เจาะลึก Axiom-1 เที่ยวบินพลเรือนล้วนแรก อนาคตของสถานีอวกาศเพื่อการค้า

ในปี 2012 เพียงแค่ 1 ปีหลังจากที่ NASA ปลดระวางการใช้งานกระสวยอวกาศ บริษัท SpaceX ก็สามารถส่งยานอวกาศ Dragon ขึ้นไปเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติได้เป็นครั้งแรก ในตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของการส่งยานอวกาศเอกชนขึ้่นเทียบสถานีอวกาศฯ เมื่อเวลาผ่านไป เราได้เห็นบทบาททางการค้าที่สำคัญของสถานีอวกาศนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการนำ Payload Platform ต่าง ๆ ของเอกชนขึ้นไปติดตั้ง เพื่อขายพื้นที่สำหรับทำงานวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงการจ่ายเงินเพื่อให้การทดลองของเราได้ถูกนำไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติโดยนักบินอวกาศ พูดได้อย่างเต็มปากว่า ตอนนี้สถานีอวกาศนานาชาติ เป็นพื้นที่ทางการค้าแทบจะเต็มรูปแบบ

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหมุดหมาย สำคัญที่เราจะหยิบยกมาพูดคุยกันในวันนี้ ก็คือภารกิจตระกูล Axiom ซึ่ง Axiom-1 เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเป้าหมายปลายทางจริง ๆ ของ Axiom ก็คือการใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติเชิงการค้าอย่างเต็มรูปแบบ

โดยเราจะต้องเข้าใจประเด็นสำคัญก่อนว่า

  • สถานีอวกาศนานาชาติ เป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติ ระหว่างสหรัฐฯ รัสเซีย ยุโรป และญี่ปุ่น
  • สถานีอวกาศนานาชาติ มีแผนสิ้นสุดอายุของมันในช่วงปีประมาณ 2030 ซึ่งจะบอกว่า วงแตกก็ได้ เพราะนอกจาก NASA จะหันไปจริงจังกับโครงการสถานีอวกาศ Lunar Gateway ในอนาคตแล้ว รัสเซีย ก็ประกาศถอนตัวจากโครงการความร่วมมือต่าง ๆ กับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Artemis, Lunar Gateway และหันไปสำรวจอวกาศกับจีน
  • จุดหมายปลายทางที่แท้จริงของสถานีอวกาศนานาชาติ ก็คงเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากการปล่อยให้ตกลงกลางมหาสมุทร เหมือนกับสถานีอวกาศรุ่นพี่อย่าง Skylab หรือ Mir ในที่สุด แต่! ช่วงเวลาท้าย ๆ ของสถานีอวกาศนานาชาตินี่แหละ ที่จะมีความน่าสนใจใจเชิง New Space หรืออวกาศยุคใหม่เป็นอย่างมาก

สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจเรื่อง New Space อยากให้อ่านบทความเรื่อง Old Space กับ New Space คืออะไร

สถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน ที่มา – NASA

ถามว่า ทำไมต้องเข้าใจประเด็นดังกล่าว? คำตอบก็คือ เพราะว่า Axiom เป็นบริษัทอวกาศที่เชื่อในรูปแบบใหม่ของสถานีอวกาศ หรือสถานีอวกาศในยุค Commercial ซึ่งแผนทางปลายสุดของพวกเขาคือการขูดรีดเอาประโยชน์สุดท้ายจาก ISS เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ของตน ที่จะเป็นสถานีอวกาศเต็มรูปแบบแต่ดำเนินการโดยเอกชน

เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า เมื่อก่อน NASA สร้างจรวดเอง ทำอะไรเองหมด แต่ปัจจุบัน NASA ก็ใช้งานจรวดจากเอกชน เช่น SpaceX แล้วเอาเวลาไปพัฒนาอะไรที่มัน Front-tier กว่านั้น เช่น การทำสถานีอวกาศ หรือการวางแผนการเดินทางไปดวงจันทร์ เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ อันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเวลาผ่านไป สถานีอวกาศบน Low Earth Orbit ที่เคยต้องถูกดำเนินงานโดยรัฐฯ เมื่อมันมาถึงจุดที่เอกชนทำเองก็ได้ ควบคุมกลไกราคา มี Supply มี Demand ก็ปล่อยให้เอกชนทำไป รัฐฯ ก็เขยิบไปทำอะไรที่ใหญ่กว่า เช่น การทำสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ (Gateway) อะไรก็ว่าไป

ภารกิจ Axiom-1 จึงนับว่าเป็นก้าวแรกของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตดังที่เราได้กล่าวไป

จุดเริ่มต้นของโครงการ Axiom และสถานีอวกาศ Axiom

บริษัท Aixom Space นั้นก่อตั้งโดย 2016 โดย Michael Suffredini และ Kam Ghaffarian ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า ไม่คุ้นชื่อของสองคนนี้เลย ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะทั้งคู่ ไม่เคยให้สัมภาษณ์ออกสื่อใหญ่โต แต่ก็ไม่ใช่ว่าทั้งคู่จะไม่ได้มีผลงานใด ๆ เพราะคุณ Suffredini นั้น เป็นอดีต Program Manager ของสถานีอวกาศนานาชาติยาวนานถึง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2005 – 2015 ก่อนที่จะลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ส่วน คุณ​ Ghaffarian นั้น ก็เป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัท ซึ่งนอกจาก Axiom แล้ว เขายังเป็น CEO บริษัท Intuitive Machines ที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับเลือกให้ทำภารกิจ Commercial Lunar Payload Service ในโครงการ Artemis อีกด้วย หรือในอดีต เขายังก่อตั้งบริษัท Stinger Ghaffarian Technologies ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าที่สำคัญกับ NASA ตั้งแต่ในยุค 90s

เรียกได้ว่า ทั้งคุณ Suffredini และ Ghaffarian ก็ไม่ใช่ผู้เล่นใหม่หน้าไหน แต่กลับเป็นคนที่รู้จัก คุ้นเคย และเข้าใจระบบต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ ของทั้ง NASA เอง และการจัดการกับสถานีอวกาศนานาชาติ มากที่สุดกลุ่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ จึงไม่แปลกใจที่จะเกิดการลงทุนในบริษัท Axiom Space ขึ้นมา

ในปี 2020 NASA ได้มีการวางแผนการใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติในเชิงการค้า (ตามเหตุผลด้านบนที่เล่าให้ฟังไป) แล้วบริษัทที่ชนะและได้รับเลือกให้ทำงานนี้ก็คือ Axiom Space นั่นเอง โดย ทาง Axiom จะต้องสร้าง, ติดตั้ง ตัว Module ใหม่นสถานีอวกาศนานาชาติอย่างน้อย 1 Module ซึ่งจุดที่จะติดตั้ง ก็ได้แก่ Node 2 Harmony ซึ่งอยู่หน้าสุดของสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ปัจจุบันมี International Docking Adapter ติดตั้งอยู่ เพื่อให้ยานอวกาศต่าง ๆ เข้ามาเชื่อมต่อ เช่น ยาน Crew Dragon

อ่าน – Axiom แบบสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกสำหรับนักท่องเที่ยว ที่พร้อมก่อสร้างปี 2024 นี้

เพื่อไม่ให้สับสน เราจะแบ่งงานของ Axiom ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  • งานติดตั้ง Module ใหม่ให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อใช้เป็น Module ทางการค้า
  • งานการส่ง บริหารจัดการ Payload, Astronaut สำหรับทำงานใน Module ดังกล่าว

ซึ่งงานการติดตั้ง Module แห่งใหม่นี้ ก็จะไปคาบเกี่ยวกับแผนการสร้าง สถานีอวกาศ Axiom Station ที่ภายหลังสถานีอวกาศนานาชาติถูกปลดระวางแล้ว Axiom จะแยกโมดูลนี้ออกไปเป็นสถานีอวกาศแบบเดี่ยว ๆ ของตัวเอง และใช้งานทางการค้าอย่างเต็มที่ ส่วนงานด้านการส่ง บริหารจัดการ Payload และ Astronaut นั้นก็จะเป็น Practices ที่สำคัญให้กับการบริหารจัดการตัวสถานีในอนาคตนั่นเอง

โดย ในบทความนี้เราจะมาโฟกัสงาน Payload และ Astronaut กันก่อน ซึ่งทาง Axiom ก็ได้วางแผนไว้ตอนนี้ 4 การปล่อยด้วยกัน ตั้งแต่ Axiom-1 จนถึง Axiom-4 ทั้งหมด จะใช้บริการจรวด Falcon 9 และยาน Crew Dragon ของ SpaceX

ภารกิจ Axiom-1 จุดเริ่มต้นของเที่ยวบินเอกชนล้วน เพื่อใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติ

นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้เราได้เริ่มต้นกับภารกิจ Axiom-1 นั่นเอง โดยในภารกิจแรกของ Axiom นี้นั้นผู้ที่เดินทางไปกับภารกิจก็ได้แก่ Michael López-Alegría, Larry Connor, Eytan Stibbe และ Mark Pathy ซึ่งได้มาด้วยการจ่ายเงินนั่นเอง (ฮา – เอาน่า ก็ถ้าเงินไม่มางานก็ไม่เดิน) โดยราคาของที่นั่งของแต่ละคน อยู่ที่ 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ หนึ่งพันแปดร้อยล้านบาทเท่านั้นเอง (ฮา)

Axiom-1 ในขณะเดินทางขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Falcon 9 และยาน Crew Dragon ที่มา – SpaceX

การเดินทางของ Axiom-1 เดินทางขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2022 เวลาประมาณ 22 นาฬิกาตามเวลาประเทศไทย และมีแผนกลับสู่โลกในวันที่ 18 เมษายน รวมระยะเวลาในการอยู่บนสถานีอวกาศทั้งสิ้น 10 วัน

และแม้ว่า López-Alegría จะเป็นนักบินอวกาศเก่าของ NASA มาก่อน แต่ครั้งนี้ เขาเดินทางในฐานะ ผู้บริหารโครงการ Axiom Space และเป็นคนเดียวจากทั้งสามคนที่เหลือที่เคยเดินทางไปอวกาศ

แต่สำหรับภารกิจ Axiom-1 นี้ แม้ว่าจะเป็นการเดินทางในลักษณะ Space Tourism แต่เพื่อให้ได้ Practices ในการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ บนสถานีอวกาศ นักบินอวกาศทั้ง 4 จะต้องทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย โดย Axiom ระบุว่า ในภารกิจนี้ จะมีการนำการทดลองกว่า 25 การทดลอง ขึ้นสู่อวกาศ

โดยหนึ่งในงานที่ถูกนำขึ้นไปก็คือ TESSERAE จาก MIT Media Lab ซึ่งเป็น self-assembly sctructure ในอวกาศ ขึ้นไปด้วย (จากที่เคยถูกนำไปทดสอบก่อนหน้านี้ในภารกิจ CRS-20 ผ่านบริษัท NanoRack) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยด้าน Regenerative Medicine ที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง หรือว่า TRISH (Translational Research Institute for Space Health) ที่เป็นการศึกษา biomedical research เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมนุษย์จากการเดินทางท่องอวกาศ

งาน TESSERAE ซึ่งเป็น self-assembly sctructure ในอวกาศ ที่มา – MIT Media Lab

จะสังเกตว่างานพวกนี้จริง ๆ มันก็เดินทางไปกับพวก Commercial Payload อื่น ๆ เช่น NanoRack, ISS National Lab อะไรพวกนี้เป็นปกติอยู่แล้ว แต่มันมีข้อจำกัดด้านเวลาของนักบินอวกาศ มีข้อจำกัดด้านต้องไปแบ่งคิวกับ Payload ที่เป็นงานของ NASA จริง ๆ แต่พอ Axiom เป็น Commercial แบบ 100% แล้ว การจัดการต่าง ๆ มันก็จะคล่องตัวกว่า นึกภาพการทำงานแบบรัฐฯ กับการทำงานแบบเอกชนนั่นแหละ

แบบจำลองการก่อสร้างสถานีอวกาศ Axiom Station ที่ในช่วงแรกจะอยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติก่อน จากนั้นจะแยกตัวออกมาเป็นสถานีอวกาศเดี่ยว ๆ ที่มา – Axiom Space

ทีนี้ลองนึกภาพดูว่าถ้า Axiom มีสถานีอวกาศของตัวเองจริง ๆ ในอนาคต ทุกอย่างมันก็จะง่ายขึ้นมาก เพราะมันคือหนึ่งในตัวเลโก้ชิ้นสำคัญที่ช่วยให้ Space Commercialization สมบูรณ์แบบขึ้นมา เรามีจรวดที่ราคาถูก (SpaceX) เรามียานอวกาศที่ขนได้ทั้งคนและของ (Dragon) เรามีบริษัทเทคโนโลยีอวกาศเอกชนที่ทำงานวิจัยต่าง ๆ ระดมทุนต่าง ๆ เองได้มากมาย จะดีแค่ไหน ถ้าเรามีสถานีอวกาศที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องคอยมาจองคิว ISS ให้ยุ่งยาก นี่แหละคือวัตถุประสงค์ของ Axiom

สรุปแล้ว Axiom-1 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและน่าจับตามองของยุคการสำรวจอวกาศยุคใหม่ ที่จะมีการใช้งานสถานีอวกาศเพื่อการค้าอย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.