Axiom แบบสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกสำหรับนักท่องเที่ยว ที่พร้อมก่อสร้างปี 2024 นี้

บริษัท Axiom ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยมีเป้าหมายสุดทะเยอทะยานในการสร้างสถานีอวกาศของตนเองเพื่อเป็นสถานที่หนึ่งนอกเหนือจากสถานีอวกาศนานาชาติที่ใช้ทำการทดลองงานวิจัยงานต่าง ๆ สำหรับภาคเอกชน ซึ่งรวมไปถึงรองรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในอวกาศ และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ Axiom ต้องการเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวที่อยากมาสัมผัสการใช้ชีวิตหรือทำงานบนอวกาศในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยตัวสถานี Axiom นั้นถูกออกแบบมาให้ขยายสถานีและต่อเติมได้ง่ายและเหมาะสำหรับการอยู่อาศัย นำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่จาก NASA

ในปัจจุบันสถานีอวกาศนานาชาติเป็นหนึ่งในสถานีอวกาศที่มีการใช้งานมายาวนานที่สุด มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นสิ่งก่อสร้างที่ราคาแพงที่สุดในโลก จนเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา Axiom กับ NASA ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะให้โมดูลของ Axiom เป็นส่วนต่อเติมของสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS ภายในปี 2024 นี้ โดยส่วนของ Axiom นี้จะเริ่มต่อเติมจากโมดูล “Harmony” ของสหรัฐ โดยใช้แขนกล Canadarm ในการช่วยก่อสร้าง ส่วนตัวของ Axiom จะติดอยู่กับ ISS จนกว่า NASA จะปลดระวาง ISS ภายในปี 2028 นี้ตามที่ประกาศไว้แต่ NASA เองก็เลื่อนเวลาปลดประจำการมาหลายรอบแล้ว (ฮา) เมื่อถึงตอนนั้น Axiom จะเปลี่ยนจากส่วนต่อขยายของ ISS เป็นสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกของโลก

อ่านเรื่องราวของสถานีอวกาศนานาชาติเพิ่มได้ที่ สถานีอวกาศนานาชาติ ที่อยู่หนึ่งเดียวในอวกาศ ประวัติศาสตร์บทบาทหน้าที่

ขั้นตอนการก่อสร้างสถานีอวกาศ Axiom

ตามแผนการก่อสร้างในปัจจุบัน Axiom จะมีด้วยกันทั้งหมด 4 โมดูล ประกอบด้วยโมดูลห้องทดลอง โมดูลสำหรับชมวิวของโลก 360 องศาคล้ายกับโมดูล Cupola ของ ISS และที่อยู่อาศัยกว้างขวางสำหรับท่องเที่ยว เมื่อแยกออกมาจาก ISS แล้ว Axiom จะมีการเพิ่มส่วนต่อขยายเพิ่มเติมอีกในอนาคต แล้วจะอยู่ที่วงโคจรระดับความสูงราว 400 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเลและเดินทางด้วยความเร็วกว่า 27,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รอบโลก โดยราคาของการพักอาศัยบน Axiom เป็นเวลา 10 วันจะมีราคาอยู่ที่ราว 55 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านบาท

นักออกแบบภายในชาวฝรั่งเศสชื่อดัง Philippe Starck ผู้ออกแบบสถานีอวกาศ Axiom มีแนวคิดว่าตัวสถานีคือไข่ฟองหนึ่งที่นุ่มสบาย ดังนั้นสถานีอวกาศ Axiom จะใช้สีและวัสดุที่ให้ความรู้สึกถึงความปลอดถัยภายในไข่ อาทิ ที่ผนังของสถานีจะติดด้วยหลอดไฟ LED ที่จะคอยปรับควมเข้มของแสงและสีตามทิวทัศน์ของอวกาศที่อยู่ภายนอก

นอกจากเป้าหมายการก่อสร้างสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกแล้ว Axiom ยังได้ร่วมผลักดันวงการอวกาศภาคเอกชนในความร่วมมือกับ NASA เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจบนอวกาศ ในการส่งนักท่องเที่ยวจากภาคเอกชนขึ้นไปในสถานีอวกาศนานาชาติเป็นครั้งแรกถึง 4 ภารกิจ ซึ่งภารกิจแรกหรือ AX-1 นั้นจะใช้ยานอวกาศ Crew Dragon ของ SpaceX ขึ้นไปบน ISS เป็นเวลา 10 วัน ประกอบด้วยลูกเรือจำนวน 4 คน โดยที่หนึ่งในนั้นคือคุณ Michael López-Alegría อดีตนักบินอวกาศของ NASA นั้นมีกำหนดการเดินทางไม่เกินช่วงต้นปี 2022 นี้ ที่ศูนย์อวกาศ เคเนดี้ รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ซึ่งตามแผนการที่ Axiom ประกาศนั้นการส่งนักท่องเที่ยวไปยัง ISS จะมีถึง 4 ภารกิจด้วยกัน AX-2, 3 และ 4 นั้นได้มีการกำหนดตารางเดินทางคร่าว ๆ ไว้ในปี 2023 และ 2024

เอกชนและอวกาศ

เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราคงจะจินตนาการไม่ออกว่า ในปัจจุบันภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการอวกาศมากมายเหมือนอย่างในปัจจุบัน ตั้งแต่บริษัทจรวดสุดล้ำอย่าง SpaceX และ Blue Origin จนไปถึงโครงการอวกาศพลเรือนครั้งแรกของโลก Inspiration 4 และ Axiom ที่กำลังเปิดประตูสู่ธุรกิจนอกโลก เมื่อภาคเอกชนเดินเครื่องอย่างเต็มสูบแล้ว ก็คงที่จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปที่เราจะไปไกลกว่าวงโคจรของโลก สู่ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และพื้นที่อวกาศอันไกลโพ้น

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.