วิเคราะห์ไทยเซ็น ILRS เป็นทางการ หลังร่วมส่งอุปกรณ์บนฉางเอ๋อ 7

5 เมษายน 2024 ณ กรุงปักกิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนรัฐบาลไทยและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมเซ็นข้อตกลงความร่วมมือ International Lunar Reserach Station หรือ ILRS ซึ่งเป็นความร่วมมือในการจัดตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2021 โดยองค์การอวกาศจีน China National Space Administration หรือ CNSA และองค์การอวกาศรัสเซีย Roscosmos

โดยในการเซ็นครั้งนี้ ทำให้ประเทศที่มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการ ILRS อย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นเป็น 9 ประเทศ เพิ่มเติมจาก จีน รัสเซีย เวเนซูเอลา แอฟริกาใต้ อาเซอร์ไบจาน ปากีสถาน เบรารุส และอิยิป

China and Thailand will carry out aerospace cooperation including International Lunar Research Station

พิธีลงนาม ILRS โดยตัวแทนกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในภาพจะเห็น กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จในงานด้วย ภาพ – CNSA

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้นั้นสืบเนื่องมาจากในช่วงปลายปี 2023 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้มีการประกาศความร่วมมือกับ Deep Space Exploration Lab หรือ DSEL ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้ CNSA ในการร่วมพัฒนาอุปกรณ์การทดลอง (Scientific Instrument) ติดไปกับยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 ที่จะเดินทางไปยังดวงจันทร์ในปี 2026 ของจีน ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาค เพื่อศึกษาพฤติกรรมของอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เหนือวงโคจรของดวงจันทร์ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจและการพยากรสภาพอวกาศ (Space Weather) บนดวงจันทร์ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ประกาศความร่วมมือนี้ครั้งแรกในวันที่ 25 กันยายน 2023

โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring ซึ่งมีผู้รับผิดชอบโครงการคือ ดร.พีรพงศ์ ต่อฑีฆะ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับทีมที่ทำงานร่วมกับ DSEL และ CNSA โดยตรง ซึ่ง ดร.พีรพงศ์ ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาดาวเทียมตระกูล Thai Space Consortium ด้วยเช่นกัน

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรแบบจำลองโครงการฉางเอ๋อ ที่มา – CNSA

นอกจากไทยแล้ว CNSA ยังมีการประกาศเชิญชวนชาติอื่น ๆ เข้ามาร่วมส่งการทดลองไปกับยานอวกาศตระกูลฉางเอ๋อ เพื่อพัฒนาให้โครงการฉางเอ๋อ และ ILRS กลายเป็นความร่วมมือระดับชาติอย่างแท้จริง

โดยข้อสังเกตที่สำคัญคือ การเซ็น ILRS นั้น นับว่าเป็นกิจกรรมด้านอวกาศนานชาติที่ใหญ่ที่สุดกิจกรรมหนึ่งที่ไทยเคยทำ หลังจากที่ไทย ได้มีหน่วยงานอย่าง GISTDA ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม International Space Exploration Coordination Group (ISECG) ที่ดำเนินการศึกษาและตั้งเป้าหมายการสำรวจอวกาศในระดับนานาชาติ หรือการร่วมเป็นสมาชิก Asia-Pacific Space Cooperation Organization หรือ APSCO

โครงการ ILRS นั้นมีแผนอย่างไร

โครงการ ILRS นั้น ถูกพูดถึงครั้งแรกในงาน Global Space Exploration Conference หรือ GLEX ปี 2021 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองเซนต์ ปีเตอร์ สเบิร์ก ในเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่ง GLEX เป็นอีกหนึ่งงานประชุมด้านอวกาศที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง คล้ายกับงาน IAC โดยในปีนั้น ทาง International Astronautical Federation หรือ IAF ได้จัดร่วมกับเจ้าภาพประเทศรัสเซีย ก็คือ Roscosmos ภายในงาน Roscosmos ภายใต้การนำของผู้อำนวยการ Dimitry Rogozin ได้ประกาศว่า Roscosmos จะร่วมมือกับจีนหรือ CNSA ในการจัดตั้งโครงการ ILRS ขึ้น

ข่าวเก่า – CNSA และ Roscosmos ร่วมมือ ประกาศสร้าง International Lunar Research Station บนดวงจันทร์

ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนรัสเซียเพิ่งประกาศถอนตัวออกจากโครงการ Artemis และเลิกร่วมพัฒนาสถานีอวกาศ Lunar Gateway หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มประกาศให้มีการเซ็น Artemis Accords เพื่อเป็นบทบัญญัติตกลงว่าด้วยเรื่องของการบริหารจัดการ และใช้ทรัพยากรณ์บนดวงจันทร์อย่างสันติ ซึ่ง Rogozin ได้เคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า แนวคิดดังกล่าวมีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางมากเกินไป

โดยในภายหลังนั้น ชาติที่เข้ามาพัฒนาส่วนที่รัสเซียถอนตัวไป ก็คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์​ อาหรับเอมิเรตส์จะเป็นผู้สร้าง Airlock สำหรับ Lunar Gateway หลังรัสเซียถอนตัว

ในแผนโครงการของ ILRS นั้นจะมีการแบ่งการสำรวจดวงจันทร์ออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ช่วงที่หนึ่ง 2021–2025 จะเป็นการสานต่อภารกิจตระกูล Luna ของรัสเซีย (ที่สิ้นสุดที่ Luna-24 ในยุคสหภาพโซเวียต ปี 1676) และภารกิจตระกูลฉางเอ๋อของจีน ซึ่งจีน ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศลำแรกไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ในปี 2007 และสามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในปี 2023 ด้วยยานฉางเอ๋อ 3 ซึ่งในตอนนั้น ก็นับว่าเป็นการกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ เพราะยานอวกาศลำสุดท้ายที่ไปลงจอดดวงจันทร์ก็คือยาน Luna-24 ของรัสเซียนั้นเอง

ภาพแสดงแผนการในช่วงแรกของโครงการ ILRS ที่มา – CNSA / Roscosmos

โดยยานอวกาศที่นับว่าอยู่ภายใต้ ILRS นั้น ก็ได้แก่ ฉางเอ๋อ 4 (ที่ลงจอดสำเร็จไปในปี 2018) Luna 25 (ซึ่งรัสเซียล้มเหลวในการส่งยานอวกาศลงสู่ผิวของดวงจันทร์ไปในช่วงกลางปี 2023) และฉางเอ๋อ 6 ซึ่งมีแผนกำหนดส่งในเดือนพฤษภาคม 2024 นี้ ตามด้วยฉางเอ๋อ 7 และ 8 และ Luna 26, 27 ที่ต้องมาลุ้นกันว่ารัสเซียจะกู้หน้ากลับมาได้ในภารกิจไหน โดยเป้าหมายของการสำรวจในช่วงแรกก็คือการเตรียมความพร้อมเพื่อออกแบบภารกิจในอนาคต

ในช่วงที่สอง ปี 2026–2035 จะนับเป็นการวางรากฐานสู่การตั้งสถานีวิจัย เริ่มจากภารกิจ ฉางเอ๋อ 8 และ Lunar 28 ตามด้วยภารกิจที่ใช้ชื่อนำหน้าว่า ILRS เต็มรูปแบบ ได้แก่ ILRS 1 ในปี 2031 ไปจนถึง ILRS 5 ในปี 2035 ซึ่งจีนและรัสเซียก็จะมีแผนการส่งนักบินอวกาศลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ในช่วงประมาณปี 2030 จีนประกาศส่งนักบินอวกาศเหยียบดวงจันทร์ภายใน 2030

และในช่วงที่ 3 ปี 2035 เป็นต้นไป เราจะได้เห็นการทำงานบนพื้นผิวดวงจันทร์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อศึกษาวิทยาศาสตร์และอวกาศในเชิงลึกเพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อไปยังเป้าหมายที่ไกลออกไป

จะสังเกตว่าการออกแบบโครงการ ILRS นั้นจะแตกต่างกับโครงการ Artemis จากฝั่งสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรพอสมควร โดยมีประเด็นหลัก ๆ ที่น่าชี้ให้เห็นดังนี้

  • ILRS เป็นแผนการพัฒนาระยะยาวกว่า Artemis มาก เพราะมีการวางแผนระยะยาวไปจนถึงปี 2035 ส่วน Artemis จะวางแผนไว้จนถึงช่วงประมาณต้นปี 2030 เท่านั้น แม้จะมีการพูดถึง Artemis หลัง 2030 แต่ก็ถือว่ายังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่าง
  • ILRS เป็นการเน้นพัฒนาจากหน่วยงานรัฐ และความร่วมมือแบบทวิภาคี (Bilateral) ระหว่างหน่วยงาน ในขณะที่ Artemis จะมุ่งเน้นไปที่การให้ทุนเอกชนพัฒนาเทคโนโลยี และรัฐวางโครงสร้างพื้นฐานให้ เช่นโครงการ Lunar Gateway ที่ดำเนินการโดยรัฐ แต่โครงการ Human Landing System และ Commercial Lunar Paylaod Service จะเป็นการให้ทุนเอกชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาด และกลไกเศรษฐกิจ
  • ILRS เน้นการส่งยานอวกาศลงผิวดวงจันทร์ ในขณะที่ Artemis จะใช้ Lunar Gateway เป็นสถานีอวกาศแห่งใหม่ โคจรรอบดวงจันทร์ และเคลื่อนย้ายนักบินอวกาศขึ้นและลงผิวดวงจันทร์ผ่านการออกแบบวงโคจรแบบพิเศษ

โดยสามารถอ่านบทความพูดถึงโครงการ Lunar Gateway ได้ที่ สรุป Lunar Gateway สถานีดวงจันทร์ แผนวงโคจร ทุกโมดูล ทุกระบบ โดยละเอียด

อย่างไรก็ดี ทั้งสองโครงการ ก็ยังมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ เช่น การช่วงชิงคำว่านานาชาติ โดยเฉพาะ ILRS ที่เลือกใช้คำว่า International ใส่เข้ามาในชื่อโดยตรง หรือการที่ผู้อำนวยการ NASA คนก่อนหน้า Jim Bridenstine (ซึ่งโครงการ Artemis เกิดขึ้นในยุคของ Bridenstine) และผู้อำนวยการคนปัจจุบัน Bill Nelson เน้นย้ำอยู่เสมอว่า Artemis นั้นเป็น International Colloboration

อีกอย่างที่ทั้งสองโครงการ มีแนวคิดเหมือนกันก็คือการบริหารจัดการทรัพยากรในอวกาศแบบ In-Situ Resource Utilization ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรทั้งอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง พลังงาน อย่างยั่งยืนในอวกาศโดยอาศัยการพึ่งพาโลกให้น้อยที่สุด

การศึกษาการดำเนินโครงการ ILRS ในประเทศไทย

อย่างที่เล่าไปว่าประเทศไทยนั้นเป็นสมาชิกกลุ่มสำรวจอวกาศทั้งสองกลุ่มใหญ่อย่าง ISECG และ APSCO ทำให้เมื่อมีการประชุมใหญ่ ๆ ของโลก เราก็จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกชักจูงให้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะทั้ง Artemis และ ILRS ซึ่งในครั้งแรกที่เราทราบว่า โครงการ ILRS ถูกนำมาพูดถึงกับตัวแทนฝั่งไทย ซึ่งในตอนนั้นคือ GISTDA เกิดขึ้นในปี 2021 ในงาน International Astronautical Congress ที่จัดขึ้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในตอนนั้น ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ไม่กี่เดือนหลังจากที่ ILRS ถูกประกาศขึ้นที่ เซนต์ ปีเตอร์ สเบิร์ก

หลังจากนั้นเราได้เห็นคำว่า ILRS ปรากฎขึ้นบนเอกสารภายในประเทศนับจากนั้นเป็นต้นมา ร่วมกับโครงการ Artemis โดยที่ Artemis จะเข้ามาทาง The Bureau of Oceans and International Environmental and Scientific Affairs หรือ OES ของ Department of State (กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ – เนื่องจากเป็นทวิภาคี Bilateral และ พหุภาคี Multilateral รัฐไทยจะทำงานกับ NASA โดยตรงไม่ได้) ผ่านสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดีซี และ ILRS เข้ามาทาง DSEL ภายใต้ CNSA ผ่านสถานทูตไทย ในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กับตัวแทนจาก DSEL ภายใต้ CNSA ที่มา – DSEL ผ่าน NARIT

อย่างไรก็ดี ทั้ง Artemis และ ILRS ไม่ได้มีช่องทางเดียว แต่เกิดจากหลาย ๆ เหตุการณ์ประกอบเข้าหากัน เช่น การที่ NARIT ร่วมเป็นภาคีกับ DSEL ภายใต้ CNSA ก็นับว่าเป็นกิจกรรมในระดับหน่วยงาน ไม่ได้เป็นในระดับรัฐ โดยเราจะเห็นการจัดประชุมเพื่อรวบรวมความเห็นศึกษาการเข้าร่วมโครงการเหล่านี้เป็นระยะ ๆ ในช่วงปี 2021 – 2023 เป็นต้นมา มีการตั้งตัวแทน (Contact Point) ในการดำเนินการหารือต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงที่ดูแลกรณีนี้ก็คือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อ.ว. หรือ MHESI นั่นเอง)

จนสุดท้าย เราได้เห็นการเซ็นข้อตกลงในระดับรัฐ เกิดขึ้นครั้งแรกกับโครงการ ILRS ในเดือนเมษายน 2024 ส่วนโครงการ Artemis นั้น ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และ ณ วันนี้ ยังไม่มีข้อมูลใหม่ออกมา

ไทยจะร่วมมืออะไรกับจีนและรัสเซีย

ณ ปัจจุบัน ไทยเรามีความร่วมมือกับ DSEL และ CNSA โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งได้มีการประกาศไปแล้วว่าจะพัฒนาอุปกรณ์ (Instrument) วัดอนุภาคในอวกาศติดตั้งไปกับยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 ในปี 2026 และหลังจากที่มีการเซ็นข้อตกลง ILRS อย่างเป็นทางการในระดับรัฐ​ เราก็น่าจะได้เห็นความร่วมมืออื่น ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะภารกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษก็คือภารกิจ ฉางเอ๋อ 8 ซึ่งจะเป็นการส่งยานอวกาศไปลงจอด ณ บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ในบริเวณใกล้กับ Shackleton Crater ซึ่งเป็นจุดเป้าหมายสำคัญของนานชาติ ทั้ง ILRS และ Artemis ซึ่งหากไทยได้สิทธ์ในการส่ง Payload ไปยังบริเวณดังกล่าว จะนับว่าเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาด้านอวกาศของไทย

อย่างไรก็ดีนอกจากโครงการ Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring บนฉางเอ๋อ 7 เรายังได้เห็นการศึกษาความเป็นไปได้ของชุดการทดลองอื่น ๆ ในอนาคต ที่มีการเสนอเข้ามาโดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมีการจัดประชุมกันอยู่เป็นระยะ ๆ

การที่ไทยได้เซ็น ILRS จึงเป็นอีกหนึ่งข้อตกลงร่วมกันว่า จีนจะให้โอกาสไทยในการสำรวจดวงจันทร์อย่างไม่น้อยหน้าประเทศอื่น ๆ

ประเทศอื่น ๆ ที่ว่านี้ รวมถึงประเทศอย่างฝรั่งเศส ซึ่งมีความร่วมมือกับโครงการ ILRS ในระดับหน่วยงานเช่นกัน (ยังไม่มีการเซ็นความร่วมมือในระดับรัฐ) หรือประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ Mohammed Bin Rashid Space Centre หรือ MBRSC ได้มีข้อตกลงกับ CNSA ในการส่งโรเวอร์สำรวจ Rashid คันที่สองเดินทางไปกับยานลงจอดฉางเอ๋อ 7 (คันแรกเดินทางไปกับภารกิจ Hakuto-R ของญี่ปุ่น ซึ่งลงจอดล้มเหลว)

คำถามต่อกรณีโครงการ Artemis

มาถึงคำถามสำคัญว่า หากไทยเข้าร่วมโครงการ ILRS แล้วนั้น เราจะยังสามารถเซ็น Artemis Accords ได้อยู่หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ ไม่ได้มีกฎข้อไหนของทั้ง ILRS และ Artemis Accords บังคับห้ามทำงานร่วมกับทั้งจีนหรือสหรัฐฯ ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วจึงสามารถทำได้ ซึ่งไทยเรา ก็มีท่าทีและแนวโน้มว่าจะมีการเซ็น Artemis Accords ในเร็ว ๆ นี้หากมองจากการศึกษาอย่างใกล้ชิดร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (Department of State) และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Artemis ในไทยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในการร่วมเซ็น Artemis Accords นั้น ไม่ได้หมายความว่าไทยจะได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการ Artemis อย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะทั้ง Artemis Accords หรือ ILRS นั้น เป็นข้อตกลง (Agreement) และ บันทึกความเข้าใจ (Memorandum Of Understanding) หากไทยต้องการเข้าร่วมทำวิจัย หรือมีบทบาท ก็ยังคงต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และผลงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอยู่ดี

หรืออาจพูดได้ในอีกมิติว่า ในการร่วมการสำรวจในโครงการ Artemis นั้น ทำได้หลายทางมากกว่าการเข้าร่วมกับ NASA โดยตรง หากไม่ได้มีแผนใหญ่ เช่น การร่วมทำสถานีอวกาศ Lunar Gateway หรือการร่วมศึกษาหารือโครงการระยะยาวกับ NASA เราก็สามารถส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ได้ ผ่านการซื้อเที่ยวบินกลุ่ม Commercial Lunar Payload Service หรือ CLPS ที่บริษัทเอกชน นำเที่ยวบินที่ได้รับการว่าจ้างจาก NASA มาแบ่งขายเอกชน หรือการทำงานผ่านหน่วยงานอวกาศอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรกับ NASA อีกที เช่น การทำงานร่วมกับ JAXA หน่วยงานสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น

ดังนั้น การเข้าร่วม ILRS จึงไม่ได้มีผลกระทบกับ Artemis โดยตรง และมองได้ว่าเป็นการเลือกวิถีดำเนินการทางการทูตที่ไทยมองว่า สามารถนำผลประโยชน์มาให้กับประเทศได้มากที่สุดนั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังปั้นโครงการสำรวจอวกาศของตัวเองอย่าง Thai Space Consortium อยู่ และมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนายานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ ด้วยความสามารถของวิศวกรและนักวิจัยของเราเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.