อย่างมากซึ่งมากกว่าปีก่อน ๆ เสียอีก นั่นทำให้การใช้งานจรวดซ้ำมากครั้งซึ่งเป็นหนึ่งในอุดมการณ์หลักของ SpaceX นั้นใกล้ความจริงไปอีกขั้น อย่างที่เราทราบกันดีว่ายิ่งมีการส่งจรวดใช้ซ้ำมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งต่อเที่ยวบิน (ต่อจรวดหนึ่งลำ) นั้นถูกลงไปด้วย นอกจากนี้ ในปีนี้ก็ยังทำให้ตลอดเกือบ 11 ปีที่ผ่านมานี้มีการส่งจรวด Falcon 9 ไปแล้วมากกว่า 100 ภารกิจอีกด้วย

กราฟสถิติการบินของจรวด Falcon 9 ทุกรุ่นตลอดระยะเวลาร่วม 11 ปีของพวกมัน ที่มา – Wikipedia

การจากลาของยาน Dragon รุ่นแรกและความสำเร็จครั้งใหญ่ของยาน Dragon รุ่นที่สอง

ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมานี้เราจะได้เห็น SpaceX ทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งต้องบอกได้เลยว่าตารางงานของ SpaceX ในปีนี้แน่นเอามาก ๆ อีกเรื่องที่น่าสนใจเลยก็คือยาน Dragon ซึ่งเป็นยานอวกาศประเภท capsule ซีรี่ย์เดียวที่ SpaceX มีในตอนนี้ และในปีนี้ก็ได้เวลาส่งไม้ต่อให้กับยานรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม นั่นคือยาน Dragon 2

ภาพยาน Dragon รุ่นแรกขณะการประกอบสำหรับภารกิจ CRS-3 ที่มา – SpaceX

สำหรับภายในปีนี้ ถ้าให้นับภารกิจการส่งยาน Dragon ขึ้นสู่อวกาศจะมีทั้งหมด 5 ภารกิจด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็นยาน Dragon รุ่นแรกหนึ่งภารกิจและยาน Dragon 2 อีกสามภารกิจ ในส่วนนี้เราจะมาสรุปกันว่ามีภารกิจใดบ้าง ซึ่งทุกภารกิจที่มียาน Dragon ไปด้วยนั้นล้วนความความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่แพ้กันเลย

เปิดตัวมาด้วยภารกิจ Crew Dragon In-Flight Abort Test ซึ่งเป็นภารกิจที่สองของปีที่เป็นภารกิจที่ทาง SpaceX ได้ทำการทดสอบระบบ Launch abort system ซึ่งเป็นระบบที่มีมานานมากว่าครึ่งศตวรรษที่ใช้สำหรับเที่ยวบินที่มีมนุษย์เดินทางไปด้วยหรือ human flight โดยสาเหตุที่ต้องมีระบบนี้ก็เพื่อปกป้องชีวิตของนักบินอวกาศที่อยู่ภายในตัวยานหากเกิดเหตุที่นำไปสู่หายนะ โดยระบบนี้ก็จะทำการดีดตัวยานที่มีนักบินอยู่ภายในออกมาให้พ้นระยะหากเกิดเหตุระเบิดขึ้นกับจรวดส่ง ในเที่ยวบินนี้ SpaceX ก็ได้ทดสอบพร้อมกับลงทุนระเบิดจรวดของตัวเองแบบจริง ๆ ให้ได้ชมเช่นกัน

ภาพภารกิจ Crew Dragon In-Flight Abort ระกว่างการดีดตัว ที่มา – SpaceX

ตามมาด้วยการส่งยาน Dragon รุ่นแรกเป็นภารกิจสุดท้ายในภารกิจ CRS-20 ซึ่งเป็นการปิดตำนานยาน Dragon รุ่นแรกที่ SpaceX ไว้ใช้ส่งเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติอย่างเป็นทางการ เพราะเนื่องด้วยว่า Dragon รุ่นแรกนั้นเป็น hardware ที่เก่าและไม่สามารถเข้าเทียบท่า หรือ docking เองได้เพราะ software ของตัวยานไม่ได้ถูกเขียนมาให้ทำแบบนั้น (ต้องใช้แขนหุ่นยนต์ที่อยู่บนสถานีเข้าช่วยในการพายานเข้า docking) จึงเลิกใช้ไปในที่แล้วแต่ก็ได้มีการจัดหายานรุ่นใหม่มาทดแทนสำหรับโครงการ CRS

ต่อมาเป็นภารกิจที่เป็นที่น่าฮือฮาไปทั่งโลก ณ ขณะนั้นนั่นคือภารกิจ DEMO-2 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 9 ปีที่มีการส่งนักบินอวกาศโดยชาวอเมริกันด้วยจรวดอเมริกันบนแผนดินอเมริกาหลังจากเที่ยวบิน STS-135 ในโครงการกระสวยอวกาศเมื่อ 9 ปีก่อนเนื่อด้วยสาเหตุที่ว่าโครงการกระสวยอวกาศถูกปิดโครงการไป จึงทำให้หลังจากนั้น NASA จึงเลือกบริษัทที่มาช่วยออกแบบยานสำหรับส่งคนด้วยเงินทุนของ NASA ซึ่งในตอนนั้นก็มี SpaceX ที่เสนอ Crew Dragon และ Boeing ที่เสนอ Starliner ไป หลังจากการแข่งขันและทดสอบกันอยู่หลายปี SpaceX ก็ได้คว้าแชมป์ไปในภารกิจ DEMO-2 ที่มีการส่งคนขึ้นไปจริง ๆ และได้รับการรับรองจากทาง NASA ว่าเป็นบริษัทเอกชนที่ได้ส่งนักบินอวกาศรายแรกอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าเป็น milestone ที่ได้บอกให้โลกรู้ว่าอวกาศไม่ใช่ที่ของภารรัฐของประเทศที่มีความสามารถอีกต่อไป และต่อไปนี้ภาคเอกชนจะมีบทบาทในภารกิจอวกาศกันมากขึ้น

อ่าน – สรุปทุกข้อมูล Crew Dragon Demo 2 เที่ยวประวัติศาสตร์ ที่พาอเมริกันกลับสู่อวกาศ

ภาพยาน Crew Dragon ในภารกิจ DEMO-2 ที่มา – SpaceX

ภายหลังที่ SpaceX ประสบความสำเร็จอย่างมากในภารกิจ DEMO-2 ทำให้ SpaceX เดินหน้าการใช้งานยาน Dragon รุ่นที่สองอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าเป็นยานสำหรับการส่งมนุษย์รุ่นแรกของ SapceX หลังจากที่ยานในภารกิจ DEMO-2 เดินทางกลับสู่โลกแล้วภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนให้หลังก็ได้มีการส่งยาน Dragon รุ่นนี้ขึ้นไปอีกหนึ่งภารกิจในชื่อว่า CREW-1 ซึ่งถือเป็นภารกิจแรกที่ใช้ในการพานักบินอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติและพากลับลงมาสู่โลกอย่างเป็นทางการ

สำหรับภารกิจที่ใช้ยาน Dragon ภารกิจสุดท้ายของปีนี้นั่นคือภารกิจ CRS-21 ซึ่งเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ SpaceX ได้มีการดัดแปลงยาน Dragon รุ่นที่สองที่เดิมทีจุดประสงค์หลักคือการรับส่งนักบินอวกาศและมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ แต่เนื่องด้วยการปลดประจำการยาน Dragon รุ่นแรกตามที่ได้กล่าวไป SpaceX จึงได้มีการนำยานรุ่นที่สองมาดัดแปลงสำหรับส่งของเพื่อเติมเสบียง เนื่องด้วย hardware ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและ software ที่ถูกเขียนมาให้สามารถ docking แบบอัตโนมัติได้แล้ว จึงถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของ SpaceX เพราะเนื่องด้วยความคุ้มค่าและหลาย ๆ อย่าง

อ่าน – รู้จักกับยาน Dragon 2 รุ่น Cargo และกลยุทธ์ลดค่าใช้จ่ายฉบับ SpaceX

ยาน Dragon 2 รุ่น Cargo – ที่มา NASA

โครงการ Starship ที่ SpaceX เริ่มจริงจังมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

สำหรับภายในปีนี้เป็นปีที่ SpaceX ได้เคลียร์ทางหลาย ๆ อย่างไปไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจรวด Falcon 9 ในรุ่น Block 5 ที่อาจเป็นไปได้ว่า Block 5 จะเป็นจรวดในตระกูล Falcon 9 รุ่นสุดท้ายของตระกูลที่ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือเรียกได้ว่าเป็น major final update เลยก็ว่าได้ เพราะมันมาถึงจุดสูงสุดที่มันสามารถทำได้ตามจุดประสงค์หลักในการพัฒนาจรวดรุ่นนี้ หรือแม้แต่เรื่องที่ประสบความสำเร็จในการส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศด้วยยาน Dragon รุ่นที่สองหรือ Crew Dragon ซึ่งเป็นการที่ทำให้ SpaceX ได้รับความน่าเชื่อถือในการส่งของขึ้นอวกาศมากขึ้น

หลังจากการที่เคลียร์การพัฒนาจรวดและยานอวกาศเดิมของตัวเองได้แล้ว ทำให้ทาง SpaceX สามารถทุ่มเวลาให้กับกับการพัฒนายานอวกาศรุ่นใหม่ของตัวเองได้มากขึ้นอย่างโครงการ Starship อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของ CEO แห่ง SpaceX อย่าง Elon Musk โดยถ้าเทียบการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ระหว่าง SpaceX และบริษัทอื่น ๆ ภายในปีนี้ดูแล้ว โครงการ Starship ของ SpaceX ถือว่าไปได้เร็วและดุเดือดที่สุดสำหรับตอนนี้ (ฮา) สำหรับเนื้อหาส่วนนี้จะพาทุกคนมาสรุปเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้ภายในปี 2020 นี้กัน

ภาพยาน Starship Mk1 ที่มา – Twitter @elonmusk

การเริ่มเดินสายพัฒนายาน Starship ชุด Serial Nunber หรือ SN เมื่อต้นปีที่ผ่านมาในเดือนมกราคมทาง SpaceX ได้นำยาน Starship รุ่นทดสอบ SN1 มาทดสอบหลังจากถูกประกอบขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2019 เพื่อทดสอบความดันภายในถังเชื้อเพลิงแต่ตัวยานทดสอบก็ทนแรงดันไม่ไหวจนระเปิดไปในที่สุดซึ่งถือเป็นการทดสอบอะไรหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ SpaceX ได้เรียนรู้ในการพัฒนาและลดข้อบกพร่องของยานทดสอบรุ่นถัด ๆ ไป

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา SpaceX ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินยานระยะสั้นหรือ hop test โดยเป็นยานทดสอบรุ่น SN5 ที่ได้บินไต่ระดับขึ้นไปที่ระดับความสูง 150 เมตร ซึ่งเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีด้วยหลังการ hop test ให้กับยาน Starhopper ที่ระดับความสูงเดียวกันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2019 และมีการ hop test ขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมาด้วยยานทดสอบ SN6 ที่มีการทดสอบเหมือนเดิมแทบจะทุกประการและทำเวลาได้ดีขึ้นอีกด้วย

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าฮือฮาในปีนี้สำหรับการทดสอบยาน Starship นั่นคือการทดสอบการบินระดับสูงที่ระดับความสูง 12.5 กิโลเมตร โดยเป็นยานรุ่น SN8 ที่เป็นยานลำแรกที่ได้รับการติดตั้ง nose cone และ flap เข้าไปเนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการจะทดสอบยานตอนร่อนลงมาพร้อมความสามารถในการลงจอดที่ใครหลาย ๆ คนก็ไม่ได้หวังให้มันกลับมาลงจอดแบบเต็มลำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ก็ทดสอบดังกล่าวก็เป็นอย่างที่เราทราบกันดีว่าลงจอดไม่สำเร็จ ซึ่งการทดสอบนี้ก็ได้มอบบทเรียนในการพัฒนายานให้กับทีมพัฒนายาน Starship ของ SpaceX ไปมากพอสมควร และถือได้ว่าปีนี้มาไกลมากจริง ๆ

อ่าน – เที่ยวบินทดสอบยาน Starship SN8 ก้าวสำคัญแห่ง SpaceX สรุป วิเคราะห์ เจาะลึก

ภาพยาน Starship SN8 ขณะอยู่บนฐานส่ง ที่มา – SpaceX

การที่ SpaceX พาโครงการนี้มาไกลได้ขนาดนี้ได้เพราะงานหลาย ๆ อย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าประกอบกับการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทาง NASA ที่ได้รับมาเพื่อการพัฒนายาน Starship รุ่นย่อยที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานประประจำการบนดวงจันทร์ในโครงการ Artemis ที่จะพามนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง โดย SpaceX ต้องพัฒนายานให้เสร็จก่อนปี 2022 ถึงจะได้รับเงินไปเป็นจำนวนเต็ม 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าวิจัยและพัฒนาทั้งหมดตามที่ได้ทำสัญญาจ้างเอาไว้ รวมทั้งได้งบวิจัยการพัฒนาระบบ docking ยานบนวงโคจรเพื่อเติมเชื้อเพลิง จากทาง NASA อีกด้วย ดังนั้นในตอนนี้ SpaceX เหมือนกำลังทำงานให้ NASA ซึ่งมีกำหนดการที่ต้องส่ง จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ปีนี้ SpaceX จะเร่งการพัฒนายานในโครงการนี้ได้มากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน การที่ SpaceX รับงานจาก NASA มาทำแบบนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนายานของตัวเอง ว่าง่าย ๆ คือให้ NASA ช่วยควักตังค์จ่ายส่วนนึงนั้นเอง เพราะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยถือว่าเป็นวิธีที่ฉลาดในการรับเงิน NASA ที่ได้มาจากภาษีประชาชนอีกที (ฮา)

ภาพ 3D render ยาน Starship สำหรับใช้งานบนดวงจันทร์ ที่มา – SpaceX

สำหรับในปีหน้า ปี 2021 ทาง SpaceX มีแผนที่จะส่งจรวด Falcon 9 ให้ได้มากขึ้นเพื่อหารายได้ในเป็นทุนในการพัฒนายาน Starship เพราะปีนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า Falcon 9 ทำสถิติในการส่งมากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ นั้นเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่า SpaceX มีความสามารถในการส่งจรวดที่ถี่ขึ้น การที่ทำสถิติการใช้งานได้ซ้ำสูงสุดถึง 7 เที่ยวบินก็แสดงให้เห็นอีกว่าค่าใช้จ่ายในการส่งจรวดนั้นจะถูกลงไปอีกเพราะยิ่งมีเที่ยวบินที่มากเท่าไหร่ ราคาการส่งต่อเที่ยวบินก็จะยิ่งถูกลงไปมากเท่านั้น

ในส่วนของโครงการ Starlink ก็เปิดมาด้วยเหตุผลจะให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ผลพลอยได้นั้นก็คือเม็ดเงินจำนวนมหาศาล (หากเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ) ซึ่ง SpaceX ก็จะนำเงินส่วนนี้มาใช้เป็นทุนในการพัฒนายานในโครงการ Starship ต่อโดยไม่ต้องรอให้ใครมาจ้างส่งจรวดเพื่อหาเงินเข้าประเป๋าเพียงอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าหากมีช่องทางการหาเงินที่มากขึ้นก็จะยิ่งทำให้การพัฒนายาน Starship ดำเนินไปได้เร็วขึ้นอีกเช่นกัน

ในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป SpaceX จะทำผลงานให้น่าชื่นชมได้มากขนาดไหนก็ต้องจับตาดูกันต่อไป โดยเฉพาะโครงการ Starship ที่ตอนนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว ก็ยิ่งทำให้การจับตามองดูพัฒนาการของ SpaceX น่าสนุกขึ้นไปอีก เพราะใครจะไปรู้ว่าคำพูดของชายธรรมดาคนหนึ่งที่เคยพูดขายฝันว่าจะพามนุษย์ไปอยู่อาศัยบนดาวอังคารไว้เมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้วจะเดินทางมาได้ไกลขนาดนี้และกำลังจะเป็นจริงในอีกไม่ช้าซึ่งถือว่าน่าตื่นเต้นกันเลยทีเดียว

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator || เด็กวิศวะหัดเขียนเรื่องราวในโลกของวิศวกรรมการบินอวกาศ