2022 จะเป็นปีที่มียานไปลงดวงจันทร์มากที่สุด หลังเว้นว่างมากว่า 45 ปี

ย้อนกลับไปในปี 1976 โลกเพิ่งผ่านการไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกมาได้เพียง 7 ปี, โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลยังไม่ระเบิด, เครื่องบินคองคอร์ดบินให้บริการครั้งแรก, Star Wars ภาคแรกออกฉาย, และ Steve Jobs กับ Steve Wozniak เพิ่งก่อตั้งบริษัท Apple Computer ในโรงรถ ในปีเดียวกันนั้นสหภาพโซเวียตได้ส่งยานอวกาศที่ชื่อว่า Luna 25 ไปลงจอดบนดวงจันทร์

เหตุการณ์ทุกอย่างดูเหมือนจะปกติ แต่เชื่อหรือไม่ นับตั้งแต่การลงจอดของ Luna 24 ในปี 1976 นั้น ไม่ใช่แค่สหภาพโซเวียต แต่โลกก็ไม่ได้ส่งยานอวกาศลำใด ไปสัมผัสกับพื้นผิวของดวงจันทร์อีกเลยนับจากนั้น จนถึงปี 2013 รวมระยะเวลาที่ดวงจันทร์ไม่ถูกสัมผัสโดยวัตถุใด ๆ จากโลกเลยถึง 37 ปี

เพื่อไม่ให้งง เราจะมาไล่เรียง Timeline กันก่อน ภารกิจการสำรวจดวงจันทร์เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงปี 60s สาเหตุก็เพราะว่าโครงการ Apollo และ Space Race นั่นแหละ ตั้งแต่โครงการ Surveyor ของสหรัฐฯ, Luna และ Lunakhod ของรัสเซีย ในขณะที่หลังจากยุค Apollo (1969-1972) สหรัฐเองก็ไม่เคยส่งยานอวกาศลำใดไปแตะผิวดวงจันทร์อีกเลย น่าจะเหตุผลด้านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากโครงการ Apollo นั้นเพียงพอในการวิเคราะห์ต่อได้อีกหลายทศวรรษ (เอาจริง ๆ ทุกวันนี้เราก็ยังทำงานวิทยาศาสร์บนฐานของการสำรวจจาก Apollo อยู่)

ภาพถ่ายยาน Lunakhod ที่ยังคงอยู่บนดวงจันทร์ โดยยาน Lunar Reconnaissance Orbiter ที่มา – NASA

ในขณะที่สหภาพโซเวียต ผู้ชวดการเหยียบดวงจันทร์โดยมนุษย์ ก็ไม่ได้น้อยหน้าขนาดนั้น โซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปตักดินดวงจันทร์กลับโลกโดยไม่ต้องใช้มนุษย์ หรือแม้กระทั่งการส่งยาน Lunakhod ยานอวกาศแบบ Rover ขนาดใหญ่ไปสำรวจดวงจันทร์และวิ่งด้วยตัวมันเองเป็นระยะทางกว่า 42 กิโลเมตร ไกลว่าที่นักบินอวกาศในโครงการ Apollo ขับรถสำรวจเสียอีก ซึ่งสหรัฐฯ เอง ไม่เคยทำมาก่อน

ภาพถ่ายยาน Lunar 24 โดยยาน Lunar Reconnaissance Orbiter ที่มา – NASA

จนในปี 1976 สหภาพโซเวียตได้ส่งยาน Luna 24 ไปลงจอด ยานอวกาศลำนี้เป็นซีรีส์ต่อเนื่องจากโครงการ Luna ซึ่งถามว่ามีกี่ภารกิจก็ตอบได้ยาก เพราะความกวนตีนในการตั้งชื่อ ที่ถ้าภารกิจไม่สำเร็จจะไม่มีชื่อ จะมีชื่อก็ต่อเมื่อสำเร็จเท่านั้น ทำให้ภารกิจ Luna 16, 19, 18, 19, 20, 21, 22, 23, 24, 24 นั้น Success Rate อยู่ที่ 100% แต่ระหว่างนั้นก็มียานที่ไม่สำเร็จ แต่ไม่ตั้งชื่อ เลยไม่นับ

ภารกิจ Luna 24 ยานลำสุดท้ายที่ปิดช่วงเวลาแห่งการสำรวจผิวดวงจันทร์

Luna 24 เป็นยานอวกาศหนัก 5,700 กิโลกรัม ซึ่งใช้การออกแบบใกล้เคียงกับยานในโครงการเดียวกันรุ่นก่อน ๆ ภายในประกอบไปด้วยอุปกรณ์ Stereoscopy สำหรับการถ่ายภาพ และอุปกรณ์ขุดเจาะเพื่อวิเคราะห์หินและดินบนดวงจันทร์ พร้อมระบบการทำ Sample Return หรือการส่งตัวอย่างหินกลับมายังโลก

จุดลงจอดของมันคือบริเวณที่ชื่อว่า Mare Crisium หรือ Sea of Crises ซึ่งเป็นแอ่งที่ทำให้เราเห็นเป็นรูปกระต่ายนั่นแหละ (แต่อย่าถามว่ามันคือหัว หรือหูของกระต่าย เพราะเราก็ดูไม่ออก) บริเวณนี้สหภาพโซเวียตเคยส่งยาน Luna 15 ไปสำรวจในปี 1969 มาแล้ว หลายคนอาจจะบอกว่า เอ้อ ปีเดียวกับ Apollo 11 เลย แต่จริง ๆ ไม่ใช่แค่นั้น มันคือ “เดือนเดียว วันเดียว ชั่วโมงเดียว และวินาทีเดียวกับที่ Niel Armstrong และ Buzz Aldrin อยู่บนดวงจันทร์” (อ่าน Luna 15 – เมื่อโซเวียตส่งยานสำรวจไปโหม่งดวงจันทร์ระหว่างภารกิจ Apollo 11 )

ภาพจำลองการทำภารกิจ Sample Return ของสหภาพโซเวียต ที่มา – Roskosmos

การสำรวจ Mare Crisium จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่โซเวียตจะต้องนำดินจากดวงจันทร์กลับมาให้ได้ ซึ่งพวกเขาก็ทำสำเร็จ Lunar 24 ส่งตัวอย่างหินดวงจันทร์หนัก 170 กรัมกลับมายังโลกได้สำเร็จ

ช่วงเวลาหลุมดำแห่งการสำรวจดวงจันทร์

หลังจาก Luna 24 อาจจะไม่ใช่ถึงกับว่ามนุษย์เลิกสำรวจดวงจันทร์ เพราะก็ยังมีการส่งยานอวกาศลำต่าง ๆ ไปโคจรรอบดวงจันทร์อยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงนี้ซึ่งประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ ตั้งแต่จีน, ยุโรป และสหรัฐเอง แต่การลงจอดที่ทำลาย Time Gap อันยาวนานนี้ก็เกิดขึ้นในปี 2013 มานี้เอง เมื่อจีนตัดสินใจนำยานฉางเอ๋อ 3 ลงจอดบนผิวของดวงจันทร์ หลังจากที่โครงการฉางเอ๋อ ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้านั้น Google ได้ทำโครงการที่ชื่อว่า Lunar X Prize ที่จะให้รางวัลแก่บริษัทเอกชนที่สามารส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่มีบริษัทใดเลยสามารถทำได้ รางวัลนี้จึงไม่มีผู้ชนะในที่สุด

หลังจากฉางเอ๋อ 3 ของจีน ดวงจันทร์ก็กลับมาเป็นเป้าหมายอีกครั้ง บริษัท Startup จากอิสราเอล ผู้เคยเข้าแข่งขันโครงการ Lunar X Prize ตัดสินใจพัฒนายานต่อ จนพวกเขาสามารถทำยานที่ชื่อว่า Beresheet เดินทางถึงดวงจันทร์แต่ดันลงจอดผิดพลาดและขาดการติดต่อกับโลก อินเดียตัดสินใจส่งยาน จันทรายาน 2 ที่มียานลงจอดขนาดเล็กชื่อว่าวิกรม ไปลงจอดแต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน มีเพียงแค่ยาน ฉางเอ๋อ 4 และ 5 ตามลำดับที่สำเร็จ

ยานสำรวจอี้ว์ทู่ของจีนที่เดินทางไปพร้อมกับภารกิจฉางเอ๋อ 4 ที่มา – CNSA

นั่นทำให้ถ้าจะนับกับจริง ๆ แล้ว ตั้งแต่ปี 1976 มีเพียงแค่ประเทศจีนเท่านั้น ที่ลงจอดดวงจันทร์ได้ ใครที่อายุน้อยกว่า 37 หมายความว่าในชั่วชีวิตของคุณตอนนี้ มียานอวกาศเพียงแค่ 3 ลำเท่านั้น ที่ลงไปสำรวจผิวของดวงจันทร์

แล้วเหตุใด การลงจอดดวงจันทร์ถึงเว้นว่างนานเช่นนี้

หลังจากความพยายามในการค้นหาข้อมูล ไม่ปรากฎเหตุผลแน่ชัดในบทสัมภาษณ์หรือบทความใด แต่เราก็อาจสรุปได้จากการมองไปยังปัจจัยสำคัญ ๆ ได้แก่

  • สงครามเย็นสิ้นสุดลง เมื่อไม่มีสงครามเย็น ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการแข่งขันการไปดวงจันทร์ งานสำรวจอวกาศมีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
  • ความสำเร็จของโครงการ Apollo จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากโครงการ Apollo ยังคงเหลือให้เราต้องวิเคราะห์อีกมาก รวมถึงตัวอย่างหินที่เก็บได้จากดวงจันทร์เมื่อ 50 กว่าปีก่อน ก็ยังถูกใช้เป็นรากฐานการศึกษาดวงจันทร์จนถึงปัจจุบัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องไปยังผิวของดวงจันทร์อีก
  • ยานอวกาศวงโคจร มีเยอะขึ้นทวีคูณ นับตั้งแต่การส่งยาน Lunar Orbiter (1966) เพื่อปูทางการลงจอดดวงจันทร์ มนุษย์ก็เริ่มต้นการทำแผนที่ดวงจันทร์โดยละเอียด หลังจากนั้นยานลำแล้วลำเล่าก็ถูกส่งขึ้นไปสำรวจ โดยเฉาะยาน Lunar Reconnaissance Orbiter (2009) จากแผนที่ดวงจันทร์ที่เคยมีราคาสูงหลายแสนล้านบาท ทุกวันนี้ถูกเอามาทำโคมไฟขายลูกละ 99 บาทใน Shopee
  • โจทย์ของการสำรวจอวกาศที่เปลี่ยนไป มนุษย์โฟกัสไปที่การสำรวจอวกาศห้วงลึก การส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น ส่วนมนุษย์ก็จะเน้นที่การใช้ชีวิตในอวกาศระยะยาว เช่น การสร้างสถานีอวกาศ

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลว่าทำไม การสำรวจดวงจันทร์จึงเว้นว่างมานาน

อ่าน – NASA เตรียมเปิดดูตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่ถูกปิดผนึกไว้มานานนับ 50 ปี

แล้วอะไรที่ทำให้ดวงจันทร์กลับมาเนื้อหอมอีกครั้ง

โครงการ Artemis แน่นอนอยู่แล้ว NASA ประกาศแผนการพามนุษยชาติกลับไปดวงจันทร์ แต่ถ้าให้ขยายความก็คือ หลังจากที่มีการปรับโฉม NASA ครั้งใหญ่และยกเลิกโครงการ Constellation Program เพื่อมาทำโครงการสำรวจดวงจันทร์หรือ Artemis และการสนับสนุนการเติบโตของบริษัทอวกาสเอกชน ก็ทำให้โครงการ Artemis นั้น แตกต่างจาก Apollo อย่างสิ้นเชิง

อ่าน – ทุนนิยมบนดวงจันทร์ ทำไม NASA ให้ SpaceX, Blue Origin ช่วย เศรษฐศาสตร์ของการกลับสู่ดวงจันทร์

ยาน Starship ของ SpaceX กับการส่งสัมภาระลงบนดววงจันทร์

Artemis ปัจจุบันนับว่าเป็นความร่วมมือนานาชาติไปเสียแล้ว มีการเซ็น Artemis Accord เพื่อเป็นเหมือน MOU ของการใช้งานดวงจันทร์อย่างสันติ มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลโครงการส่งยานอวกาศและ Payload รวมถึงมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร มีการทำโครงการ CLPS หรือ Commercial Lunar Payload Service เพื่อให้เกิดตลาดการขนส่งระหว่างโลกกับพื้นผิวของดวงจันทร์ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิด Demand ด้านการทำงานที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ Lander, Rover หรือองค์ความรู้อื่น ๆ เช่น การก่อสร้าง, การขุดเจาะ เพื่อวางรากฐานการสำรวจดวงจันทร์โดยเฉพาะ

อ่าน – NASA เตรียมหาบริษัทผลิตรถ Lunar Terrain Vehicle สำหรับโครงการ Artemis

และทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเป้าหมายใหม่ของการสำรวจดวงจันทร์ ว่านี่ไม่ใช่เพียงแค่การกลับไปสู่ดวงจันทร์เพียงเท่านั้น แต่เป็นการ “กลับไปเพื่ออยู่อาศัยระยะยาว ทั้งบนพื้น และบนวงโคจร” จะมีการก่อสร้างสถานี Lunar Gateway ขึ้นเพื่อเป็นจุดพักแวะระหว่างภารกิจที่ยาวไกลระหว่างดวงจันทร์กับดาวอังคาร

อ่าน – NASA ประกาศจุดลงจอดสำหรับโรเวอร์ VIPER เป็นหลุมอุกกาบาต Nobile Crater ที่ขั้วใต้

ภาพจำลองโครงการ Lunar Gateway สถานีอวกาศรอบดวงจันทร์ ที่มา – NASA

แต่ก็ไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อการเมืองที่ร้อนระอุ พาให้จีนและรัสเซีย หันมาจับมือกันเพื่อสำรวจอวกาศ โดยรัสเซียประกาศถอนตัวจากโครงการ Artemis ตามด้วยโครงการ International Space Station ตามลำดับ และเปิดตัวโครงการสำรวจอวกาศร่วมกับจีน ผ่านโครงการ International Lunar Research Station

จะสังเกตว่าภายในเวลาเพียงแค่ 2-3 ปี การพูดถึงภารกิจการสำรวจดวงจันทร์นั้นกลายเป็นหัวข้อสำคัญไปแล้ว แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็มีการประกาศโครงการ Thai Space Consortium และวางแผนจะส่งยานอวกาศ TSC-2 ไปสำรวจดวงจันทร์กับเขาเช่นกัน หรือบริษัทอวกาศสัญชาติไทย Space Zab ก็เดินหน้าโครงการ Lunar ISRU เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและวิศวกรรมในการสำรวจดวงจันทร์

แม้กระทั่งยานอวกาศ Lander ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เฉพาะปี 2022 ก็มีมากมายเช่นกัน ทั้งหมดก็เพื่อเตรียมความพร้อมการสำรวจดวงจันทร์ในยุคใหม่ เช่น

  • ยานลงจอด Nova-C ภารกิจ IM-1 ยานอวกาศลำแรกในโครงการ CLPS ของ NASA เดินทางต้นปี 2022 (ใช้จรวด Falcon 9)
  • ยานลงจอด Lunar 25 ของรัสเซีย ที่เว้นระยะมากว่า 46 ปี เดินทางกลางปี 2022 (ใช้จรวด Soyuz)
  • ยานลงจอด จันทรายาน 3 ของอินเดีย เดินทางกลางปี 2022 (ใช้จรวด GSLV Mk III)
  • ยานลงจอด Hakuto-R ของบริษัท ispace ประเทศญี่ปุ่น เดินทางปี 2022 (ใช้จรวด Falcon 9)
  • ยานลงจอดและ Rover Rashid ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร่วมมือกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เดินทางปลายปี 2022 (ใช้จรวด Falcon 9)
  • ยานลงจอด Nova-C ภารกิจ IM-2 ในโครงการ CLPS เดินทางปลายปี 2022 (ใช้จรวด Falcon 9)
  • ยานลงจอด SLIM (Smart Lander for Investigating Moon) ของ JAXA เดินทางปลายปี 2022 (ใช้จรวด H-IIA)
  • ยานลงจอด โครงการ Mission One ของบริษัท Astrobotic Technology ทดสอบการลงจอดบนดวงจันทร์ เดินทางปลายปี 2022 (ใช้จรวด Vulcan)
  • ยานลงจอด Spacebit ของสหราชอาณาจักร เดินทางพร้อมภารกิจ Mission One ด้วยจรวดลำเดียวกัน เดินทางปลายปี 2022
  • ยานลงจอด Colmena ยานลงดวงจันทร์ลำแรกของประเม็กซิโก ร่วมมือกับสหรัฐฯ เดินทางด้วยจรวดลำเดียวกับภารกิจ Mission One ปลายปี 2022
  • ยานลงจอด Planetary Transportation Systems ของ ESA นำโดยสหพันธรัฐเยอรมนี ทดสอบเทคโนโลยีลงจอด เดินทางปลายปี 2022 (ใช้จรวด Ariane 6)
ยานอวกาศ Hakuto-R ของบริษัท ispace ประเทศญี่ปุ่น ที่มา – ispace

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่โลกตื่นตัวด้านการสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง มากกว่าสมัยสงครามเย็นเมื่อ 50 ปีที่แล้วเสียอีก เพราะไม่ใช่แค่เราจะชมการลงจอดดวงจันทร์ผ่านทางโทรทรรศน์เหมือนในยุค Apollo เท่านั้น แต่เรากำลังจะได้เป็นส่วนหนึ่งของมันจริง ๆ ไม่ว่าจะในแง่งานวิจัย ในแง่การศึกษา หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอวกาศต่าง ๆ ก็ไม่ได้ยากเหมือนกับสมัยก่อนแล้ว

2022 จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการกลับสู่ดวงจันทร์โดยมนุษย์ ที่เราก็คงต้องเฝ้ามองต่อไปว่าเหตุการสำคัญในรอบครึ่งศวรรษนี้จะพาให้มนุษยชาติเดินหน้าไปได้อีกไกลแค่ไหน เหมือนกับมรดกของยุค Apollo ที่แทรกซึมอยู่ในทุกเรื่องราวของเราทุกวันนี้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.