รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์เป็นนักบินอวกาศ ทำไมนักวิทยาศาสตร์ควรเป็นเพื่อนชนชั้นปกครอง

ย้อนกลับไปในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หลายคนเห็นภาพของหญิงสาวร่างสูงดูสง่าเข้ามาร่วมงานในฐานะตัวแทนประเทศแคนาดา เราอาจจะนึกสงสัยว่าเธอผู้นั้นคือใคร เราเคยนำเรื่องของเธอ Julie Payette มาเล่าให้ฟังเมื่อนานมาแล้ว จริง ๆ เธอคืออดีตนักบินอวกาศ ที่ปฎิบัติภารกิจมากถึง 2 ภารกิจในช่วงที่ NASA ยังคงใช้กระสวยอวกาศในการเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ

ซึ่งสิ่งที่ Payetee ได้ทำนั้นก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากกับประเทศแคนาดา เนื่องจากแคนาดาคือประเทศเจ้าของเทคโนโลยีแขนกล Canadarm ที่ถูกติดตั้งกับสถานีอวกาศนานาชาติและยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน แสดงว่านอกจากความสามารถทางด้านวิศวกรรมและวัตถุแล้ว แคนาดายังมีบุคลากรที่เก่งและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เป็นสาเหตุที่เธอได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการสำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์มอนทรีออล์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการแบงค์ชาติของแคนาดา จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยตำแหน่งของเธอก็คือ Governor General

Payetee ขณะเข้ารับตำแหน่ง Governor General ที่มา – pm.gc.ca

สิ่งนี้นำมาซึ่งคำถามที่ว่า ทำไมเธอถึงได้คู่ควรแก่บทบาทในการบริหารประเทศและได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งใหญ่โต ?

แม้เราจะคิดว่าการได้นั่งตำแหน่งใหญ่โตนั้นไม่เห็นจะแปลกอะไร ในเมื่อต่อให้ไม่ใช่เธอ ก็คงต้องเป็นคนอื่นอยู่ดี แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่าการที่ถูกเลือกให้มานั่งตำแหน่งใหญ่โตนั้น มาจากผลงานที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ ของเธอ คือการเป็นนักบินอวกาศและความเข้าใจต่อปัญหาในประเทศเช่นภาวะโลกร้อน การลี้ภัยเข้าเมืองและปัญหาความยากจน

จะสังเกตว่ากรณีของ Payette นั้นแปลว่าในการแต่งตั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เธอรู้และเข้าใจ มากกว่าเส้นทางในเชิงนามธรรมเช่น เคยเป็นรองมาก่อน จึงได้มาเป็นตำแหน่งใหญ่ เคยนั่งกระทรวงนี้มาก่อนจึงได้มานั่งกระทรวงนี้ เคยช่วยนายกมาก่อนถึงได้มานั่งเก้าอี้นี้

กรณีของ Payette นั้นบางส่วนก็เกิดจาก Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีของประเทศแคนาดาซึ่ง พยายามผลักดันวิทยาศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง Trudeau และ Payette ก็ได้พูดสิ่งที่ไม่เข้าหูกับกลุ่ม Conservative ซึ่งไม่ต้องเดาว่า โดนด่ายับเหมือนกัน

ยังมีนักวิทยาศาสตร์และนักบินอวกาศอีกหลายคนที่สุดท้ายแล้วได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารประเทศ เช่นกรณีของ Pedro Duque ปัจจุบันเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศสเปน และ Marcos Pontes นักบินอวกาศชาวอเมริกาใต้คนแรกของโลก ซึ่งในปี 2018 ได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ของประเทศบราซิล

หลังจากการเลือกตั้งในประเทศไทยที่ถูกเป็นที่พูดถึงในเชิงลบในแง่ของสูตรคำนวนต่าง ๆ และการประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพลังประชารัฐพรรคการเมืองที่ย้ายมาจากกลุ่มก้อนอำนาจที่ทำรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน ล่าสุดก็ได้มีการประกาศรายชื่อของรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ ซึ่งคงไม่ต้องให้บอกว่าถูกวิจารณ์แหลกว่าเป็นการเลือกคนมาในแบบที่ไม่ได้สนตามความรู้ความสามารถ

สิ่งนี้นำมาซึ่งคำถามว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงเลือกที่จะเอาบุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถในเชิงประจักษ์มาเป็นผู้บริหารประเทศ ตัวนี้คงตอบไม่ยากเนื่องจากสังคมไทยตอนนี้ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดแบบ Authoritarianism สูงมาก (แนวคิดเกี่ยวกับผู้ปกครองที่คนจะชื่นชอบผู้ปกครองที่เฉียบขาด และมีอำนาจสั่งการ)

จริง ๆ แล้วสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสำคัญไม่ใช่การที่อาชีพอะไรมาเป็นผู้บริหารประเทศ แต่คือการที่ผู้บริหารประเทศไม่ได้ถูกเลือกมาจากอำนาจหรือ Authoritarianism ที่บอกว่าฉันปกครองเธอได้ดีกว่า ปลอดภัยกว่า แต่ถูกเลือกมาจากผลงานและวิธีการคิด หรืออย่างน้อยก็มีความเชื่อว่าปัญหาจะถูกแก้ได้ด้วยการคิดตามหลักเหตุผล ไม่ใช่การออกนโยบายหรือการใช้อำนาจ

Scientocracy การเมืองที่เป็นวิทยาศาสตร์

มีแนวคิดที่ชื่อว่า Scientocracy ซึ่ง Peter Ubel นักจิตวิทยาได้เขียนบทความที่ชื่อว่า Scientocracy: Policy making that reflects human nature อธิบายว่าแนวคิดเรื่องของการเมืองที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่การเมืองที่มีนักวิทยาศาสตร์มาบริหารประเทศ แต่เป็นการเมืองที่ informed by scientists หรือถูกให้ข้อมูลต่าง ๆ ในเชิงวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเราย้ำกันไปหลายรอบแล้วว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่องค์ความรู้ แต่เป็นวิธีคิด กระบวนการคิด) เพราะสุดท้ายแล้ว เราจะพบว่าการเมืองในปัจจุบันถูกพูดคุยกันด้วยคำถามแนว ๆ ว่า “เราควรปล่อยให้ผู้อพยพเข้าประเทศไหม” หรือ “ควรมีกฏหมายควบคุมปืนเพื่อลดอาชญากรรมไหม” หรือเวลาจะสร้างเขื่อนทีก็จะถามว่า “ควรสร้างหรือไม่ควรสร้างเพราะเป็นการทำลายป่า” ไม่แปลกใจที่สุดท้ายเรื่องพวกนี้จะเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบ แม้ว่ามันจะดูเหมือนเป็นการใช้เหตุผล เช่น กรณีผู้อพยพ ฝั่งหนึ่งอาจจะยกข้อดีมามากมาย อีกฝั่งอาจจะยกข้อเสียมามากมาย ซึ่งยิ่งเจอข้ออ้างของฝั่งตรงข้ามการเมืองแบบนี้ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นจนสุดท้ายเหลือแค่ว่าเอาฝั่งตัวเองชนะแล้วก็ตอบไม่ได้ว่าสุดท้ายเราเถียงกันเพราะอะไร

Ubel บอกว่าสิ่งที่มันควรจะเป็นสำหรับการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การมาถามว่า “เราควรปล่อยให้ผู้อพยพเข้าประเทศไหม” แต่ควรพูดคุยกันว่า “การที่ปล่อยผู้อพยพเข้ามาจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศในเชิงไหนบ้าง” หรือกรณี “ควรมีกฏหมายควบคุมปืนเพื่อลดอาชญากรรมไหม” เป็น “กฏหมายควบคุมปืนช่วยในการลดอาชญากรรมหรือเปล่า” ซึ่งจะเห็นว่า วิธีการคิดและตั้งคำถามมันเป็นเชิงวิทยาศาสตร์มาก ๆ สุดท้าย เราอาจจะไม่ได้เหตุผลที่ฟันออกมาว่าควรหรือไม่ควร ต้องเอาหรือไม่เอา แต่สิ่งที่เราจะได้คือความรู้และวิธีคิด ซึ่งเราจะสามารถสร้าง condition ในแบบที่มันควรจะเป็นได้ โดยไม่ใช่การเลือก แต่เป็นการสร้าง สิ่งนี้ควรจะเป็นกระบวนการนิติบัญญัติ หรือร่างกฎหมาย

เราจะเห็นความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ในโลกซึ่งพบว่ามันเกิดจากการที่เราขาดกระบวนการคิดที่ดี ยกตัวอย่างเช่นกรณี Brexit ซึ่งเกิดจากการที่ว่าจะออกหรือจะไม่ออกจาก EU สุดท้ายแล้วตอนนี้ที่เถียงกันไม่จบเพราะไม่รู้ว่าใครมีอำนาจในการตัดสิน แล้วมีอำนาจในการทำประชามติไหม ก็เลยเถียงกันด้วยการยกกฎหมายมากมายมาอ้าง กินระยะเวลาหลายเดือน เพราะตอนนี้ Goal ไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาประเทศอีกต่อไป แต่อยู่ที่การหาหลักฐานมายันกันว่าจะออกหรือไม่ออกเพื่อการเอาชนะ

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ยังคงถูกมองให้เป็นหนึ่งในนโยบายหรือ Policy ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว วิทยาศาสตร์นั้นคือวิธีและกระบวนการคิด ซึ่งมันใช้อธิบายการเมืองได้

วิทยาศาสตร์กับชนชั้นปกครองในอดีต

ใครที่ชอบอ่านประวัติศาสตร์จะรู้ว่าจริง ๆ แล้ว การปกครองนั้นเป็นรูปแบบของ Authoritarianism มาตลอด จนถึงยุค Renaissance ที่เริ่มฟื้นฟูศิลปต่าง ๆ ศาสนามาอิทธิพลน้อยลง นักวิทยาศาสตร์จากที่เคยถูกจับไปเผา กลายมาเป็นมิตรของชนชั้นปกครองไปซะงั้น เวลาผ่านไปมีการตั้ง Royal Society (ที่สมาชิกนักวิทยาศาสตร์ที่เรารู้จักกันดีเช่น Issac Newton) หรือในไทยก็มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 มี Giovanni Cassini เป็นที่ปรึกษา ชนชั้นปกครองเริ่มต้นเห็นว่าการมีนักวิทยาศาสตร์อยู่ใกล้ตัวนั้นมีประโยชน์

ในสังคมประชาธิปไตย (จริง ๆ ไม่ใช่แบบไทย) อำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของชนชั้นสูงอีกต่อไป แต่เป็นของประชาชน เป็นของสังคม เลยต้องถามว่า แล้วสังคมเรามีเพื่อนเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วหรือยัง ?

สุดท้ายการเมืองควรแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหาเพิ่ม

ทีนี้ย้อนกลับมาตอบคำถามที่เราทิ้งไว้ตั้งแต่แรกว่า ทำไมคนอย่าง Payetee หรือ Duque คู่ควรแก่บทบาทในการบริหารประเทศ ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นนักบินอวกาศ แต่เพราะว่า เขามีโอกาสที่จะได้เห็นปัญหา และเข้าใจธรรมชาติของปัญหาที่เขากำลังจะเข้ามาแก้ (เราไม่สามารถบอกได้ว่าสรุปแล้ว Payetee ทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่ แต่วิธีการคิดในเรื่องการนำบุคคลที่มีประสบการณ์และเข้าใจในวิทยาศาสตร์เข้ามานั้นน่าจะช่วยได้เยอะ)

ดังนั้นไม่ว่าจะมี Authoritarianism มากขนาดไหน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่จะปกป้องเราได้นั้น ไม่ใช่แค่นโยบายที่เข้มแข็งหรือรัฐบาลที่มีอำนาจในเชิงปกครอง หรือการแต่งตั้งบุคคลที่สร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง แต่เกิดจากการรู้และเข้าใจธรรมชาติในแบบที่มันเป็น หรือสิ่งที่เรียกว่า Informed Society หรือก่อนหน้านั้นเราก็ควรจะมี Informed Government ก่อน

แม้กระทั่งในไทยเองผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่า วิทยาศาสตร์ในไทย ถูกใช้เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ​มากกว่าจะเป็นการ Inform ตัวรัฐว่าควรจะดำเนินนโยบายไปทางไหน พูดง่าย ๆ ก็คือ Science Driven by Government ไม่ใช่ Government Driven by Science

สุดท้ายทิ้งท้ายไว้ว่าวิทยาศาสตร์นั้นคือการพยายามเข้าใจและเรียนรู้ Issac Newton ไม่ได้ค้นพบแรงแรงดึงดูดจากการมองท้องฟ้าหรือขึ้นไปอยู่บนอวกาศ แต่เกิดจากการทำความเข้าใจการร่วงหล่นของวัตถุสู่พื้นดิน ทุกวันนี้สิ่งที่ Newton คิด พาเราขึ้นไปบนท้องฟ้าได้ ไม่ได้เกิดจากการมองท้องฟ้า แต่เกิดจากการมองพื้นดินและทำความเข้าใจมัน ก็หวังว่าเราจะมี Informed Government ที่พยายามเข้าใจปัญหาด้วยการก้มลงมามองที่ปัญหาจริง ๆ มากกว่าการให้ความสำคัญกับการร่างนโยบายที่เป็นเพียงนามธรรม

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.