จรวด SLS บินขึ้นแล้วเปิดฉากโครงการ Artemis กลับสู่ดวงจันทร์

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 เวลาประมาณ 13:47 นาที ตามเวลาประเทศไทย หรือประมาณ 01:47 ณ เวลา ที่ฐานปล่อย แหลมเคอเนอเวอรัล สหรัฐฯ จรวด Space Launch System หรือ SLS ได้พาเอายานอวกาศ Orion เดินทางสู่ดวงจันทร์สำหรับภารกิจ Artemis I ความพยายามของมนุษยชาติในการกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งนับตั้งแต่โครงการ Apollo ซึ่งภารกิจ Artemis I จะเป็นการเตรียมความพร้อมและทดสอบการบินของยาน ก่อนที่จะมีมนุษย์เดินทางไปด้วยในภารกิจ Artemis II และ III ตามลำดับ

หลังจากที่ประสบปัญหาด้านการปล่อย เนื่องมาจากเครื่องยนต์ของจรวดทำงานไม่เป็นไปตามที่วางไว้ มาจนถึงปัญหาด้านสภาพอากาศเมื่อ NASA ต้องเลื่อนการปล่อยเนื่องจากพายุเฮอร์ริเคนพัดถล่มบริเวณฐานปล่อย และปรากฎภาพฟ้าฝ่าลงมาบริเวณฐานปล่อยอยู่หลายครั้ง ทำให้จากกำหนดเดิมที่ Artemis I จะต้องถูกปล่อยในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2022 นั้น ต้องเลื่อนมาเกือบ 3 เดือน และได้มาปล่อยจริง ๆ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนในที่สุด

อ่าน – วิศวกรรมและการเมือง ปัญหาของการเลื่อนปล่อยภารกิจ Artemis I

สำหรับการปล่อยรอบนี้จรวด SLS บินขึ้นจากฐานปล่อยหมายเลข 39B ณ Kennedy Space Center ซึ่งเป็นฐานปล่อยประวัติศาสตร์ที่เคยใช้ในการปล่อยจรวดทั้งในยุคของ Apollo และยุคของกระสวยอวกาศ ก่อนที่จะถูกปรับปรุงใหม่ เพื่อใช้สำหรับภารกิจการสำรวจอวกาศแห่งอนาคต SLS บรรจุเชื้อเพลิงกว่า 2.7 ล้านลิตร สร้างแรงขับดันมากกว่า 39 ล้านนิวตัน นับว่าเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกปัจจุบัน

หลังจากที่บินขึ้นเวลาประมาณ 2 นาที หลังการปล่อย จรวด Solid Rocket Booster ที่ขนาบข้างทั้งสองแยกตัวออกจากนั้น 8 นาที 4 วินาทีหลังการปล่อย เครื่องยนต์หลักก็ดับลง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ICPS หรือ Interim Cryogenic Propulsion Stage ผลักดันเอายาน Orion สู่วงโคจรของดวงจันทร์ และ 1 ชั่วโมง 33 นาทีหลังการปล่อยตัวยาน ก็เริ่มจุดจรวดขับดันอีกครั้ง เพื่อพุ่งสู่ดวงจันทร์ โดยจะใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 6 วัน ก่อนที่จะกลับสู่โลกในวันที่ 33 ของภารกิจ และลงจอดในวันที่ 39 ของภารกิจ คือช่วงวันคริตส์มาส หรือวันที่ 25 ธันวาคม 2022

นอกจากงานด้านวิศวกรรม, วิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งที่ร่วมเดินทางไปกับ Artemis I ก็ได้แก่ เข็มกลัด, ป้ายภารกิจ, ธง จำนวนมาก โดย NASA ได้ระบุไว้ใน Official Flight Kit โดยเราจะหยิบยกบางส่วนที่น่าสนใจมากเล่าให้ฟัง เช่น

  • เข็มกลัด Snoopy จำนวน 245 ชิ้น
  • เข็มกลัดภารกิจ Artemis I จำนวน 2,500 ชิ้น
  • ป้ายภารกิจ Artemis I จำนวน 2,775 ชิ้น
  • ธงประจำโครงการจรวด SLS จำนวน 500 ผืน
  • ธงชาติสหรัฐอเมริกา มากกว่า 500 ผืน
  • ธงชาติพันธมิตรใน Artemis Accord จำนวน 20 ผืน (ไม่มีไทย)
  • ธงชาติสมาชิกยุโรป 10 ผืน
  • เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ที่ได้รับเลือกให้ไปบินรอบดวงจันทร์

นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตา Lego นักบินอวกาศ อีก 4 ตัว จะสังเกตว่าบรรดา Payload ที่บรรทุกไปกับภารกิจนี้นั้น แฝงเอากิมมิกการสำรวจอวกาศเข้าไปอย่างชัดเจน ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้น Public Awareness และดึงความสนใจของคนทั่วโลกให้มาสนใจโครงการ Artemis

นอกจากในส่วนของ NASA และบริษัทคู่สัญญาแล้ว ในเที่ยวบินนี้ยังต้องยกเครดิตให้กับองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA สำหรับการพัฒนา European Service Module หรือ ESM ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของ Orion ในการให้พลังงาน ระบบต่าง ๆ ที่ทำให้ยาน Orion ทำงานและเดินทางในอวกาศได้ โดยเราเคยเล่ารายละเอียดความสำคัญของ ESM ไปในบทความ เจาะลึก European Service Module จาก Airbus และ ESA กับการร่วมมือในโครงการ Artemis

โครงการ Artemis จัดว่าเป็นโครงการอวกาศยุคใหม่ที่สะท้อนแนวคิดและค่านิยมการสำรวจอวกาศที่ผสมผสานระหว่าง การเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ ในกรณีสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ชาติตะวันตกต้องออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน รวมถึงเมื่อรัสเซียกับจีน จับมือกันสำรวจอวกาศ ซึ่งนำมาสู่การถอนตัวออกจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ และโครงการ Artemis ที่รัสเซีย ก็เคยจะเข้าร่วมด้วยในช่วงแรก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเฝ้ามองก็คือภารกิจ Artemis II และ III ตามลำดับ เนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ปีหลังจากนี้ สำหรับภารกิจ Artemis III คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 2025 – 2027 ซึ่งเราจะได้เห็นนักบินอวกาศยุคใหม่ ก้าวลงสู่ผิวของดวงจันทร์อีกครั้ง

อ่าน สรุปทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับจุดลงจอด Artemis III โดยละเอียด

ในขณะที่ Artemis ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสถานีอวกาศแห่งใหม่ที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ ที่เรียกว่า Lunar Gateway ที่จะเป็นที่พักอาศัยใหม่ให้กับบรรดานักบินอวกาศ ในการทำวิจัย ศึกษาผลกระทบของการอยู่ในอวกาศ และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางที่ยาวไกลมากขึ้น เช่น การสำรวจดาวอังคาร

อ่าน – สรุป Lunar Gateway สถานีดวงจันทร์ แผนวงโคจร ทุกโมดูล ทุกระบบ โดยละเอียด

โครงการ Artemis จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน รวดเร็วอย่างไร และอะไรจะเป็นอุปสรรค์อีกหรือไม่ก็คงต้องติดตามกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเปลี่ยนโลกใบนี้ไปตลอดกาล เหมือนที่ครั้งหนึ่งโครงการ Apollo ได้ก่อให้เกิดสิ่งต่าง ๆ มากมาย ที่เราสัมผัสกันอยู่ในชีวิตทุกวันนี้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.