เรียกได้ว่าปี 2021 นี้ถือว่าเป็นปีที่สองเข้าไปแล้วที่มีการระบาดของ COVID-19 ตลอดทั้งปี อยากที่ทราบกันดีว่าเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานั้นเรียกได้ว่า COVID-19 มีผลกระทบกับวงการ Spaceflight น้อยพอสมควร อาจจะมีปัญหากับการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่แต่แทบไม่ค่อยส่งผลกับการส่งจรวดเท่าไหร่ ในส่วนของปีนี้ ปัญหาหลัก ๆ ไม่ใช่เรื่องของผลกระทบของการแพร่ระบาดแต่เป็นการใช้ออกซิเจนเหลวในด้านทางการแพทย์กับผู้ป่วยในสถานการณ์แบบนี้ เพราะเนื่องจากว่าจรวดส่วนมากจะใช้ออกซิเจนเหลวในการส่งจรวดด้วย
แต่เรื่องที่น่าแปลกคือสถิติการส่งจรวดขึ้นวงโคจรในปีนี้กับสูงถึง 145 เที่ยวบิน ซึ่งในส่วนของปี 2020 กลับทำสถิติไว้ที่ 114 เที่ยวบิน โดยทางอเมริกาและจีนก็ได้ส่งจรวดมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ เช่นกัน ซึ่ง 145 เทียวบินนี้ยังไม่นับในส่วนของการส่งจรวดแบบ Suborbital เรียกได้ว่าการส่งของขึ้นอวกาศในแต่ละปีนั้นมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวของมันในเร็ว ๆ นี้
ภารกิจส่งของไปอวกาศที่น่าสนใจและเป็นที่พูดถึงในปีนี้
สำหรับในปี 2021 นี้นับได้ว่าเป็นปีที่ค่อนข้างมีของแปลกตาที่ถูกส่งไปอวกาศกันมากพอสมควร ในส่วนนี้เลยจะมา recap ให้ได้อ่านกันว่าในปีนี้มนุษย์เราส่งอะไรไปบ้าง
Mars 2020/Tianwen-1/Hope Orbiter – ถึงแม้ว่ายานสำรวจทั้ง 3 ลำจะถูกส่งไปตั้งแต่ช่วงประมาณกลางปี 2020 แต่ก็ยังมีอีกหนึ่ง milestone ที่ยานทั้ง 3 ลำต้องทำเป็นอย่างแรกคือการเข้าถึงดาวอังคารอย่างปลอดภัย ซึ่งยานทั้ง 3 ได้ถึงดาวอังคารเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยยาน Hope Orbiter ได้เดินทางมาถึงก่อย ตามมาด้วย Tianwen-1 และปิดท้ายด้วย Mars 2020 ซึ่งในตอนนี้ยานทั้ง 3 นั้นกำลังทำภารกิจของมันได้อย่างดีเยี่ยม
Starlink – สำหรับ Starlink นั้นในปีนี้ได้ส่งไปแล้ว 17 ภารกิจ นับเป็นจำนวนทั้งหมด 976 ดวง ซึ่งใน 17 ภารกิจนี้แบ่งออกเป็น Starlink V1 13 ภารกิจซึ่งเป็นฐานที่สำคัญในการทำโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมและมี Starlink ที่ส่งไปที่ shell ที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 570 กิโลเมตร 1 ภารกิจและ Shell ที่ 4 ที่ระดับความสูง 540 กิโลเมตร อีก 3 ภารกิจ โดยในตอนนี้ทาง SpaceX ได้ประกาศแล้วว่าบริการ Starlink ได้เปิดปริการไปแล้ว 14 ประเทศด้วยกัน แม้ว่าความเร็วและความเสถียรจะยังไม่เป็นไปตามเป้าก็ตาม
OneWeb – นอกจาก Starlink แล้วก็ยังมีโครงข่ายบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ (ไม่เชิง) เป็นคู่แข่งของ Starlink อย่าง OneWeb อยู่เหมือนกันนะ โดยในปีนี้ทาง OneWeb ได้ส่งดาวเทียมของตัวเองไปแล้วอีก 8 ภารกิจรวมเป็น 284 ดวงซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มากและไม่เป็นภัยต่อนักดาราศาสตร์มากเท่า Starlink ก็ตาม (ฮา) แต่เป้าหมายหลักของทาง OneWeb คือการเปิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วปานกลางให้กับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตแบบ Fiber Optic เข้าไม่ถึง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการช่วยเหลือผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญได้อยู่เหมือนกัน
SpaceX’s Transporter – สำหรับ Transporter นั้นถือว่าเป็นภารกิจประเภท Rideshare ของ SpaceX แบบหนึ่งซึ่งจะไม่เหมือน Rideshare แบบอื่นที่จะอยู่ในรูปแบบขอติดไปกับ Payload หลักของภารกิจ แต่เป็นการเอา Payload ที่จอง Rideshare มารวมไว้ในที่เดียวกันโดยไม่มี Payload หลัก นั่นแปลว่าเป็นการแชร์ค่าโดยสารไปอวกาศกันเองของผู้ที่จะส่ง Payload ชิ้นเล็ก โดยในปีนี้มีการส่งไปแล้ว 2 ภารกิจด้วยกัน
Lucy – สำหรับภารกิจส่งยาน Lucy เป็นหนึ่งในภารกิจส่งของไป Deep Space เช่นกัน โดยภารกิจของมันคือการการไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่อยู่อยู่ในจุด Lagrange ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไท่เคยมีานลำใดไปสำรวจมาก่อน เท่ากับว่า Lucy นั้นเป็นยานลำแรกที่จะได้ไปสำรวจพื้นที่นั้นเผื่อว่าอาจเจอซากดึกดำบรรพ์ของระบบสุริยะของเราที่ยังไม่เคยพบมาก่อน
DART – Double Asteroid Redirection Test หรือ DART เป็นภารกิจประเภท Planetary Defense ซึ่งเป็นภารกิจที่ปกป้องโลกจากวัถตุที่มีแนวโน้มว่าอาจเป็นภัยต่อโลกโดยในภารกิจนี้เป็นเพียงการทดสอบที่ศึกษาการกระบเปลี่ยนวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยโดยเป้าหมายของ DART คือดาวเคราะห์น้อย Dimorphos ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ในระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ที่อยู่คู่กับ Didymos ที่มีขนาดใหญ่กว่า
James Webb Space Telescope – JWST นั้นถือว่าเป็นกล้องโทรทรรษน์อวกาศที่ล้ำหน้าที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา หลักจากถูกเลื่อนบ่อยครั้งแรกกินเวลาพัฒนากว่า 20 ปี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมาก็ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อรับแสงแรกของจักรวาลกันซักที นับได้ว่าเป็นของขวัญวัน Chrismas ที่มีราคาแพงที่สุด เจ๋งที่สุดและชิ้นใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์อย่างเราได้รับมา
ปี 2021 ปีแห่งการส่งคนไปอวกาศ
นับได้ว่าปีนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีของวงการการบินอวกาศแบบมีมนุษย์โดยสารไปด้วย เนื่องจากว่าการเดินทางไปอวกาศในฐานะนักท่องเที่ยวในปีนี้ไม่เคยมีปีไหนทำได้มาก่อน ทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่มีการส่งมนุษย์ขึ้นบินไปกับเทคโนโลยีจรวดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่เชื่อว่าจะมากขึ้นในปีถัด ๆ ไปอีกด้วย
ภารกิจประเภท Orbital
Soyuz – ยาน Soyuz นั้นนับได้ว่าเป็นยานประเภท Human Rate Spacecraft ที่อายุยืนที่รุ่นหนึ่งที่ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้งานอยู่ และเนื่องด้วยเทคโนโลยี Fast Track จึงทำให้ยานรุ่นนี้มีข้อได้เปรียบในการพาผู้โดยสารไปขึ้น ISS ได้ในเวลาอันสั้น ในปีนี้มีการส่ง Soyuz ด้วยกันถึง 3 เที่ยวบินตั้งแต่ภารกิจ MS-18 ไปจนถึง MS-20 โดยใน 3 ภารกิจนี้มีภารกิจพิเศษด้วยกันถึง 2 ภารกิจนั้นคือ MS-19 ที่เป็นการพาคนขึ้นไปถ่ายทำหนังบน ISS จริง ๆ และ MS-20 ที่เป็นภารกิจพานักท่องเที่ยวไปอวกาศ
Crew Dragon – ยานอวกาศสุดหรูระดับ First Class ที่เริ่มใช้งานจริงตั้งแต่ช่วงปี 2020 ที่มาจากภาคเอกชนโดยบริษัท SpaceX ในปีนี้ก็ได้ส่งไปด้วยกัน 3 ภารกิจ แบ่งออกเป็นภารกิจส่งลูกเรือไป ISS สองภารกิจอย่าง CREW-2 และ CREW-3 และภารกิจที่ (ไม่ควร) เรียกได้ว่าเป็นภารกิจแรกที่มีการส่งพลเรือนทั้งหมดขึ้นวงโคจรซึ่งกินเวลาอยู่บนอวกาศด้วยกัน 3 วันเต็ม ๆ โดยทั้ง 3 ภารกิจก็เป็น Crew Dragon คนละลำประกอบด้วย Endeavour Resilience และ Endurance ซึ่งแน่นอนว่ายังมีอีก 1 ลำที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการสร้างอยู่และเราจะได้เห็นลำที่สี่ในภารกิจ CREW-4 ในปีหน้าที่จะถึงนี้อีกด้วย
Shenzhou – ยานพี่น้องต่างสายเลือดกับยาน Soyuz ซึ่งมีความสามารถในการทำ Fast Track เช่นเดียวกัน ในปีนี้ก็มีด้วยกัน 2 ภารกิจนั้นคือ Shenzhou 12 ภารกิจเปิดซิงใช้งานสถานีอวกาศ Tiangong ครั้งแรกซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งที่ 3 และแห่งเดียวของจีนในตอนนี้ โดยภารกิจหลักคือการขึ้นไปเพื่อ Set up ตัวสถานีเพื่อการทำงานวิจัยอวกาศอย่างจริงจังของฝั่งจีนและ Shenzhou 13 ซึ่งเป็นภารกิจแรกที่เริ่มทำงานวิจัยอวกาศแบบจริงจัง
ภารกิจประเภท Suborbital
VSS Unity – VSS Unity ยานอวกาศชั้น SpaceShipTwo ลำที่สองและลำเดียวในตอนนี้จากทาง Virgin galactic มันเป็นยานอวกาศประเภท Spaceplane ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อการทำธุรกิจแบบการท่องเที่ยวอวกาศพาคนไปสัมผัสกับสภาวะไร้น้ำหนัก ในปีนี้ได้ถูกปล่อยทะยานเหนือเส้นคาร์มานดั้งเดิม (แต่แรกเลยคุณ Theodore von Kármán คำนวณไว้ที่ประมาณ 83 กิโลเมตร แต่ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็น 90 กิโลเมตรในภายหลังโดยคุณ Andrew G. Haley และถูกปรับเป็น 100 กิโลเมตรอีกทีโดยทาง FAI) ด้วยกันถึง 2 ภารกิจอย่าง Unity 21 และ Unity 22 ซึ่งเป็นภารกิจที่ทุกคนต่างจับตามองเพราะเป็นภารกิจที่ได้ส่งผู้โดยสารจริงขึ้นสู่ท้องฟ้า ถึงแม้ว่าในหลักสากลยาน Unity ยังไม่เคยแตะอวกาศก็ตามแต่ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่การสัมผัสกับสภาวะไน้น้ำหนักแถมได้ Astronaut Wings ด้วยนะ (ทาง FAI กำหนดมาตั้งแต่ช่วงยุค 60 เรื่องของใครก็ตามที่เคยขึ้นไปเหนือระดับความสูง 80 กิโลเมตรจะได้รับ Astronaut Wings หากใครอยากอยากได้มันมาประดับบารมีหรู ๆ ก็ลองไปใช้บริการดูกันได้) โดยเป็นภารกิจที่ตัดหน้าการส่งนักท่องเที่ยวไปอวกาศครั้งแรกของ New Shepard เพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นเอง
New Shepard – New Shepard นั้นถือว่าเป็นยานอวกาศประเภท Capsule ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Blue Origin ซึ่งก็เป็นยานอีกรุ่นที่ถูกออกแบบมาเพื่อรับและพานักท่องเที่ยวไปอวกาศ ในปีนี้มีด้วยกันถึง 3 ภารกิจที่พามนุษย์เดินทางไปด้วยนั้นคือ NS-16 ภารกิจที่พาของที่แพงกว่า James Webb Space Telescope อย่าง Jeff Bezos ขึ้นสู่อวกาศและเป็นภารกิจที่พาคนที่เด็กที่สุดและแก่ที่สุด (ในตอนนั้น) ขึ้นไปด้วย ตามมาด้วย NS-18 ภารกิจที่พาอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในโลกการแสดงอย่างคุณ William Shatner ผู้รับบทเป็นกัปตัน James T. Kirk แห่งยาน Enterprise จากซีรีส์ระดับตำนานอย่าง Star Trek
และภารกิจ NS-19 ที่เป็นภารกิจแรกของ New Shepard ที่พาคนไปอวกาศเต็ม 6 ที่นั่ง นอกจากนี้ในภารกิจนี้ก็ยังได้ส่งสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของคุณ Leonard Nimoy นักแสดงระดับตำนานอีกท่านที่รับบทเป็นคุณ Spock ต้นเรือแห่งยาน Enterprise โดยได้ส่งสัญลักษณ์มือของชาว Vulcan อย่าง “Live Long And Prosper” ขึ้นไปอีกด้วย
แล้วเรื่องของบริษัทอวกาศเอกชนรายเล็กทั้งหน้าเก่าใหม่ในปีนี้เป็นไงบ้าง?
สำหรับในส่วนของภาคเอกชนรายเล็ก ในปีนี้เรียกได้ว่าเป็นก้าวสำสำคัญของบางราย หรืองรายก็อาจได้เป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งถือว่าก็เป็นอีกปีที่รายเล็ก ๆ ได้ประสบความสำเร็จกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำด้วย
Rocket Lab – บริษัทที่ทำจรวดขนาดเล็กอย่าง Electron ที่มีเอกลักษณ์คือจรวดที่ทำจาก Carbon Fiber และเครื่องยนต์ที่ปั๊มสูบเชื้อเพลิงใช้พลังงานไฟฟ้า โดยในปีนี้ตัวจรวด Electron ก็ทำงานได้อย่างดีไม่งอแงแบบปีก่อน ๆ พร้อมกับได้ทดลองการเก็บกู้แบบที่เคยวางแผนไว้อย่างการเก็บกู้บูสเตอร์กลางอากาศ (ถึงแม้ว่าจะรับไม่สำเร็จก็ตาม) รวมถึงได้ประกาศจรวดรุ่นใหม่อย่าง Neutron จรวดขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นจรวดแห่งยุค 2050 โดยมันเป็นจรวดที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นจรวดใช้ซ้ำแบบ Propulsive Landing โดยทาง Rocket Lab ได้ให้ความเห็นว่าในยุคถัดไปของการส่งของขึ้นอวกาศ จะมีดาวเทียมส่วนมากที่เป็นดาวเทียมแบบกลุ่มและมีขนาดเล็ก จรวด Neutron จึงเป็นคำตอบของการส่งของไปอวกาศในอนาคต
Astra – บริษัทที่ทำจรวดขนาดเล็กอีกรายที่ถึงแม้ปีนี้จะเป็นปีที่ 2 ของการส่งจรวด Rocket 3 และล้มเหลวไป 1 ภารกิจจาก 2 แต่จากการส่งของให้กับทางกองทัพอวกาศของสหรัฐฯ ทั้งสองภารกิจ รวมทั้งการประสบความสำเร็จในการส่งครั้งที่ 2 ทำให้ทางกองทัพอวกาศมองเห็นถึงศักยภาพของบริษัทนี้ จึงทำให้ Astra เป็นอีกรายหนึ่งที่จะได้ส่งจรวดที่แหลมคานาเวอรัลในปี 2022 ที่ญานส่ง Launch Complex 46 ซึ่งทางกองทัพสามารถจัดหาพื้นที่ได้ภายในเวลาเพียงครึ่งปีเท่านั้น
Firefly Aerospace – ปีนี้ถึงแม้จะล้มเหลวในการทดสอบส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรเนื่องจาก Supersonic Drift แล้วระเบิดกลางอากาศก็ตาม แต่ก็ยังเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ทำให้จรวดทำงานได้ และเนื่องด้วยจรวดวงโคจรนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในโลกแห่งความเป็นจริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าการส่งจรวดจะมีการทำงานผิดพลาดในช่วงเที่ยวบินแรก ๆ
Relativity Space – บริษัทจรวดสัญชาติอเมริกาที่มีเอกลักษณ์เรื่องของการใช้เทคโนโลยี 3D Printing สร้างจรวดแทบจะทั้งลำ โดยถึงแม้ว่าจะยังไม่เคยส่งจรวดขึ้นวงโคจรก็ตามแต่ในปีนี้ ทาง Relativity ก็ได้ประกาศทำจรวดใช้ซ้ำทั้งบูสเตอร์และจรวดท่อนบนอย่าง Terran R เรียกได้ว่าอาจเป็นม้ามืดแห่งการส่งจรวดของภาคเอกชนเลยก็ว่าได้ ประกอบกับการทดสอบเครื่องยนต์ที่ประสบความสำเร็จไปและการทดสอบส่งจรวด Terran 1 ที่ใกล้เข้ามาทุกทีจึงเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามองในปีหน้าอยู่พอสมควร
Launcher – บริษัทจรวดสัญชาติเมริกาอีกบริษัทหนึ่งที่ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่เห็นจรวดอย่างเป็นรูปเป็นร่างและยังอยู่ในการพัฒนาเครื่องยนต์จรวดกันอยู่ แต่ก็กำลังไปได้ด้วยดีด้วยการทดสอบเครื่องยนต์โดยเฉพาะปั๊มชิ้นสิ่งที่สำคัญของเครื่องยนต์ที่เพิ่งพิชิตเป้าหมายการทำงานไปได้เมื่อช่วงกลางเดือนธันวงคมที่ผ่านมา
iSpace – บริษัทอวกาศเอกชนสัญชาติจีน หลังจากที่ได้ทดสอบเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงมีเทนกันไปแล้วเมื่อปี 2019 ในปีนี้ก็ไม่ได้มีอะไรมากเพราะเป้าหมายหลักคือการพัฒนาจรวดวงโคจรแบบใช้ซ้ำแบบ Propulsive Landing เหมือนกับทาง SpaceX แต่ก็เป็นบริษัทที่น่าจับตามมองอยู่เหมือนกัน
Landspace – ถึงแม้ว่าจะล้มเหลวการส่ง Zhuque-1 ไปเมื่อปี 2018 และได้พัฒนาเครื่องยนต์และทดสอบ Tianque-12 เครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงมีเทนที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้กับจรวดขนาดกลางอย่าง Zhuque-2 ในปีนี้อาจจะได้เห็บข่าวจากรายนี้ไม่มาก แต่เราอาจได้เห็น Zhuque-2 ถูกทดสอบในปี 2022 ด้วยเช่นกัน
ภาพรวมของบริษัทอวกาศเอกชนรัสเซีย – ใครว่ารัสเซียไม่มีภาคเอกชนที่ทำด้านจรวดหรืออวกาศ จริง ๆ คือมีและในปีนี้ถือว่าเป็นปีแรก ๆ ที่มีงาน Conference ที่รวมคนมานำเสนองานทางด้านอวกาศ หลาย ๆ รายก็มีเรื่องของเครื่องยนต์จรวด โดยถึงแม้ว่าเราจะยังเห็นแค่เครื่องยนต์จรวดขนาดพอดีถือไว้บนมือได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าภาครัฐปิดกั้นไม่ให้มีภาคเอกชนเลยเหมือนประเทศแถวนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทางภาคเอกชนรัสเซีย
จริง ๆ แล้วนอกจากนี้ก็ยังมีเอกชนรายอื่น ๆ อีกมากที่เรายังไม่ได้พูดถึง รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีบริษัทอวกาศหลาย ๆ รายที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าให้พูดถึงที่ทำด้านจรวดก็มีให้เห็นนะ อย่าง Equatorial Space จากสิงคโปร์ที่ตอนนี้ได้ยินมาว่าก็อยู่ในขั้นตอนพัฒนาจรวดอยู่เหมือนกัน ซึ่งเราก็ได้เห็นการส่งทดสอบจรวดของรายนี้ที่ระดับความสูง 1.2 กิโลเมตรกันไปแล้วเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา
โครงการพัฒนายาน Starship ของ SpaceX ที่มีอุปสรรคตลอดทั้งในปีนี้
หลังจากการทดสอบ High-Altitude Flight Test ของ Starship SN8 กันไปแล้วเมื่อปลายปี 2020 ในปีนี้ก็ได้มีการทดสอบอีก 5 ครั้งใหญ่เช่นกันและในส่วนนี้ก็จะมา Recap ให้กันแบบสั้น ๆ อีกตามเคย
SN9 High-Altitude Flight Test ในครั้งเรียกได้ว่าล้มเหลวอยู่พอสมควรถ้าเทียบกับ SN8 เนื่องด้วยปัญหาที่ตัว Chamber ของเครื่องยนต์ Raptor ตัวหนึ่งจากสองเครื่องที่ถูกใช้ในการลงจอดเกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีแรงขับไม่พอประคองยานให้ลงจอดลงพื้นได้ ตามมาด้วย SN10 High-Altitude Flight Test ครั้งนี้ในช่วงพลิงตัวเพื่อลงจอดหรือ Belly Flop ได้มีการปรับเปลี่ยนโดยการจุดเครื่องยนต์ 3 เครื่องเพื่อทำให้พลิกตัวเร็วขึ้นเพื่อแก้ปัญหาจากการทดสอบจากทั้งสองครั้งก่อนหน้า ซึ่งเครื่องยนต์ที่ใช้ลงจอดหนึ่งจากสองเครื่องก็ได้ถูกระบบตัดการทำงานทำให้เหลือเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ใช้ในการประคองยนต์ แต่ก็ยังไม่พอทำให้ตัวยานกระแทบกับพื้นแรงไปหน่อย โดยถึงแม้จะเป็นครั้งแรกลงจอดสำเร็จแต่ก็เกิดการระเบิดขึ้นในเวลาต่อมา
SN11 High-Altitude Flight Test ภารกิจทดสอบที่พลาดแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการพัฒนา Starship โดยเป้าหมายหลักในภารกิจดูเหมือนไม่ใช่การลงจอด แต่เป็นการทดสอบความปลอดภัยของระบบมากกว่าด้วยการติดตั้งระบบ Flight Termination System ซึ่งเป็นระบบที่จะสั่งระเบิดตัวยานกลางอากาศหากระบบพบข้อผิดพลาดระหว่างเที่ยวบิน แต่ระบบนี่เหมือนเป็นการสร้างปัญหามากกว่า เพราะในครั้งนั้นเศษซากยานได้กระจายไปทั่วพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงกับ Boca Chica เลย
SN15 High-Altitude Flight Test ภารกิจทดสอบยาน Starship ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปีนี้ ในครั้งนี้ได้กลับไปช้เครื่องยนต์เพียงสองเครื่องในการทำ Belly flop และเครื่องยนต์ทั้งสองก็ตามทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ SN15 ประสบความสำเร็จในการลงจอด ซึ่งถึงแม้ว่าตัวยาน SN15 จะถูกสั่งรื้อเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมากแต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นภารกิจที่น่าจดจำไม่ต่างไปจาก SN8 อยู่ดี
การทดสอบนำยาน Starship ไปวางไว้บนบูสเตอร์ Super Heavy ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ภารกิจทดสอบบิน แต่ก็เป็นการทดสอบการประกอบตัวยานครั้งแรกที่ทำให้เราได้รู้ว่าเมื่อมันถูกประกอบเข้าด้วยกันจะใหญ่ได้ขนาดไหน โดยตัวยานและบูสเตอร์ที่ถูกนำมาประกอบนั้นเป็น Ship 20 และ Boster 4 ซึ่งเป็นยานและบูสเตอร์ที่ติดเครื่องยนต์พร้อมจะทำการทดสอบบินขึ้นวงโคจรที่ตอนแรกจะทำสอบบินภายในปี 2021 นี้ แต่แผนการก็ล่าช้ามาเรื่อย ๆ ทำให้ถูกเลื่อนไปปล่อยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 แทน แต่สำหรับทั้ง Ship 20 ผ่านการทดสอบ Cryogenic Test และ Static Fire รวมทั้งตัว Booster 4 ก็ได้ทดสอบ Cryogenic Test ไปแล้วเช่นกันทำให้ตอนนี้เหลือเพียง Static Fire ของตัว Booster 4 และการได้รับอนุญาตจากทาง FAA อีกครั้งเราก็จะได้เห็นจรวดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทะยานขึ้นสู่อวกาศกันแล้ว
ในปี 2022 ที่จะถึงนี้เราจะได้เห็นอะไรบ้าง
SLS กับภารกิจ Artemis I แน่นอนว่าเป็นภารกิจที่ทุกคนต่างเฝ้ารอการปล่อยมาตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก แต่หลังจากประกอบใน Vehical Assemble Building เสร็จไปแล้วก็เหลืออีกไม่กี่ขั้นตอนก่อนที่จะพา SLS ลำนี้ไปที่ฐานส่ง Launch Complex 39B กันแล้ว และถ้าไม่เลื่อนอีกก็อาจได้เห็นมันบินขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม รวมทั้งการส่งยานสำรวจไปดวงจันทร์ในภารกิจอื่น ๆ ที่เป็นการสำรวจทางธรณีกันเป็นส่วนใหญ่จากการจ้างบริษัทเอกชนต่าง ๆ
Starship Orbital Flight Test ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญต่อทั้ง SpaceX และ Human Landing System ในโครงการ Artemis เช่นกัน เพราะนอกจากการส่งยานขึ้นอวกาศให้ได้แล้วก็ยังต้องพัฒนาระบบเติมเชื้อเพลิงกันบวงโคจรอีก และเนื่องด้วยปัญหา ข้อพิพาท HLS จึงทำให้การพามนุษย์กลับไปลงจอดบนดวงจันทร์ถูกเลื่อนออกไปปี 2025 และเราอาจได้เห็นภารกิจขึ้นวงโคจรอื่น ๆ ของ Starship กันอีกด้วยเพราะมีทั้งยานและบูสเตอร์อีกหลายลำที่ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการประกอบเช่นกัน
การกลับมาของ Falcon Heavy หลังจากที่เราไม่ได้เห็นมันเลยในปีนี้ ในปีหน้านี้เราอาจได้เห็นมันกลับมามากถึง 6 ภารกิจด้วยกัน โดย 3 ภารกิจจะเป็นภารกิจของทางกองทัพอวกาศสหรัฐฯ และอีก 1 ภารกิจที่เป็นภารกิจสำรวจในโครงการ Discovery ของ NASA
การบินครั้งแรกของ Terran 1 สำหรับในตอนนี้ ตัว Terran 1 ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบและการประกอบ แต่ทาง Relativity Space ก็ได้วางแผนไว้ว่าจะเริ่มทดสอบในปี 2022 และการเปิดรับลูกค้าที่อยู่ใน List ที่ยาวเหยียดซึ่งแน่นอนว่าก็มีลูกค้าชาวไทยไปจองเที่ยวบินไว้ด้วยนะ
การขึ้นบินครั้งแรกของจรวด H3 ของญี่ปุ่น ตัวจรวด H3 ถือว่าเป็นจรวดระดับ Flagship ของทางญี่ปุ่นที่จะขึ้นมาแทนจรวดรุ่นก่อนหน้าอย่างจรวดตระกูล H-II/A/B โดยเที่ยวบินแรกนั้นจะเป็นจรวดรุ่น H3-22S ซึ่งเป็นรุ่นที่ติดตั้งบูสเตอร์เชื้อเพลิงแข็ง 2 ท่อน เครื่องยนต์หลักที่ท่อนแรก 2 เครื่องและเป็น Fairing ครอบ Payload แบบ S ซึ่งมีเล็ก เท่ากับว่าจรวดตระกูล H-II ก็ใกล้มาถึงปลายทางของพวกมันเพื่อเตรียมส่งไม้ต่อให้กับ H3 กันแล้ว
Vulcan Centaur ที่อาจได้เห็นหรืออาจจะไม่ในปี 2022 เนื่องด้วยทาง Blue Origin จัดสรรงบประมาณพัฒนาจรวดระดับ Next-Generation ของตัวเองได้ไม่ดีนัก ทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนาเครื่องยนต์ BE-4 ที่เกิดความล่าช้าเลื่อนแล้วเลื่อนอีก กระทบทั้ง New Glenn ของตัวเองและ Vulcan ของ ULA ทำให้มีความไม่แน่นอนว่าเราจะได้เห็น Vulcan Centaur ได้บินภายในปี 2022 กันหรือไม่ ส่วนตัวท่อนบูสเตอร์ของ Vulcan ก็ได้ทดสอบ Cryogenic Test กันไปได้ซักพักใหญ่ ๆ แล้วประกอบกับการทดสอบถังเชื้อเพลิงท่อน Centaur V ก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จดี ตอนนี้เลยยังรอเครื่องยนต์ BE-4 กันอยู่ (ฮา)
นอกจากนี้แล้วก็ยังมี Event เล็กใหญ่ทั้งไทยและเทศให้ได้เห็นกันอีกอยู่พอสมควร รวมทั้งปี 2021 นี้ก็ยังเป็นปีที่วงการ spaceflight ได้เริ่มทำและประสบความสำเร็จอะไรหลายอย่าง ทั้งการพามนุษย์ที่ไม่ใช่แค่นักบินอวกาศที่ทำงานวิจัยอวกาศแต่เป็นนักท่องเที่ยวขึ้นสู่อวกาศที่มากขึ้น และงานทางด้านการสำรวจต่าง ๆ รวมทั้งเอกชนหน้าใหม่ ๆ ได้ลงมาเล่นในวงการนี้กันแบบจริงจัง ถือว่าเป็นประตูบานเล็ก ๆ ที่สำคัญของวงการอวกาศของมนุษย์ในเอกภพที่กว้างใหญ่แห่งนี้กันเลยก็ว่าได้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co