สรุป 2022 ในวงการอวกาศไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ความเจริญ ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาอัพเดทเรื่องราวในวงการอวกาศ และดาราศาสตร์ของประเทศไทย ว่าในปีนี้หนึ่งในปีที่โลกวุ่นวายที่สุดหลังจากสถานการ COVID-19 ในวงการอวกาศที่ใกล้ตัวเราอย่างประเทศไทย เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง

อันที่จริง หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว แต่นี่ก็ครบรอบ 2 ปี ที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ออกมาพูดถึงโครงการ Thai Space Consortium (แบบไม่ได้ตั้งใจ) ครั้งแรกในเดือนธันวาคมปี 2020 ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาทั้งด้านลบและด้านบวก จนเราต้องออกมาช่วยแก้ต่างให้ว่าโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นนานแล้วภายใต้วิธีการคิดที่สมเหตุสมผลและไม่ใช่แค่การประกาศโพล่ง ๆ ว่าจะไปดวงจันทร์ ตอนนี้เวลาก็ผ่านมาแล้ว 2 ปี จึงอยากเริ่มต้นบทความนี้ด้วยการพูดถึงโครงการ Thai Space Consortium ที่หลายคนมักจะถามกันตลอดว่า โครงการเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว

หลังจากนั้น เราจะมาย้อนดูเหตุการณ์สำคัญในประเทศ รวมถึงความร่วมมือในโครงการอวกาศต่าง ๆ ที่เราอาจจะทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ JAXA หน่วยงานด้านการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น, โครงการ THEOS-2 ที่หลายคนจับตามอง และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือพัฒนาการของบริษัทเอกชนด้านอวกาศในประเทศไทย

จับตา Thai Space Consortium กับ TSC-P ที่เริ่มแล้ว และ TSC-1 ที่กำลังศึกษา

เริ่มต้นด้วยคำถามที่หลายคนสงสัยมากที่สุด ว่าโครงการ Thai Space Consortium หรือ TSC นั้น ไปถึงไหนแล้ว อันนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า TSC นั้น แบ่งออกเป็นหลาย ๆ โครงการย่อยด้วยกัน โดยความเคลื่อนไหวตอนนี้ที่เห็นอย่างชัดเจนก็จะได้แก่โครงการ TSC Pathfinder ซึ่งเป็นโครงการออกแบบและพัฒนาดาวเทียมที่จะเป็นต้นแบบ และดาวเทียม TSC-1 ซึ่งจะเป็นดาวเทียมที่นับเป็นจุดเริ่มของโครงการ (ก่อนที่จะมีการพัฒนา TSC-2 ที่จะเดินทางไปดวงจันทร์จริง ๆ)

นับตั้งแต่ที่มีการจัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ (อ่าน – สรุปบรรยากาศวันเปิดตัว วันลงนาม Thai Space Consortium อย่างเป็นทางการ) ที่เป็นการเพิ่มสมาชิกในโครงการ นอกจาก 3 เจ้าหลักได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (SLRI) โครงการ TSC นั้นก็ถูกขยายผลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการ Space Economy Lifting Off ของสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่หวังสร้างผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านอวกาศ สร้างตลาด สร้างการค้าในไทย

ความคืบหน้านั้นก็เรียกได้ว่ามีให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้ง Software และ Hardware ระบบ System และ Subsystem ที่เราจะเห็นทีมวิศวกรของ NARIT เล่าลงบน Social Media ให้เราเห็นกันอยู่เรื่อย ๆ

ภาพแสดง Structure ของดาวเทียม TSC-1 ที่ถูกออกแบบไว้ ที่มา – NARIT

ในงาน IAC 2022 ที่เป็นงานประชุมด้านอวกาศประจำปี วิศวกรจากโครงการ TSC ก็ได้ร่วมนำ Paper เรื่อง TSC-1 ไปนำเสนอด้วยเช่นกัน เช่น A simplified thermal analysis for Thai Space Consortium-1 satellite (TSC-1) หรือที่เคยออกมาก่อนหน้านี้อย่าง Structural Analysis of Thai Space Consortium-1 Satellite based on Falcon 9 Launch Vehicle Vibration Profile ที่ทำให้เราสามารถได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ TSC-1 ได้ว่า จะใช้วงโคจรแบบ Sun Synchronous Orbit (โคจรตัดขั้วโลก) และอาจถูกปล่อยด้วยจรวด Falcon 9 (ที่ใช้คำว่าอาจเพราะยังไม่มีการยืนยันการปล่อย แต่ถูก Simulation แบบด้วย Vibration Profile ของ Falcon 9) บรรทุก Scientific Payload เป็น Hypterspectral Sensor ซึ่งจะมีประโยชน์ในเชิงการศึกษาโลก มากกว่ากล้องถ่ายภาพปกติ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้นประมาณ 100 กิโลกรัม

ภาพแสดงต้นแบบของ Subsystem ต่าง ๆ สำหรับดาวเทียม TSC-1 ที่มา – NARIT

ส่วน TSC-P ที่จะเป็นดาวเทียมทดสอบนั้น จะเป็นความร่วมมือกับ Changchun Institute of Optics and Fine Mechanics (CIOMP) ซึ่งอยู่ภายใต้ Chinese Academy of Sciences เจ้าของดาวเทียม Jilin-1 ดาวเทียมขนาดเล็กบรรทุก Payload แบบ Earth Observation ซึ่งจะเป็นต้นแบบของดาวเทียม TSC-P ปัจจุบันสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้ส่งวิศวกรไปศึกษากับทีม CIOMP ที่ประเทศจีน ข้อมูลของ TSC-P นั้นอาจจะยังไม่ได้มีออกมามากนัก เนื่องจากดาวเทียมทั้งดวงจะออกแบบ และประกอบทั้งหมดในประเทศจีน

ภาพของทีมวิศวกรที่เดินทางไปยัง CIOMP ที่มา – NARIT

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เราได้รับมา TSC-P นั้น Astronomical-driven based TSC project for conceptual design and demonstration of star tracker by using 0.7-meter optical telescope system ประสบความสำเร็จในการใช้ Star Tracker เป็นระบบนำทางและตำแหน่งการหมุน (Altitude Control) ของยานอวกาศ

ในขณะที่ Infrastructure ในประเทศไทยนั้นทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เริ่มสร้างห้องสำหรับประกอบดาวเทียม ณ อุทยานดาราศาสตร์ สิรินธร (ที่เรียกกันชินปากว่า Astropark) เพื่อรองรับการประกอบดาวเทียมในประเทศ ซึ่ง TSC-1 นั้นก็จะถูกประกอบที่นี่ด้วยเช่นกัน

สำหรับตารางเดิม TSC-P นั้นมีกำหนดปล่อยภายในปี 2023 นี้ ในขณะที่ TSC-1 นั้นมีกำหนดอยู่ที่ปี 2026

THEOS-2 ดวงเล็กถึงไทย ดวงใหญ่พร้อมปล่อย

กลับมาทางฝั่ง GISTDA กันบ้าง โครงการด้านอวกาศที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Thai Earth Observaton Sattlite ในรุ่นที่ 2 หรือ THEOS-2 ที่จะมาสานต่อภารกิจของ THEOS-1 ที่ปล่อยไปตังแต่ปี 2008 โดย THEOS-2 นั้น จะเป็นโครงการใหญ่ มีดาวเทียม 2 ดวงด้วยกัน ได้แก่ THEOS-2 ดวงใหญ่ ที่สร้างโดย Airbus และดาวเทียมดวงเล็กที่ทาง GISTDA ให้วิศวกรไทยไปเรียนรู้และประกอบโดยมีทีมจาก Surrey Satellite Technology (SSTL) เป็นผู้ควบคุม เรียกว่า THEOS-2A

อัพเดทในปี 2022 นี้คือ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2022 นั้น ดาวเทียม THEOS-2A ดวงเล็กที่วิศวกรไทยประกอบ เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และทดสอบก่อนนำส่งขั้นตอนสุดท้าย ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องประกอบดาวเทียม ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park) ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีอาคารที่ออกแบบมาเพื่อประกอบและทดสอบดาวเทียม เรียกว่า Assembly Integration and Testing Center (AIT)

ส่วน THEOS-2 ดวงใหญ่นั้นไม่ปรากฎภาพบนสื่อของ GISTDA และ Airbus อย่างไรก็ตามตัวดาวเทียมปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว อยู่ที่ Airbus ประเทศฝรั่งเศส จะถูกส่งไปปล่อยยังฐานปล่อยที่เกียนา ดินแดนโพ้นทะเลของฝรังเศส ทันทีจะไม่ได้มีการขนส่งมายังประเทศไทย

กำหนดการปล่อยของดาวเทียม THEOS-2A นั้นอยู่ในช่วงเดือน มีนาคม 2023 ส่งกับจรวด Polar Satellite Launch Vehicle หรือ PSLV ของอินเดีย ในขณะที่ THEOS-2 ดวงใหญ่จาก Airbus นั้น มีกำหนดปล่อยในปีเดียวกัน โดยใช้บริการจรวด Vega-C จากบริษัท Arianespace

สามารถติดตามข่าวสารของ THEOS-2 ได้ทาง GISTDA THEOS-2 Program

ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น นำโดย สวทช.  

ประเทศไทย กับญี่ปุ่น นับว่ามีความร่วมมือในการสำรวจอวกาศกันมาอย่างยาวนาน ในแต่ละปีทาง สวทช. ก็จะมีความร่วมมือกับ JAXA ภายใต้โครงการ ภายใต้ Kibo-ABC (Asian Beneficial Collaboration through Kibo Utilization) โดยในปีนี้ โครงการที่เป็นไฮไลต์เลยก็ได้แก่ โครงการ Asian Herb in Space (AHiS) ซึ่งมีการดำเนินการกันมาเป็นเวลากว่า 2 ปีเต็ม ๆ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการก็คือ การเปิดให้ประเทศพันธมิตรของญี่ปุ่นนั้นได้ส่งเอาสมุนไพรขึ้นไปทดลองปลูกบนอวกาศ โดยประเทศไทยนั้นได้เลือกเอาโหระพาขึ้นไป นอกจากนี้ยังได้มีการนำเอาเมล็ดราชพฤกษ์จำนวนหนึ่ง ขึ้นไปด้วย โดยชุดการทดลอง AHiS นั้นถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่ภารกิจ CRS-21 ของ SpaceX ในเดือนธันวาคม 2020

โดยระหว่างทดลองปลูกนั้น เยาวชนจากประเทศไทยก็ได้ร่วมปลูกโหระพาควบคู่กันเพื่อศึกษาความแตกต่างบนโลกและในอวกาศด้วย การทดลองดังกล่าว กลับสู่โลกในเดือนกรกฎาคม 2021 และในเดือนธันวาคม 2021 ก็ได้มีการนำเอาเมล็ดราชพฤกษ์มาเพาะที่มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับในปี 2022 นี้

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมาก็ได้มีการแจกจ่ายต้นราชพฤกษ์ที่เติบโตแล้ว ส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปปลูกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งจะมีการคัดเลือกหน่วยงานเพื่อรับต้นราชพฤกษ์อีกเป็นรอบๆ

ตัวแทนหน่วยงาน องค์กร และเยาวชนในโครงการ ในพิธีส่งมอบต้นราชพฤกษ์ที่เติบโตจากเมล็ดที่โคจรบนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NSTDA

ส่วนโครงการอื่น ๆ ที่ไทยร่วมกับ JAXA ก็ยังมีอีก ไม่ว่าจะเป็น โครงการ The 3rd Kibo Robot Programming Challenge  2022 ที่ทาง JAXA จัดแข่งขันการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยในปีนี้ตัวแทนจากประเทศไทย ทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 9

ในขณะที่โครงการ Asian Try Zero-G 2022 ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนส่งไอเดียการทดลองขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานชาติในปีนี้ตัวแทนเยาวชนไทย ก็ได้รับเลือกเช่นกัน ได้แก่ โดยจะเดินทางไปยัง JAXA เพื่อพูดคุยกับนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2023

สามารถติดตามกิจกรรมของ สวทช. และ JAXA ได้ทาง NSTDA Space Education

KEETA ทีมอาหารอวกาศคนไทย ปีแห่งการพัฒนา ระดมทุน และเติบโต

กลุ่มนักวิจัยจากไทยที่เข้าร่วมการแข่งขัน NASA Deep Space Food Challenge ซึ่งทาง NASA จัดร่วมกับ Canadian Space Agency (CSA) ซึ่งทีมไทยที่ใช้ชื่อว่า KEETA (กีฏะ) ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2020 และได้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายจากทั่วโลก ซึ่งในปี 2023 จะมีการประกาศผู้ที่ผ่านเข้ารอบต่อไป ซึ่งโจทย์ของการแข่งขั้นนี้ก็คือ การผลิตอาหารให้นักบินอวกาศ 4 คน ระยะเวลา 3 ปี ในการสำรวจอวกาศระยะยาว ซึ่งทีม KEETA ก็เลือกที่จะใช้เทคโนโลยี Food 3D Printing ร่วมกับระบบการเลี้ยง “หนอน” เพื่อเป็นสารอาหารหลักให้กับนักบินอวกาศ โดยที่นักบินอวกาศไม่จำเป็นจะต้องมาคอยเลี้ยงและให้อาหาร

ต้นแบบระบบ Food 3D Printing ที่ทาง KEETA นำมาใช้สำหรับพิมพ์อาหารในอวกาศ

ในปี 2022 นี้เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการพัฒนา ระดมทุน และเติบโตของ KEETA ก็ว่าได้ KEETA ได้พัฒนา 3D Printer ต้นแบบ ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตร และได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ CP ALL, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

KNACKSAT-2 และ Payload เยาวชน

ถ้ายังจำกันได้ โครงการ KNACKSAT (KMUTNB Academic Challenge of Knowledge Satellite) เป็นการพัฒนาและสร้างดาวเทียมแบบ CubeSat 1U ของไทย ที่นำโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่มีการปล่อยไปในปี 2018 ตอนนี้โครงการ KNACKSAT นำโดย INSTED และ NBSPACE เรียกได้ว่ากลับมาอีกครั้งกับโครงการ KNACKSAT-2

ซึ่งในรอบนี้เรียกได้ว่ามีความ Commercial มากขึ้น ตัวดาวเทียมพัฒนาในลักษณะ Rideshare Payload คือใช้ตัวดาวเทียมแบบ 3U บนดาวเทียมติดตั้ง Payload จากพันธมิตร ได้แก่ AIS, NARIT, KMUTNB, ASEANSAT (เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย Universiti Teknologi MARA (UiTM) และ University of Perpetual Help System Dalta ฟิลิปปินส์ และไทย), Nepal Academy of Science and Technology, และ Payload ของเยาวชนไทยในโครงการดาวเทียมโดยโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชน ออกแบบ Payload บนตัวดาวเทียม

กลุ่มเยาวชนในโครงการ KnackSat 2 TGPS ขณะอบรมการพัฒนา Payload สำหรับดาวเทียม ที่มา – TGPS

นี่จะทำให้ KNACKSAT-2 กลายเป็นดาวเทียมแบบ CubeSat ที่ภาคการศึกษาของไทยพัฒนาอีกดวง หลังจากที่ดาวเทียม BCCSAT-1 ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน (ซึ่งก็อยู่ภายใต้การดูแลของทีม KNACKSAT) ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2021 ก่อนหน้านี้ โดยดาวเทียม KnackSat 2 นั้น มีแผนจะปล่อยในปี 2023 เช่นกัน โดยการปล่อยจะเป็นการปล่อยออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการ J-CUBE ของ JAXA และ Kyutech

ติดตามเรื่องราวได้ผ่านทางเพจ KNACKSAT

โครงการ AI Space Challenge พาเยาวชนพัฒนา AI บนสถานีอวกาศนานาชาติ

โครงการ AI Space Challenge นั้น เป็นโครงการที่กลุ่มบริษัทอวกาศในอาเซียนและไต้หวัน ร่วมมือกับบริษัท Space Applications Services เจ้าของ Platform การทดลอง ICECube บนสถานีอวกาศนานาชาติ เปิดโอกาสให้เยาวชน จากกลุ่มประเทศอาเซียนและไต้หวัน ออกแบบอัลกอริทึมสำหรับการทำงานแบบ Machine Learning โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้งานบนสถานีอวกาศ ประกอบกับเซ็นเซอร์บนตัวสถานี โดยทำงานบน HPC หรือ High-Performance Computer บนสถานีอวกาศนานาชาติ

ถ้วยรางวัลสำหรับโครงการ AI Space Challenge

การแข่งขันดังกล่าว ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2021 และในปี 2022 นี้ ก็เดินทางมาถึงการตัดสิน ซึ่งทีมที่ชนะได้แก่ทีมจากประเทศสิงคโปร์ ในขณะที่ทีมจากไทย คว้ารางวัลที่สองไปครอง การแข่งขันนี้ นับว่าน่าสนใจตรงที่ถูกจัดและออกแบบโดยบริษัทเอกชนทั้งหมด ซึ่งจากฝั่งไทยก็ได้แก่บริษัท Space Zab นั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นการแสดงศัยภาพของการทำงานอวกาศของเอกชนในไทยก็ว่าได้

อ่านรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ AI Space Challenge

จาน Thai National Radio Telescope ทำงานเต็มรูปแบบ

หลังจากที่ใช้เวลาสร้างมาเกือบ 4 ปี และวางแผนพัฒนามาอีกหลายปี จาน Thai National Radio Telescope ก็เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ จาน TNRO นั้นเป็นจานรับสัญญาณวิทยุขนาด 40 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีรากฐานการออกแบบมาจากจาน Yebes ที่ประเทศสเปน และได้รับการปรับแต่งใหม่เพิ่มเติม โดยทีมวิศวกรจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และทีมที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักดาราสาสตร์วิทยุในองค์กระดับโลก โดยในวันที่ 24 มีนาคม 2022 จานได้เริ่มรับสัญญาณแรก หรือที่เรียกกันว่า First Light โดยเป็นสัญญาณที่รับโดยอุปกรณ์ L-band Receiver ที่เราเคยพาไปชมกันก่อนหน้านี้ (อ่าน – Thai National Radio Telescope พาชมกล้องโทรทรรศน์วิทยุของคนไทย 40 เมตร เจาะลึกการทำงาน ปี 2021)

จานรับสัญญาณ TNRO ขนาด 40 เมตร ที่มา – NARIT

หลังจากนั้นวันที่ 15 มิถุนายน 2022 นักวิจัยและวิศวกร ได้ประสบความสำเร็จในการรับสัญญาณจากพัลซาร์ B0329+54 ด้วยตัว L-Band Reciever ที่ความถี่ 1.0-1.8 GHz นับว่าเป็นการหันจานไปรับสัญญาณจากวัตถุฟากฟ้าในลักษณะพัลซาร์ครั้งแรก และทาง NARIT ก็ได้เริ่มใช้ TNRO ทำงานดาราศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์แบบ Optical ที่ทาง NARIT มีอยู่ในไทย และที่อื่น ๆ ทั่วโลก

ติดตามข่าวสารของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้ทาง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

นอกจากอัพเดทจากฝั่ง Radio Astronomy แล้ว งานดาราศาสตร์ที่ทาง NARIT เชี่ยวชาญ ก็มีผลงานของนักวิจัยชาวไทยออกมาให้เราได้เห็นกันอยู่ตลอด

mu Space Corp โชว์ของเตรียมลุยตลาด

เมื่อพูดถึงบริษัทอวกาศสัญชาติไทย หลายคนก็จะต้องนึกถึง mu Space Corp ที่ในปี 2022 ทางบริษัทก็ได้ประกาศแผนการพัฒนา เช่น ประกาศการพัฒนาดาวเทียมรุ่นใหม่ mu-B500 รวมถึงประกาศเตรียมสร้าง Mega Factory โรงงานขนาดผลิตดาวเทียมและชิ้นส่วนสำหรับงานด้านอวกาศขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร

คุณเจมส์ เย็นบำรุง ในงาน Tech Day ของบริษัท ในวันที่ 9 ธันวาคม 2022 ที่มา – mu Space Corp

ซึ่งเป้าหมายของบริษัทเลยก็คือต้องการกระตุ้นการเติบโตของ Space Ecosystem ในประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติของ Supply Chain หรือห่วงโซ่การผลิต หวังให้ประเทศไทยมีพัฒนาการและสามารถผลิตชิ้นส่วนอวกาศได้เองในประเทศ

ทาง mu Space Corp ได้ทำเว็บไซต์สรุปผลงานของตัวเองไว้ใน 2022 Year in Review

การเติบโตของ Space Education ในไทย

Space Education นอกจากจะเป็นหัวข้อหลักที่ทาง สวทช. สนใจแล้ว หน่วยงานอื่น ๆ ก็ยังให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน เราจะขอขมวดรวมประเด็นด้าน Space Education ไว้ในหัวข้อเดียวกันเล่าถึง Momentum ของมัน อย่างแรกเลยก็คือโครงการ CANSAT ของ อพวช. ที่ให้เยาวชนได้พัฒนาดาวเทียมจำลอง ส่งขึ้นไปกับจรวดขนาดเล็กซึ่งจัดอย่างเป็นประจำทุกปี ในปี 2022 นี้ก็มีการชัดเช่นกัน โดยสามารถติดตามได้ทาง CanSat-Rocket Thailand

เยาวชนจากโรงเรียนอัสสัมชัญ พบกับประยุทธ์ ที่มา – ประยุทธ์

ในขณะที่อีกหนึ่งข่าวใหญ่ กลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ทีม Descendere และทีม Gravity เข้าร่วมการแข่งขัน Annual CanSat Competition 2022 ณ เมือง Blacksburg รัฐ Virginia ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโดย American Astronautical Society (AAS) และทีม Descendere ได้รับรางวัลอันดับที่ 1 กลับมา เป็นอีกก้าวที่สำคัญของเยาวชนไทยด้านอวกาศ ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตจากโครงการ CanSat-Rocket Thailand ด้วยเช่นกัน

ติดตามเยาวชนกลุ่มนี้ได้ทาง SPACE AC Institute of Technology สถาบันเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อัสสัมชัญ

สรุปภาพรวมอวกาศในไทย และสิ่งที่ควรรอชมในปี 2023

ในปี 2022 นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่เราได้เห็นกิจกรรมด้านอวกาศมากมาย แต่คิดว่าก็ไม่น่าตื่นเต้นเท่าในปี 2023 เนื่องจากจะเป็นปีที่เราจะได้เห็นการปล่อยดาวเทียมไทยถึง 4 ดวงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น THEOS-2A, THEOS-2, KNACKSAT-2, และ TSC-Pathfinder เรียกกได้ว่า พอช่วง COVID-19 ผ่านพ้นไป ไม่ใช่แค่วงการอวกาศโลก แต่วงการอวกาศไทยก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังต้องจับตามองโครงการดาราศาสตร์ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เนื่องจากจาน TNRO นั้นนับว่าเป็นของเล่นใหม่ที่จะช่วยเพิ่มขีดจำกัด เพิ่มศัยภาพให้กับนักวิจัยไทยในการทำ Radio Astronomy ที่แน่นอนว่าจะนำไปสู่การค้นพบและการตีพิมพ์ผลงานใหม่ ๆ อีกมากมาย

เราจะเห็นว่าในวงการอวกาศไทยนั้นจะไม่ได้มีการรวมศูนย์ ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานไหนทำงานด้านไหน มีความร่วมมือกับใคร แม้กระทั่งโครงการ TSC ก็ไม่อาจจะรวมทุกงานอวกาศเข้ามาอยู่ในที่เดียวกันได้ ฟังดูอาจจะเป็นเหมือนข้อเสีย แต่เราก็มองว่าเป็นข้อดีเหมือนกัน เพราะทำให้แต่ละฝ่ายได้โฟกัสกับงานที่ตัวเองถนัดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแม้กระทั่งในวงการอวกาศโลก ก็ไม่ได้มีการรวมศูนย์ที่ชัดเจน ในสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้แปลว่าจะทำงานอวกาศต้องผ่าน NASA ภาพที่ปรากฎในไทยทุกวันนี้จึงอาจสะท้อนได้ว่า ไทยกำลังเติบโตด้านอวกาศในแบบที่มันเป็นของมันเองก็ได้ ซึ่งถ้ามองทั้งในฝั่งรัฐฯ เอกชน ภาคการศึกษา แม้กระทั่งภาคประชาชน ทุกคนก็ล้วนกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.