สรุปดาวเคราะห์น้อย ดาวตก และอุกกาบาต รู้ไว้จะได้ไม่ต้องกลัว

หลังจากกระแสดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) ซึ่งเป็นดาวตกขนาดเล็กที่ไม่สามารถตรวจจับได้แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่อย่างใด ได้ตกสู่ชั้นบรรยากาศโลกบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 22 มิถุนายน 2021 โดยเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์นี้ได้สร้างความสนใจทางด้านดาราศาสตร์ให้แก่ผู้คนจำนวนมากอีกครั้งหนึ่ง

ภาพจำลองดาวเคราะห์น้อย Bennu ที่มา NASA

การเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระบบสุริยะของเราไม่ได้เป็นสถานที่มั่นคงสงบนิ่งอย่างที่เราเข้าใจ แต่เป็นระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญให้องค์กรอวกาศต่าง ๆ ทุ่มงบประมาณกับการสำรวจอวกาศ เพื่อที่จะหาข้อมูลเพื่อพูนองค์ความรู้และทำความเข้าใจกับระบบสุริยะของเราให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องของดาวเคราะห์น้อยที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการของโลกและสิ่งมีชีวิตอย่างมาก ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับดาวเคราะห์น้อยให้มากขึ้น

รู้จักกับดาวเคราะห์น้อย

อันดับแรกก่อนที่จะเข้าสู่บทความนี้แบบเต็ม ๆ อาจจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ดาวเคราะห์น้อย ดาวตก และอุกกาบาต นั้นล้วนมีความหมายแตกต่างกัน ถึงแม้การใช้คำมันอาจจะดูจุ้นจ้านไปหน่อยแต่ว่ามันสามารถช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาทางดาราศาสตร์มากขึ้นจริง ๆ โดยแต่ละคำมีมีนิยามง่าย ๆ ดังนี้

  • ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) คือ วัตถุในอวกาศที่หลงเหลือจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ อาจเป็นก้อนหินที่มีขนาดตั้งแต่รถยนต์ จนกระทั่งใหญ่เท่ากับภูเขาทั้งลูก ส่วนมากจะพบได้ในแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพฤหัสฯ กับดาวอังคาร และแถบไคเปอร์ที่อยู่เลยดาวเนปจูนออกไป
  • ดาวตก (Meteor) คือ ดาวเคราะห์น้อยที่ตกลงมาในชั้นบรรยากาศโลก
  • อุกกาบาต (Meteorite) คือ ชิ้นส่วนหรือเศษของดาวเคราะห์น้อยหลงเหลืออบู่บนพื้นโลกจากการเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ

การศึกษาดาวเคราะห์น้อยนั้นไม่ใช่แต่เป็นการศึกษาก้อนหินเล็ก ๆ ในอวกาศเพียงเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้เราอาจย้อนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะได้อีกด้วย ซึ่งผลจากการศึกษาหลักฐานผ่านร่องรอยหลุมอุกกาบาตในระบบสุริยะของเราทำให้นักดาราศาสตร์สามารถสันนิษฐานได้ว่าในช่วงเวลา 1,000 ล้านปีแรกหลังจากการกำเนิดระบบสุริยะของเรา ดาวเคราะห์น้อยมักจะพุ่งชนดาวเคราะห์และดวงจันทร์ต่าง ๆ เป็นประจำในอัตราทำลายล้างสูงที่สามารถทำให้พื้นผิวของดาวต่าง ๆ กลายเป็นหินหลอมละลายได้ อาทิบนดวงจันทร์และดาวพุธปรากฎให้เห็นร่องรอยของการชนครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อนอย่างชัดเจน เนื่องจากในเทห์วัตถุเหล่านั้นไม่มีการกัดเซาะจากลม น้ำ หรือการเคลื่อนไหวทางธรณีวิทยาใด ๆ เหมือนกับโลกที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวตลอดเวลา

ภาพเปรียบของพื้นผิวของดวงจันทร์ในช่วงเวลาที่ต่างกันโดยยาน LRO แสดงให้เห็นถึงหลุมอุกกาบาตเกิดขึ้นใหม่ ที่มา NASA

อีกทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลจากภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ต่างในระบบสุริยะชั้นนอกตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ก็ยังได้เผยเผยเรื่องที่น่าสนใจให้เห็นว่าช่วงเวลาของยุคที่ดาวเคราะห์พุ่งชนดาวเคราะห์เป็นประจำนั้นเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์นอกเหนือจากช่วงแรกเริ่มของการกำเนิดระบบสุริยะ โดยอาศัยข้อมูลจากการวิเคราะห์อายุของหลุมอุกกาบาตผ่านกระบวนการทางสถิติแง่ของปริมาณ ขนาด และการใช้ข้อมูลจากตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ที่เราได้เก็บมาอีกทีในยุคสมัยของโครงการ Apollo มาประกอบการประมาณการอีกด้วย

ทำให้นักดาราศาสตร์ได้สมมติฐานเหตุการณ์การระดมชนของดาวเคราะห์น้อยครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อราว 4 พันล้านปีก่อนซึ่งมีชื่อว่า Late Heavy Bombardment และคาดว่าปริมาณอัตราการพุ่งชนในยุคนั้นมีมากกว่าปัจจุบันถึง 100 เท่า ซึ่งอาจตอบคำถามของร่องรอยต่าง ๆ ในระบบสุริยะชั้นในอาทิ การที่แกนของดาวศุกร์เอียงตัวถึง 177 องศา การเกิดขึ้นของที่ราบ Mare บนดวงจันทร์ หรือหลุมอุกกาบาตขนาดมหึมาที่มีชื่อว่า Hellas บนดาวอังคารที่มีความกว้างถึง 2,800 กิโลเมตร และมีความลึกถึงจากปากหลุมถึงก้นหลุมอยู่ที่ 9 กิโลเมตร

แผนที่แสดงความสูงของพื้นผิวดาวอังคารที่แสดงให้เห็นถึงแอ่งหลุมอุกกาบาต Hellas Planitia อย่างชัดเจน ที่มา Planetary Science Institute

แต่อย่างไรก็ตามความเข้าใจของเราต่อผลกระทบของดาวเคราะห์น้อยที่มีต่อระบบสุริยะของเรานั้นถือว่าค่อนข้างใหม่มาก ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่จะเข้าใจธรรมชาติของมันได้ดีที่สุดคือการบันทึกและสังเกตพฤติกรรมของมัน

จนเราสามารถระบุดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะได้ถึง 1,096,737 ดวงในปัจจุบัน โดยอาศัยความร่วมมือจากองค์กรอวกาศทั่วทุกมุมโลก แถมยังสามารถคำนวณวงโคจรของมันได้อย่างแม่นยำได้อีกด้วย จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่พุ่งชนโลกโดยที่เราไม่รู้ตัวอย่างแน่นอน

แล้วส่วนที่ออกข่าวกันโครม ๆ ว่ามีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นจะชนโลก คืออะไรล่ะ ? ปัจจุบันดาวเคราะห์น้อยได้ถูกจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ในแถบดาวเคราะห์น้อยและแถบไคเปอร์
  • Trojan ซึ่งก็คือดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ในจุด ลากรองจ์
  • Near-Earth Object (NEO) หรือดาวเคราะห์น้อยที่วงโคจรตัดผ่านกับโลกและอาจเป็นอะไรต่อโลกได้

ซึ่งไอ้ Near-Earth Object นี่แหละที่ออกข่าวกันโครม ๆ ว่าเฉียดโลกบ้างจะพุ่งชนโลกบ้างให้ผู้อ่านตื่นตระหนกเล่น ๆ ซึ่งวัตถุเหล่านี้กว่า 20,000 ชิ้นนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 140 เมตร หากตกลงมายังโลกก็จะถูกชั้นบรรยากาศเผาไหม้ไปจนหมด ไม่ได้มีภัยอันตรายใด ๆ ต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก

ในปัจจุบันมีการตรวจพบดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่กว่า 140 เมตรแค่ราว 800 กว่าดวงเท่านั้น ดวงที่ใหญ่ที่สุดนั้นมีขนาดความกว้างกว่า 40 กิโลเมตร ใหญ่กว่าไดโนเสาร์ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธ์กว่า 4 เท่า ซึ่งก็อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่ากลัวแต่ว่าการที่เราตรวจจับมันได้ก็หมายความว่าเราสามารถคำนวณวิถีโคจรของมันได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นจะชนโลกจริง เราก็มีศักยภาพพอที่จะรู้ล่วงหน้าเป็นเวลาถึงหลักสิบปีหรือร้อยปี

แผนภาพดาวเคราะห์น้อยที่ตกมาในชั้นบรรยากาศโลกช่วงปี 1994-2003 ที่มา NASA

แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เหมือนกันว่าในกรณีที่เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ไม่สามารถตรวจพบได้ หรืออาจรวมไปถึงการเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหันหากมีวัตถุก็อาจเป็นอันตรายต่อโลกได้เช่นกัน ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ต่ำ ทาง NASA ก็มีการวางแผนในการจัดการเรื่องการรับมือภัยพิบัติจากดาวเคราะห์น้อยอยู่เหมือนกัน อย่างโครงการ DART ที่มีแผนทดลองการเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อย

อ่านเรื่องราวของโครงการ DART เพิ่มเติมได้ที่นี่ DART ภารกิจทดสอบการเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยด้วยการเอายานพุ่งชน

ภาพถ่ายของดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) จากสถานีอวกาศนานาชาติ ส่วนแสงสวางวาบที่เหลือคือแสงจากฟ้าแลบ ที่มา NASA

แต่หากว่ากันตามข้อมูลเชิงสถิติแล้ว ในทุก ๆ วันมีวัตถุมวลรวมมากกว่า 100 ตันพุ่งชนโลก ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นผงหรืออนุภาคขนาดเท่าเม็ดทราย ส่วนในแต่ละปีจะมีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เท่ากับรถยนต์ตกมาเพียง 1-2 ครั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดแสงสว่างวาบไปทั่วท้องฟ้า ก่อนที่จะถูกแรงเสียดทานจากชั้นบรรยากาศโลกเผาผลาญไปจนหมด ซึ่งการศึกษาประวัติศาสตร์จากหลุมอุกกาบาตบนโลกสามรถระบุเพิ่มเติมได้ว่า ทุก ๆ 5,000 ปี หรือมากกว่านั้นจะมีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ราวสนามฟุตบอลพุ่งชนโลกที่สามารถสร้างความเสียหายได้ระดับหนึ่ง และสุดท้ายในทุก ๆ ช่วงหลายล้านปี อาจมีดาวเคราะห์ขนาดมหึมาที่สามารถสร้างผลกระทบวงกว้างไปทั่วทั้งโลกได้

ในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันที่มีการบันทึกครั้งสุดท้ายของดาวตกขนาดใหญ่ที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกนั้น เกิดขึ้นในปี 1908 หรือเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่ Tunguska สถานที่ห่างไกลในผืนป่าไซบีเรียอันกว้างใหญ่ของประเทศรัสเซีย ซึ่งดาวตกลูกนั้นก็ไม่ได้ตกมาถึงพื้นแต่เกิดการระเบิดขึ้นในชั้นบรรยากาศหลายกิโลเมตรเหนือพื้นดิน จากหลักฐานที่ปรากฏนักดาราศาสตร์ในปัจุบันคาดคะเนว่าดาวตกที่ Tunguska อาจมีความกว้างประมาณ 37 เมตรและอาจหนักถึง 100 ล้านกิโลกรัม แรงระเบิดของดาวตกนั้นสร้างคลื่นกระแทกที่รุนแรงจนทำให้ต้นสนขนาดใหญ่ราบเรียบลงไปกับพื้น แถมยังมีรายงานจากคนท้องถิ่นว่ามีกวางเรนเดียร์หลายร้อยตัวถูกแรงระเบิดนั้นฆ่าไปและไม่มีมนุษย์เสียชีวิตในการระเบิดครั้งนี้

ร่องรอยจากแรงระเบิดของดาวตกที่ Tunguska ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

และล่าสุดเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก เกิดขึ้นเมื่อปี 2013 ที่เมือง Chelyabinsk ในแถบตอนใต้ของเทือกเขาอูรัล ที่รัสเซียอีกแล้ว (ฮา) ในวันที่เกิดนั้นผู้คนทั่วทั้งเมืองต่างบันทึกภาพดาวตกพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็ว 18 กิโลเมตรต่อวินาทีและเกิดแสงสว่างวาบไปทั่วทั้งเมืองได้ ทางการรัสเซียคาดการณ์ว่าดาวตกนี้มีขนาดประมาณบ้านหนึ่งหลัง ซึ่งก็ได้ระเบิดกลางอากาศอีกเช่นกันที่ความสูง 23 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ที่ได้ปลดปล่อยพลังงานเทียบเท่ากับระเบิด TNT ออกมากว่า 440,000 ตัน จนเกิดคลื่นกระแทกที่ทำให้กระจกทั่วทั้งเมืองในรัศมีกว่า 518 ตารางกิโลเมตรแตกออกทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 1,600 คน ภายหลังมีการเก็บกู้เศษอุกกาบาตได้ในทะเลสาปทางตะวันตกของเมืองที่อยู่ห่างไปราว 50 กิโลเมตร

คลิปวีดีโอเหตุการณ์ดาวตกที่ Chelyabinsk เมื่อปี 2013
ภาพกระจกภายในเมือง Chelyabinsk ที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นกระแทกของการระเบิดจากดาวตก

นอกจากที่จะมีการบันทึกความเสียหายที่เกิดขึ้นจากดาวเคราะห์น้อยแล้ว การศึกษาดาวเคราะห์นั้นยังช่วยให้เราเข้าใจประวัติที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอีกด้วยอย่างการหายไปของไดโนเสาร์ ซึ่งในอดีตนั้นมีหลายทฤษฎีที่ได้มีการเสนอเรื่องสาเหตุของการสูญพันธ์ของไดโนเสาร์ตั้งแต่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นการภูเขาไฟขนาดใหญ่ และอุกกาบาตพุ่งชนโลก จนกระทั่งเมื่อราว 30 กว่าปีก่อนที่เองทฤษฎีที่ว่าการสูญพันธ์ของไดโนเสาร์เกิดขึ้นจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นวงกว้างมากขึ้น จากการค้นพบร่องรอยของหลุมอุกกาบาตโบราณ Chicxulub ในคาบสมุทร Yucatan ของอเมริกากลาง ซึ่งในบริเวณนั้นมีการค้นพบชั้นหินและตะกอนที่มีอายุน้อยกว่าบริเวณอื่น ๆ

ถึงแม้หลุมอุกกาบาตที่กวาดล้างไดโนเสาร์อาจจะไม่ได้ปรากฏเป็นหลุมที่เราเห็นได้ชัดเจน แต่ด้วยเทคโนโลยี Gravity Anomaly ที่ใช้วิถีการคำนวณสนามโน้มถ่วงของโลกซึ่งสามารถบ่งบอกความหนาแน่นของชั้นหินได้ เหตุการณ์ในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ ช่วงเวลา 50 ถึง 100 ล้านปี ส่วนลูกที่เล็กกว่านั้นสามารถตกไปถี่กว่านี้มาก ซึ่งทางนักดาราศาสตร์ก็ไม่สามารถระบุช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน จนกว่าเราจะขึ้นทะเบียนดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้โลกได้ทั้งหมด ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นานาประเทศให้ความสำคัญต่อการปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้มากขึ้น โดยต้องอาศัยระบบตรวจจับที่แม่นยำซึ่งเพียงพอที่จะสามารถบ่งบอกถึงจุดปะทะและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่ออพยพผู้คนไปยังที่ปลอดภัยได้ทันเวลา

ภาพถ่าย Chicxulub โดยการใช้เทคนิค Gravity Anomaly

บทสรุป

แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วก็อยากฝากไว้ว่าถึงแม้ดาวเคราะห์น้อยอาจจะดูเป็นวัตถุที่น่ากลัวซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ ในทางกลับกันโมเลกุลของน้ำทุกหยดในมหาสมุทรบนโลกนั้นก็ล้วนแต่มาจากดาวเคราะห์น้อยที่ระดมพุ่งชนใส่โลกในช่วงแรกเริ่มที่ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการก่อเกิดและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกตามมาในภายหลัง การที่ดาวเคราะห์น้อยกลายเป็นสิ่งนักดาราศาสตร์ต่างให้ความสนใจจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ และอีกไม่กี่ข้างหน้านี้ NASA มี 2 ภารกิจสุดพิเศษอย่าง Phyche กับ Lucy ที่ถูกสร้างมาสำหรับศึกษาข้อมูลองค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อยในบริเวณต่าง ๆ ซึ่งมีเรื่องราวอีกมากที่ยังรอการค้นพบอยู่

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง

Asteroid Day and Impact Craters

A ‘Smoking Gun’ for Dinosaur Extinction

Asteroids

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.