พาเดิน National Air and Space Museum ประวัติศาสตร์ เรื่องราว และวัตถุจริง

ผู้เขียนเป็นคนนึงที่ไม่ได้ชอบเดิน Museum ขนาดนั้น แต่เท่าที่ฟังจากเพื่อน ๆ สาย Museum หลายคน การเดิน Museum นั้น ไม่ใช่แค่การเดินชมวัตถุ แต่เป็นการฟังเรื่องราวและวิธีคิด ที่ผู้จัดหรืออกแบบจัดวางมันขึ้นมา เหมือนกับการดูหนังเรื่องหนึ่งหรือการอ่านหนังสือเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ว่าวัตถุหรือเรื่องราวตรงนั้น ปรากฎอยู่ตรงหน้าเรา

กลางเดือนมีนาคม 2019 ปลายฤดูหนาว ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยือน MIT Media Lab ที่เมือง Cambridge ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้ใช้โอกาสช่วง Weekend บินจากบอสตันมา Wahsington DC เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อชม Museum แทบจะทุกแนว ซึ่ง DC นั้นเป็นเมืองแห่ง Museum เลยก็ว่าได้ ถ้าเรากางแผนผังของเมืองมาดูออก เราจะเห็นบริเวณสวนตรงกลางที่ใหญ่มาก ๆ เราเรียกตรงนั้นว่า National mall ซึ่งก็จะรายล้อมไปด้วย Museum ต่าง ๆ และสถานที่สำคัญ ๆ เช่น White House หรืออาคาร Capital Building ของสหรัฐฯ

แต่ Museum ที่เราไม่สามารถพลาดได้ในฐานะที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อวกาศ ก็คือ National Air and Space Museum ซึ่งก็ตั้งอยู่กลาง National mall เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ใครที่มาถึง DC แล้ว ต้องมาดูซักครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบเรื่องอวกาศก็ตาม

สำหรับการเดินทางครั้งนี้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปเยี่ยมชม MIT Space Week ซึ่งสนับสนุนโดย สถานทูตสหรัฐอเมริกา และเว็บไซต์ Dek-D ที่ต้องการสนับสนุนคอนเทนต์ดี ๆ และเรื่องราวที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กไทย

บริเวณด้านหน้าของ National Air and Space Museum

วันที่เราไปนั้น น่าเสียดายนิดนึง ตรงที่บางโซนนั้นปิดปรับปรุง เพื่อจัดนิทรรศการใหม่ในธีมครบรอบ 50 ปีการลงจอดดวงจันทร์ (เราชอบ Museum ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้ทันต่อกระแสในตอนนั้นเสมอ ๆ) แต่เราก็ได้เดินชมแทบจะ 80% ของบริเวณทั้งหมด และได้พบกับอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจมาก

แบบจำลองจองยานอวกาศต่าง ๆ ในขนาด 1:1 ถูกแขวนไว้กันหมด

เดินเข้าไป เราก็จะอยู่ในห้องโถงขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วน Reception แต่บริเวณนี้ก็มีการจัดแสดงแล้ว มองขึ้นไปเราจะเห็นยานอวกาศต่าง ๆ ในรูปหลัก ๆ 3 อันก็ได้แก่ยาน Voyager ยานสำรวจที่ถูกส่งไปนอกระบบสุริยะ ยาน Mariner ที่สำรวจดาวศุกร์ และยาน Space Ship One ของ Virgin Galactic

เครื่องบิน X-15 เครื่องบินแตะขอบอวกาศที่พัฒนาร่วมโดย NASA และกองทัพอากาศสหรัฐ ลำนี้คือลำที่ถูกสร้างขึ้นมาลำแรก และถูกใช้งานแล้วจริง ๆ

หันมาอีกมุมก็จะเจอกับเครื่อง X-15 ที่ถ้าใครดูหนังเรื่อง First Man มา มันคือเครื่องบินที่ Niel Armstrong บินตอนต้นเรื่อง ซึ่งเป็นเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงที่ใช้เครื่องยนต์จรวด พามันไปบินแตะขอบอวกาศ ซึ่งลำที่จัดแสดงอยู่นี้ Official บอกว่า เป็น X-15 ลำแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย กราบซิลูก

Lunar Module หมายเลข 2 หรือ LM-2 ที่ใช้สำหรับ Ground Testing  หรือการทดสอบภาคพื้นดิน

เดินต่อมาเราจะเห็นกับ Lunar Module หรือส่วนที่เดินทางไปลงจอดดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo ต่าง ๆ ซึ่งตัวที่จัดแสดงอยู่นี้คือ LM-2 เป็นโมดูลจริง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อใช้ทดสอบ ดังนั้นที่ไม่ใช่โมเดลหลอกเด็ก แต่เป็นงานวิศวกรรมอวกาศของจริง

Apollo LM-2 ในห้องประกอบที่ Long Island, New York ที่มา – NASA/Apollo Archive

จะเริ่มเห็นแล้วว่า วัตถุต่าง ๆ ใน National Air and Space Museum นั้นมีเรื่องราวและที่มาจริง ๆ ดังนั้น ถ้าใครจะไปเยี่ยมชมให้ละเอียดอาจจะต้องใช้เวลาประมาณครึ่งวันไปเลย และทำ Research ก่อนไปดูเยอะ ๆ จะทำให้เราตื่นเต้นมากขึ้น

ขีปนาวุธข้ามทวีป SS-20 หรือ Pioneer ของจริงที่สหภาพโซเวียตส่งมาให้ (แบบไม่ได้ยิงมา)

หันไปทางซ้ายของโถง เราจะเห็นโซนจัดแสดง ICBM หรือขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งอันนี้ก็เป็นของจริงเหมือนกัน ส่งมาให้จากสหภาพโซเวียต (แบบค่อย ๆ ส่ง ไม่ได้ยิงใส่) เลขที่ปรากฎด้านข้างนี้ไม่ใช่ลายเพื่อความสวยงามแต่อย่างใด แต่เป็นหมายเลขของแผ่นกระเบื้อง Fiberglass สำหรับอ้างอิงในกระบวนการผลิต ตัวนี้ชื่อว่า Pioneer สูง 16.5 เมตร

Mercury Friendship 7 ยานอวกาศที่พาอเมริกันคนแรกเดินทางรอบโลก

ในปี 1962 นักบินอวกาศชาวอเมริกัน John Glenn เดินทางโคจรรอบโลกครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านั้น Alan Shapperd นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐอเมริกาได้ขึ้นสู่อวกาศในเที่ยวบินแบบ Sub-orbital คือการขึ้นสู่อวกาศแต่ไม่ได้โคจรรอบโลก ทำให้ยานที่ชื่อว่า Mercury Friendship 7 กลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่พาชาวอเมริกันเดินทางรอบโลก ซึ่งยานอวกาศลำนี้ก็ได้ถูกจัดแสดงไว้ใน Air and Space Museum เช่นกัน

Glenn ขณะเข้าไปในยาน Mercury ในเที่ยวบินประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศอเมริกัน ที่มา – NASA

อย่าลืมว่าตรงนี้แล้วยังไม่จบในห้องโถงแรกกันเลย แค่นี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวและวัตถุประวัติศาสตร์แล้ว

ดาวเทียม Telstar ของจริงซึ่งเป็น backup ให้กับ Telstar 1 และ 2

เดินลึกเข้ามาหน่อยกจะเจออีก 1 วัตถุสำคัญ สิ่งนั้นก็คือดาวเทียม Telstar ซึ่งดวงนี้ คือดาวเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมาแบบเดียวกับ Telstar 1 และ 2 เป๊ะ ๆ เนื่องจากถูกใช้เป็นดวง Backup ทำให้ที่เห็นอยู่ตรงหน้าเราคือดาวเทียมจริง ๆ

ทีมงานเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Telstar ไว้ในบทความ Adidas Telstar ที่มาของลูกบอลลายยอดฮิต จริง ๆ แล้วมาจากอวกาศ

จรวด V2 อาวุธสังหารที่ต่อมากลายเป็นสะพานเชื่อมดวงดาว และด้านซ้ายคือจรวด Viking ที่สร้างขึ้นมาจากการศึกษา V2

ในบริเวณที่เราเดินต่อมา เหมาะสำหรับการเดินไปแล้วอ่านบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์จรวด อาวุธสังหารสู่สะพานเชื่อมดวงดาว ไปมาก ๆ เนื่องจากบริเวณนี้ มีการจัดแสดงจรวดประวัติศาสตร์ต่าง ๆ รวมถึง V2 จรวดที่นำมาสู่การพัฒนาด้านอวกาศปัจจุบัน ซึ่งลำที่จัดแสดงอยู่นี้ และ Viking จรวดที่สร้างขึ้นมาจากการศึกษา V2

บริเวณนี้มีชื่อว่า Space Race Exhibition ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวการแข่งขันกันสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ดังนั้นเราจะเห็นจรวดรุ่นต่าง ๆ จัดแสดงอยู่

กล้อง Hubble Space Telescope ที่เป็น  full-scale mockup สำหรับใช้ทดสอบต่าง ๆ

เดินมาอีกก็จะเห็นหนึ่งในวัตถุอวกาศที่คนจำได้ง่ายที่สุดก็คือกล้อง Hubble ซึ่งตัวนี้ ไม่ใช่ของจริง (แน่นอนแหละ) แต่เป็น  full-scale mockup สำหรับใช้ทดสอบต่าง ๆ เช่น การขนย้าย หรือการ Mount เข้ากับตัวกระสวยอวกาศ ซึ่งตัวที่จัดแสดงอยู่นี้ เรียกว่า Dynamic Test Vehicle (SDTV)

Wide Field Planetary Camera II (WFPC 2) 

และถ้ายัง Exclusive ไม่พอ สิ่งที่ปรากฎตรงหน้าเราตรงนี้คือ Wide Field Planetary Camera II หรือ WFPC 2 ซึ่งตัวนี้อธิบายง่าย ๆ มันคือส่วนของ Sensor ของ Hubble ที่ถูกส่งไปเปลี่ยนในปี 1993 ในภารกิจการซ่อม Hubble ครั้งแรก และในปี 2009 มันถูกถอดและนำกลับลงมาที่โลกในภารกิจการซ่อมแซมกล้อง Hubble คือภารกิจ STS-125 ดังนั้น WFPC ตัวนี้ผ่านภารกิจมาแล้วจริง ๆ

นักบินอวกาศ Jeffrey Hoffman กำลังถอด WFPC รุ่นแรก เพื่อเปลี่ยนเป็น WFPC รุ่นที่ 2 ที่มา – NASA

นั่นทำให้เราพูดได้ว่า ภาพประวัติศาสตร์หลาย ๆ ภาพที่เราเห็นกันนั้นถ่ายด้วยอุปกรณ์ตรงหน้านี้ รวมถึงภาพประวัติศาสตร์ “Hubble Deep Field” ในปี 1995 ด้วย ยังไม่รวมภาพถ่ายประวัติศาสตร์ต่าง ๆ

ภาพถ่าย Hubble Deep Field ที่ถูกถ่ายด้วย WFPC2 ที่มา – NASA/Hubble

จริง ๆ แล้วตรงบริเวณ Hubble นั้นมีอะไรแสดงอยู่หลายอย่างมาก ถ่ายมาให้ดูไม่หมด รวมถึงมีกระจก Backup ของ Hubble ด้วย แต่อันนั้นไม่ได้น่าตื่นเต้นมาก เพราะเราเคยพาไปดูกระจกของกล้อง Thailand National Telescope บนดอยอินทนนท์มาแล้ว ซึ่งก็เป็นกระจกแบบ 2.4 เมตรเหมือนกัน

Reentry Capsule ของยาน Soyuz ในภารกิจ TM-11 ตั้งแต่สมัยสถานทีอวกาศ Mir

ยังอยู่ในโซน Space Race ยาน Soyuz ที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้เป็น Soyuz ในภารกิจ TM-11 ที่นำนักบินอวกาศ Gennadi Manakov และ Gennadi Strekalov รวมถึงคุณ Toyohiro Akiyama “นักข่าว” ชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางไปในอวกาศ ในปี 1990 ทำให้ยานลำนี้เก่าแก่อายุเกือบ 30 ปี

ชุดสำหรับการไปดวงจันทร์ของสหภาพโซเวียตที่สุดท้ายไม่มีโอกาสได้ใช้

เมื่อพูดถึง Space Race แล้ว นอกจากการแข่งกันส่งดาวเทียม การแข่งกันส่งคนไปโคจรรอบโลก อีกการแข่งขันหนึ่งก็คือการแข่งขันไปยังดวงจันทร์ ซึ่งเรารู้ว่าอเมริกาประสบความสำเร็จในปี 1969 ส่วนสหภาพโซเวียตนั้น ไม่เคยไปถึงดวงจันทร์ด้วยมนุษย์เลย (แม้ว่าตัวเองจะลงจอดบนดวงจันทร์ได้ก่อน) ทำให้ชุดที่ไม่มีโอกาสได้ใช้นี้มีความพิเศษและแสดงถึงเรื่องราวการเดินทางที่ไม่ถึงเป้าหมายของนักบินอวกาศโซเวียต

ชุดของนักบินอวกาศ David Scott ที่เดินทางไปดวงจันทร์ใน Apollo 15

วางอยู่ข้าง ๆ กันคือตัวแทนของความสำเร็จ ชุดของนักบินอวกาศ David Scott ที่เขาเคยใส่เดินบนดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 15 ในปี 1970 เพียงแค่ 1 ปีหลังจากการลงจอดของ Apollo 11 และหลังจากการเฉียดตายของ Apollo 13

สิ่งที่น่าจดจำอีกอย่างนึงของชุดนี้ก็คือ David Scott ได้นำ “Fallen Astronaut” ไปวางไว้บนดวงจันทร์เพื่อแสดงความเคารพแก่นักบินอวกาศผู้ล่วงลับทั้งหลาย ทั้งทางฝั่งอเมริกาและฝั่งโซเวียต เพื่อบอกว่า แม้เราจะแข่งขันกัน แต่เราคือเพื่อนกัน เพื่อนนักสำรวจอวกาศ

Fallen Astronaut สัญลักษณ์แสดงความไว้อาลัยที่นักบินในภารกิจ Apollo 15 วางไว้บนดวงจันทร์ ที่มา – NASA

และย้อนกลับไปอีก ความสำเร็จทั้งหลาย จะไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีผู้กล้าสองคนที่ชื่อ Yuri Gagarin และ John Glenn นักบินอวกาศคนแรกที่เดินทางรอบโลกจากสองฝั่งทั้งสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ซึ่งชุดของพวกเขาทั้งสองนั้นก็ได้แสดงอยู่ที่นี่ด้วย

ชุดนักบินอวกาศของจริง ของ Glenn และ Gagarin

ชุดนี้แม้จะไม่ใช่ชุดในเที่ยวบินประวัติศาสตร์ของทั้งคู่ แต่ก็เป็นชุดที่ถูกสวมแล้วสำหรับการฝึก ทำให้ขนาดของชุดที่ต่างกัน เราสามารถจินตนาการถึงทั้งคู่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อผู้เขียนมองไปที่ชุดนี้แล้ว มันสัมผัสได้ถึง Spirit ที่ไม่ใช่วิญญาณในความเชื่อทางศาสนา แต่เป็นจิตวิญญาณของความกล้าหาญ ความเป็นนักบินอวกาศ และผู้กล้า ผู้เสียสละ ในแบบที่อธิบายไม่ถูก แต่มันทรงพลังมากจริง ๆ

ดาวเทียม Vanguard TV3 ที่เสียหายจากการระเบิด

ถ้ายังจำกันได้ การส่งดาวเทียม Vanguard TV3 นั้นจบลงในกองเพลิงเมื่อจรวดนำส่งเกิดระเบิดขึ้นในปี 1957 แต่ตัวดาวเทียมนั้นกลับรอดมาได้ในรูปแบบของซาก ซึ่งซากนั้นก็ได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ในที่นี่ด้วย

6 ธันวาคม 1957 จรวด Vanguard และดาวเทียมได้ระเบิดขณะส่ง ที่มา – NASA Archive

นปี 1954 อเมริกาก็ได้เริ่มต้นโครงการ “Project Orbiter” ที่ต้องการส่งดาวเทียมเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์สู่อวกาศภายในปี โดยใช้จรวดมิสไซล์ Redstone แต่กลับถูกทางสำนักประธานาธิบดีปฏิเสธ แล้วหันไปสนับสนุนโครงการแวนการ์ดแทน ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาพยายามที่จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมของกองทัพและทำให้ดูเป็นกิจการของพลเรือนมากขึ้น ดังนั้น Vanguard จึงเกิดมาพร้อม ๆ กับ NASA เลยทีเดียว

หมดจากยุคสงครามเย็นก็เป็นยุคของกระสวยอวกาศ ซึ่งที่นี่แม้จะไม่ได้มีกระสวยอวกาศให้ดูแต่ก็มีเครื่องยนต์ RS-25D หรือ Shuttle Main Engine ของกระสวยอวกาศมาจัดแสดงด้วย

ผู้เขียนกับเครื่องยนต์ของกระสวยอวกาศ

เครื่องยนต์ตัวนี้เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ในการกิจ STS-30 ของกระสวยอวกาศ Atlantis ที่ใช้ในการส่งยาน Magellan ขึ้นสู่อวกาศในปี 1989 และ STS-34 ในปี 1989 ที่ส่งยาน Galileo เดินทางไปยังดาวพฤหัส และอีกหลาย ๆ ภารกิจสำคัญ ๆ ไม่ต่ำกว่า 6 ภารกิจ

Aerogel วัสดุในสถานะของแข็งที่เบาที่สุดที่เคยถูกสร้างมาในประวัติศาสตร์

อีกหนึ่งสิ่งที่จัดแสดงที่รู้สึกว่าน่าทึ่งก็คืออุปกรณ์ที่ใช้ในภารกิจ Stardust หรือ “ละอองดาว” ที่เดินทางไปเก็บตัวอย่างละอองดาวหาง Wild 2 ในปี 1999 และส่งกลับมายังโลกในปี 2006 เป็นภารกิจแบบ Sample Return Mission

Capsule ที่ใช้เก็บตัวอย่างและเดินทางกลับโลก ตัวนี้ตกกลับสู่โลกในเดือน มกราคมปี 2006 พร้อมกับตัวอย่างดาวหาง

วิธีการของ Status คือใช้วัสดุที่ชื่อว่า Aerogel เป็นตัวดักจับฝุ่นละอองของดาวหาง จากนั้นเก็บกลับเข้ามาในตัว Capslule ผ่านอุณหภูมิกว่า  2,900 องศาเซลเซียส ร้อนกว่าผิวของดวงอาทิตย์ และตกกลับลงมาด้วยอัตราเร็ว 12.9 กิโลเมตรต่อวินาที เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของการ Reentry วัตถุกลับจากอวกาศ

จริง ๆ แล้วใน National Air and Space Museum นั้นยังมีอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่ให้เราไปค้นหา สลับผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ดังนั้นไปแต่ละครั้ง เราจะได้ชมอะไรที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว อย่างเช่นรอบนี้ เราได้ชมไอเทมจากฝั่ง Hubble เยอะหน่อย ในขณะที่ยาน Apollo 11 ถูกเก็บไปเพื่อไปเตรียมจัดแสดงในโอกาสครบรอบ 50 ปี Apollo

ผู้เขียนเองคงพาชมได้ไม่หมด แต่สิ่งที่อยากจะให้รับรู้ไว้ก็คือถ้ามีโอกาสได้เดินทาไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและได้ไปเยือนกรุง Washington DC แล้วละก็ อย่าลืมหาโอกาสไปชม National Air and Space Museum ซักครั้งเพื่อรับพลัง รับแรงบันดาลใจ และมองประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศของมนุษย์ผ่านวัตถุและเรื่องราวพวกนี้

อย่าลืมว่าอวกาศนั้นคือพรมแดนสุดท้ายที่มนุษย์ต้องก้าวข้าม เราเดินทางรอบโลก เราสร้างเครื่องบินที่เดินทางข้ามแอตแลนติก และตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ผ่านมานับจากวันแรกที่จรวดลำแรกถูกส่งขึ้นไป มันไม่ถึง 100 ปีด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับกรอบเวลาใหญ่ของมนุษยชาติที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแล้ว มันแทบจะเป็นแค่เสี้ยววินาที แต่เสี้ยววินาทีนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ การส่งคนไปดวงจันทร์ ส่งยานไปสัมผัสดวงอาทิตย์ ส่งยานออกนอกระบบสุริยะ และถ่ายภาพหลุมดำ

Washington DC เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา

ในชั่วชีวิตนี้ เราได้เห็น ได้สัมผัส และจะได้ร่วมเป็นพยานในอีกหลาย ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้น พูดได้ว่าเป็นยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุด และเมื่อมนุษย์ย้อนมองกลับมา นี่จะเป็นยุคที่น่าจดจำไม่แพ้ยุคเรเรซองส์ หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การเดินทางครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจของสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสร้างเยาชนผู้นำในการแก้ปัญหาระดับภูมิภาค (สหรัฐอเมริกามีโครงการ YSEALI เพื่อสนับสนุนกิจกรรมแนวนี้ ) และเว็บไซต์ Dek-D ที่ต้องการสนับสนุนให้เด็กไทยได้ทำตามฝันและเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดนอกห้องเรียน

บันทึกการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้

รียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.