ทำไมจรวด SLS ถึงได้มีชื่อที่สิ้นคิดแบบนี้

จินตนาการ คุณทำงานที่ NASA หนึ่งในสถานที่ที่รวมคนระดับอัจฉริยะจากทั่วอเมริกา เพื่อสร้างการค้นพบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน คุณได้รับโจทย์ให้ตั้งชื่อจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกที่จะนำพามนุษย์เดินทางก้าวต่อไปสู่ดวงจันทร์ และอวกาศห้วงลึกอันไกลโพ้น และชื่อที่คุณตั้งก็คือ Space Launch System หรือแปลเป็นไทยว่า “ระบบนำส่งสู่อวกาศ”

ผู้บริหารทุกคนลุกขึ้นปรบมือชอบใจ มันคือสุดยอดชื่อที่เคยถูกตั้งขึ้นมา ไม่ต้องเบียวตั้งชื่อตามตำนานเทพปกรณัมกรีกให้สิ้นคิด หรือไม่ต้องมโนตัวย่อเพื่อสร้างเป็น Acronym ฝืน ๆ ที่แสดงถึงความพยายาม SLS หรือ Space Launch System เด็กอนุบาลก็สามารถเข้าใจได้ว่ามันคือชื่อของจรวด และพวกเขาจะต้องจำชื่อนี้ได้เหมือนกับ Saturn V รุ่นพวกเราจดจำในตำราว่าครั้งหนึ่งเคยพามนุษย์เดินทางขึ้นเหยียบดวงจันทร์ที่ตั้งตามชื่อเทพเจ้ากรีกเห่ย ๆ พร้อมกับยานอวกาศที่ชื่อ Apollo ที่แสดงถึงความเบียวและสิ่งเดียวที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ก็คือ Apollo เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์​ซึ่งเป็นฝาแฝดที่ไม่ได้เหมือนกันแม้แต่นิดเดียวกับ Artemis ซึ่งเป็นเทพแห่งดวงจันทร์ และมโนว่าเทพ Apollo จะได้กลับไปหา Artemis ซึ่งลืมคิดไปว่าอีก 50 ปีถัดมา จะมีโครงการชื่อ Artemis เพื่อไปดวงจันทร์ สรุปแล้วใครไปหาใครกันแน่

จรวด SLS บนฐานปล่อย สำหรับภารกิจทดสอบเที่ยวบิน Artemis I ในปี 2022 ที่มา – NASA

นั่นคือสถานการณ์สมมติที่เกิดขึ้น และไม่ได้เป็นที่มาของ SLS แต่อย่างใด แต่คุณคงไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่า SLS เป็นชื่อจรวดจริง ๆ และถูกใช้เรียกจริง ๆ ไม่มีชื่อเล่นอื่น หรือชื่อเรียกอื่นไปนอกจาก Space Launch System และในบทความนี้เราจะมามองย้อนเรื่องราวเบื้องหลังชื่อสุดเห่ยนี้

ขั้นแรก เราต้องเข้าใจประวัติความเป็นมาของจรวด SLS ก่อน ชื่อ SLS ปรากฎครั้งแรกในเอกสาร NASA Authorization Act of 2010 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของสหรัฐฯ ซึ่งได้ถูกถึง SLS ว่าสหรัฐฯ ต้องทุ่มงบประมาณกว่าสองพันหกร้อยล้านเหรียญ ในการพัฒนา SLS ขึ้นมา ร่วมกับ Multi-Purpose Crew Vehicle ในงบหนึ่งพันสี่ร้อยล้านเหรียญ โดย Multi-Purpose Crew Vehicle นั้น ก็คือยานอวกาศ Orion นั่นเอง

บริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น (2009) คือ NASA ยกเลิกโครงการ Constellation Program เนื่องจากตัวแผนโครงการมีมูลค่าสูงมาก ทำให้ในตอนนั้นรัฐบาลในยุคของ Barak Obama มีคำสั่งปรับตัวโครงการโดยเน้นการเข้ามามีส่วนร่วมของเอกชน ซึ่งก็เป็นช่วงที่ทำให้เกิดบริษัทอวกาศใหม่ ๆ ขึ้น เช่น SpaceX ที่พัฒนายาน Dragon เพื่อรับงานของ NASA ในสัญญา Commercial Resupply Payload Service ก่อนที่ NASA จะยกเลิกการใช้งานกระสวยอวกาศ Space Shuttle ในที่สุด

ก่อนที่โครงการ Constellation Program จะถูกยกเลิก NASA ได้วางแผนพัฒนายานอวกาศ 2 ลำ ได้แก่ Orion และ Altair และใช่ นี่คือที่มาของ Orion โดย Orion เป็นโครงการที่หลงเหลือจากยุค Constellation มันถูกออกแบบให้เป็น Multi-Purpose Crew Vehicle ตั้งแต่แรก ส่วนยาน Altair เป็นชื่อของยานลงจอดดวงจันทร์ ที่จะใช้ลงจอดนักบินอวกาศ คล้ายกับยาน Lunar Lander ในยุค Apollo

ในขณะที่ตัวจรวดใน Constellation Program นั้น มีอยู่ 3 ลำได้แก่ Ares I ที่ออกแบบสำหรับการส่งยานอวกาศ Orion และ Payload เบา และ Ares IV, V ที่ออกแบบให้เป็นจรวดขนส่งหนัก สำหรับส่งโมดูลของยานอวกาศหรือ Payload ชิ้นใหญ่ ซึ่ง Ares นั้นก็ตั้งตามชื่อเทพกรีก Ares ซึ่งก็คือเทพ Mars ของโรมันนั่นเอง เนื่องจากมันจะถูกใช้ในภารกิจการส่งคนไปยังดาวอังคาร (เห็นมั้ย แม่งสิ้นคิด)

เราอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่อง Constellation เท่าไหร่ เพราะเป็นอีกประเด็นนึง แต่อยากชี้ให้เห็นว่า Constellation นั้นได้มีการนำเอา Element สำคัญของโครงการกระสวยอวกาศ Space Shuttle มาใช้ โดยเฉพาะจรวด Ares I ที่พูดง่าย ๆ มันคือ Solid Rocket Boosters (SRBs) ของกระสวยอวกาศ ที่ด้านบนติดตั้ง Second Stage แบบ Liquid-fuel เท่านั้น ส่วน Ares IV และ Ares V อันนี้น่าสนใจมาก เพราะหลายคนอาจจะบอกว่า หน้าตามันคุ้น ๆ ใช่แล้ว มันคล้ายกับ SLS Block 1B และ Block 2 มาก

จรวด Ares I ของ NASA ในเที่ยวบินทดสอบครั้งแรกและครั้งเดียวของมันในปี 2009

นี่คือสิ่งที่ Constellation กับ Artemis มีเหมือนกันคือมันล้วนเป็นการนำเอา Element จากกระสวยอวกาศมารีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็น Solid Rocket Boosters เครื่องยนต์ RS-25 และตัวถังเชื้อเพลิงสีส้มที่มีสถาปัตยกรรมการออกแบบเหมือนกัน

คำถามก็คือ ถ้าในยุค Constellation นั้น NASA เรียกจรวดรุ่นใหม่ว่า Ares แล้วชื่อ SLS มันโผล่มาตอนไหนกันแน่ คำตอบก็คือ ตอนที่มีการเขียน NASA Authorization Act of 2010 นั่นแหละ เพราะในเอกสารของโครงการ Ares ก็ไม่ปรากฎชื่อ SLS มาก่อน ซึ่งน่าตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อ SLS นั้นถูกใช้คู่กับ MPCV (Multi-Purpose Crew Vehicle) แต่ NASA ดันเรียกยานอวกาศว่า Orion อยู่ แต่ไม่เรียก SLS ว่า Ares ในเอกสารต่าง ๆ ต่อมาจึงเรียกจรวดลำใหม่ที่อยู่ในระหว่างพัฒนานี้ว่า SLS มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

ภาพจำลองจรวด Ares I และ Ares V ของ NASA ใน Constellation Program จะสังเกตว่า Ares V มันก็คือ SLS นั่นแหละ ที่มา – NASA

อีกหนึ่งข้อสังเกตก็คือ ชื่อ Space Launch System นั้น ใกล้เคียงกับ Space Transportation System (STS) ที่เป็นชื่อจริง ๆ ของกระสวยอวกาศ (Space Shuttle) มาก SLS จึงถูกนำมาใช้เรียกตัวจรวดเป็นลำ ๆ ที่ใช้ในการส่งยาน เพื่อให้เห็นภาพ Contrast กับ STS ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นคำตอบของคำถามว่าทำไม SLS ถึงชื่อว่า SLS จึงมีความคลุมเครือมาก ๆ และไม่อาจทราบที่มาที่แน่ชัด แต่คำถามต่อไปก็คือ แล้ว NASA ถ้าไม่เรียก SLS ว่า Ares เหมือนที่ NASA ยังคงนำชื่อ Orion มาใช้กับ MPVC แล้ว NASA ได้เลือกชื่อใหม่สำหรับ SLS บ้างหรือเปล่า

โดยปกติแล้วในสหรัฐฯ ยานอวกาศหรือจรวดต่าง ๆ บางลำจะมีชื่อมาจากการประกวดตั้งชื่อ (Naming Contest) เช่น Curiousity, Perseverence หรือกระสวยอวกาศ Endeavour ที่ล้วนถูกตั้งชื่อโดยนักเรียนทั้งสิ้น กลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในวงการอวกาศไปแล้ว แต่ NASA เอง ไม่เคยพูดถึงการประกวดตั้งชื่อ SLS มาก่อน

ซึ่งประเด็นนี้ก็ได้มีการพูดถึงบนอินเทอร์เน็ตเยอะมากว่าทำไม NASA ไม่ยอมตั้งชื่อ SLS ดี ๆ ซักที เป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันตั้งแต่ปี 2013 ในเว็บไซต์ อย่าง NASA Spaceflight, Collect Space หรือในปี 2015 Spaceflight Now ได้รายงานอ้างอิงจากข้อเรียกร้องจากรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าให้ NASA จัดประกวดตั้งชื่อ SLS อย่างจริงจังซักที และในปี 2017 Space.com ก็เคยรายงานว่าสมาชิกคองเกรส John Culberson จากเท็กซัส และ Robert Aderholt จากอลาบามา ได้เรียกร้องให้ NASA ตั้งชื่อ SLS ตาม Eugene Cernan นักบินอวกาศคนสุดท้ายที่เดินบนดวงจันทร์ในยุค Apollo ที่เพิ่งเสียชีวิตไปในช่วงนั้นว่า Cernan เพื่อเป็นสัญญะของการเดินทางกลับไปดวงจันทร์ แต่ NASA เองจวบจนปัจจุบันก็ไม่ได้มีท่าทีจะตั้งชื่อ SLS ใหม่แต่อย่างใด และเรียกอย่างเต็มปากกันว่า SLS ในที่สุด

ดังนั้นบทความนี้อาจจะทำให้ทุกคนผิดหวังเล็กน้อยว่า สุดท้ายก็ไม่มีใครรู้ว่า SLS มันมีที่มาอย่างไร แต่ที่เราบอกได้ก็คือ SLS เป็นตัวย่อที่ถูกคิดขึ้นมาบนกระดาษเพื่อใช้เรียกจรวดรุ่นใหม่ที่จะมาแทน STS หรือ Space Transportation System แบบง่าย ๆ และไม่มีใครไปเปลี่ยนหรือไปยุ่งอะไรกับมัน จนทุกวันนี้เราก็เรียกจรวดลำนี้ว่า SLS นั่นแหละ

สุดท้ายถ้าใครที่สนใจที่มาและจุดเปลี่ยนผ่านระหว่าง Constellation มาสู่ Artemis แนะนำให้อ่านบทความ – ทำไม SLS ถึงเป็นจรวดที่แพงแต่จำเป็น

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.