JPL หน่วยงานหนึ่งเดียวที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดดาวอังคารได้สำเร็จ นับตั้งแต่ความสำเร็จของยาน Viking-1 ในปี 1976* ดาวอังคารก็กลายเป็นดาวเคราะห์สุดหินที่ไม่ว่าจะใครก็ล้วนแต่ไม่สามารถพิชิตได้ แม้กระทั่ง NASA และ JPL เอง พวกเขาก็ยังทำสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ยกตัวอย่างการลงจอดที่ผิดพลาดของยาน Mars Polar Lander ที่ล้มเหลวในปี 1999 และความพยายามในการลงจอดยาน Exo Mars Lander ของ ESA ในปี 2016 ที่ยาน Schiaparelli ลงจอดแบบเละไม่เหลือชิ้นดีบนผิวของดาวอังคาร
*สหภาพโซเวียตเคยส่งยาน Mars 3 ไปในปี 1971 ซึ่งลงจอดสำเร็จ แต่สัญญาณขาดหายไปเวลาแค่ 110 วินาทีหลังการลงจอด จึงนับว่าเป็นภารกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ
เช้าของวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 ตามประเทศไทย จีนได้ทำลายสถิติดังกล่าว โครงการ Tianwen-1 ของจีน นับเป็นความพยายามครั้งแรกในการลงจอดบนดาวอังคารของจีน ก่อนหน้านี้ จีนไม่เคยมีภารกิจสำรวจดาวอังคารด้วยยานของตัวเองมาก่อน และไม่เคยลงจอดสำเร็จบนดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกจากโลก ทำให้ Tianwen-1 เป็นที่จับตามองของวงการอวกาศโลก ต้องยอมรับว่าจีนนั้น กล้าและบ้าพอที่จะเลือกให้โครงการ Tianwen-1 ประกอบไปด้วยทั้ง Orbitor หรือยานแบบโคจรรอบ ยานแบบ Lander ที่ไปลงจอดบนพื้นผิว และยาน Rover ที่เป็นรถวิ่งออกมาจากยาน Lander ทั้งหมดนี้ มีเพียงแค่ JPL จาก NASA เท่านั้นที่เคยทำได้สำเร็จ
การลงจอดของยาน Zhurong
จุดที่ Tianwen-1 ลงจอดคือพิกัดบริเวณ 109.7°E, 25.1°N ของดาวอังคาร เราเรียกบริเวณนั้นว่า Utopia Planitia ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่ยาน Viking 2 ของ JPL เคยไปลงจอดในปี 1976
Tianwen-1 เดินทางถึงดาวอังคารในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021 และสร้างประวัติศาสตร์ให้กับจีนในการเข้าสู่วงโคจรสำเร็จ ก่อนที่ตัว Lander จะแยกตัวออกมาเพื่อทำภารกิจเตรียมลงจอด
Zhurong เดี่ยว ๆ มีน้ำหนัก 240 กิโลกรัม (ยาน Curiousity มีน้ำหนัก 899 กิโลกรัม และ Perseverance หนัก 1025 กิโลกรัม) ทำให้เมื่อเทียบขนาดแล้ว Tianwen-1 Zhurong ไม่ได้ใหญ่มากนัก เมื่อยาน Tianwen-1 ลงจอด มันมีแผนการที่จะปล่อยตัว Zhurong ออกมาวิ่งเล่นบนดาวอังคารไม่กี่วันหลังจากลงจอด
การลงจอดของยานนั้นนับว่าเป็นวิธีที่ NASA เองใช้กับยานสำรวจดาวอังคารยุคแรก ๆ อย่างยาน Viking, Pheonix เพราะมีน้ำหนักไม่มากนัก สามารถใช้จรวดช่วยประคองลงจอดได้ เกือบจะเป็นยานที่เบาที่สุดที่เคยส่งไปลงจอดบนดาวอังคาร (เป็นรองแค่ยาน Beagle 2 ที่ลงจอดล้มเหลวในปี 2003 แม้จะมีน้ำหนักแค่ 33 กิโลกรัม) การลงจอดแบบนี้ใกล้เคียงกับโครงการ ExoMars ของยุโรป คือใช้ตัว Lander รองไว้ด้านล่าง แล้วเอา Rover ไว้ด้านบน
การลงจอดของ NASA ในรอบของ Rover Spirit และ Opportunity (2004) ที่มีน้ำหนักมากขึ้นใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไป โดยน้ำหนักของตัวยาน 185 กิโลกรัม ก็จริงแต่ชุดลงจอดหนักถึง 209 กิโลกรัม และต้องใช้การลงจอดแบบบอลลูนคือพองลมออกเพื่อลดแรงกระแทก เป็นวิธีการลงจอดที่ใหม่และดูแปลกตาในยุคนั้น ก่อนที่ในปี 2012 ยาน Curiosity จะใช้การลงจอดแบบ Sky Crain คือการค่อย ๆ หย่อนตัวยานลงมาจากจรวดช่วยพยุง เพื่อไม่ให้ฝุ่นจากเครื่องยนต์จรวด ไปตกใส่ตัวยานจากการอยู่ใกล้พื้นเกินไป
อย่างไรก็ตาม เราไม่เจอข้อมูลว่ายาน Zhurong รวมกับตัวชุด Lander จะมีน้ำหนักเท่าไหร่ ทาง Nature ได้ทำบทคามชื่อ China has landed its first rover on Mars — here’s what happens next อธิบายการทำงานของตัว Zhurong บอกว่าประกอบไปด้วย กล้องถ่ายภาพในย่านคลื่นต่าง ๆ, อุปกรณ์ตรวจสภาพอากาศ, Magnetometer และอุปกรณ์ Sensor ที่ค่อนข้างปกติสำหรับยานอวกาศ พวก Radar, Spectrometer ต่าง ๆ นับว่าค่อนข้างอเนกประสงค์ ไม่ได้มีอะไรหวือหวาเหมือน MOXIE และ Instrument ต่าง ๆ บน Persevereance
ข้อมูลหลังจากการลงจอดไม่ได้ออกมามากนักตามสไตล์จีน รวมถึงทีวีของจีนเองก็ไม่ได้ถ่ายทอดสดการลงจอด เรียกได้ว่าเป็นการลงจอดเงียบ ๆ แต่มี ข้อความจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมา สามารถแปลได้ประมาณว่า นับเป็นความสำเร็จที่ก้าวกระโดดจากการเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์ (ภารกิจฉางเอ๋อ) ไปสู่การเดินทางระหว่างดาวเคราะห์โดยทิ้งร่องรอยของจีนไว้บนดาวอังคาร เป็นความสำเร็จอีกก้าวในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศของจีน
สี ยังบอกอีกว่า การสำรวจครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จนการสำรวจความลึกลับของจักรวาลที่จะส่งเสริมสันติภาพและพัฒนาองค์ความรู้ของมนุษยชาติ
สื่อ The New York Times ได้รายงานการลงจอดของ Tianwen-1 ในบทความ China’s Mars Rover Mission Lands on the Red Planet ได้อิงความเห็นต่าง ๆ จากฝั่ง NASA มารางงาน Thomas Zurbuchen Associate Administrator for the Science Mission ของ NASA ได้ทวีตผ่าน Twitter บอกว่า เขายินดีกับความสำเร็จของ CNSA และทีม Tianwen-1 และหวังว่าจะเกิดความร่วมมือในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และงานวิจัยเพื่อประโยชน์ให้กับโลก
จีนกับสหรัฐฯ ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างการสำรวจอวกาศนั้น เรียกได้ว่าติดลบ จีนถูกแบนออกจากการเป็นสมาชิกของโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่การสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ ไปจนถึงการกลับสู่ดวงจันทร์ในโครงการ Artemis ทำให้จีนและรัสเซียต้องกลับมาจับมือกันในโครงการสำรวจดวงจันทร์ และจีนก็ต้องเร่งสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ของตัวเอง ซึ่งเป็นสถานีอวกาศถาวร รองรับภารกิจการเดินทางในอนาคต
ข้อมูลวิทยาศาสตร์จากทางฝั่งจีนนั้นออกมาให้เราเห็นค่อนข้างน้อย ส่วนมากจะเป็นการเผยถึงความสำเร็จในการสร้างหรือค้นพบอะไรบางอย่างมากกว่าการแชร์ความรู้ในลักษณะข้อมูล ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่าจีนจะประกาศข่าวความสำเร็จอะไรจากโครงการ Tianwen-1 บ้าง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co