ความสัมพันธ์ทางอวกาศภายใต้วิกฤตการณ์ยูเครน

เป็นที่ทราบกันดีถึงความรุนแรงของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อวงการอวกาศในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ในด้านการที่จีนถูกแบนออกจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ จนกระทั่งในช่วงล่าสุดที่รัสเซียเริ่มถอยตัวออกจากการความร่วมมือการสำรวจอวกาศกับทางฝั่งที่ดูเหมือนจะคาบเกี่ยวกับอเมริกามากขึ้น ที่เริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่การถอนตัวออกจากโครงการ Lunar Gateway ความร่วมมือในการสร้างสถานีอวกาศระหว่างประเทศแห่งใหม่ที่ถูกวางไว้ให้เป็นสถานีอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ โดยในปี 2020 ที่ Roscosmos ประกาศออกจากโครงการ Lunar Gateway นั้น Dmitry Rogozin ผู้อำนวยการของ Roscosmos ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการ Lunar Gateway อีกด้วยในแง่ว่ามันเป็นโครงการที่ US-Centric เกินไป ไปจนถึงการประกาศความร่วมมือกับจีนในการสร้าง International Lunar Research Stattion แทนฝั่งอเมริกา

อ่านเพิ่มเติม: CNSA และ Roscosmos ร่วมมือ ประกาศสร้าง International Lunar Research Station บนดวงจันทร์

ภาพจำลองโครงการ Lunar Gateway – ที่มา NASA

จะเห็นได้ว่าวงการสำรวจอวกาศได้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยได้แบ่งออกเป็นฝั่งสหรัฐอเมริกา รวมกับผู้เล่นใหญ่อย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และแคนาดา ร่วมกับอีกหลายประเทศอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ Artemis Accord และฝั่งรัสเซียที่ร่วมมือกับจีนสร้างโครงการอย่าง ILRS ขึ้นมา จนสื่อและนักวิเคราะห์อีกหลายเจ้าได้มองว่าการแบ่งขั้วของการสำรวจอวกาศครั้งนี้ อาจกลายเป็น Space Race ครั้งใหม่ ที่จะเกิดเหตุการณ์มากมายเกี่ยวกับวงการอวกาศขั้นในทศวรรษนี้ และจะสะท้อนภาพของปัญหา Geopolitics ที่กลับมารุนแรงชัดเจนอีกครั้งในปัจจุบันในยุคหลังสงครามเย็น โดยมีขั้วอำนาจใหม่อย่างจีนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โดยนัยยะหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการที่เกิดขึ้นมาจากทั้งสองฝ่ายคือทั้งคู่ต่าง “เคลม” ความเป็นงาน International ของตัวเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วก็เห็นได้ชัดว่ามันคือการแบ่งฝ่ายอำนาจ ภายใต้แรงกดดันแกมบังคับที่ทำให้ประเทศเล็ก ๆ ต้องเลือกข้าง ซึ่งก็มีนัยยะถึงการแสดงออกจุดยืนของประเทศนั้น ๆ ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศโดยตรง (ส่วนของไทยก็ยังไม่ได้ชัดเจนกับการเลือกข้างในสถานการณ์นี้สักเท่าไหร่ ทั้งการที่ยังไม่ได้เซ็น Artemis Accord และยังไม่ได้เข้าร่วมกับ ILRS อย่างเป็นทางการ — แต่ก็มีการแสดงความสนใจต่อทั้งสองข้าง ซึ่งก็สร้างความปวดหัวให้กับหลายฝ่ายไม่น้อย)

ภาพจำลอง International Lunar Research Station – ที่มา Roskosmos

การบุกยูเครนของรัสเซียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเปรียบได้เหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาที่แสดงออกถึงการแบ่งฝ่ายของทั้งสองขั้วอำนาจมากขึ้นไปอีก ซึ่งก็เป็นที่จับตามองอีกเช่นกันถึง appraoch ของทั้งสองฝ่ายต่อเรื่องนี้ ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็จะสะท้อนออกมาในความร่วมมือปัจจุบันของทั้งสองฝ่ายอย่างสถานีอวกาศนานาชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม: ความร้าวฉานในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต ที่สะท้อนผ่านโครงการอวกาศ

ทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี Joe Biden ได้แถลงต่อสื่อเรื่องการ Sanction รัสเซียจากการบุกยูเครนนี้ โดยได้มีใจความสำคัญในแง่ของการตัดความช่วยเหลือและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเงิน การส่งออกนำเข้าสิ่งของ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ไบเดนยังได้เน้นย้ำว่าการ Sanction ครั้งนี้ ที่มีมาตรการการควบคุมการแลกเปลี่ยนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี จะทำลายความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการบินรวมไปถึงงานด้านอวกาศของรัสเซีย

The White House: FACT SHEET: Joined by Allies and Partners, the United States Imposes Devastating Costs on Russia

Address ของ Biden ในกรณีการบุกยูเครน โดย Biden ได้พูดถึงการตัดการส่งออกเทคโนโลยีไฮเทคให้รัสเซียมากกว่าครึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัสเซีย ในช่วงประมาณนาทีที่ 5 – ที่มา CNBC

หลังจากนั้นไม่นาน Rogozin ได้ออกมาแถลงตอบโต้แถลงการณ์ของฝั่งสหรัฐฯ ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวในหลากหลายประเด็น ตั้งแต่มาตรการการแบนของสหรัฐอเมริกา วิพากษ์วิจารณ์ความพยายามในการทำลายการแข่งขันของอุตสาหกรรมจรวด รวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานีอวกาศนานาชาติ โดย Rogozin ได้ออกมากล่าวว่า thuster ของ ISS ถูกควบคุมโดย module ฝั่งรัสเซีย ซึ่งถ้าหากสหรัฐอเมริกา (และประเทศพันธมิตร) ต้องการจะตัดขาดจากการดำเนินงานของ Roscosmos จริง ๆ * ISS ก็จะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของสถานีได้ ซึ่งก็จะนำไปสู่การ deorbit ของตัวสถานี

(*) เรื่องการทำงานของ ISS อาจจะต้องมาอธิบายเพิ่มเติมกันอีกสักหน่อย โครงสร้างของสถานีอวกาศนานาชาติประกอบขึ้นจาก Node เล็ก ๆ ต่อเข้าด้วยกันด้วย mount เชื่อมต่อ อย่างเช่น Node 1 ของสหรัฐอเมริกา (Unity) ถูกประกอบกับโมดูลแล็บ Destiny, Node 3 (Tranquility) และโมดูล Zarya ของฝั่งรัสเซีย โดยแต่ละ Node ก็จะมีหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่นบาง Node ก็ถูกใช้เป็นห้องทดลอง ขณะที่บาง Node ก็ถูกใช้สำหรับพักอาศัยและเก็บของ ซึ่งถึงแม้ ISS จะเป็นความร่วมมือกัน แต่ configure ของสถานีที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงแล้ว ก็ยังสามารถมองแยกเป็น section ของฝั่งสหรัฐฯ และรัสเซียได้อย่างชัดเจน

ความซับซ้อนของประเด็นนี้มันเกิดขึ้นจากการที่ระบบบางอย่างบนสถานีนั้นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน อย่างเช่นเรื่องของ thruster ที่ไว้ปรับวงโคจรของสถานีไม่ให้ deorbit มีอยู่แค่เฉพาะในฝั่งของสหรัฐฯ เท่านั้น หรือที่รัสเซียต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากฝั่งสหรัฐ เพราะโมดูลฝั่งรัสเซียไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากพอในการคงสภาพตัวเอง และการที่แต่ละฝั่งจะสามารถพัฒนาเครื่องมือของฝั่งตัวเองและส่งขึ้นไปไว้บน module ฝั่งตัวเอง เพื่อที่จะทำให้ section ของตัวเองอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งอีกฝ่าย ก็จะต้องใช้เวลานานอย่างน้อยก็เป็นหลักปี นั่นทำให้ในตอนนี้ทั้งสองฝั่งยังต้องพึ่งกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือที่ Loren Grush นักเขียนจาก The Verge ได้ใช้คำว่าสหรัฐฯ และรัสเซียยังคงถูก “ล่าม” ได้ด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม: The Verge – US and Russia still tethered by International Space Station during Ukraine conflict

Configuration ของ ISS ในปี 2021 จะเห็นได้ว่าได้มีการแบ่ง section ของสองฝั่งไว้อย่างชัดเจน (รัสเซียอยู่ทางมุมบนซ้าย อย่างโมดูล Zvezda Zarya และ Nauka ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ และพันธมิตรอยูที่ฝั่งขวาล่าง อย่างโมดูล Unity Destiny และ Tranquility คั่นระหว่างกันในรูปด้วย Truss Segment)

ท่าทีที่ดูเป็นไปได้ที่สุดหากสถานการณ์เกิดความรุนแรงขึ้นกว่านี้ อาจทำให้เกิดมาตรการคล้ายในปี 2014 ในช่วงที่กรณีพิพาทไครเมีย (ซึ่งก็ข้องเกี่ยวกับรัสเซียและยูเครนเหมือนกัน) คือการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการให้ NASA ยุติการติดต่อกับ representative ของรัฐบาลจากฝั่งรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึงการเดินทางไปเยือนรัสเซีย การต้อนรับฝั่งรัสเซียที่มาเยือน และการติดต่อสื่อสารและการประชุมคุยงาน อย่างไรก็ตาม ในเคสนั้นสุดท้ายสหรัฐฯ ก็ต้องอ่อนข้อลง เนื่องจากในตอนนั้นสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาฝั่งรัสเซียและ Roscosmos ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่ ISS หลังยุติโครงการ Space Shuttle ในปี 2011

ทำให้ในครั้งนี้หากสหรัฐฯ ยังคงต้องการจะใช้มาตรการแนว ๆ นี้ต่อรัสเซีย สหรัฐฯ ก็จะมีแต้มต่อมากกว่าในปี 2014 เพราะทางฝั่ง สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา Roscosmos ในประเด็นสำคัญ ๆ อย่างการขนส่งนักบินอวกาศอีกแล้ว (เพราะมี SpaceX ทดแทนให้ได้จากโครงการ Commercial Crew Program)

อ่านเพิ่มเติม: Washington Post – NASA orders its staff to stop talking to Russia, because Crimea

ในขณะนี้มีนักบินอวกาศอยู่บน ISS ทั้งหมด 7 คน โดยเป็นคนรัสเซียสองคน คนอเมริกา 4 คนและคนเยอรมัน 1 คน (ซึ่งจะอยู่ในฝั่งอเมริกา จากการที่สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรกับ EU และแล็บ Columbus ติดอยู่กับ Section ฝั่งสหรัฐฯ) ถ้าหากสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นมากกว่านี้ นอกเหนือจากการทำงานฝั่งอวกาศบนโลกของทั้งสองชาติ (และพันธมิตร) การตัดขาดที่มากที่สุดที่เป็นไปได้ก็คงจะเป็นการปิดกั้นระหว่างโซนสหรัฐฯ และรัสเซีย และแบ่งฝ่ายนักบินอวกาศชัดเจน (แต่ไม่แยกตัวออกจากกันซะทีเดียว เพราะระบบยังคงต้องพึ่งพากันอยู่อย่างที่กล่าวไป) ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของนักบินอวกาศในภาพรวมอย่างมาก

นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติชุดปัจจุบัน

สุดท้ายแล้วก็ยังคงเป็นไปได้ยากที่กรณีนี้จะเกิดขึ้นจริง ๆ อยู่ดี จากการที่ทั้งสองฝ่ายก็ต้องยอมรับว่าท้ายที่สุดแล้ววิธีการที่ดีที่สุดตอนนี้ที่จะไม่สร้างความเสียหายและความขัดแย้งในการดำเนินงานที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือการให้ปล่อยให้บนสถานีอวกาศนานาชาติยังคงดำเนินงานไปได้ตามปกติ ซึ่งก็เป็นมาตรการที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ (25 กุมภาพันธ์)

แต่ก็ยังมีอีกโครงการหนึ่งที่น่าจับตามองที่จะแสดงออกได้ถึงท่าทีความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรคือโคงการแลกเปลี่ยนการส่งนักบินอวกาศ (ให้นักบินจากฝั่งสหรัฐไปนั่ง Soyuz ขึ้นสู่อวกาศ และนักบินจากฝั่งรัสเซียนั่ง Crew Dragon ซึ่งก็จะรวมไปถึงการฝึกที่นักบินอวกาศต้องเดินทางไปฝึกก่อนขึ้นบินที่ชาติตรงข้ามด้วย) ซึ่งดูเหมือนในตอนนี้ ท่าทีจากทั้งทางฝั่งรัสเซียและสหรัฐฯ ก็ยังคงพยายามให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปอยู่ ซึ่งก็คงจะสามารถสะท้อนท่าทีของ agency อวกาศทั้งสองนี้ได้ประมาณหนึ่ง

เราก็คงจะต้องติดตามประเด็นนี้กันต่อไปอีกสักพัก เพราะสถานการณ์ก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ และวงการอวกาศก็จะเป็นภาพสะท้อนสำคัญอย่างหนึ่งของท่าทีของสองประเทศมหาอำนาจนี้รวมไปถึงชาติพันธมิตรต่าง ๆ สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะจบได้โดยเร็ว ขอให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างสันติและสงบสุข และขอปราณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อมของเหตุการณ์ในครั้งนี้

When the rich wage war it’s the poor who die.

Jean-Paul Sartre – The Devil and the Good God

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้