ทำไมถึงไม่ส่งยานวอยาเจอร์ไปสำรวจดาวพลูโต

ในปัจจุบันยานวอยาเจอร์กำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะด้วยความเร็วมากกว่า 15 กิโลเมตรต่อวินาที แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงปี 1977-1989 มันก็ได้ทำการสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกทั้ง 4 อย่างใกล้ชิด แต่ทว่ากลับมีดาวเคราะห์ดวงนึงที่ถูกหั่นชื่อออกจากลิสต์ระหว่างทาง

ใช่แล้ว ดาวพลูโตถูกทิ้งไว้กลางทางตั้งแต่มันยังเป็นดาวเคราะห์ด้วยซ้ำ (ทำไมเรื่องราวของพลูโตถึงได้เศร้าขนาดนี้นะ)

การทัวร์ครั้งใหญ่ในระบบสุริยะ

โครงการวอยาเจอร์นั้นถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1964 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ JPL ค้นพบความเป็นไปได้ที่จะส่งยานอวกาศออกไปสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกด้วยการส่งยานหนึ่งครั้ง อันเนื่องจากการเรียงตัวของดาวเคราะห์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 175 ปี และนั่นก็นำไปสู่การปล่อยยานวอยาเจอร์ทั้งสองลำในปี 1977 ออกเดินทางสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกนั่นเอง

อ่านเรื่องของยานวอยาเจอร์เพิ่มเติมได้ที่นี่

ภาพจำลองของยานวอยาเจอร์ – ที่มา NASA

แต่ก่อนที่ยานวอยาเจอร์ทั้งสองจะถูกปล่อย ก็ได้มีการปล่อยยานไพโอเนียร์ 10 และ 11 ไปสำรวจดาวพฤหัสและดาวเสาร์มาก่อนหน้านั้นแล้ว นอกจากไพโอเนียร์จะเป็นเหมือนยานทดสอบให้กับวอยาเจอร์ มันก็ยังได้ค้นพบชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นบนดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ และนั่นดึงดูดสายตาของนักวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ซึ่งนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการทิ้งพลูโตไว้ที่มุมไกลของระบบสุริยะ

เป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจกว่า

ในระหว่างที่ยานวอยาเจอร์ 1 และ 2 กำลังเดินทางอยู่นั้น ความสนใจในดวงจันทร์ไททันได้พุ่งสูงมากจนทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจเบนเข็มการสำรวจ จากเส้นทางเดิมที่ยานวอยาเจอร์ 1 จะเดินทางจากดาวพฤหัสไปดาวเสาร์และต่อด้วยดาวพลูโต กลายมาเป็นบินไปเฉียดใกล้ดวงจันทร์ไททันมากขึ้น และนั่นทำให้ยานวอยาเจอร์ 1 บินผ่านทางใต้ของดาวเสาร์ และแรงโน้มถ่วงของดาวก็เหวี่ยงมันขึ้นเหนือจากระนาบของระบบสุริยะ ปิดฉากการสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอย่างเป็นทางการในปี 1980

ดวงจันทร์ไททันที่ถ่ายโดยยานไพโอเนียร์ 11 ซึ่งภาพนี้อาจจะเป็นภาพที่ฆ่าการสำรวจดาวพลูโตของยานวอยาเจอร์ 1 เลยทีเดียว – ที่มา NASA

ในส่วนของวอยาเจอร์ 2 นั้นถูกวางไว้เป็นตัวสำรองในกรณีที่วอยาเจอร์ 1 ไม่สามารถสำรวจดวงจันทร์ไททันได้ แต่เมื่อไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้นกับวอยาเจอร์ 1 ยานวอยาเจอร์ 2 ก็ได้ดำเนินต่อไปสำรวจดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนตามปกติ และการสำรวจดวงจันทร์ไทรทันของดาวเนปจูนอย่างใกล้ชิดก็ทำให้ยานถูกเหวี่ยงลงใต้ของระนาบระบบสุริยะเหมือนกับวอยาเจอร์ 1 แต่ต่อให้ไม่เป็นอย่างนั้นมันก็ยากเกินไปที่จะให้วอยาเจอร์ 2 เดินทางไปถึงดาวพลูโตจากดาวเนปจูน

แล้วถ้าได้ไปสำรวจจริง ๆ ล่ะ

Dr. Alan Stern นักวิจัยหลักของภารกิจนิว ฮอไรซอนส์ได้เคยกล่าวไว้ว่าในสมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์รู้เรื่องที่เกี่ยวกับดาวพลูโตน้อยมาก ๆ “พวกเรารู้แค่ว่าดาวพลูโตมีดวงจันทร์” เพราะขนาดมวลของดาวพลูโตยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในตอนนั้นเลย ยังไม่รวมถึงวัตถุในแถบไคเปอร์ที่ยังไม่มีใครค้นพบจนกระทั่งในปี 1992

หากวอยาเจอร์ 1 เดินทางไปสำรวจดาวพลูโตจริง ๆ ในปี 1986 นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบกับชั้นบรรยากาศที่พวกเขาไม่รู้มาก่อน ดวงจันทร์ดวงเล็ก ๆ อีกสี่ดวงที่ยังไม่ถูกค้นพบ (เนื่องจากกล้องฮับเบิลยังไม่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร) ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ค่อนข้างมีอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับยานนิวฮอไรซอนส์ เช่นเดียวกันกับยานวอยาเจอร์ 1 พวกเขาก็สามารถทำการสำรวจดวงจันทร์ไททันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อไม่ต้องกังวลกับการสำรวจดาวพลูโต

ภาพของดาวพลูโตจากยานนิว ฮอไรซอนส์ ในขณะที่ยานกำลังเดินทางออกจากดาว โดยแสดงให้เห็นชั้นบรรยากาศล้อมรอบดาว – ที่มา NASA

ในปัจจุบันดาวพลูโตก็ยังคงรอคอยการมาเยือนอีกครั้งของยานอวกาศจากโลก เพราะนับตั้งแต่ที่นิวฮอไรซอนส์บินผ่านไปในปี 2015 ก็ยังไม่มีภารกิจสำรวจที่ถูกวางแผนไว้อีกเลย ซึ่งก็ยังคงมีปริศนาอีกมากมายที่รอคอยยานสำรวจลำต่อไปออกเดินทางไปเพื่อหาคำตอบ

 

เรียบเรียงโดยทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง:

Voyager Mission Status

Astronomy.com

Discover Magazine

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138