5 เมษายน 2021 ในที่สุดวันที่เรารอคอยก็มาถึง เมื่อโครงการ TSC หรือ Thai Space Consortium โครงการสำรวจอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของไทยโครงการหนึ่งเติบโตจากการมี 3 หน่วยงาน ได้แก่ NARIT, GISTDA และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กลายมาเป็นมีหน่วยงานพันธมิตรในความร่วมมือมากขึ้นจำนวนมาก โดยที่โรงแรม The Sukhosol ได้มีการลงนามความร่วมมือในอย่างเป็นทางการ
เล่าย้อนกลับไปในปี 2020 ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการ TSC มาพูดออกสื่อเป็นครั้งแรก ๆ (ที่มีการพูดถึงเป็นวงกว้างในระดับประเทศ) แม้ว่าก่อนหน้านั้น NARIT จะมีการพูดถึงโครงการ TSC มาตั้งแต่ปี 2018 ตอนนี้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับ Changchun Institute of Optics, Fine Mechanics and Physics ที่ประเทศจีน
เราเองก็ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการมาเรื่อย ๆ ไม่ได้มีอะไรอัพเดทมาก จนมาถึงปี 2021 ซึ่งมีการจัดเสวนาออนไลน์ ที่อาจนับได้ว่าเป็นการเปิดตัวโครงการสู่ Public วงกว้างอย่างเป็นทางการ งานเสวนาดังกล่าวจัดอย่างยิ่งใหญ่ 3 วันติดในวันที่ 20, 21, 22 มกราคม ซึ่งมีการเพิ่มทีม สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ NIA ที่มาช่วยดูเรื่องของการกระตุ้นให้เกิด Space Economy และ INSTED หน่วยงานด้านอวกาศที่เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปีที่ผ่านมา
และในวันนี้ ได้มีพิธีออฟไลน์ที่เป็นการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ รวมถึง 12 หน่วยงานได้แก่ NARIT, GISTDA, ซินโครตรอน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, NIA, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, สวทช. และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
การเซ็นความร่วมมือในวันนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของการสำรวจอวกาศไทย โดยรายละเอียดของตัวโครงการ TSC ได้ถูกเปิดเผยคร่าว ๆ ว่า ตอนนี้อยู่ในระหว่างทำดาวเทียมที่สำคัญ 2 ดวงก็คือ TSC-Pathfinder ซึ่งจะเป็นดาวเทียม Technology Demonstration ขนาด 80 กิโลกรัม (2023) อธิบายง่าย ๆ ก็คือทำเพื่อซ้อม เป็นใบเบิกทางให้กับโครงการอื่น ๆ ที่จะตามมา จากนั้นตามมาด้วย TSC-1 (2025) ซึ่งจะมีขนาดเป็น 100 กิโลกรัม และหลังจากนั้นจะมีดาวเทียมขนาดเล็ก ๆ ทดสอบเทคโนโลยี ซึ่งจะถูกปล่อยจาก ISS อีก 2 ดวง เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะไปถึงโครงการ TSC-2 ซึ่งเป็นการเดินทางไปยังวงโคจรของดวงจันทร์
ในแง่ของวิทยาศาสตร์ Payload ของดาวเทียมโครงการ TSC จะเป็นการเอาเทคโนโลยี โจทย์ทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิจัยไทยทำอยู่แล้วขึ้นไปศึกษา เช่น โจทย์ด้าน Space Weather ของ ดร.เดวิด รูฟโฟโล่ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ในขณะเดียวกัน นอกจากในแง่มุมด้านวิทยาศาสตร์ ในมุมของการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศหรือ Space Economy ก็เป็นงานที่ทาง GISTDA และ NIA เข้ามามีส่วนสำคัญ
เราได้สอบถามจาก ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ถึงความคืบหน้าของการร่าง พรบ. กิจการอวกาศ แต่ ดร.เอนก ไม่ตอบ โยนให้ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ตอบแทน ได้ความว่า ปัจจุบันก็ยังมีการผลักดันอยู่ ส่วนเรื่องการสนับสนุนเอกชนและ Start Up เราก็ได้ถามจาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA ดร. บอกว่า จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของความเข้าใจ ความรู้ความสามาถ และทำให้เกิด Ecosystem ให้ได้ โดยปัจจุบัน NIA ก็ได้ทำโครงการ Space Economy Lifting Off มาเพื่อเสิร์ฟในส่วนนี้
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เราได้ถาม ดร.เอนก อีกครั้งเรื่องชาติพันธมิตรที่จะมาให้ความร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ว่ามีชาติอะไรบ้าง ดร.เอนก ตอบเลี่ยง ๆ ว่า “เราไม่ได้คิด อันนี้มันไทยทำ แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นตัวเองถึงไม่สนใจความช่วยเหลือ แต่อันนี้เป็นการทำงานแบบไทยทำ ไทยคิด ไทยประดิษฐ์ เป็นอะไรที่ท้าทายมาก” ซึ่งตรงนี้มีนัยอยู่ตรงที่ว่า ไม่มีการพูดถึงชื่อของประเทศใดประเทศหนึ่งเหมือนเมื่อก่อน แม้ว่าค่อนข้างชัดว่าตอนนี้ จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตาในเรื่องความสัมพันธ์กับโครงการ TSC มาตั้งแต่สัญญากับฉางฉุน เมื่อปี 2018
และแน่นอนว่า ไทยไม่ได้เป็นชาติพันธมิตรกับ ISS โดยตรง การส่งดาวเทียมจากสถานีอวกาศนานาชาติจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับชาติสมาชิก ISS เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ในขณะที่ดาวเทียมขนาดใหญ่นั้นยิ่งต้ออาศัยการปล่อยจากจรวดซึ่งประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีในส่วนนี้ จึงต้องอาศัยการซื้อ หรือการเล่นเกมการเมืองกับชาติอื่นอยู่ดี
โครงการ TSC น่าจะมีความเข้มข้นขึ้น และหลังจากนี้เราเองก็คงจะนำแง่มุมต่าง ๆ ที่เจาะลึกมากขึ้น ตั้งแต่ทาง NARIT ทางทีม Engineer ทางทีมฝั่งนโยบายและเศรษฐกิจต่าง ๆ มาช่วยกันตอบว่า TSC จะสามารถทำหน้าที่ที่มันถูกออกแบบมาได้หรือเปล่า
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co