เมื่อคืนวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ทีมนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบวัตถุธรรมชาติชิ้นใหม่ ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในระบบสุริยะ ณ ตอนที่มันถูกค้นพบแล้ว และเป็นวัตถุแรกในระบบสุริยะที่ถูกค้นพบจากระยะมากกว่า 100 หน่วยดาราศาสตร์ หรือก็คือ 100 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงอาทิตย์นั่นเอง
วัตถุชิ้นนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 2018 VG18 ถูกค้นพบโดยคุณ Scott S. Sheppard, David Tholen และ Chad Trujillo ซึ่งหากคุ้นชื่อของพวกเขาทั้งสามก็ไม่แปลก เนื่องจากก็เป็นทีมเดียวกันกับที่ค้นพบ Sednoid ดวงที่สามในระบบสุริยะ และพวกเขาก็ยังคงตามหาวัตถุที่อยู่ไกลออกไปมาโดยตลอด ด้วยความหวังที่ว่าอาจจะได้เจอดาวเคราะห์ในทฤษฏีที่ชื่อ “Planet X” อีกด้วย ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังคงไม่ถูกค้นพบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทีมของพวกเขานั้นลดความพยายามลงไปแต่อย่างไร
ระยะห่างของ 2018 VG18 เทียบกับวัตถุอื่น ๆ ที่เคยถูกค้นพบในระบบสุริยะ – ที่มา Roberto Molar Candanosa/Scott S. Sheppard/Carnegie Institution for Science
กลับมาที่ 2018 VG18 หรือชื่อเล่นก็คือ “Farout” หรือไกลโคตร ๆ ที่ถูกตั้งตามความห่างไกลจากดวงอาทิตย์ราว 120 หน่วยดาราศาสตร์ นั่นคือประมาณ 17,000 ล้านกิโลเมตรไกลออกไปจากดวงอาทิตย์ของเรา ในขณะที่วัตถุที่อยู่ห่างไปเป็นอันดับ 2 อย่าง Eris นั้นอยู่ที่ระยะเพียง 96 หน่วยดาราศาสตร์เท่านั้น ส่วนพลูโต ดาวเคราะห์แคระสุดเหงาที่เราคุ้นเคยนั้นอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่า 2018 VG18 มากถึง 3 เท่าครึ่งเลยทีเดียว
เรื่องที่น่าสนใจก็คือที่ระยะ 120 หน่วยดาราศาสตร์ คือระยะเดียวกับที่ยานวอยาเจอร์ 2 นั้นกำลังอยู่ในตอนนี้ ซึ่งมันเพิ่งผ่านพ้นจากเขตที่ลมสุริยะของดวงอาทิตย์พัดเข้าใส่หรือ Heliosphere และเดินทางเข้าสู่ช่องว่างระหว่างดวงดาวไปเมื่อไม่นานมานี้ นั่นทำให้ 2018 VG18 มีความเป็นไปได้สูงว่ามันก็กำลังอยู่ในช่องว่างระหว่างดวงดาวเช่นเดียวกับยานวอยาเจอร์ทั้งสองนั่นเอง (แต่อย่าสับสนไป เพราะถึงแม้มันจะอยู่ในช่องว่างระหว่างดวงดาว แต่มันก็ยังถูกแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์กระทำให้มันโคจรรอบอยู่ดี ซึ่งนั่นทำให้มันยังอยู่ในระบบสุริยะนั่นเอง)
เท่าที่เรารู้ในตอนนี้ก็คือเจ้าวัตถุไกลโคตร ๆ ดวงนี้มีรูปร่างเป็นทรงกลม มีขนาดประมาณ 500 กิโลเมตร ซึ่งพอ ๆ กับดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ โทนสีของมันนั้นออกไปทางชมพู ๆ ส่วนวงโคจรของมันนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ในตอนนี้ เนื่องจาก 2018 VG18 นั้นอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก ๆ นั่นทำให้มันโคจรอย่างเชื่องช้า และอาจใช้เวลามากกว่า 1,000 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ
การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2018 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ Subaru ขนาด 8 เมตรของญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา Mauna Kea ที่ฮาวาย ซึ่งหลังจากถูกค้นพบแล้วนั้น ทีมนักดาราศาสตร์จะต้องทำการสำรวจซ้ำอีกหลายครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุชิ้นนี้อยู่ห่างออกไปราว 120 หน่วยดาราศาสตร์จริง ๆ ก่อนที่ในเดือนธันวาคมจะมีทีมนักดาราศาสตร์อีกกลุ่ม ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ Magellan ในชิลี เพื่อช่วยยืนยันว่า 2018 VG18 นี้คือวัตถุธรรมชาติที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในระบบสุริยะ และข้อมูลที่เรารู้ในเบื้องต้นนั้นก็มาจากการสำรวจในครั้งนี้นั่นเอง
สุดท้ายนี้บรรดาดาวที่เหงา และไกลกว่าดาวพลูโตก็ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าเพิ่มเข้ากลุ่มแล้ว และก็น่าสนใจเหมือนกันว่าการค้นพบในครั้งนี้อาจนำพาเราไปหา “Planet X” อันแสนลึกลับ หรือเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบสุริยะของเราได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป
เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง:
Carnegie Institution for Science | DISCOVERED: THE MOST-DISTANT SOLAR SYSTEM OBJECT EVER OBSERVED