โครงการอพอลโล คือหนึ่งในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์ 12 คนได้จากลาแผ่นดินเกิดของเขา เพื่อออกเดินทางท่ามกลางหมู่ดาวต่าง ๆ ไปสัมผัสโลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครได้ไปมาก่อน และด้วยความสำเร็จที่ดูไม่น่าเป็นไปได้อย่างนี้ มันก็เต็มไปด้วยทฤษฏีสมคบคิดว่าเราไม่เคยออกไปจากโลกจริง ๆ และทุกสิ่งทุกอย่างนั้นถูกถ่ายทำบนโลกของเรานี่แหละ
ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนเลยหยิบยกภารกิจที่ไม่เคยได้เดินทางออกจากโลกมาพูดถึงมันเสียเลย แต่ก่อนที่จะคิดว่าองค์การนาซาลวงโลกนั้น แนะนำให้อ่านให้จบก่อนที่จะตัดสินพวกเขา เพราะการมีภารกิจนี้นี่แหละที่ทำให้มนุษย์สามารถเดินทางไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1967 ยานอพอลโล 1 จบลงในเปลวเพลิงระหว่างทดสอบระบบบนยาน นั่นทำให้นาซาต้องรื้อรูปแบบยานแบบใหม่หมด และเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ในครั้งนี้พวกเขาจำเป็นที่จะต้องทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าจนมั่นใจว่าทุกอย่างนั้นปลอดภัย และหนึ่งในการทดสอบนั้นก็คือการนำลูกเรือเข้าไปอยู่อาศัยจริง ๆ ภายในยาน พร้อมกับนำยานเข้าไปอยู่ในห้องสูญญากาศขนาดใหญ่ ที่สามารถจำลองสภาพอากาศอันโหดร้ายในอวกาศขึ้นมาได้นั่นเอง
16 มิถุนายน ค.ศ. 1968 สามนักบินอวกาศหน้าใหม่อย่าง Joe Kerwin, Vance Brand และ Joe Engle ได้ก้าวขาเข้าสู่ยานอวกาศของพวกเขา ซึ่งตั้งอยู่บนแท่นวางธรรมดา ๆ แทนที่จะเป็นจรวด Saturn ลำมหึมา โดยพวกเขาจะใช้เวลา 7 วัน 7 คืนอยู่ในยานลำนี้ โดยมีเสบียงอาหารและอากาศแบบจำกัด ระหว่างที่ยานค่อย ๆ หมุนตัวอย่างช้า ๆ ในห้องสูญญากาศที่จำลองอุณหภูมิสูงถึง 200 องศาเซลเซียส (เท่ากับในอวกาศด้านที่ดวงอาทิตย์ส่องเลย)
7 วันให้หลัง ลูกเรือทั้งสามได้สิ้นสุดภารกิจการทดสอบของพวกเขาลง และแม้จะมีอาการอ่อนล้าอยู่เล็กน้อย แต่ก็สามารถสิ้นสุดภารกิจไปได้ด้วยดี โดยตอนที่ออกมามีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าทั้งสามคนนั้นเหมือนกับพวกฮิปปี้ ที่ใส่แว่นกันแดดเพื่อปรับสายตาเข้ากับแสงสว่างอีกครั้ง
การทดสอบในครั้งนี้เกิดขึ้นในห้องสูญญากาศที่ชื่อว่า Space Environment Simulation Laboratory ใน Johnson Space Center ที่ฮูสตัน ซึ่งสามารถเป็นได้ทุกอย่างที่อวกาศเป็น ทั้งตู้แช่แข็งและเตาอบสูญญากาศ โดยห้อง A นั้นมีขนาดใหญ่มากพอที่จะยัดยานอพอลโลทั้งยานควบคุมและบริการไปได้ทั้งลำ ซึ่งในปัจจุบันมันก็ยังถูกใช้งานอยู่ เช่นกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่ถูกนำเข้าไปทดสอบเมื่อปีค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา เป็นต้น
สิ่งเดียวที่ภารกิจนี้ไม่สามารถจำลองขึ้นมาได้ก็คือสภาวะไร้น้ำหนัก และนั่นก็เป็นปัญญาให้กับลูกเรืออยู่เล็กน้อย เพราะเอาแค่ชุดอวกาศของพวกเขาก็มีน้ำหนักมากถึง 22 กิโลกรัมในแรงโน้มถ่วงของโลกเลยทีเดียว แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยยืนยันว่ายานอพอลโล 7 ที่กำลังจะบินขึ้นให้หลังภารกิจนี้ไป 4 เดือนจะไม่ระเบิดออกบนอวกาศนั่นเอง
ภารกิจนี้ได้รับการเรียกขานว่าภารกิจ 2TV-1 ซึ่งมาจากยานอพอลโลที่เป็นรุ่น 2 TV = Test Vehicle หรือยานทดสอบครั้งที่ 1 นั่นเอง และแม้มันจะอยู่ในความปลอดภัยของการทดสอบบนโลก ก็ไม่ได้แปลว่าภารกิจนี้จะไม่มีความเสี่ยงต่อชีวิตของนักบินอวกาศแต่อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ก็ยังมีภารกิจทดสอบที่เกือบพรากชีวิตของ James Irwin มาแล้ว ซึ่งก็ตอกย้ำเป็นอย่างดีว่าการเดินทางสู่อวกาศนั้นจำเป็นที่ทุกอย่างจะต้องทำงานได้ตามที่วางแผนไว้ และความผิดพลาดเพียงจุดเดียวก็อาจหมายถึงโศกนาฏกรรมได้เลย
น่าเสียดายที่ลูกเรือทั้ง 3 นั้นไม่ได้เดินทางไปดวงจันทร์จริง ๆ กับโครงการอพอลโลเลย โดยเฉพาะรายของ Joe Engle ที่ถูกวางแผนไว้ให้เดินทางไปกับภารกิจอพอลโล 17 ก่อนต้องเสียที่นั่งนั้นให้กับ Harrison Schmitt นักธรณีวิทยา ที่ถูกสลับตัวเพื่อให้มีนักธรณีวิทยาเดินทางไปดวงจันทร์ในภารกิจสุดท้าย แต่ภารกิจที่พวกเขาได้เข้าร่วมในห้องสูญญากาศนั้นก็เป็นหนึ่งในฟันเฝืองชิ้นสำคัญ ที่พามนุษย์ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จนั่นเอง
เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง: