ความร้าวฉานในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต ที่สะท้อนผ่านโครงการอวกาศ

บทความนี้เขียนในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 หลังจากความตึงเครียดระหว่างกรณีพิพาท รัสเซีย – ยูเครน ที่ยังคงเป็นรอยร้ายฝังแน่นมาตั้งแต่กรณีพิพาทไครเมียในช่วงปี 2014 ในวันเดียวกันนี้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้เลือกที่จะเซ็นรับรองให้ โดเนตสก์ และลูฮันสก์ ในยูเครน เป็นรัฐอิสระ ท่านกลางความหวาดหวั่นว่าจะนำไปสู่การที่รัสเซียสามารถบุกยูเครนได้อย่างสนิทใจ

ปัญหาที่เรื้อรังนำมาซึ่ง Political Agenda เหล่านี้ ก็ตั้งแต่ความขัดแย้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม พลังงาน จากความสัมพันธ์ในสมัยยังคงเป็นสหภาพโซเวียต และเมื่อพูดถึงภูมิภาคนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรื่องของกิจการอวกาศ

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงการริเริ่มกิจการอวกาศทั้งปวง เราก็จะต้องนึกย้อนไปในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สหภาพโซเวียตเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมาก ๆ และสามารถยึดเอาจรวดของเยอรมนีที่แพ้สงครามมาเป็นรากฐานการพัฒนาจรวดของตัวเอง หลังจากนั้นก็สามารถส่งดาวเทียมดวงแรก สัตว์ตัวแรก และมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ สหภาพโซเวียตก็กระหน่ำโครงการ มีการวางฐานการผลิตจรวดและยานอวกาศในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงบุคคลสำคัญ ๆ ก็มาจากต่างภูมิภาค กันออกไป

หนึ่งใน Facility ที่สำคัญก็คือ ไบคัวนอร์คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome) ที่ตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของประเทศคาซักสถานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงใช้ในการปล่อยยานอวกาศจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีบรรดาจานรับสัญญาณวิทยุ สถานีดาวเทียมต่าง ๆ ที่กระจายกันอยู่ทั่วภูมิภาค เช่น จานรับสัญญาณเยปปาโตเรีย (Yevpatoria) ขนาด 70 เมตร ในไครเมีย ซึ่งเป็นเหมือน Deep Space Network ของโซเวียต ใช้รับส่งสัญญาณสำรับยานอวกาศสำรวจดาวศุกร์ เวเนรา, เวกา และยานสำรวจดาวอังคารอื่น ๆ ในช่วงปี 1960-1980 (ปัจจุบันไม่ได้มีการใช้งานแล้ว)

แม้สหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปในปี 1991 แล้ว แต่เนื่องจากรัสเซีย ยังคงเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมอวกาศในภูมิภาคอยู่ ทำให้ชาติอดีตสหภาพโซเวียต ยังคงมีความสัมพันธ์ “แบบแปลก ๆ” อยู่

ยกตัวอย่างเช่น การที่รัสเซีย สามารถใช้ฐานปล่อยไบคัวนอร์คอสโมโดรม ในคาซักสถานได้ในราคาถูกแสนถูกไปจนถึงปี 2050 (หลังจากที่เคยต่อรองขอเช่า 99 ปี) ที่ 115 ล้านเหรียญฯ สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณสามพันแปดร้อยล้านบาท) ที่บอกว่าถูกเพราะว่า รัสเซีย คิดค่าปล่อยนักบินอวกาศกับสหรัฐฯ 70-90 ล้านเหรียญฯ ในช่วงปี 2011-2021 ไม่รวมกำไรที่ได้จากการปล่อยดาวเทียมและยานอวกาศอื่น ๆ เงินปีละ 115 ล้านเหรียญฯ เพื่อแค่สิทธิ์ในการใช้พื้นที่ จึงไม่ได้เยอะเลย

ในปี 2011 รัสเซียได้มีการก่อตั้งฐานปล่อยแห่งใหม่ ที่อยู่ฝั่งรัสเซียตะวันออกไกล ชื่อว่า วอสโตชินี คอสโมโดรม (Vostochny Cosmodrome) ซึ่งวอสโต หรือวอสตอก (แบบเดียวกับที่เป็นชื่อยานอวกาศ) ขั้นแปลว่าตะวันออกนั่นเอง เป้าหมายก็คือวอสโตชินี จะเป็นฐานปล่อยแห่งที่สองให้กับรัสเซีย โดยปูติน ได้เดินทางมาร่วมพิธี และตรวจสอบการก่อสร้างเป็นระยะ ๆ ก่อนที่ฐานปล่อยใหม่นี้จะสร้างเสร็จและเริ่มปล่อยจรวดได้ครั้งแรกในปี 2016

ภาพในปี 2015 ในระหว่างเยี่ยมฐานปล่อยแห่งใหม่ ประธานาธิบดีปูติน และ อิกอร์ คามารอฟ (ขวาของปูติน) ผู้อำนวยการ Roskosmos ในตอนนั้น

แม้กระทั่งในปัจจุบัน ก็ยังคงมีการประท้วงในคาซักสถานเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ The New York Times รายงานในบทความชื่อ Revolt in Kazakhstan: What’s Happening, and Why It Matters พยายามรวบรวมปะติดปะต่อความขัดแย้งที่เรื้อรังระหว่างสองชาตินี้ผ่านการเล่าอิทธิพลของรัสเซียที่แสดงออกมาในการเมืองของคาซักสถาน และการชนะการเลือกตั้งอย่างไม่โปร่งใสของผู้นำประเทศ และคาดว่าความขัดแย้งระหว่างสองชาตินี้ก็ยังคงเรื้อรังอยู่

ข้ามมาที่ฝั่งประเทศที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ตอนนี้อย่างยูเครน ยูเครนเป็นหนึ่งในชาติที่มีได้รับอิทธิพลจากรัสเซียในแง่ด้านอวกาศค่อนข้างเยอะพอสมควร ยกตัวอย่างเช่นจานรับสัญญาณ เยปปาโตเรีย ที่พูดถึงกันไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่ใช่แค่นั้นยูเครนเป็นฐานการผลิตจรวดรุ่นหนึ่งที่มีชื่อว่า Zenit ซึ่งผลิตโดยหน่วยงานที่ชื่อว่า Yuzhmash และ Yuzhnoye เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำเรื่อง Aerospace ของยูเครน ซึ่งจุดเริ่มต้นก็มาตั้งแต่ความร่วมมือระหว่างรัสเซียและยูเครนในยุคสหภาพโซเวียต

จานรับสัญญาณที่เยปปาโตเรีย ที่ถูกทิ้งร้างในไครเมียหลังความขัดแย้งระหว่างดินแดน

รวมถึงจรวดอย่าง Dnepr ที่ใช้ปล่อยดาวเทียม THEOS-1 ให้กับประเทศไทยของเราก็ออกแบบและผลิตโดย Yuzhmash และ Yuzhnoye เช่นกัน (แต่ปล่อยในยาสนี รัสเซีย)

เรียกได้ว่า ยูเครนเคยมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้ผลิตจรวดให้กับสหภาพโซเวียตที่ใช้ในการปล่อยดาวเทียม ยานอวกาศ และการทดลองสำคัญ ๆ ทางการทหาร ทำให้ Yuzhmash มีองค์ความรู้หลายอย่างที่ได้มาจากหน่วยงานด้านอวกาศแห่งโซเวียตโดยตรง รวมถึงในการปล่อยก็ทำการปล่อยที่ ไบคัวนอร์คอสโมโดรม เป็นฐานหลัก

ช่วงหลังยุคสหภาพโซเวียตล่มสลาย ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นหลาย ๆ อย่าง ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองไม่ต่างกับชาติอื่น ๆ สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ การที่วิศวกรจากบริษัทอวกาศในยูเครนเกิดภาวะ “ย้ายประเทศ” ไปทำงานในยุโรปบ้าง สหรัฐฯ บ้าง กระจัดกระจายไปอยู่ Northrop Grumman บ้าง Boeing บ้าง พีค ๆ คือไปทำงาน NASA ก็มี ทำให้ความสัมพันธ์และการมีอิทธิพลระหว่างรัสเซียกับยูเครนในแง่อวกาศ ไม่ได้ชัดเจนเหมือนกับสมัยก่อน

แต่ความสัมพันธ์นี้ก็มารวบรัดตัดตอนในปี 2014 ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับมีที่กรณีไครเมียนั่นแหละ ทำให้ยูเครนเสียโมเมนตัมในการทำงานหลายอย่าง โดยเฉพาะการที่ยูเครนไม่สามารถใช้ฐานปล่อยร่วมกับรัสเซียได้อีก จนเหลือแต่ Sea Launch (ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1999) ซึ่งเป็นการปล่อยจรวดจากฐานปล่อยกลางทะเลแทน แต่สุดท้ายโครงการก็ถูกยุบไป โดยการปล่อยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2014 เนื่องมาจากการที่ยูเครนเคยมีหุ้นอยู่ 15% ร่วมกับ สหรัฐฯ รัสเซีย และนอร์เวย์ ภายหลังมีการฟ้องร้องกันนำโดย Boeing จนโครงการนี้วงแตกไป

สามารถอ่านเพิ่มเติมในบทวิเคราะห์ของ Russian Space Web ได้ใน บทความ Sea Launch venture

ฐานปล่อยจรวดกลางทะเล โครงการ Sea Launch ที่มา – Sea launch

จนตอนนี้ยูเครนไม่มีฐานปล่อยเป็นของตัวเอง แต่ก็ยังคงต้องเป็นฐานการผลิตเครื่องยนต์จรวด โดยเฉพาะเครื่องยนต์จรวดรุ่น RD-843 ที่ใช้สำหรับจรวด Vega ของ Arianespace

ในบทความเรื่อง How Crimea fractured Ukraine’s space program โดย นักวิเคราะห์ Jeff Foust แห่ง Space News ได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์เหล่านี้บอกว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ยูเครนสูญเสียตลาดที่เรียกได้ว่า ไม่ใช่แค่เล็ก แต่ยัง Specialize มาก ๆ ก็คือการออกแบบและผลิตเครื่องยนต์, ชิ้นส่วนสำหรับจรวดและยานอวกาศ ซึ่งปกติจะมีรัสเซียเป็นคู่ค้าโดยตรง รวมถึงการสูญเสีย Facility สำคัญ ๆ ทางดาราศาสตร์ และการติดต่อสื่อสารกับยานอวกาศในเยปาโตเรียก็นับว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก รายงานดังกล่าวยังบอกอีกว่ารัสเซียมีแผนที่จะนำจานที่เยปปาโตเรีย กลับมารันเพื่อทำงานให้กับระบบ Deep Space Network ของรัสเซีย

เรียกได้ว่า ยูเครนกำลังถูกทำให้ Fade ออกจากภาพจำในวงการอวกาศ ซึ่งแต่เดิมก็ทำงานอยู่เบื้องหลังอยู่แล้ว แต่ตอนนี้กลับยิ่งไม่ค่อยมีที่ยืนมากขึ้นไปอีก กำลังการผลิตเครื่องยนต์จรวดลดลงจากสภาะการเมือง และลูกค้าก็เริ่มหดหายไปใช้งานการปล่อยที่ราคาถูกยิ่งขึ้น แถมก็ยังเกิดภาวะนักวิทยาศาสตร์สมองไหลอีก รัสเซียเองก็แคร์น้อยลงมาก ๆ ก็คงตอบได้ไม่ยากว่าสุดท้ายอนาคตของยูเครนในวงการอวกาศจะเป็นอย่างไร

ปัจจุบันถ้าสังเกต เราจะเห็นว่ารัสเซียมีแผนการดำเนินการด้านอวกาศที่ค่อนข้างดุดัน โดยเฉพาะ Roskosmos ในการนำของ ดิมิตรี ราโกซิน (Dmitry Rogozin) ซึ่งเข้ามานำโครงการอวกาศรัสเซียจากคำเชื้อเชิญของปูตินโดยตรง แทนหน้าที่ของอิกอร์ คามารอฟ เดิม

ราโกซิน คามารอฟ และปูติน ในเครมลิน ปี 2015 ระหว่างที่ราโกซินกำลังเข้ารับตำแหน่ง ที่มา – Kremlin

ปัจจุบันรัสเซียประกาศถอนตัวออกจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ หันไปสร้างฐานบนดวงจันทร์ร่วมกับจีนในโครกงาร ILRS ที่เป็นคู่แข่งทางตรงกับโครงการ Artemis และสหรัฐฯ และทีมนานาชาติ และเกิดข้อพิพาทมากมายผ่านการทดลองยิงดาวเทียมของตัวเองที่ NASA เองยังออกมาประนามว่าเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ (เพียงไม่กี่เดือนก่อนการข่มขู่ยูเครนทางการทหาร)

อ่าน – CNSA และ Roscosmos ร่วมมือ ประกาศสร้าง International Lunar Research Station บนดวงจันทร์

เรามองว่าตอนนี้รัสเซียกำลังขยายอำนาจเหนือภูมิภาคและกลืนภาพของชาติอดีตสหภาพโซเวียตในแง่ของอวกาศ ดูจากสิ่งที่รัสเซียทำกับทั้งคาซักสถานและยูเครน เพื่อหาทางกลับมาเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ โดยที่ไม่ต้องง้อประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราก็คงต้องจับตามองถึงทิศทางนี้กันต่อไป และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองนั้นมีผลต่อการสำรวจอวกาศในทางตรง

อ่านเพิ่มเติม – ชีวิตในแดนอดีตศัตรู นักบินอวกาศสหรัฐฯ ในรัสเซีย ใน Star City, มอสโคว และคาซักสถาน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.