จากกรณีที่ทีคนพยายามเอาสารฆ่าเชื้อไปฉีดพ่นใส่มนุษย์บริเวณอนุเสารีย์ชัยสมรภูมิโดยอ้างว่าเป็น “จิตอาสา” จากกรณีที่มีความพยายามในการสร้างอุโมงค์ฆ่าเชื้อแต่รมแก๊สโอโซนเข้าไปแทน จากกรณีที่กองทัพบกจับผู้บัญชาการฯ มาแต่งตัวในชุดกันสารเคมีแล้วไปฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามถนนนั้น สิ่งนี้คือตัวพิสูจน์ว่าคนบางคนในประเทศนี้ กำลังพยายามทำความดี (ถ้าไม่นับกรณีเอาหน้า) โดยไม่ได้สนถึงเหตุและผลหรือหลักการเหตุผลอะไรที่เกิดขึ้นตามหลักวิทยาศาสตร์
ยังไม่รวมแนวทางต่าง ๆ ที่มาจากฝั่งรัฐบาล ถ้าเราดูการแถลงจากรัฐบาลแต่ละครั้ง เราจะพบว่าคำพูดส่วนมากจะเป็นความรู้สึก “ประเทศไทยต้องชนะ”, “อยู่กับบ้านแล้วจะปลอดภัย”, “หยุดเชื้อเพื่อชาติ”, “พวกเราทำกันอย่างเต็มที่”, “มีจิตสำนึก” และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่หารู้ไม่ว่า คำพวกนี้คือชุดของความคิดที่ทำร้ายสังคมไทย หรือสังคมโลกเองก็ตาม
บทความเรื่อง Coronavirus Will Change the World Permanently. Here’s How. บนเว็บไซต์ Politico ได้รวบรวมมุมมองของบุคคลในแต่ละสาขาอาชีพมาเล่าว่าโลกหลังจาก Coronavirus จะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมสะดุดตาคือแนวคิดจาก Tom Nichols อาจารย์จาก U.S. Naval War College ได้พูดสิ่งอาการ “emotional satisfaction” หรือที่ผมขอแปลออกมาแรง ๆ ว่ามัน สำเร็จความใคร่ทางอารมณ์
จริง ๆ แนวคิดเรื่อง emotional satisfaction ที่ Nichols หยิบมาพูด เหมือนจะใช้โจมตีรัฐบาล (สหรัฐฯ) และวิจารณ์แนวคิดของอเมริกันชนที่มีต่อความสงบ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ และแค่เขาทำหน้าที่วันต่อวันได้ดี ไม่ได้แปลว่าในยามวิกฤติทุกอย่างจะออกมาดี (คล้าย ๆ กับแนวคิด เลือกความสงบจบที่ลุงตู่บ้านเรา)
พอเราใช้อารมณ์กันเป็นหลัก เมื่อถึงยามที่ต้องใช้เหตุและผลเราก็จะยังคงเลือกใช้อารมณ์อยู่เหมือนเดิมตามความเคยชิน พอมันไม่เป็นแบบที่เราต้องการก็จะพาลโทษไปเรื่อย โดยที่ไม่ได้ต้องการหาวิธีแก้จริง ๆ
ปิดแล้วทำไมมันไม่ดีขึ้น (วะ) เอ้า ก็ปิดแบบไม่ฉลาดมันจะไปดีขึ้นได้ยังไง
แล้วเหตุผลใช้อย่างไร และวิทยาศาสตร์ไม่มีคำตอบ
ทีนี้คำถามก็คือแล้วเราจะเอาเหตุผลมาใช้อย่างไร จริง ๆ เรามีคำตอบไปแล้วในบทความเรื่อง ทำไมนักวิทยาศาสตร์ควรเป็นเพื่อนชนชั้นปกครอง ซึ่งเราบอกว่า วิทยาศาสตร์สอนให้การคิดของเราเป็นโครงร่าง มีเหตุผล มีการเชื่อมโยง และที่สำคัญ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้คำตอบกับเราตรง ๆ ว่าเราต้องทำอะไร แต่วิทยาศาสตร์เตือนให้เราคิดอย่างรอบคอบด้วยการเอาเหตุผลมากางแล้วให้ทุกคนเลือกวิธีที่มีความเสี่ยงน้อย หรือยอมรับร่วมกันได้อย่างมากที่สุด
ในสังคมประชาธิปไตย วิทยาศาสตร์จึงควรเป็นเครื่องมือคู่คิดสำหรับทุกคน ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนแนวคิดนี้ก็เช่น การทำ Open Data หรือการเปิดข้อมูลให้ประชาชน เอกชน หรือแม้กระทั่งรัฐบาลเองได้เข้าถึงข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจหรือทำการทดลอง (เปรียบเทียบเป็นนัย ๆ ก็เหมือนกับเราอ่านหนังสือเยอะ ๆ เพื่อมีข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ)
แล้วทำไมเรา (บางคน) คิดกันแบบนี้ไม่เป็นนะ ?
หรือปัญหาจะอยู่ที่ระบบการศึกษา
เราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์กันมาตั้งแต่ชั้นประถม หรือชั้นอนุบาล แต่ถามว่าทำไม กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ยังไม่เป็นที่ถูกนำมาใช้ในสังคมไทยอย่างแพร่หลาย แต่กลับถูกกดทับด้วยความรู้สึก ในบทความเรื่อง ขี้ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขียนโดยพัทน์ เพื่อนผมคนหนึ่งที่ตอนนี้อยู่ที่ MIT ได้อธิบายว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราเรียนกันในห้องเรียนเป็นเพียงแค่ “ขี้” หรือผลผลิตของวิทยาศาสตร์จริง ๆ เท่านั้น เช่น วิธีการแก้สมการ ผลการทดลอง การค้นพบ เวลาทำการทดลองก็ทำกันตามหนังสือที่ให้มา โดยที่ก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร (แถมยังต้องหันไปถามเพื่อนข้าง ๆ อีกว่า มึง อาจารย์เขาให้ทำแบบนี้หรือเปล่า) รวมถึงการท่องจำ วิชาชีววิทยาที่เป็นวิชาที่สอนให้เราคิดผ่านกลไกของชีวิตยังถูกมองว่าเป็นวิชาท่องจำ ท่องจำ Taxonomy ต่าง ๆ มากกว่าการสอนให้เข้าใจกระบวนการคัดสรรโดยธรรมชาติ หรือ Natural Selection สิ่งพวกนี้ล้วนแต่เป็นแค่ “ขี้” ของกระบวนการคิดเท่านั้น
ในขณะที่กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ คือการสังเกต ตั้งคำถาม หาคำตอบ และตั้งคำถามต่อไปอีกไม่รู้จบ ซึ่งกระบวนการนี้คือสิ่งที่เป็น “วิมตินิยม” หรือ Skeptictism ซึ่งเป็นการสอนให้เราตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า ทำไม เพราะอะไร นี่คือวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่สมการของนิวตัน หรือ Taxonomy แต่มันคือกระบวนการคิด
เราเรียน Taxonomy เราเรียนสมการของนิวตัน ไม่ใช่เพื่อ “ให้รู้” แต่เพื่อให้ “เข้าใจ” ว่าการได้มาของความรู้ มันผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง ซึ่งทั้งหมดเกิดจากปรากฏการณ์ที่ Issac Newton เรียกว่า “บนบ่าของยักษ์ใหญ่” คือการที่เราศึกษาธรรมชาติต่อกันมาเรื่อย ๆ
วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่ต่อต้านความเชื่อ แต่เราพยายามเข้าใจมัน
Richard Feynman นักฟิสิกส์ระดับตำนานเคยเล่าไว้ใน บทสัมภาษณ์ ของเขาว่า เพื่อนของเขาเคยกล่าวหาว่าวิทยาศาสตร์คือศาสตร์ที่มองไม่เห็นความสวยงามของดอกไม้ แต่ Feynman ไม่คิดเช่นนั้น เขาบอกต่อว่าในขณะที่ศิลปินเห็นความสวยงามของดอกไม้ ตัวเขาเองก็เห็นเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ความสวยงามที่เขาเห็นมากกว่าแค่ภาพที่เห็นตรงหน้า แต่เขานึกถึงกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน กลไกทางชีววิทยา วิวัฒนาการ ของดอกไม้ บอกว่าที่ดอกไม้มีสีสันเพราะล่อแมลง แสดงว่าแมลงก็เห็นสีเหมือนเราน่ะสิ ทำไมนะ ทุกอย่างนำไปสู่คำถาม และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความสวยงามของดอกไม้ลดลงเลย
วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่ปราศจากความเชื่อ แต่วิทยาศาสตร์กลับพยายามเข้าใจมัน เข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงกลัว เข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงรู้สึกไม่ปลอดภัย เข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงอยากอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน เข้าใจว่าทำไมต้องมีศาสนา เข้าใจความทุกข์ที่เจ็บปวดมากที่สุด และเข้าใจความสุขที่เติมเต็มหัวใจ
ประเทศจะเจริญต้องเจริญด้วยกระบวนการคิด
ในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งประเทศไทยเองก็เจอแล้วหลายครั้ง รวมถึงกรณี Coronavirus ในปี 2020 สิ่งเหล่านี้ ยิ่งเป็นการตั้งคำถามกับเราว่า เราจะยังใช้ความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผลกันอยู่หรือเปล่า ? การใช้ความรู้สึกของเรา สร้างปัญหามากกว่าแก้ไขมันหรือเปล่า ?
และด้วยสิ่งนี้เองก็หวังว่ากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ในไทยจะถูกให้ความสำคัญ เริ่มต้นจากการศึกษา ต่อมาจนถึงการใช้เป็นแนวทางในการบริหารประเทศ เพราะสุดท้ายแล้วประเทศที่เจริญ (ในสังคมปัจจุบัน ไม่เอาแบบยุคกลาง อย่าทำตัวเหมือนยังไม่ผ่านพ้นยุคเรเรซองส์) ก็คือประเทศที่มองโลกในแบบที่มันเป็น และวิเคราะห์ตัดสินใจแก้ไขปัญหา โดยยึดเอาหลักมนุษยธรรม และการสร้างโลกที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติต่างหาก
ไม่ใช่แค่เรื่องของ Coronavirus แต่ปัญหาอย่างอื่นตั้งแต่ฝุ่นควัน, ภัยธรรมชาติ, เศรษฐกิจ ทั้งหมดต้องพึ่งพากระบวนการคิด ไม่ใช่แค่อำนาจที่สั่งการโดยไม่รู้อะไร ก่อนที่เราจะฉลาดได้เราต้องเลิกโง่ก่อน เพราะถ้าเราไม่เลิกโง่แล้วอยากจะฉลาด เราก็จะฉลาดทำแต่เรื่องโง่ ๆ เช่น อุโมงค์ฆ่าเชื้อ (และคน) เป็นต้น
ก็หวังว่าพวกเราจะหันมาพูดสิ่งที่จับต้องได้กันมากกว่านี้ ก่อนที่สายตาของเราจะสั้นลงเรื่อย ๆ จนมืดบอดมองไม่เห็นอะไรในที่สุด