สเปซทีเอช ร่วมสร้างภาพยนตร์อวกาศ สร้างสถานีอวกาศขนาดเท่าของจริง 

ปัจจุบันเราได้เห็นการสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์อวกาศมากมาย โดยเราอาจเห็นตั้งแต่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่าง Interstellar, The Martian หรือได้เห็นบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple มาลงทุนทำซีรีส์ For All Mankind บน Apple TV+ ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียของเรา เกาหลีใต้ก็ได้ภาพยนตร์อย่าง The Silent Sea, Space Sweeper หรือ The Moon เรียกได้ว่า เราเห็นการเติบโตของ Sci-Fi ยุคใหม่เป็นอย่างมาก 

ในประเทศไทยของเราก็เรียกว่ามาถึงคิวแล้วเช่นกันเมื่อในปีนี้เราได้เห็นบรรดาค่ายต่าง ๆ สรรค์สร้างทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ Sci-Fi หลากหลายเรื่องในไทย

ภาพโปรโมตภาพยนตร์ Uranus2324 จากค่าย VelCurve Studio

หนึ่งในนั้นก็คือ Uranus2324 จากค่าย VelCurve Studio ที่สร้างภาพยนตร์รักที่มีฉากหลังเป็นการสำรวจอวกาศ และลงทุนถึงขนาดสร้างสถานีอวกาศ Lunar Gateway ขนาดเท่าของจริงเพื่อใช้ในการถ่ายทำโดยเฉพาะ รวมถึงมีการออกแบบองค์ประกอบฝั่งอวกาศที่อาศัยข้อมูลจริง เพื่อให้เนิร์ดอวกาศดูแล้วสัมผัสได้ถึงการใส่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงในภาพยนตร์

Uranus2324 กำกับโดย เจมส์ ธนดล นวลสุทธิ์ และนำแสดงโดย ฟรีน สโรชา และ เบคกี้ รีเบคก้า ซึ่งในการถ่ายทำจะมีฉากที่ต้องปฏิบัติภารกิจในอวกาศจริง ๆ ซึ่งจะได้รับการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้การแสดงออกมาสมจริงและน่าตื่นเต้น

นักแสดง เดินชมบรรยากาศภายในตัวสถานีเพื่อเตรียมตัวก่อนการแสดง

แต่นอกจากภาพของสถานีอวกาศ Lunar Gateway แล้ว เบื้องหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังได้ทีมงานสื่อออนไลน์ด้านอวกาศสเปซทีเอช มาร่วมเป็นทั้งที่ปรึกษา และร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาอย่างละเอียด ตั้งแต่ร่วมเขียนบท (Screenplay) ออกแบบและสร้างยานอวกาศ ทั้งภายนอกและภายใน ฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์ ไปจนถึงขั้นตอนหลังถ่ายทำ (Post Production)

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่สเปซทีเอชให้คำแนะนำ

VelCurve Studio ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพ แม้อวกาศจะไม่ได้เป็นเนื้อหาหลักในภาพยนตร์อย่าง The Martian หรือ For All Mankind แต่รายละเอียดการออกแบบ ไปจนถึงการทำงานนักบินอวกาศล้วนเป็นสิ่งที่หากทำให้สมจริงแล้ว ก็อาจช่วยยกระดับและทำลายขีดจำกัดความเป็นไปได้ของการสร้าง Sci-Fi ของไทยในอนาคต 

ทีมผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์จาก VelCurve Studio

ทางค่ายจึงได้ร่วมมือกับสเปซทีเอช ในการดึงเอาผู้มีประสบการณ์ในการทำสื่ออวกาศ นิก ชินะพงษ์ เลียนพานิชย์ ที่ได้เข้ามานำทีมอย่าง เติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน โอ นิธิวัชร์ ศิวัฒน์ธนสิน อิ๊งค์ จิรสิน อัศวกุล และจาจ้า กรมาดา พิริยะเกียรติสกุล มาร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงภาพยนตร์ออกฉาย 

สถานีอวกาศ Lunar Gateway ขนาดเท่าของจริง 

Uranus2324 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ของโลกที่มีการนำเอา Lunar Gateway มาดำเนินเรื่อง แสดงถึงยุคการสำรวจอวกาศในโครงการ Artemis ซึ่งตัวสถานีได้ออกแบบอิงตามการออกแบบจริง แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินเรื่อง 

ตัวสถานีอวกาศ Lunar Gateway ที่ถูกสร้างขึ้นมีทั้งหมด 3 โมดูล รวมถึงมีการสร้างยานอวกาศ “Viator” ที่เป็นการผสานกันระหว่างยานอวกาศ Orion ของ NASA กับยาน Crew Dragon ของ SpaceX เป็นยานอวกาศลำหลักที่เชื่อมต่ออยู่กับตัวสถานี

ยานอวกาศจำลอง Viator ที่ได้รับอิทธิพลมาจากยาน Dragon และ Orion

เมื่อวัดขนาดของตัวสถานีแล้ว จะมีความยาวมากกว่า 50 เมตร เพื่อให้การถ่ายทำมีความสมจริง และนักแสดงเองก็ได้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของตัวสถานี ข้อดีของการก่อสร้างตัวสถานีขึ้นมาจริง ๆ ยังช่วยให้มุมกล้องต่าง ๆ ทำงานได้อย่างอิสระ ออกแบบการถ่ายทำได้อย่างสมจริงมากกว่าการใช้โมเดลสามมิติในคอมพิวเตอร์

การเขียนแบบยานอวกาศ ยังเป็นส่วนสำคัญในการวางโครงเรื่อง ซึ่งจะทำให้สามารถอ้างอิงถึงตำแหน่งได้จริง ๆ โดยนักแสดงจะต้องจดจำที่อยู่ของโมดูลต่าง ๆ เหมือนกับที่นักบินอวกาศจะต้องจดจำโมดูลต่าง ๆ บนสถานีอวกาศเพื่อการปฏิบัติการที่ราบรื่น

การถ่ายนำบริเวณ Airlock ของสถานีอวกาศ Lunar Gateway

ภายในตัวสถานีและยานอวกาศ ได้มีการออกแบบโดยใช้แสงไฟ อุปกรณ์การทำงาน ป้ายในสถานี และระบบคอมพิวเตอร์ในตัวสถานีที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยซอฟแวร์จริง ๆ ตัวเลขและตัวแปรที่เห็นบนหน้าจอต่าง ๆ สามารถทำงานได้จริง ๆ เพื่อให้นักแสดงสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับตัวสถานีได้ เพิ่มความสมจริงในการถ่ายทำ 

สำหรับหน้าตาส่วนติดต่อผู้ใช้งาน (Graphic User Interface) ที่ใช้ในตัวสถานีได้ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากยานอวกาศยุคใหม่ และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคำนวณวิถีโคจรของยานอวกาศเพื่อความสมจริง

ฉากการทำนอกตัวสถานีอวกาศ Lunar Gateway

โดยในภาพยนตร์เราะจะได้เห็นการเชื่อมต่อยานอวกาศ (Docking) การปฏิบัติภารกิจนอกสถานี (EVA) ที่มีความสมจริงที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ Sci-Fi ไทย เป็นการถ่ายทำในสตูดิโอโดยมีสถานีอวกาศประกอบจริง ร่วมกับการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกที่จะมีการทำ Post-Production ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ เช่น การกำหนดทิศทางของแสงจากดวงอาทิตย์ ตำแหน่งของกลุ่มดาว และรายละเอียดเชิงดาราศาสตร์อื่น ๆ

ฟิสิกส์และข้อมูลวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์ 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์ ได้รับการอ้างอิงมาจากงานวิจัยด้านอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลวงโคจร (Orbital Parameter) ของสถานีอวกาศ Lunar Gateway ที่ถอดแบบตามการศึกษาความเป็นไปได้ของวงโคจรของสถานีอวกาศ Lunar Gateay ในช่วงออกแบบภารกิจ 

ฉากนักบินอวกาศทำ EVA นอกตัวสถานี

ไปจนถึงการใช้คำศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ที่นักบินอวกาศใช้ เพื่อถูกวางให้ใกล้เคียงกับภารกิจการสำรวจอวกาศจริง ๆ รวมถึงการดำเนินเนื้อเรื่องในฉากอวกาศเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการสำรวจอวกาศ 

นักแสดงยังจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในการอ่านออกเสียง การพูดศัพท์ทางฟิสิกส์วงโคจร การแสดงท่าทางให้เหมือนกับอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก จากทีมงานสเปซทีเอช และจำเป็นต้องเข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูดเพื่อให้ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาให้ผู้ชมได้อย่างสมจริง 

บรรยากาศในโมดูลสถานีอวกาศ Lunar Gateway

ทั้งสเปซทีเอชและ VelCurve Studio นั้น เชื่อในอิทธิพลที่วงการภาพยนตร์และวงการวิทยาศาสตร์ส่งผลต่อกันมาตั้งแต่ในยุคที่มนุษย์ยังไม่เริ่มสำรวจอวกาศ และตั้งใจอุทิศให้กับภาพยนตร์อวกาศเรื่องก่อน ๆ หน้าที่เป็นรากฐานสำคัญเช่น 2001 A Space Oddesy, Star Trek, Star Wars, Solaris มาจนถึงภาพยนตร์อวกาศในยุคปัจจุบันอย่าง For All Mankind 

Uranus2324 เป็นอีกหนึ่งผลผลิตจากผู้ที่ชื่นชอบด้านอวกาศ และหวังจะสร้างแรงกระเพื่อมในวงการภาพยนตร์ไทย สำหรับรายละเอียดเนื้อเรื่อง และวันออกฉาย สามารถติดตามได้เร็ว ๆ นี้ ผ่านทางสเปซทีเอช และ VelCurve Studio

บทความได้รับการสนับสนุน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.