นอกจากกรณีของ Coronavirus แล้ว หนึ่งในปัญหาที่เราไม่อาจเพิกเฉยได้ตอนนี้ก็คือปัญหาคุณภาพอากาศบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย หลังจากที่ #Saveเชียงใหม่ กลายมาเป็นที่ถูกพูดถึงจากกรณีไฟไหม้ดอยสุเทพ ไปจนถึงความเพิกเฉยและการดราม่าต่าง ๆ มากมาย
เหตุเหล่านี้ทำให้เราเกิดข้อสงสัยว่าสรุปแล้วเราแก้ไม่ได้หรือเราไม่ได้พยายามแก้ไขกันแน่ @Nutn0n และ @Kornkt สองบรรณาธิการบริหารสเปซทีเอชจึงได้ติดต่อ Face Time คุยกับ อาจารย์ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งทั้งสถาบันฯ และอาจารย์เองก็อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เราคุยกันว่าสรุปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือยังไงกันแน่
สถานการของฝุ่นควันที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นไงบ้างครับ
อาจารย์: “มันก็มีอาทิตย์ สองอาทิตย์กว่า ๆ ที่ผ่านมานี้มันก็แย่มาก ๆ เลยเพราะว่าเราอยู่ใกล้กับใจกลางการเผาไหม้ ดอยสุเทพเลย ซึ่งก็ยังไม่เคยเห็นมันไหม้ขนาดนี้มาก่อนตั้ง 20 ปีแล้ว สมัยก่อนนี้มันเรื่องธรรมดาเลย แต่ว่าโดยรวมปีนี้จริง ๆ ไม่แย่เท่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วนี้เรียกว่าเป็นลานีญาเลยก็ได้ โหดกว่านี้เยอะ ถ้าสมมตินะว่าแบบไม่มีเรื่องเผาเกิดขึ้นนี้เมืองอื่นจะหนักกว่านี้เยอะเลยนะ เช่นน่าน แพร่ เชียงราย อันนี้จะมีฝุ่นหนักมากเพราะทางเพื่อนบ้านของเรานี้มีการเผา Biomass กันเยอะมากเลยนะ”
“มันมีวันหนึ่งที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติวัดค่าฝุ่นแล้วตัวเลขขึ้นไปถึง 400 กว่าเลย แต่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เองเพราะว่ามันติดกับหมู่บ้านทหาร เรามองจากตึกเรา เห็นเป็นไฟลุกแดงฉานขึ้นมาเลย”
เติ้ล: “เราพยายามดูจากดาวเทียมเราก็เห็นว่ามันคือตรงดอยสุเทพตรง ๆ เลยลุกเป็นกองไฟขึ้นมาเลยอะ”
อาจารย์: “คือไฟมันไม่ใช่ไฟที่ชาวบ้านธรรมดาเผาไฟกันอะ มันคือไฟลุกขึ้นมาจริง ๆ เลย แต่อย่างว่าคือมันก็มี variation ของมันอยู่อะ ตอนเช้าตัวเลข (ค่าวัด PM2.5) ก็จะสุงสุดประมาณเก้าโมงเช้าแล้วก็ลงมาต่ำสุดตอนห้าโมงเย็น ตอนนี้ที่ผมวัดก็ 40 กว่า ๆ แต่พอตอนเช้ามันก็ตัวเลขก็จะสูงขึ้นไปอีก”
เติ้ล: “แต่ว่าจากการเผาไหม้มันก็น่าจะมี PM10 ออกมาด้วยหรือเปล่าครับ”
อาจารย์: “เผานี้ PM2.5 เยอะมาก ๆ ครับ PM10 น้อยกว่าอีก การก่อสร้างอะไรนี้จะให้ PM10 มากกว่าอีก เพราะว่าตัว PM2.5 เนี่ยมันเกิดมาจากการที่สารในสถานะแก๊สได้เปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นของแข็งหรือของเหลว แต่การก่อสร้างมันเกิดจากการทำให้ของแข็งเล็ก ๆ กลายไปเป็นของแข็งเล็กกว่าเดิม มันไม่สามารถเล็กลงไปได้ขนาด PM2.5 หรอกครับ แต่ว่ามนุษย์เราจะเชื่อในสิ่งที่ตาเราเห็นเป็นหลักไง”
“ผมเคยพูดเรื่อง PM2.5 ไปหลายรอบแล้ว แล้วผมคิดว่าตอนนี้ที่มันเป็นปัญหาสภาพอากาศในทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่ PM2.5 ยังมีพวกซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน มันเป็นเรื่องของคุณภาพอากาศโดยรวม แต่ตาเรามองไม่เห็นแก๊สพวกนี้ไง มันเลยไม่ค่อยมีใครพูดถึง เรามองเห็นแต่ไอ้สีขาว ๆ ที่มันเป็น PM2.5 เท่านั้น”
“ผมเคยเล่าให้ฟังแล้วว่าที่มาของมลพิษอะมันเต็มไปหมดเลย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์เข้ามาแก้ไข ใช้แต่ความเชื่อ มันเลยเป็นปัญหา นี้คือปัญหาของสังคมไทย”
แล้วเราจะเอาวิทยาศาสตร์ไปโชว์ให้เขาดู หรืออธิบายให้เขามันจะพอมีวิธียังไงได้บ้างครับ
อาจารย์ : “มันไม่มี Solution ทันที มันก็เริ่มได้ แต่ว่านักการเมืองไม่ได้สนใจอย่างเราไง เพราะเขามาอยู่ในระยะเวลาอันสั้นไง แต่ถ้าเราจะศึกษา มันก็ทำได้แต่มันก็ติดที่เรายังไม่มีเครื่องมืออีกนั้นแหละ มันก็ต้องลงทุนอีก ราคาก็ 100-200 ล้าน ซึ่งมันก็ไม่ได้เยอะถ้าเทียบกับการที่เขาเอาไปทำอะไรต่อมิอะไร”
“แต่มันก็ติดที่คนอีกนั้นแหละ ตอนนี้ไม่มีใครเรียนเลยเด็กไม่ค่อยเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ สภาพอากาศอะไร มีแต่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแก่ ๆ ที่กำลังจะรีไทด์กันไปหมดแล้ว เด็กส่วนใหญ่ตอนนี้ที่เรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมก็จะเรียนแบบผิวเผินอยู่ ดูแลพวกน้ำเสีย อากาศเสีย ต่าง ๆ อยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ แต่ยังไม่มีใครเรียนลึกขึ้นขั้นที่ทำโมเลลิ่งของคุณภาพอากาศ”
“ตอนนี้ที่เราใช้กันมากที่สุดก็คือ Warp Model ซึ่งผลมันก็จะดีแค่ไหนมันก็อยู่กับตัวคนที่ทำนั้นแหละ อเมริกาทำก็แบบหนึ่ง เราทำก็อีกแบบหนึ่ง เพราะว่าในการทำ Modeling มันก็ต้องมี input เช่นมี Hotspot เท่าไหร มี emission จากรถยนต์เท่าไหร ซึ่งเราไม่รู้อะไรไง ใช้มั่ว ๆ มันก็ผิดสิ”
“พอเราใช้ความรู้สึกจากการดูจำนวน Hotspot ดาวเทียมใช้เวลาในการผ่าน Low-Earth-orbit มันใช้เวลา 2-3 นาทีในการผ่านหัวเรา ใช้เวลากี่วันมันกลับมารอบหนึ่ง แล้วเซนเซอร์ที่มันวัดก็คืออินฟราเรดเซนเซอร์ อะไรที่มันเป็นอินฟราเรดมันก็จับมาหมด คราวนี้ถ้าเราไปใส่ฟิลเตอร์เข้าไปว่าอะไรที่เป็น Biomass burning มันก็ลดลงเหลือไม่มากนะ แล้วแต่ละกองเนี่ยก็จะเห้นแค่เฉพาะในช่วงเวลาที่มันผ่าน ดังนั้นมันก็วัดไม่ได้ว่ามันยาวนานขนาดไหน แล้วก็ยังระบุไม่ได้อีกว่าจริง ๆ แล้วมันปล่อยออกมาเท่าไหร เราเลยใช้ค่าอื่นเข้ามาช่วยยกตัวอย่างเช่นค่าแก๊สอื่น ๆ ที่เป็น Emission แถวนั้น มันเลยมีความคลาดเคลื่อนมากไง”
สีแดงที่เราเห็นกันจากดาวเทียม บางทีมันก็ไม่ได้บอกได้ขนาดนั้นต้องไปดูอย่างอื่นด้วยใช่ไหมครับ
อาจารย์: “มันไม่ได้บอก 100% แล้วบางทีคนเราใช้ความรู้สึกไง เมื่อเราย่อขนาดของประเทศไทยลง พอเห็นภาพ 1 พิกเซลที่มันจะโชว์บน Software เนี่ย เราเลยมองแบบเหมือนแผ่นดินกำลังลุกเป็นไฟ แต่จริง ๆ ในประเทศไทยเรามีกองไฟลุกขนาดนั้นน้อยมาก ๆ เลยนะ เพราะจริง ๆ แล้วเราควบคุมได้ค่อนข้างดี ถ้าเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน”
“แต่ก็มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่มันส่งผลอีกที่ผมเคยพูดไป อันที่จริงการเผาก็ทำให้เกิดโอโซนได้ แต่มันไม่ค่อยสเถียรเท่าไหร วันดีคืนดีมันก็สลายตัวถ้าขึ้นไปข้างบน แล้วผมลองกดเข้าไปดูในแอปที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศ ลองไปดูตรง ค่า NO2 ที่เกิดขึ้น มันขึ้นเห็นทั้งประเทศไทยเลย แต่เชื่อไหมที่จริงแล้ว NO2 ไม่ได้มาจากแสงอาทิตย์เลยนะ มันเกิดกระบวนการตามวัฏจักรไนโตรเจน แล้วบวกกับการที่คนในประเทศใช้ปุ๋ยทำการเกษตรเยอะด้วยไงมันเลยขึ้นมาเลย กรุงเทพก็แดงเถือกเลยเพราะใช้รถยนต์เยอะ NO2 มันเป็น emission ของรถยนต์ไง”
แสดงว่าจริง ๆ แล้วปัญหาคือการที่เราใช้ความรู้สึกมากเกินไปใช่ไหม
อาจารย์: “ใช่ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งเนี่ย เราพบว่าปัจจัยต่าง ๆ มันก็ไม่ได้สัมพันธ์กันมากนัก แต่ปริมาณของ aerosol มันดันไปสัมพันธ์กับค่าการกระจายตัวออกไปมากกว่า จากการอ่านหนังสือและการสังเกตของผม ปริมาณ Aerosol ในขณะใดขณะหนึ่งมันคือค่าสมดุลของการเกิดกับการหายไปของ Aerosol โดยที่มันเกิดมาจากการเผา น้ำทะเลก็มี ปฎิกิริยาเคมีต่าง ๆ แล้วก็สามารถหายไปจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ ถูกหายไปที่อื่น และพวกฝนตก น้ำค้างตกลงมา”
“แต่แบบค่าจากพื้นที่จริง ๆ ค่าของ Aerosol มันขึ้นอยู่กับอีกอย่างหนึ่งมากกว่า นั้นก็คือเรื่องของความดัน ความร้อน อุณหภูมิจากกรมอุตุอีก ขึ้นอยุ่กับความสูงจากพื้นโลกไปอีก ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งเราขึ้นเครื่องบินไป เวลาเราอยู่สูงมาก ๆ เราก็จะเห็นว่าพวกมันลอยอยู่ด้านล่างของเราแทนไรงี้ ซึ่งบริเวณตรงนั้นมันคือบริเวณที่เกิด turbulent flow แต่ถ้ายกสูงขึ้นไปมันเป็น Laminar flow แล้วมันก็เลยไม่มีพวกนี้อยู่”
“ถ้าสมมติว่าต่อให้ไม่มีการเผาเลย แล้ว PM2.5 มาจากการเผาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้ววันนี้เราเผา ๆ เกิด PM2.5 เต็มไปหมด แล้วเราหยุดเผาไป 12 วัน โดยเฉลี่ยแล้วเนี่ย PM2.5 จะอยู่ในอากาศได้เพียงแค่ 12 วัน มันก็จะหายไปหมด แต่ถามว่าตอนนี้มันเป็นแบบนั้นไหม มันไม่เป็น เพราะว่าตัวที่ทำให้เกิด PM2.5 มันยังมีอยู่ มันไม่ได้มีแค่การเผา มันยังมีปัจจัยอื่นอีกเยอะแยะมากมาย แม้กระทั้งทะเลมันก็ยังมีส่วนในการผลิตเลย”
“เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ถามว่าเราเข้าใจความซับซ้อนในการเกิดของมันมากน้อยแค่ไหน บ้างทีเราอาจจะไม่รู้อะไรเลยก็ได้ เราก็ยังตอบไม่ได้เหมือนกันว่ามันเกิดจากอะไรได้บ้างเหมือนกัน”
แล้วในเชิงของนโยบายจะต้องทำอย่างไร
อาจารย์: “มันก็ต้องมีการศึกษาและทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนไง เราต้องมีการศึกษาแล้วทำ Modeling อย่างจริงจัง วัดอย่างจริงจังอย่างน้อยเราต้องรู้ค่าใดสักค่าหนึ่งก่อนว่ามันมาจากไหนบ้าง แล้วเราก็ต้องคอยจับตาดูและศึกษามันอยู่ตลอดเสมอ “
“คิดว่าหลังจบ COVID-19 นี้คงจะต้องส่งคนไปฝึกเรื่องอะไรพวกนี้ เพื่อจะร่วมกับทางอเมริกาทำงานวิจัยด้านนี้อีก เอาจริงคนไทยหลายคนอาจจะคิดว่าอเมริกามีแค่นาซ่าก็ได้ แต่ไม่นะองก์กรในอเมริกาใหญ่ ๆ มีหลายองค์กรเลย NASA, NOAA ไรงี้ซึ่งเขาทำงานร่วมกันดีมาก แต่ของไทยเราเนี่ยในมหาลัยก็มีกลุ่มหนึ่ง นี้ก็กลุ่มหนึ่งมันแยกกัน มันเลยไม่ได้แก้ปัญหาได้ขนาดนั้นไง”
“เชื่อไหมเมื่อสมัยแบบ 40 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมหัดดูดาวใหม่ ๆ ที่กรุงเทพ ฯ ฟ้านี้มันเปิดเกือบทั้งปีเลยนะ ไม่ว่าจะฤดูไหนฟ้าก็ใสทั้งนั้นถ้าไม่มีเมฆมาบัง เพราะมันมีลมทะเล มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างเยอะถ้าเทียบกับเชียงใหม่แล้ว ธรรมชาติไม่ได้มารังแกกรุงเทพมากมายถ้าเทียบกับเชียงใหม่แล้วโดนทั้งเรื่องของธรรมชาติกับเรื่องของมนุษย์ที่ทำลายอีกร่วมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอีก อีกอย่างคืออีสานก็มีปัญหาไม่แพ้กัน แต่แค่ยังไม่มีเซนเซอร์ขนาดที่เชียงใหม่มีเท่านั้นแหละ”
“ดังนั้นจะให้มาสั่งหยุดเผาอย่างเดียวไม่ได้นะ มันต้องศึกษาเยอะกว่านี้แล้วก็หาวิธีการป้องกันมากกว่านี้ การเผาเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาเท่านั้น มันยังมีอื่น ๆ อีกเยอะที่เรายังศึกษาไม่เพียงพอ เราาเห็นแค่ว่ามันมีควันจากการเผา เราเห็นว่ามันมีจุดแดง ๆ ขึ้นมาจากดาวเทียม แล้วเราก็เริ่มกล่าวหาด่าทอกันแล้วว่าเนี่ยเป็นแบบนี้ไงมันเลยยังมีปัญหา เพราะมันเผากันไง มันเลยเป็นแบบนี้ โดยที่แท้จริงแล้ว”
“เราควรใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาจริง ๆ ถ้ามั่วแต่ใช้ความเชื่อหรือเฉพาะแค่ที่ตามองเห็นเนี่ย เราจะแก้ได้จริงจังไหม ถ้าเราแค่ออกมาด่า ออกมาว่าว่าทำไมยังไม่ระวังอีกทำไมยังนั้นนี้ แก้ไม่หายสักที แต่เชื่อไหมในทุก ๆ ครั้งที่เราสตาร์ทรถยนต์เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมลพิษขึ้นมาแล้ว นี้ยังไม่นับรวมเรื่องเวลาที่เราใช้รถเมลล์ ทุกคนมีส่วนในการสร้างปัญหานี้หมดขึ้นอยู่กับว่ามากหรือน้อยแค่นั้น แล้วมีการจัดการแก้ปัญหานี้ได้ดีมากน้อยแค่ไหน ในแต่ละพื้นที่มีการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน”
สรุปแล้ววิทยาศาสตร์ไม่อาจแก้ได้ด้วยความเชื่อ
จากที่ได้พูดคุยกันมา สรุปแล้ว เราก็ได้พบว่าจริง ๆ ปัญหาสำคัญของเราก็คือ เรายังมีข้อมูลของปัญหาที่เรากำลังพยายามจะแก้กันน้อยมาก รวมถึงการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้ความรู้สึกมากกว่าการใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็อาจจะกำลังทำสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หรือเหนื่อยไปกับ Solution ที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อไปแก้ที่จุดนั้นของมันจริง ๆ
ในบทความเรื่อง Coronavirus สอนว่าไทยไม่มีวันเจริญถ้ายังใช้แต่ความรู้สึกเหนือเหตุผล เราได้ลองพูดถึงกรณีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่ม เรามองว่าเรื่องราวของคุณภาพอากาศก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน และตราบใดก็ตามที่เรายังใช้กันแต่ความเชื่อ เมื่อนั้นแหละที่ปัญหาเดิม ๆ ก็จะตามมาหลอกหลอนเราทุกปี
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co