อังกฤษกำลังซื้อดาวเทียมแบบงง ๆ หลังต่อลมให้ One Web หวังที่ยืนหลัง BREXIT

ณ ปัจจุบัน การได้ครองเทคโนโลยีอวกาศนับเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชาติมหาอำนาจ และหนึ่งในเทคโนโลยีอวกาศที่นิยมครอบครองกันก็คือระบบดาวเทียมนำหน หรือ Navigation Satellite ซึ่งเรารู้กันดีว่าหลังจากที่สหรัฐเปิดให้ใช้ GPS ได้ฟรีทั่วโลก ความนิยมและประโยชน์การใช้งานของมันก็ผลักดันให้แต่ละประเทศสร้างดาวเทียมในรูปแบบกันมาเพื่อใช้งาน เช่น GLONASS ของรัสเซีย หรือ Galileo ที่นำโดยสหภาพยุโรป หรือ QQZSS ที่นำโดยญี่ปุ่น ล่าสุด จีนก็เพิ่งประสบความสำเร็จในการส่ง BeiDou ขึ้นครบและเริ่มต้นใช้ระบบนำหนของตัวเอง ความซวยของอังกฤษอยู่ตรงที่ว่า แต่เดิมนั้นอังกฤษลงทุนไปเยอะอยู่กับโครงการ Galileo ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสหภาพยุโรป แต่พออังกฤษออกจากสหภาพยุโรป นั่นก็หมายความว่าอังกฤษจะเสียสิทธิ์ในผลประโยชน์ของ Galileo ทั้งในแง่ของนิติบัญญัติ การสร้างนโยบาย รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจในทางอวกาศ

ลักษณะการทำงานของดาวเทียมนำหน อย่าง GPS หรือ Galileo

การถ่วงดุลอำนาจที่ว่าก็เช่นเมื่อเกิดศึกสงครามหรือการคว่ำบาตร เทคโนโลยีการนำทางนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ และกระทบต่อธุรกิจหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การบิน การคมนาคม จนถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือทั่วไป ยังไม่นับรวมการ Sync เวลามาตรฐานกับดาวเทียม ที่เป็นสิ่งที่บอกว่าการเป็นประเทศมหาอำนาจนั้นจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทควบคุมดาวเทียมนำหนอย่างน้อยหนึ่งหรือสองกลุ่มในหยิบมือ

ในขณะเดียวกัน วิกฤติโคโรนาไวรัสก็ทำให้บริษัทดาวเทียม One Web ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างกลุ่มดาวเทียมให้บริการอินเทอร์เน็ตรอบโลก คล้าย ๆ กับ Starlink นั้นอกหักจาก SoftBank บริษัท Holding ในฝั่งเทคโนโลยีและโทรคมนาคมใหญ่จากญี่ปุ่น และ Airbus ที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและลงทุนสำคัญในโครงการ ทำให้ One Web นั้นเข้าสู่การประกาศล้มละลาย และจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อเอาตัวรอด BBC รายงานอย่างตรงไปตรงมาว่า OneWeb blames pandemic for collapse หรือโคโรนาไวรัสนั้นคือต้นเหตุที่ทำให้ One Web นั้นล้มละลายนั่นเอง (ปัจจุบัน One Web ปล่อยดาวเทียมไปแล้ว 74 ดวง และมีตารางปล่อยที่รออยู่เยอะพอสมควร)

ดาวเทียม One Web ที่รอการปล่อยจากฐานการผลิตของ Airbus ที่มา – One Web/Airbus

เมื่อประเทศมหาอำนาจที่ต้องการดาวเทียม และบริษัทดาวเทียมที่กำลังจะล้มละลาย มาเจอกันท่ามกลางวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ และช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของโลก ดีลสำคัญก็ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อรัฐบาลอังกฤษจากรายงานของ BBC ประกาศลงทุนใน One Web ด้วยเงินถึง 400 ล้านยูโร หรือประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาท คู่กับ Bharti Global บริษัทจากประเทศอินเดีย ซึ่ง Bharti Global จะดูการบริหารจัดการ ในขณะที่อังกฤษจะขอย้ายฐานการผลิตดาวเทียมมาไว้ที่อังกฤษเองจากเดิมที่ตั้งอยู่ที่สหรัฐฯ

รายงานจาก BBC – UK government takes £400m stake in satellite firm OneWeb

ปัญหาของการลงทุนในดาวเทียม One Web

เป็นเช่นนี้ เมื่อฟังดูแล้วก็อาจจะเข้าท่า แต่ในความเป็นจริงมันซับซ้อนกว่านั้น One Web เป็นดาวเทียมที่ใช้การส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณ KU Band เป็นหลัก ลักษณะการใช้งานจะเป็นไปในทางการการให้ข้อมูลสัญญาณแบบ Singledirectional คือการยิงรับส่งกันตรง ๆ ระหว่างเครื่องปล่อยกับเครื่องรับ ในขณะที่ระบบดาวเทียมนำหน หรือ Navigation Satellite นั้นจะใช้เสา L band ในลักษณะของ Omnidirectional หรือกระจายคลื่นไปในทุกทิศทาง (เพราะในการ Triangulation สัญญาณเพื่อระบุตำแหน่งจำเป็นต้องใช้แกนหลายแกน) นั่นหมายความว่า One Web ไม่สามารถให้บริการนำหนได้ยกเว้นว่าจะต้องมีการปรับแต่งหรือปรับปรุงโครงสร้างเดิมของตัว One Web ซึ่งนั่นยังไม่ใช่โจทย์ยากโจทย์เดียว แต่ยังมีอีกหลาย ๆ อย่างมากที่ฟังดูไม่ Make Sense ทั้งในทางวิศวกรรมและในทางเศรษฐศาสตร์

  • ดาวเทียม One Web จำเป็นต้องติดตั้งเสาสัญญาณแบบ Omnidirectional สำหรับการให้บริการนำหน แบบ GPS หรือ Galileo ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องออกแบบ One Web ใหม่ ซึ่งฟังดูเหมือนจะง่าย แต่การรื้อดาวเทียมที่ออกแบบไว้แล้วนั้นไม่ง่ายเลย
  • ดาวเทียม One Web ใช้วงโคจรแบบ Low Earth Constellation คือการโคจรในวงโคจรต่ำของโลก ซึ่งออกแบบมาสำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณที่ใกล้โลกเพื่อลด Latency และมีระยะห่างต่อดาวเทียมที่ใกล้กัน ทำให้ดาวเทียมแต่ละดวงสื่อสารกันเองได้ ซึ่งดาวเทียมนำหน โคจรจะไม่ต้องการฟีเจอร์นี้ เพราะมัน Sync กันด้วยนาฬิกาอะตอมอยู่แล้ว
  • ดาวเทียมแบบ GPS หรือ Galileo อยู่ในวงโคจรที่ห่างออกไปมาก เพื่อพื้นที่การให้บริการที่ครอบคลุม และเสาสัญญาณแบบ L band นั้น ส่งสัญญาณแบบไกล ๆ อ่อน ๆ ก็ใช้ได้แล้ว หรือ BeiDou ของจีน ที่จีนโชว์เหนือด้วยการเอาไปวางไว้ใน วงโคจรแบบลากรางจ์ ด้วยซ้ำ
  • ยังไม่มีการประเมินตัวเลขที่ชัดเจนในการปรับปรุง แต่ฟังดูยังไงก็ไม่คุ้ม

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เราไม่ได้คิดเองด้วย แต่ Bleddyn Bowen นักวิชาการด้านนโยบายกิจการอวกาศจาก University of Leicester ก็ได้มาให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ยังพูดเพิ่มเติมถึงเรื่องความปลอดภัย การเข้ารหัส การออกแบบระบบ Subsystem ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ง่ายเลยในการเปลี่ยน One Web ให้มาเป็น GPS

ภาพการทำงานแบบ Low Earth Constellation ของ One Web ที่มา – One Web/Airbus

ทั้ง BBC และ The Guardian สื่อฝ่ายซ้ายที่รักของเราก็ยังไม่ได้บอกว่ารัฐสภาอังกฤษไปประชุมกันท่าไหนถึงได้มีมติแบบนี้ออกมา ซึ่งถามว่า ในการลงทุนใน One Web จะช่วยให้อังกฤษสร้างงานสร้างอาชีพได้ไหม คำตอบก็คือใช่ ถามว่าจะช่วงให้อังกฤษสร้างดาวเทียมของตัวเองได้และให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ไหม คำตอบก็คือได้ แต่ถ้าพูดกันในแง่ของการถ่วงดุลอำนาจทางระบบดาวเทียมนำหน One Web จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรได้ขนาดนั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าโครงการ One Web ถูกปรับให้มาใช้งานเป็นดาวเทียมนำหนสำเร็จ มันก็จะกลายเป็นดาวเทียมแบบ Low Earth Orbit Constellation ชุดแรกที่ให้บริการนำทางได้ ซึ่งก็จะแปลกใหม่ไปอีกแบบ

Giles Thorne นักวิเคราะห์อีกรายก็ยังออกมาบอก The Guardian และทำให้ The Guardian ต้องพาดหัวข่าวออกมาแรง ๆ อีกข่าวว่า ‘We’ve bought the wrong satellites’: UK tech gamble baffles experts หรือเราซื้อดาวเทียมผิดดวง

ปัญหาความไม่เข้าใจอวกาศของรัฐบาล

เราก็ยังยืนยันไม่ได้อยู่ดี อาจจะต้องรอติดตามข่าวกันว่าทำไมอังกฤษถึงเลือกที่จะลงทุนในสิ่งที่ไม่ Make Sense อย่างดาวเทียม One Web โดยมีการให้เหตุผลแปลก ๆ ที่แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศเองออกมาค้าน และมองว่าเป็นการซื้อดาวเทียมผิดประเภทด้วยซ้ำ

สิ่งที่ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับดาวเทียมของประเทศไทยหลาย ๆ ดวง รวมถึงกรณีล่าสุดที่กองทัพอากาศเลือกที่จะลงทุนในดาวเทียมนภา-1 ซึ่งเราคงได้มีโอกาสเล่ารายละเอียดหลาย ๆ อย่างให้ฟังในเร็ว ๆ นี้

ปกติแล้วการกำหนดนโยบายด้านอวกาศนั้นจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจเป็นอย่างมาก จริงอยู่ที่ว่าการดำเนินยโยบายต่างประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าพูดถึงกันในเชิงความคุ้มค่าแล้ว การลงเงินหลักพันล้านไปกับเทคโนโลยีที่อาจจะใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือซื้อมาก็ต้องซื้อนู่นนี่ตามมาอยู่ดีอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับการทำงานอวกาศซักเท่าไหร่

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.