สรุปทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับจุดลงจอด Artemis III โดยละเอียด

NASA ได้ประกาศ Candidate ของจุดลงจอดในภารกิจ Artemis III การกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2025 หลังจากที่มีการเลื่อนมาจากปี 2024 ซึ่งตอนนี้ ก็อยู่ในระหว่างการทดสอบความพร้อมต่าง ๆ รวมถึงภารกิจ Artemis I และ Artemis II ซึ่งเป็นการทดสอบการทำงานของยาน Orion ยานอวกาศลำสำคัญที่จะพามนุษย์เดินทางสู่อวกาศห้วงลึก ก่อนที่จะลงจอดบนผิวดวงจันทร์ด้วยระบบลงจอดของเอกชน (Human Lander System) ซึ่งตอนนี้ SpaceX กำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ในภารกิจ Artemis III นั้น หลายคนสงสัยว่า Artemis III นั้น จะไปลงจอดตรงไหน ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ NASA เองก็ยังไม่เคยประกาศจุดลงจอดที่ชัดเจนมาก่อน บอกเพียงแต่ว่าโครงการ Artemis จะเน้นไปที่การสำรวจบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการค้นพบสำคัญในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมาที่เปลี่ยนความเข้าใจของมนุษย์ต่อดวงจันทร์ จนเราต้องกลับไปสำรวจอีกครั้ง

สรุปบริเวณ Candidate จุดลงจอดของ Artemis

แต่ก่อนที่จะไปลงลึกกันถึงว่า ทำไมการสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์ถึงสำคัญ เรามาดูรายชื่อของบริเวณที่ NASA ประกาศมาก่อน ซึ่งก็ได้แก่บริเวณทั้งหมด 13 บริเวณด้วยกัน ทั้งหมดอยู่ในรัสมีไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจากขั้วใต้ของดวงจันทร์ และกินพื้นที่จุดละ 15 ตารางกิโลเมตร ซึ่งก็ได้แก่

ภาพจาก NASA แสดงบริเวณจุด Candidate ลงจอด ในลักษณะพื้นที่สีฟ้า แต่ละจุดกิจพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร และอยู่ไม่เกินละติจูดที่ 80 องศาใต้ ของดวงจันทร์ ที่มา – NASA

Faustini Rim A เป็นบริเวณขอบหลุมอุกกาบาต Faustini ซึ่งในอดีตเคยมีการสำรวจหาธาตุไฮโดรเจน ซึ่งเป็นธาตุสำคัญที่ประกอบสร้างเป็นโมเลกุลของน้ำ ความน่าสนใจคือ ด้วยลักษณะการเป็นหลุมของมัน ทำให้บริเวณในหลุมมีบางจุดที่แสงจะไม่ส่องไปถึงเลย (เราเรียกบริเวณลักษณะนี้ว่า Permanently shadowed crater) โดยที่ขอบของมัน จะโดนแสงโดยประมาณ 80–90% ของระยะเวลาที่มันโคจรรอบดวงอาทิตย์และหมุนรอบตัวเอง

Peak Near Shackleton เป็นบริเวณที่สูงที่สุด (Peak) ใกล้กับหลุมอุกกาบาต Shackleton (ใครที่ดู For All Mankind น่าะคุ้นกันดี เพราะมันคือบริเวณที่ Apollo 15 ในซีรีส์ไปลงจอด) ความน่าสนใจของบริเวณนี้ก็คือเป็นบริเวณที่เรียกว่า Peak of Eternal Light (ยอดแห่งแสงนิรันดร์) ซึ่งเอาจริง ๆ คำนี้มาจากภาษาฝรังเศสว่า Pic de lumière éternelle ซึ่งมีความหมายเดียวกัน เสนอโดยนักดาราศาสตร์ Camille Flammarion ในปี 1879 ที่เสนอว่า มีบริเวณในลักษณะนี้เกิดขึ้นบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ เหตุผลเดียวกับข้อด้านบน ก็คือพอมันอยู่สูงกว่าเพื่อนมันก็จะโดนแสงตลอด ต่อให้ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเอง หมุนรอบดวงอาทิตย์ มันก็จะโดนแสงอยู่ตลอด

ถามว่าหลุม Shackleton อยู่ตรงไหน มันก็คือหลุมที่ใหญ่ ๆ มืด ๆ ในรูปที่อยู่ใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า Shackleton นี้ ตั้งชื่อตาม Ernest Shackleton นักสำรวจผู้สำรวจแอนตาร์กติกาในช่วงปี 1910 – 1921

ภาพจำลองหลุม Shackleton crater จากข้อมูลของยาน Lunar Orbiter Laser Altimeter บน Lunar Reconnaissance Orbiter Camera จะเห็นจุดที่เขียนว่า SP จุดนั้นคือบริเวณขั้วใต้เป๊ะ ๆ ของดวงจันทร์ ที่มา –  ETHZ\LPI\Valentin T. Bickel and David A. Kring

Connecting Ridge และ Connecting Ridge Extension เป็นบริเวณที่ถูกให้ความสนใจ เพราะเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นแล้ว บริเวณนี้อยู่ใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์มากที่สุด (88.5 องศา) เป็นอีกหนึ่งบริเวณที่ได้รับแสงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้ทำแผนที่บริเวณต่าง ๆ ไว้ และคิดค่า Illumination ของแต่ละบริเวณ (ดูวิธีการคิดได้ที่ – Illumination conditions at the lunar poles: Implications for future exploration) และยังมีบริเวณ de Gerlache Rim 1 และ de Gerlache Rim 2 เป็นอีกสองจุดที่ NASA ให้ความสนใจ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณของ หลุมอุกกาบาต de Gerlache  มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับบริเวณที่เรากล่าวถึง

ถัดออกมา จะเป็นบริเวณละติจูดที่ต่ำลงมา (คือห่างจากขั้วใต้มากขึ้น) ได้แก่ Haworth ซึ่งเป็นบริเวณหลุมอุกกาบาต ที่อยู่ที่ละติจูดประมาณ 86 องศาใต้ บริเวณ de Gerlache-Kocher Massif , Malapert Massif ที่อยู่ในแถวหลุมอุกกาบาต Malapert

Leibnitz Beta Plateau เป็นบริเวณใกล้กับภูเขา Leibnitz บนดวงจันทร์ ห่างออกไปไม่มากจากหลุมอุกกาบาต Nobile ซึ่งก็เป็น Candidate ในชื่อ Nobile 1 และ Nobile 2  ซึ่งหลุม Nobile นี้ เป็นจุดที่ NASA มีแผนจะส่งยานโรเวอร์ VIPER หนึ่งในภารกิจกลุ่ม Commercial Lunar Payload Service (CLPS) ไปสำรวจ เราเคยเขียนสรุปเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดในข่าว VIPER โรเวอร์ที่จะถูกส่งขึ้นไปบนดวงจันทร์เพื่อไปหา “น้ำ” สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต (ในบทความนี้อธิบายเรื่องเงาและน้ำบนดวงจันทร์โดยละเอียด ควรอ่าน)

และบริเวณสุดท้ายก็คือ Amundsen Rim เป็นขอบหลุมอุกกาบาต Amundsen ซึ่งในปี 2021 เพิ่งมีข่าวการค้นพบคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบของแข็ง (น้ำแข็งแห้ง) บนดวงจันทร์ จากเปเปอร์ Carbon Dioxide Cold Traps on the Moon

ทำไมขั้วใต้ของดวงจันทร์ถึงได้เป็นจุดสนใจ

จริง ๆ ถ้าอ่านด้านบนก็น่าจะพอเห็นกันแล้วว่า ในโครงการ Artemis นั้น ขั้วใต้ของดวงจันทร์ เป็นบริเวณที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จะต่างจากโครงการ Apollo ที่จุดลงจอดต่าง ๆ จะกระจาย ๆ ออกไป ไม่ได้อยู่ใกล้กันซักจุด แต่ Artemis เรียกได้ว่า NASA และทีมนานชาติ ตั้งแต่ ESA, CSA, JAXA, CNES และหน่วยงานอวกาศอื่น ๆ ในสนธิสัญญา Artemis แทบจะเอาทุกทรัพยากรไปทุ่มลงกับขั้วใต้ของดวงจันทร์ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเป้าหมายในรอบนี้ ถ้าพูดแบบง่าย ๆ ตรง ๆ ก็คือการไปหาน้ำนั่นเอง

ภาพจำลอง Rover ชื่อ VIPER ขณะกำลังสำรวจหลุมอุกกาบาต Amundsen ที่มา – NASA

ซึ่งในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ เราทราบแน่นอนอยู่แล้วว่าดวงจันทร์ไม่มีน้ำแบบเป็นทะเล เป็นแม่น้ำอะไรแบบนี้ แต่น้ำจะอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เช่น น้ำแข็ง เนื่องจากอุณหภูมิและความดัน ซึ่งปัจจัยด้านอุณหภูมิและความดันนี่เองที่ทำให้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ เอื้ออำนวยในการค้นพบมันเช่นปรากฎการณ์อย่าง Permanently shadowed crater ที่แทบจะทำให้บริเวณนั้น ๆ ไม่โดนแสงเลย นอกจากนี้ การตั้งฐานสำรวจที่ขั้วใต้ยังได้ประโยชน์ในทางอื่น ๆ ด้วย เช่น การที่สามารถมีจุดที่แสงส่องสว่างตลอด หรือ Eternal Light (สามารถให้พลังงานได้) และความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับโลกได้ตลอดเวลา

และวงโคจรของสถานีอวกาศ Lunar Gateway ก็ถูกออกแบบให้โคจรตัดขั้วใต้ของดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน แถมยังมีการออกแบบวงโคจรของ Lunar Gateway ให้โคจรอยู่เหนือบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์มากกว่าบริเวณอื่น (เพราะมีความรีสูงเหนือขั้วใต้) เพื่อการติดต่อสื่อสาร และวางแผนภารกิจอีกด้วย

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ขั้วใต้ของดวงจันทร์นั้น จะกลายเป็นแหล่งสำรวจยอดฮิตไปอีกหลายทศวรรษก็ว่าได้

สามารถอ่านเรื่องราวภาพใหญ่ของโครงการ Artemis ได้ที่ Artemis การกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง สรุปโดยละเอียด และสิ่งที่ควรรู้ก่อนชมการปล่อย

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.