Space Economy Lifting Off 2022: อัพเดท 6 เทรนด์ธุรกิจอวกาศที่ต้องรู้ในปี 2022

2022 นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่เราได้เห็นพัฒนาการอันก้าวกระโดดของธุรกิจในแวดวงอวกาศ โดยเฉพาะเมื่อโครงการ Artemis จากฝั่งสหรัฐฯ และพันธมิตร เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีการวางแผนยานอวกาศไปลงจอดบนผิวดวงจันทร์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือในไทยเอง เราก็ได้เห็นความคืบหน้าของกิจรรมด้านอวกาศในไทย ตั้งแต่ฝั่งรัฐฯ เช่น โครงการ Thai Space Consortium และ THEOS 2 หรือการเติบโตของบริษัทอวกาศสัญชาติไทย อย่าง mu Space, Space Zab และบริษัทอวกาศที่เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่นาน แต่มีผลงานน่าติดตามอย่าง NBSpace

เมื่อพูดถึง NBSpace แล้ว ต้องย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน ที่เราเคยนำเสนอโครงการที่ชื่อว่า Space Economy: Lifting off 2021 ซึ่งจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) หนึ่งในสมาชิกภาคีของ Thai Space Consortium ในตอนนั้น NBSpace เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ และยังคงมีผลงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในฝั่งของดาวเทียม, การประกอบดาวเทียม รวมถึงบริษัท และไอเดียธุรกิจอื่น ๆ ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วเช่นกัน หรือแม้กระทั่ง Halogen ที่เป็นทีมของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ต้องการจะสร้าง Platform การให้บริการบอลลูนเพื่อการวิจัย ที่จะต่อยอดไปเป็นเทคโนโลยีอวกาศ

ปีนี้ โครงการ Space Economy: Lifting Off ได้กลับมาอีกครั้งในปี 2022 ซึ่งรอบนี้ เรียกได้ว่าน่าสนใจมาก เพราะเปิดรับไอเดียที่กว้างกว่าเดิม และลึกกว่าเดิม เราจึงทำบทความนี้ขึ้นมาเพื่อรวบรวม 10 สิ่งที่ทุกคนต้องรู้ หากจะลงเล่นในสนามธุรกิจอวกาศในตอนนี้ เป็น 10 เทรนด์ที่จะช่วยให้เราเข้าใจทั้งภาพกว้าง และภาพแคบมากขึ้น

ความร่วมมือยังคงเป็นหัวข้อสำคัญ โดยเฉพาะรัฐบาลและเอกชน

ขึ้นชื่อว่างานอวกาศแล้ว คงต้องบอกว่ายังคงต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหลาย ๆ ภาคส่วน ซึ่งก็เหมือนกับโครงการ Space Economy: Lifting Off ของไทยเรา ในต่างประเทศก็จะมีโครงการสนับสนุนเอกชนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยสิ่งที่ชัดเจนและเป็นเหมือนต้นแบบในความร่วมมือ ก็น่าจะเป็นโครงการ Commercial Resupply Program ของ NASA ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ SpaceX ได้พัฒนาจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือโครงการ Commercial Crew ที่พาให้สหรัฐฯ สามารถกลับมามีจรวดส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้อีกครั้ง มาจนถึงปัจจุบัน ที่ตอนนี้ NASA กำลังเดินหน้าเต็มที่กับสองโครงการ (ที่เรากำลังจะพูดถึงในหัวข้อถัดไปอย่างละเอียด) ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Artemis ได้แก่ โครงการ Commercial Lunar Payload Service (CLPS) และ Human Lander System (HLS)

จะเห็นว่ากลยุทธ์ของ NASA ในปัจจุบัน จะไม่ได้เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเองอีกแล้ว แต่จะใช้การสนับสนุน และสร้าง Ecosystem ของการพัฒนา สุดท้าย เราจะเจอผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ อย่างโครงการ CLPS นับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะสามารถสร้าง Ecosystem ที่มีทั้ง Demand ในฝั่งยานอวกาศ และงานวิจัยต่าง ๆ ที่จะเดินทางไปกับยานอวกาศ โดยที่ NASA เพียงแค่วางเป้าหมายเท่านั้น

ยานลงจอดดวงจันทร์ของบริษัท Ispace บริษัทเอกชนของญี่ปุ่น ที่มา – Ispace

ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็จะมีลักษณะความร่วมมือ ระหว่างรัฐกับเอกชนที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างที่น่าสนใจและน่าจะใกล้เคียงกับเราก็น่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง JAXA หน่วยงานด้านการสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น ได้มีหน่วยงานย่อยที่ชื่อว่า Business Development and Industrial Relations Department เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนขีดความสามารถของเอกชนในการทำงานอวกาศ หรือการทำงานร่วมกับทาง Cabinet Office ของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนกิจการอวกาศในภูมิภาคด้วย (หลายคนน่าจะคุ้นชินกับโครงการที่เข้ามาทำกิจกรรมในไทย เช่น โครงการ S-Booster)

ดังนั้นในหัวข้อนี้ สิ่งที่เราต้องรู้เอาไว้ก็คือ

  • อวกาศนั้นเป็นสนามที่ต้องอาศัยความร่วมมือสูงมาก เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ Firm เดียวจะสามารถทำทุกอย่างได้ ดังนั้นการรู้ว่าจะต้องเดินไปคุยกับใคร เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ
  • การตามเกมและนโยบายของรัฐให้ทัน เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเรารู้ว่าตอนนี้รัฐกำลังสนับสนุนเรื่องอะไร ประเด็นไหน วัตถุประสงค์เพื่ออะไร เราย่อมสามารถนำเอาทักษะของเรา หรือสิ่งที่เรามี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
  • ในขณะเดียวกันรัฐเองก็ต้องดำเนินนโยบายอย่างชาญฉลาด เข้าใจแนวโน้มของโลก และมีเป้าหมายในการพัฒนา

อีกหนึ่งกรณีที่น่าศึกษาก็คือ ISS National Lab ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางระหว่างรัฐกับเอกชน ในการพาเอาการทดลอง งานวิจัย จากฝั่งเอกชน ให้ได้ขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ

ดวงจันทร์คือสนามประลองแห่งใหม่

อันนี้เป็นหัวข้อที่สำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะโครงการ Artemis ของ NASA และชาติพันธมิตร (ได้แก่ สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, แคนาดา) ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การวางรากฐานการใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ โดยในปี 2022 นี้ NASA จะเริ่มส่งภารกิจแรกคือ Artemis 1 เดินทางไปทดสอบระบบต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์จริง ๆ ในช่วงประมาณปี 2025 ซึ่งโครงการนี้ นับว่าเป็นโครงการอวกาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่แพ้ (หรืออาจจะมากกว่า) โครงการ Apollo เมื่อ 50 ปีก่อนเสียอีก

โครงการ Lunar Gateway ของ NASA และชาติพันธมิตร ที่มา – NASA

ในขณะที่ในยุค Apollo เมื่อ 50 ปีก่อน ผู้ที่ขับเคลื่อน อาจจะเป็นตัว NASA อาจจะเป็นสถาบันการศึกษาใหญ่ ๆ อย่าง MIT หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอากาศยานอย่าง Boeing และ Lockheed Martin แต่ในยุคของ Artemis นั้น สิ่งที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนคือธุรกิจอวกาศเกิดใหม่และไอเดีย เราจะเห็นว่าโครงการ CLPS ที่เป็นการซื้อขายพื้นที่บนยานอวกาศไร้ขนขับที่จะไปลงจอดบนดวงจันทร์นั้น เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ Startup อวกาศรุ่นใหม่ ๆ

อ่าน – 2022 จะเป็นปีที่มียานไปลงดวงจันทร์มากที่สุด หลังเว้นว่างมากว่า 45 ปี

ซึ่งจริง ๆ โครงการ CLPS นั้นเกิดมาจากการที่ NASA ต้องการจะสร้าง Demand และ Supply ให้กับยานอวกาศแบบ Lander ซึ่งพอมีสองสิ่งนี้แล้ว ราคาของการส่ง Payload, งานวิจัย ไปยังพื้นผิวของดวงจันทร์ ก็จะถูกลง เมื่อยิ่งถูกลงก็จะช่วยให้บริษัทอวกาศต่าง ๆ เข้าถึงได้มากขึ้น และสามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับงานวิจัยเฉพาะของตนได้ โดยไม่ต้องรอทาง NASA ซึ่งเป็นภาพใหญ่ มาคอยจิ้มเลือก นี่คือ Ecosystem ที่สำคัญมาก ๆ

ยานลงจอดดวงจันทร์ NOVA-C ของบริษัท Intuitive Machines หนึ่งในยานอวกาศในโครงการ CLPS ของ NASA ที่มา – NASA

เราจะสังเกตว่า ยานสำรวจที่จะไปลงดวจันทร์กับโครงการ CLPS นั้น จะดำเนินการโดยบริษัทชื่อใหม่ ๆ เช่น Astrobiotnic Technology, Intuitive Machines, Firefly Aerospace และใช้งานจรวดจากบริษัทเอกชนอย่าง SpaceX เพื่อนำเอา Payload จากทั้งฝั่งลูกค้า (ซึ่งก็เป็นบริษัทเอกชนอีกที) และ Payload วิจัยจาก NASA และชาติพันธมิตรเองด้วย ไปลงจอด

อ่านเพิ่มเติม – NASA เตรียมหาบริษัทผลิตรถ Lunar Terrain Vehicle สำหรับโครงการ Artemis

จะเห็นได้ว่า End-to-End เป็นการใช้บริการหมุนเงินในบริษัทเอกชนหมดเลย แต่คนที่ได้ประโยชน์ด้วยกลับเป็นรัฐ เพราะสามารถผลักดันขีดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีไปได้ รวมถึงรัฐเองก็ได้ราคาในการขนส่งที่ถูกลงไปอีก

สมมติว่าเราจะบอกว่า อยากทำธุรกิจอวกาศในปัจจุบัน การบอกว่าจะทำงานวิจัยบนดวงจันทร์นั้นลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ไปแล้ว เรียกได้ว่าดวงจันทร์อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่เคย

การเมืองและนโยบาย

Geo-Politics เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาหากอยากทำบริษัทอวกาศ หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นจากกรณีการปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียในยูเครน จะเห็นว่า ผลกระทบเกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอวกาศ เช่น การที่รัสเซียยกเลิกการปล่อยดาวเทียมระบุตำแหน่ง (GNSS) ในโครงการ Galileo ให้กับสหภาพยุโรป หรือการยกเลิกการปล่อยดาวเทียมให้บริการอินเทอร์เน็ต One Web ที่อาจจะส่งผลถึงอนาคตของบริษัทถึงขั้นล้มละลายเลยก็ว่าได้ ลากยาวไปจนถึงโอกาสทางธุรกิจและการวิจัยที่เสียไปกับโครงการความร่วมมือ เช่น ExoMars 2022 และอื่น ๆ

การดำเนินธุรกิจอวกาศ จึงไม่ใช่แค่การคิดในอุดมคติ แต่ต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการทำธุรกิจก็จะได้เปรียบกว่ารัฐตรงที่สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยประเมินจากผลกระทบเป็นหลัก ก็จะช่วยให้เราสามารถมองเกมในภาพใหญ่ออกและปรับตัวได้ทัน

ในขณะเดียวกัน นี่ยิ่งเป็นตัวตอกย้ำว่ารัฐเองก็ต้องช่วย Guide ให้กับฝั่งเอกชนเช่นกัน (ด้วยเหตุผลในข้อแรก) เพราะสุดท้ายเอกชนก็ยังคงต้องพึ่งพานโยบายภาครัฐอยู่ดี ทั้งสองฝั่งจึงต้องช่วยกันมองภาพการเมืองระหว่างประเทศให้ออก ไม่ใช่แค่ไหล ๆ ตามกันไป

โจทย์การใช้ชีวิตระยะยาว และ In-Situ Resource Utilization หัวข้อขับเคลื่อนโลก

แม้ว่ารูปแบบของธุรกิจอวกาศจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่ต้นน้ำ (Upstream) ไปจนถึงปลายน้ำ (Downstream) แต่ก็ต้องยอมรับว่า หัวข้อที่เป็นหัวข้อพีค ๆ อาจจะมีอยู่ไม่กี่อย่าง เพราะมันถูกขับเคลื่อนด้วยแนวโน้มโลกผ่านพวกภารกิจต่าง ๆ (ซึ่ง International Space Station, Artemis และ Lunar Gateway นี่แหละที่สำคัญ) ดังนั้น เราจะเห็นว่าทั้ง 3 โครงการ จะมุ่งเน้นไปที่การใช้ชีวิตระยะยาวในอวกาศ แล้วเทคโนโลยีไหน อะไรจะมาส่งเสริม มีบทบาทในแง่ใด ก็ค่อยว่าอันอีกที

อีกอย่างหนึ่งก็คือ In-Situ Resource Utilization (ISRU) ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการจัดการบริหารทรัพยากรในข้อจำกัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบนดวงจันทร์, ดาวอังคาร หรือบนสถานีอวกาศเองก็ตาม ซึ่งงานแนว ๆ นี้จะเห็นออกมาบ่อยในช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่ การสกัดออกซิเจนจากแร่ธาตุบนดาวต่าง ๆ (ดวงจันทร์ ดาวอังคาร) การจัดการทรัพยากรหมุนเวียน เช่น น้ำ อาหาร พลังงาน ไปจนถึงการใช้แบคทีเรียทำเหมืองบนอุกกาบาต

อ่านเพิ่มเติม – Biomining คืออะไร เจาะลึกการใช้จุลชีวิน ทำเหมืองแร่ในอวกาศ

หัวข้อพวกนี้เป็นเหมือนกับโจทย์ Front-tier ที่ให้เราเข้ามาเอาเทคโนโลยี ไอเดีย การบริหารจัดการมาแก้ปัญหา และสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งผลที่ได้ก็จะอยู่ในหัวข้อที่เราจะพูดถึงกันถัดไป

การ Spin-off Technology และ Space Education

จากหัวข้อด้านบน เราจะเห็นว่าสุดท้าย เราจะได้ Product ออกมาเป็น Spin-off Technology ในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะใช้บนอวกาศหรือจะใช้บนโลกก็ว่ากันอีกเรื่อง แม้ว่าหัวข้อที่นำมาซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ถ้าเกิดเทคโนโลยีมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็จะเห็นโอกาสอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะ Space Education ที่เป็นหัวข้อมาแรง ที่บอกว่าไม่พูดถึงไม่ได้ก็เพราะว่า Space Education คือการอธิบายสิ่งที่เราพูดถึงกันมาทั้งหมดนี้ ว่าอวกาศ ไม่ได้มีแค่เรื่องดาวเทียม ข้อมูล หรือจรวด ยานอวกาศ แต่มันคือการมองอวกาศให้เป็นบริบท เป็นการผลักดัน Front-tier ให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้น และนำสิ่งนั้นมาเป็นธุรกิจ รวมถึงการบริหารจัดการ Ecosystem เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอวกาศ (โครงการ Artemis จะเห็นสิ่งนี้ได้ชัดมาก)

การที่เปิดโอกาสให้เยาวชน หรือผู้สนใจ ได้เข้ามาทำความเข้าใจผ่าน Space Education จึงเป็นเหมือนการลงทุนในระยะยาว และเป็นการสร้าง Demand แห่งอนาคต ที่จะปูทางสู่การเดินทางที่ยาวไกลออกไปอีก

การลงทุนในเทคโนโลยีอวกาศ

ในปี 2021 นั้น Space Capital ได้มีรายงานออกมาว่าในสหรัฐฯ มีการเติบโตด้านการลงทุนในงานอวกาศในฝั่งของ Infranstructure (จรวด ยานอวกาศ ดาวเทียม) มากถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยมีการลงทุนเป็นเงินประมาณ 14.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผู้ที่ครองเม็ดเงินเหล่านี้ ก็ยังคงเป็นเจ้าเก่าเจ้าเดิมอย่าง SpaceX,  Sierra Space และ Planet Lab (บริษัทให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมผ่านดาวเทียมแบบ Constellation)

ในขณะที่ทางฝั่งญี่ปุ่น SpaceTide ก็ได้ออกรายงานมาว่ารัฐบาลญี่ปุ่น ได้กันงบไว้มากกว่า 4.1 พันล้านเหรียญฯ เพื่อสนับสนุนบริษัทอวกาศใหม่ ๆ รวมถึงกิจการอวกาศ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ได้รับเงินลงทุนสูงที่สุด ก็คือด้าน Satellite Data, Space Tech Application ซึ่งจะไม่เหมือนกับฝั่งสหรัฐฯ ที่จะเป็นในเชิง Infranstructure มากกว่า

รายงานจาก Compass ของ SpaceTide ปีล่าสุด จะพบว่าปริมาณของธุรกิจในกลุ่ม การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ยังคงเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้เล่นเยอะ และมีการลงทุนที่สูง ในขณะที่รองลงมา ก็จะเป็นกลุ่ม Space Exploration, Mining และงานด้าน In-Orbit Service เช่นการให้บริการดาวเทียมต่าง ๆ ที่มา – SapceTide

สิ่งนี้บอกอะไรเรา? มันบอกว่า จริง ๆ แล้ว ธุรกิจที่เติบโตได้ดีที่สุดในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเก๋าเกมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านงานอวกาศ จรวด ยานอวกาศ ก็จะมีวิธีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป ในขณะที่ประเทศที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีด้าน Infranstructure ขนาดนั้น ก็สามารถเล่นใน Segment ที่แตกต่างออกไป เช่น การทำ Data, Application ต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลจากอวกาศเป็นต้น

ดังนั้่น ถามว่า เราควรเล่นใน Segment ไหน ก็อาจจะตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ตอบได้ก็คือ ถ้าเราเลือก Segment ที่จะเล่นถูก และตรงกับทิศทางการพัฒนาในประเทศ ตรงกับทิศทางของการพัฒนาในระดับโลก และสามารถแทรกตัวเองเข้าไปในโครงการใหญ่ต่าง ๆ เช่น Artemis, Lunar Gateway ได้นั้น จะทำให้เราได้เปรียบเป็นอย่างมาก

Space Economy: Lifting off 2022

ธุรกิจอวกาศ หรือว่า Space Business นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใหม่ แต่ก็เรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งที่เราพยายามรวบรวมมาก็นับว่าเป็น Trend สำคัญที่เราต้องรู้

ซึ่งถ้าใครที่สนใจและต้องการริเริ่มธุรกิจอวกาศเป็นของตัวเองนั้น ช่วงนี้คงจะเป็นเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากทั้งโลกกำลังถามหาคนที่มีไอเดียเช่นนี้อยู่ ในไทยเอง เมื่อเกิดโครงการ Thai Space Consortium ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการเกิดกิจกรรมอวกาศในไทยจึงเป็นโอกาสอันดีเช่นกัน ทางสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ก็ได้เปิดโครงการ Space Economy: Lifting Off 2022 ขึ้น เป็นปีที่สอง หวังที่จะได้สนับสนุน ธุรกิจอวกาศหน้าใหม่ ให้ได้เข้ามาโลดแล่นในวงการอวกาศไทยและวงการอวกาศโลก

โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมเพื่อทำความรู้จักกับโครงการฯ สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯจะได้รับ เข้าใจโจทย์ และโอกาสของอุตสาหกรรมอวกาศจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การผลักดันและโอกาสของผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาส เทคโนโลยีไหนที่เป็นที่ต้องการ Upstream, Downstream และเทคโนโลยีอื่นๆ สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://bit.ly/36hWXPP โดยหลังจากลงทะเบียนแล้วผู้ที่สนใจจะได้รับ Link เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมผ่าน Zoom

เราก็หวังว่าประเทศไทย วันหนึ่งจะได้เป็นหนึ่งใน Ecosystem ของโครงการสำคัญ ๆ ในวงการอวกาศโลก ซึ่งก็เริ่มต้นได้ด้วยไอเดียของพวกเราทุกคนวันนี้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.