เล่าประสบการณ์ร่วมงาน Beyond the Cradle ใน MIT Space Week นักบินอวกาศ นักฟิสิกส์มาเพียบ

ย้อนกลับไปในยุคสมัยก่อน Apollo ประธานาธิบดี John F. Kennady เป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวกระโดดมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ หนึ่งในคำพูดของ Kennady คือการพูดถึงจรวดยักษ์ความสูงเท่าหนึ่งสนามฟุตบอล ถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่ยังไม่เคยถูกคิดค้นขึ้นด้วยซ้ำ และประกอบเข้าหากันด้วยความละเอียดมากกว่านาฬิกาเรือนที่ละเอียดที่สุด ที่จะพานักบินอวกาศเดินทางไปดวงจันทร์ “และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย” ตอนนั้นจิตนาการภาพที่เกิดขึ้นกระตุ้นให้ทั้งทาง NASA เองและหน่วยงานต่าง ๆ ต่างผลักดันเทคโนโลยี หนึ่งในนั้นก็คือ MIT มหาวิทยาลัยระดับโลกที่ในตอนนั้น กลายเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ตั้งแต่วิศวกรรม การเขียนโปรแกรม จนสุดท้ายบุคลากรในโครงการ Apollo นั้นเป็นคนจาก MIT มากมาย

Buzz Aldrin ในการสำรวจในภารกิจ Apollo 11 เมื่อปี 1969 ที่มา – Apollo Archive

กลางเดือนมีนาคม 2019 MIT จัดงาน MIT Space Week ซึ่งประกอบไปด้วยงานสำคัญ 3 งานจัดโดย 3 หน่วยงานที่ต่างกันได้แก่

  • Apollo 50+50 งานฉลองครบรอบ 50 ปี ที่รวมศิษย์เก่าและบุคลากรของ MIT ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่จะร่วมผลักดันวงการอวกาศโลก
  • Beyond the Cradle งานภายในของ MIT Media Lab ที่เกิดจากกลุ่มวิจัย “Space Exploration” ที่ทำงานเกี่ยวกับอวกาศ ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นทุกแขนงตั้งแต่ศิลปะ ไปจนถึงภาษาศาสตร์
  • New Space Age งานที่พูดถึงอนาคตของอวกาศในแง่ธุรกิจ และความเป็นไปได้ในโอกาสอันมหาศาลจากการศึกษาอวกาศ รวมถึง Private Space Program ต่าง ๆ

โชคดีที่ทีมงาน Spaceth.co มีโอกาสเข้าร่วมงานถึง 2 งานด้วยกันได้แก่ Apollo 50+50 และ Beyond the Cradle จากการชวนของพีพี หรือพัทน์ ภัทรนุธาพร เด็กไทยใน MIT Media Lab ซึ่งนำเอาแนวคิดของ Media Lab มาสร้างเป็น Freak Lab ซึ่งเราเคยพูดถึงและร่วมงานกันหลายครั้ง

และการเดินทางนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าขาดผู้สนับสนุน สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่สนับสนุนการเดินทางและค่าใช้จ่าย และเว็บไซต์ Dek-D ที่สนับสนุนทุนในการสร้างคอนเทนต์ดี ๆ แบบนี้ให้เกิดขึ้น

สิ่งที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้ก็คืองาน Beyond the Cradle ซึ่งจัดที่ MIT Media Lab หน่วยงานด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งงานนี้นั้นจัดแบบ Invited Only ทำให้ Exclusive มาก ๆ ที่เราได้ไปร่วมงาน และนำประสบการณ์มาบอกเล่าเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเปิดมุมมองใหม่ ๆ สำหรับคนที่ทำงานด้านอวกาศ

พาร่วมงาน Beyond the Cradle

งาน Beyond the Cradle จัดที่อาคารของ Media Lab ซึ่งบริเวณชั้นบนจะเป็นพื้นที่ของห้องโถงใช้สำหรับจัดงานต่าง ๆ ได้ งานในครั้งนี้จัดมาต่อเนื่องทุกปีในครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยงานนี้นั้นจัดโดยกลุ่มที่ชื่อว่า Space Exploration Initiative

ซึ่งเป็นกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ที่อยู่ใน Media Lab อีกที ซึ่งเดี๋ยวเราจะเล่าในหัวข้อต่อไปว่าโครงสร้างคร่าว ๆ ของ Media Lab มีอะไรบ้าง

MIT Media Lab คืออะไร

ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่าอะไรคือ MIT Media Lab ให้เราลองนึกดูว่าสมัยก่อน เรามองเทคโนโลยีก็เป็นส่วนของเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และการเขียนโปรแกรมต่าง ๆ ในขณะที่ก็มีการออกแบบอยู่กลาง ๆ ระหว่างความรู้สึกกับ Logic (เช่นการออกแบบ User Interface ต่าง ๆ ออกแบบเพื่ออุตสาหกรรมหรือ Industrial Design) และฝั่งของศิลปะที่เป็นการ Express ความรู้สึกไปเลย ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ ยังมี Gap ช่องว่างอยู่ระหว่างกันค่อนข้างเยอะ ทำให้คุณ Nicholas Negroponte ซึ่งตอนนั้น ในปี 1985 เป็นช่วงที่คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน Nicholas จึงตั้ง Media Lab ขึ้นมา โดย Media นั้นไม่ได้หมายความว่าสื่อแบบ สื่อมวลชน แต่ Media มาจากคำว่า Medium หรือตัวกลาง ตัวกลางที่จะให้คนสามารถ Interact กับหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

สิ่งที่พวกเขาคิดตอนนั้นล้ำไปกว่า Graphic User Interface เป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาฝันไปถึงการ ใช้นิ้วเพื่อควบคุมคอมพิวเตอร์โดยการแตะที่หน้าจอ (ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว) แต่ตอนนั้นพวกเขาต้องเผชิญกับกระแสต่อต้าน แม้กระทั่งมี Paper ออกมาบอกว่า การใช้นิ้วจิ้มที่หน้าจอนั้นเป็นความคิดที่โง่สิ้นดี เพราะทำให้หน้าจอสกปรก

หรือเทคโนโลยีที่หลายคนคุ้นชินกันเช่น Google Street View หรืออุปกรณ์ Warable Device อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ เช่น Apple Watch, Android Wear ในปัจจุบัน ก็เป็นไอเดียช่วงแรก ๆ ของ Media Lab เช่นกัน

หรือพูดถึงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หลายคนก็อาจจะรู้จักนิตยสาร Wired เป็นนิตยสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีล้ำ ๆ ซึ่ง Wired นี้ก็มีที่มาจาก Media Lab เหมือนกัน

แม้ในยุคปัจจุบัน Media Lab ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับโลก เราอาจจะไม่ได้เห็น Media Lab ในชีวิตประจำวันเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่ Media Lab ทำนั้น Front-tier เอามาก ๆ และดูเหมือน Application จะยังน้อย แต่อย่าลืมว่าการผลักดันเทคโนโลยีนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่ก้าวไปยังพรมแดนที่เราไม่รู้จัก เราจะไม่มีวันได้พบกับสิ่งใหม่ ๆ และสิ่งที่ Media Lab ทำ ไม่ใช่แค่ฝั่งเทคโนโลยี แต่เป็นการหาตัวกลางที่มนุษย์จะ Interact กับเทคโนโลยี

โปรแกรมสอนเด็กเขียนโปรแกรม Scratch, Lego ที่สอนให้เด็กทำหุ่นยนต์ หรือโต๊ะที่เราเอาลูกบอลวางไว้แล้วโต๊ะสามารถพาลูกบอลไปยังที่ต่าง ๆ ผ่านแท่ง ๆ ที่ยกขึ้นมาได้ ของพวกนี้คือผลผลิตของ Media Lab ที่เราเห็นกันในสื่อปัจจุบัน

อาคารปัจจุบันของ MIT Media Lab จะสังเกตว่าเน้นความเป็นกระจกโล่งโปร่งเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ที่มา – MIT Media Lab

ปัจจุบัน Media Lab นั้นแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งพี่พีพี พาเราเดินดูครบหมดแล้ว เราได้เดินดูแท่งไม้ขึ้น ๆ ลง ๆ ที่ว่า ได้ไปดูกลุ่มทำงานต่าง ๆ แต่ไม่สามารถถ่ายรูปมาได้เนื่องจากเป็นความลับ (เห็นก่อนก็ไม่สนุกสิ รอดูในข่าวดีกว่า) แต่บอกเลยว่าเราเห็นอะไรล้ำ ๆ เยอะมาก

ตัวอย่างของกลุ่มที่อยู่ใน Media Lab ก็เช่น Fluid Interface ที่เพื่อนของเราพีพีอยู่ อันนี้จะทำเรื่องเกี่ยวกับ Interface ที่เชื่อมมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ให้ลื่นไหลที่สุด Dream Engineering หรือวิศวกรรมความฝัน การเข้าใจจิตใจของมนุษย์ในเชิงลึกนำมารวมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อย่าง Machine Learning

หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่น่าสนใจเช่น Social Machine ที่พยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในเชิงสังคมวิทยา Synthetic Neurobiology ทำเกี่ยวกับสมอง และ Space Exploration ที่ทำเกี่ยวกับอวกาศ​

จะเห็นว่าวิธีการแบ่งกลุ่มทำงานของ Media Lab จะไม่แบ่งตามชื่อศาสตร์ว่าเป็น Biology, Physics, Material Science อะไรแบบนี้ แต่จะแบ่งตามวัตถุประสงค์และโจทย์คำถาม ดังนั้น ในกลุ่มกลุ่มนึงจะมีคนหลาย ๆ ศาสตร์หลาย ๆ สาขามารวมกัน เวลาทำงานเราจะไม่เจอแต่นักชีววิทยาหรือนักฟิสิกส์ แต่เราจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รวมเอาคนหลาย ๆ สาขามารวมกันเพื่อแก้โจทย์โจทย์เดียวกัน ดังนั้นการทำงานกับนักสังคมศาสตร์ นักปรัชญา หรือศิลปิน ในโครงการเดียวกันเป็นเรื่องปกติ

Session ในช่วงเช้า รู้จัก Space Exploration Initiative

สำหรับงานที่เราไปร่วมนั้นอย่างที่บอกว่าจัดโดยกลุ่มที่ชื่อว่า Space Exploration Initiative ซึ่งกลุ่มนี้มีแกนนำเป็นคุณ Ariel Ekblaw เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์สาวที่ทำงานมากับหน่วยงานอย่าง CERN, NASA, JPL และอะไรที่เป็นความฝันของเรา ๆ มาหมดแล้ว ด้วยอายุที่น้อยแต่มีพลังงานในการทำงานอย่างล้มหลาม ทำให้เธอกลายเป็นแม่งาน Beyond the Cradle นี้ และขึ้นมากล่าวต้อนรับเราเป็นคนแรกเลย

ในขณะที่คุณ Maria  Zuber และ Joi Ito ซึ่งเป็น Advisors ของกลุ่มนี้ก็ขึ้นมากล่าวต้อนรับ ทั้งสองคนนี้ก็เป็นบุคคลระดับตำนานเช่นกัน Maria เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับ NASA ในหลาย ๆ โครงการสำรวจอวกาศ ตั้งแต่ยุคบุกเบิกการสำรวจดาวเคราะห์อื่น ในปี 2002 นิตยสาร Discover ยกให้เธอเป็น 1 ใน 50 ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์โลกมากที่สุด ส่วนคุณ Joi Ito นั้นเป็นคนที่บุกเบิกเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการนำอินเทอร์เน็ตเข้าสู่ญี่ปุ่น ทำเรื่องเกี่ยวกับ  AI, blockchain และ synthetic biology

สิ่งที่ Ariel, Joi และ Maria พูดนั้นก็เป็นการเล่าความสำคัญของการพัฒนาวงการอวกาศ ไม่ใช่แค่ในฝั่งของเทคโนโลยี แต่อวกาศนั้นเป็นเหมือน Culture เป็นเหมือนกับพรมแดนสุดท้ายที่มนุษย์รู้จัก ดังนั้นมันจะกระตุ้นการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในทางปรัชญา ทางศิลปะ ทางสังคมวิทยา และด้านต่าง ๆ ซึ่งงานวันนี้ก็จะเป็นการพูดถึงสิ่งเหล่านี้

สำหรับคนแรกที่ขึ้นมาพูดหลังจาก 3 เจ้าภาพจัดงานก็ได้แก่คุณ Samuel Ting ซึ่งคุณ Sam เป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจากการค้นพบอนุภาคเมซอนจากข้อมูลของ Fermilab (อารมณ์ประมาณ CERN ของอเมริกา มีเครื่องเร่งอนุภาคชื่อ Tevatron) และเป็นตัวตั้งตัวดีในการส่งเครื่อง Alpha Magnetic Spectrometer (AMS) ขึ้นไปติดบนสถานีอวกาศนานาชาติ

ซึ่งคุณ Sam ก็ได้เล่าเบื้องหลังและเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับตัว AMS รวมถึงโชว์ภาพตอนที่ Elon Musk ไปดูตัว AMS ก่อนขึ้นสู่อวกาศด้วย แล้วก็พูดถึงโครงการอวกาศต่าง ๆ ที่ MIT เป็นตัวบุกเบิก ตั้งแต่ Voyager, GRAIL (อันนี้บุกเบิกโดยคุณ Maria) ไปจนถึงโครงการล่าสุดอย่าง Parker Solar Probe และ TESS

หัวข้อต่อไปก็จะเป็น Our sci-fi space future ซึ่งอันนี้จะมีความหลุดโลกสูงมาก คนที่เชิญมาแต่ละคนนั้นเป็นคนในแวดวง Sci-fi ตั้งแต่นักเขียนไปจนถึงนักภาษาศาสตร์

  • Marc Okrand นักภาษาศาสตร์ผู้สร้างภาษา Klingon ในหนังเรื่อง Star Trek
  • Daniel Suarez นักเขียนนิยาย เจ้าของผลงานหนังสือ Delta-V
  • Ytasha Womack นักเขียนเจ้าของหนังสือ Afrofuturism
  • พิธีกรเป็น Victoria Jaggard เป็นนักเขียนอยู่ที่ National Geographic

ซึ่งบทสนทนาใน Session นี้ก็จะออกแนวล้ำ ๆ มาก คุยกันเรื่องอนาคตของวงการอวกาศ แล้วก็ตอนแรกคนจะไม่รู้ว่าคุณ Marc นี่แหละที่เป็นคนสร้างภาษา klingon พอเขาบอกคนก็ว้าวมาก (เราคนนึงที่ว้าว)

Session ต่อไปก็เป็นเรื่องที่กลับเข้ามาสู่โลกความเป็นจริงบ้าง คนที่มาพูดคือคุณ Larry James ผู้อำนวยการของ JPL หรือ Jet Propulsion Labaratory ปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่พูดก็หนีไม่พ้นการเปิดวิดีโอของยาน InSight ที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวอังคารเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แล้วก็โชว์โครงการ Mars 2020 ที่จะส่งไปปีหน้า เปิดคลิปของเฮลิคอปเตอร์ที่จะไปบินบนดาวอังคารโชว์ คนปรบมือกันใหญ่แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เรารู้ ๆ กันอยู่แล้ว แต่ได้ถูกเล่าโดยผู้บริหารเองก็เป็นอีกความรู้สึกที่ว้าวไปอีกแบบ

อีกคนก็คือคุณ Loretta Whitesides ซึ่งคนนี้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างสรรค์งาน  Yuri’s Night ซึ่งเป็นงาน event เกี่ยวกับอวกาศที่ดังมาก ๆ งานนึง ก็มาร่วมพูดบนเวทีนี้ โดยเน้นไปที่อนาคตของการสำรวจโดยมนุษย์ เพราะเธอนั้นเป็น Founding Astronaut ของโครงการ Virgin Galactic

Workshop และ Session ในช่วงเที่ยงและบ่าย

หลังจาก Session ในช่วงแรกนั้น ก็จะแยกเวทีออกเป็น 2 เวทีด้วยกัน คือมีเวทีใหญ่ในห้องที่จัด Keynote เมื่อตอนเช้า และจะมีเวทีย่อยขึ้นมาในห้องประชุมเล็กอีกห้อง ซึ่งข้อดีข้อเสียก็จะต่างกัน ถ้าเราเลือกฟังหอประชุมใหญ่เราก็จะได้ฟังกับบุคคลดัง ๆ หน่อย ในห้องข้อใหญ่ ๆ แต่ถ้าเราเลือกไปฟังห้องเล็ก เราก็จะได้พูดคุยกับ Speaker ได้โดยตรง เหมือนกับการ Discussion กันมากกว่าการฟัง Keynote

ซึ่งหัวข้อที่เราเลือกก็คือ Democratizing “Open Space” Panel ในหอประชุมใหญ่ ใน session นี้คนที่จะมาพูดก็ได้แก่คุณ Alex MacDonald เป็นผู้บริหาร NASA ในด้านความร่วมมือในการสำรวจอวกาศกับเอกชน คุณ Leland Melvin นักบินอวกาศ NASA คุณ Teasel Muir-Harmony จากสถาบัน Smithsonian และคุณ Frank White นักเขียนเจ้าของหนังสือ Space Exploration and Human Evolution โดยมีอาจารย์ Kerri Cahoy จาก MIT เป็นพิธีกร

ก่อนพักกินข้าวก็เป็นอีก 1 Session ซึ่งเรายังคงเลือกอยู่ในห้องใหญ่กัน ซึ่งเป็นหัวข้อ Frontiers for Space Exploration อันนี้จะสนุกหน่อยเพราะคุยกันแบบค่อนข้างเห็นภาพ จะสังเกตว่าการจัด session จะสลับกันระหว่างอะไรฟุ้ง ๆ และโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งใน session นี้เราได้ฟัง คุณ Leon Alkalai จาก JPL, Sara Seager อาจารย์ MIT, Erika Wagner เป็น payload sales director ที่ Blue Origin และคุณ Yonatan Winetraub ผู้ก่อตั้ง SpaceIL เจ้าของยาน Baresheet ยานเอกชนสัญชาติอิสราเอลที่ส่งไปดวงจันทร์และเกือบทำการลงจอดสำเร็จ

ในช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวนั้น มีหัวข้อนึงที่น่าสนใจมากก็คือ Space and the Arts หรืออวกาศและศิลปะ ซึ่งอันนี้เด็ดตรงที่คุณ Agnes Meyer-Brandis ซึ่งเราจะรู้จักเธอในนาม คนที่ฝึกเป็ดให้เป็นนักบินอวกาศ ในโครงการ Moon Goose Colony ซึ่งเป็นการล้อจากนิทานว่าห่านจะบินไปดวงจันทร์

ซึ่งมันก็บ้า ๆ บอ ๆ อย่างที่เห็นนั่นแหละ แต่ก็เจ๋งดี แล้วก็ยังมีคนอื่น ๆ เช่น Laurie Anderson ศิลปินซึ่งในปี 2003 เธอเป็นศิลปินล้วน ๆ คนแรกที่ร่วมงานกับ NASA เพื่อร่วมออกแบบสื่อผสมต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในงาน World Expo ไปจนถึงพิธีเปิด Olympic อีกคนคือ Tomas Saraceno และสุดท้ายก็คือ Josh Simpson นักเป่าแก้วโดยได้รับแรงบันดาลใจจากอวกาศซึ่งเป็นสามีของคุณ Catherine Coleman นักบินอวกาศ ซึ่งเธอนั้นแอบเอาแก้วที่สามีเธอเป่าขึ้นไปบนอวกาศด้วย

Session ต่อไปจะเป็นอะไรที่เน้นเรื่องชีวิตและปรัชญาในหัวข้อ Life in Space (อันนี้จะกลับมามีหลักการเป็นฝั่งวิทยาศาสตร์อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้าเป็นเรื่องของศิลปะ) ซึ่งใน session นี้ไอดอลของผู้เขียนคนหนึ่งก็มาด้วยเขาก็คือ Max Tegmark เจ้าของหนังสือ Life 3.0 และ Our Mathematical Universe ซึ่งสนุกมากอ่านแล้ววางไม่ลง

น่าเสียดายที่วันนี้อาจารย์มาในสภาพขาหักมา (ว่าจะขอถ่ายรูปด้วยแต่ก็เกรงใจ เลยไว้คราวหน้าแล้วกัน) อาจารย์ขึ้นเวทีร่วมกับคุณ Paul Horowitz จาก Harvard คุณ Julie Hube จาก Woods Hole Oceanographic Institution และ Lynn Rothschild นักวิจัยจาก NASA Ames Research Center

งานนี้จะมี Workshop ด้วย ซึ่งแล้วแต่ว่ากลุ่มไหน (ใน Media Lab) จะจัดขึ้นมา โดย Workshop ที่เราเข้าไปร่วมก็คือ Open Acess Space ซึ่งเป็นการพูดคุยกันว่าอวกาศนั้นเป็นของทุกคนจริงหรือเปล่า แล้วเราจะร่วมมือกันทำงานอวกาศได้อย่างไร คนที่ร่วมมาพูดคุยกันนั้นมาจากหลาย ๆ ที่มาก ๆ แต่ว่าแต่ละคนทำงานด้านอวกาศ (เราได้เล่าเรื่อง Spaceth ให้ฟังด้วย ดีใจ)

มีประเด็นนึงที่เราคุยกัน บอกว่า ในเมื่อทุกคนทำงานเรื่องอวกาศ ทำไมเราไม่มาทำงานร่วมกันเลยล่ะ อันนี้เราไม่เห็นด้วย และให้ความเห็นไปว่า แต่ละคนแต่ละที่มันมี Function ของมัน อย่างเราเป็นสื่อวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไปอวกาศด้วยตัวเอง เราทำสิ่งที่พวกคุณทำมาเล่า เราสร้างแรงบันดาลใจ สร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ บางคนในนี้ (เราหมายถึง Copenhagen Suborbitals ซึ่งอยู่ในวง discuss ด้วย) ก็ยิงจรวดเป็นงานอดิเรก ซึ่งเราว่ามันก็ไม่ถึงกับต้องเปลี่ยนมาเป็นเชิงการค้าจริงจัง บางคนทำงานศิลปะก็ทำไป เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างแล้วมันส่งเสริมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม มันน่าตื่นเต้นดีออกที่เราจะเห็นคนทำในเรื่องอวกาศอย่างหลากหลาย และเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ

ตอนเย็นนั้นมี Session อีกเล็กน้อย เป็นเรื่องของนักบินอวกาศล้วน ๆ เลยมาคุยกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้นั่งฟังนักบินอวกาศไม่ใช่แค่หนึ่งคนสองคน แต่มากถึง 5 คนบนเวทีเดียวกัน เป็นอะไรที่ inspire มาก ๆ ซึ่งก็มีทั้งจาก NASA และฝั่ง Roskosmos

  • Cady Coleman จาก NASA
  • Dominic Antonelli จาก NASA
  • Nikolay Chub จาก Roskosmos
  • Leland Melvin จาก NASA
  • Nicole Stott จาก NASA

คุณ Cady Coleman หรือ Catherine Coleman นั้นเป็นนักบินอวกาศที่เคยนำ Flute ไปเป่าในอวกาศ ส่วน Leland Melvin นั้นวีรกรรมของเขาก็คือการ แอบเอาหมาของเขาเข้าไปถ่ายรูปในการถ่ายรูปนักบินอวกาศด้วย ซึ่งก็เป็นภาพแปลกตาภาพนึงที่เราอาจจะเคยเห็นกัน

Leland Melvin กับ Jake และ Scott หมาของเขาที่เขาแอบเอาเข้าไปถ่ายรูปด้วย ที่มา – NASA

หลังจากนั้นก็จะเป็นพิธีปิดกันแล้ว ซึ่งคุณ Ariel ก็ขึ้นมากล่าวปิดงาน เธอบอกว่างานในครั้งนี้นั้นน่าตื่นเต้นมาก และหวังว่าวันนึงเราจะสามารถสร้าง Starfleet Academy เหมือนในหนังเรื่อง Star Trek ขึ้นมาจริง ๆ และหวังว่างานนี้นั้นจะให้แรงบันดาลใจให้พวกเรากลับไปสร้างสรรค์งานของตัวเองที่เกี่ยวกับอวกาศและช่วยกันผลักดันวงการอวกาศให้ก้าวไกลต่อไป

หลังจากนั้นก็เป็นงานเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งก็มีของให้กิน และทุกคนก็เดินคุยกัน ซึ่งเป็นช่วงที่สนุกมาก ๆ เราได้คุยกับใครหลาย ๆ คนที่เราไม่คิดว่าจะได้คุยด้วยทั้งนักวิทยาศาสร์ นักบินอวกาศ ศิลปิน ได้เข้าใจถึงมุมมองต่าง ๆ ของแต่ละคนและความชอบเรื่องอวกาศ

งานในช่วงเย็นนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่พระอาทิตย์ตก มองออกไปก็จะเห็นฝั่งบอสตัน และอาคารโดมที่เป็นเอกลักษณ์ของ MIT บรรยากาศยืนคุยกันนอกระเบียงท่ามกลางอากาศ 2-3 องศา เป็นภาพที่น่าจดจำและประทับใจสำหรับการเดินทางในครั้งนี้มาก

เรายังได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับบุคคลสำคัญหลาย ๆ คนอย่างในรูปบนก็คือคุณ Catherine Coleman และ Josh Simpson ซึ่งเราได้พูดถึงไปแล้วและทั้งคู่ก็ขึ้นเวทีงาน Beyond the Cradle นี้เหมือนกันด้วย Catherine เธอน่ารักมาก และพูดคุยอย่างเป็นกันเอง เป็นอีกหนึ่งนักบินอวกาศเก่ง ๆ ที่เราได้รู้จัก (และเขารู้จักเรา) หลังจากที่ Chris Hadfield เคยพูดถึงเว็บของเราว่า “Education is excellent. It’s something worth spreading”

แม้ว่า Catherine และสามีของเธอจะไม่ได้พูดอะไรถึงเราโดยตรงแต่เราก็สัมผัสได้ถึงกำลังในที่เธออยากจะให้เราเมื่อรู้ว่าเรากำลังพยายามผลักดันสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมวิทยาศาสตร์อยู่

และสุดท้ายนอกจากผู้สนับสนุนอย่าง สถานทูตสหรัฐอเมริกาและเว็บไซต์ Dek-D แล้ว เราจะมาที่นี่ไม่ได้เลยถ้าขาดพี่พีพี พัทน์ ภัทรนุธาพร เด็กไทยหนึ่งเดียวใน Media Lab ณ ตอนนี้ที่แนะนำเราให้กับ Ariel และทีมของเขาที่ Media Lab จนเราได้มาสัมผัสกับสังคมของนักคิด และคนเก่ง ๆ มากมายที่นี่

บทเรียนจากการร่วมงานระดับโลก

Media Lab เป็นสถานที่ที่แปลกอย่างนึง ที่นี่ปล่อยให้ความคิดนั้นโลดแล่นและให้ความสำคัญกับไอเดียมาก ๆ จากการเดินเยี่ยมชม เราเห็นความพยายามในการกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา และไม่ปิดกั้นทางความคิดมาก ๆ สังเกตจากลักษณะของอาคารที่สร้างมาเน้นเป็นกระจก ถ้าเป็นห้อง Lab ก็จะสามารถเห็นได้ว่าข้างในทำอะไรกันอยู่ ดังนั้น ไอเดีย การทำงานจริง ๆ (ไม่ใช่แค่มโนว่าตัวเองกำลังทำงาน) และแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ

อย่างที่บอกไปว่า Media Lab จะไม่แบ่งตามชื่อศาสตร์ไม่แบ่งว่าเป็นนักฟิสิกส์ นักเคมี หรือนักดาราศาสตร์ แต่ทุกคนจะมีโจทย์ร่วมกันเช่น เราจะทำยังไงให้อวกาศเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน หรือ เราจะทำยังไงให้เราสามารถสร้างโครงข่ายประสาทเทียมให้สามารถสร้างภาษาขึ้นมาใหม่ได้ หรือ เราจะทำยังไงให้สื่อมีความเป็นกลางจริง ๆ โจทย์พวกนี้จะถูกแก้โดยคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ไม่จำกัดกั้นทางความคิด

การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในบ้านเรานั้น ยังคงมีอีกหลายจุดที่ต้องปรับปรุง สังเกตจากการที่เด็กไทยยังมองวิชาต่าง ๆ แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่เห็นสังคมศึกษาในวิทยาศาสตร์ ไม่เห็นชีววิทยาในประวัติศาสตร์ ไม่เห็นคณิตศาสตร์ในฟิสิกส์ หรือแม้กระทั่งการสอนที่ควรสอนอย่างปรัชญา ก็ยังไม่ถูกนำมาพูดถึงอย่างจับต้องได้ สุดท้ายแล้ว ความเจริญทางวัตถุที่เราคาดหวังนั้นเริ่มต้นจากสังคมและวัฒนธรรมก่อนเสมอ วิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์อย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องรวมกับศิลปะ และความเป็นมนุษย์ (Steve Jobs เคยพูดทำนองนี้ไว้ก่อนเสียชีวิต)

อีกสิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้จากการได้ไปเยือนดินแดนที่สร้างการค้นพบใหม่ ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์นับครั้งไม่ถ้วน ก็คือความรู้สึกและแรงบันดาลใจที่ได้รับการส่งต่อจากการได้เห็น ได้เห็นคนทำงาน ได้เห็นการส่งต่อความรู้ และได้เห็นสภาพแวดล้อมที่ถูกเอื้ออำนวยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

การเดินทางครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจของสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสร้างเยาชนผู้นำในการแก้ปัญหาระดับภูมิภาค (สหรัฐอเมริกามีโครงการ YSEALI เพื่อสนับสนุนกิจกรรมแนวนี้ ) และเว็บไซต์ Dek-D ที่ต้องการสนับสนุนให้เด็กไทยได้ทำตามฝันและเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดนอกห้องเรียน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

บันทึกการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้


Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.