บทความและหัวข้อนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากข่าวเวลาที่มีการตรวจเจอนักเรียน นิสิต นักศึกษาต่าง ๆ แอบนำเหล้าเข้าไปในมหาวิทยาลัย หรือแอบซ่อนไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในห้องเรียน ซึ่งเวลาที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมก็จะแอบยิ้มแล้วก็หัวเราะกับตัวเอง แต่เอาเป็นว่าข้ามประเด็นนี้ไปแล้วกัน จากคำถามว่า “เราสามารถแอบเอาเหล้าขึ้นไปกินบนอวกาศได้มั้ย” คำถามนี้อาจจะดูปั่น ๆ หรือทำขึ้นมาขำ ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้นเยอะมาก
ดังนั้นบทความนี้ เราจะมาขยายความและเล่าเรื่องราวน่าสนใจที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ จากคำถามปั่น ๆ นี้กัน โดยเราจะเริ่มมาค่อย ๆ ขยายประเด็นกันทีละนิด โดยประเด็นแรกที่ต้องคุยกันก็คือ คำว่าไปอวกาศนั้นหมายความว่าอย่างไร?
ปัจจุบัน เราสามารถไปอวกาศได้หลายวิธี โดยวิธีแรกที่เราจะพูดถึงกัน ก็คือการจ่ายเงินเพื่อขึ้นไป เช่น Virgin Galactic, Blue Origin ที่เป็นลักษณะ Sub-orbital flight หรือการบินในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่นาที หรือการบินขึ้นสู่วงโคจรจริง ๆ แบบ SpaceX บนยาน Dragon ซึ่งการบินไปอวกาศแบบนี้ จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลมาก และเนื่องจากเราอาจจะมองว่าเป็นบริการเชิงนำเที่ยว ดังนั้นก็ไม่ได้น่าจะมีปัญหาอะไรถ้าเราจะอยากลองดื่มเหล้าในอวกาศ (ถ้าไม่นับเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเราจะพูดถึงกันในหัวข้อถัดไป)
แต่นอกจากการจ่ายเงินเพื่อขึ้นไปเท่ ๆ แล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางไปอวกาศส่วนมาก ณ ตอนนี้ ก็ยังคงเป็นภารกิจในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเป็นภารกิจจากหน่วยงานรัฐบาล เช่น NASA จากฝั่งสหรัฐฯ Roscosmos จากฝั่งรัสเซีย ESA จากฝั่งยุโรป หรือหน่วยงานอวกาศอื่น ๆ อยู่ การไปอวกาศลักษณะนี้นั้นก็เรียกได้ว่าเป็นการไปทำงาน หรือไปทำภารกิจ ดังนั้นการจะนำเหล้าไปกินในเวลางาน ก็ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่น่าตื่นเต้นไปหน่อย
ดังนั้น สรุปประเด็นแรก ถ้าเราแบ่งการเดินทางสู่อวกาศได้ 2 ลักษณะ คือ การไปเพื่อท่องเที่ยว กับการไปเพื่อทำภารกิจ การไปเพื่อท่องเที่ยวนั้นก็ดูจะอิสระและเหมือนจะอยากทำอะไรที่อยากทำได้มากกว่า อย่างไรก็ตามจนถึง ณ ตอนนี้ ยังไม่มีรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวอวกาศคนใด ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มมึนเมาในอวกาศแต่อย่างใด (แต่กลับมีข้อมูลที่น่าเซอร์ไพรส์ ที่ต้องอ่านบทความนี้ต่อแล้วจะรู้)
ในขณะที่การไปทำภารกิจ ปกตินักบินอวกาศจะต้องมีการลิสต์รายการสิ่งของที่นำขึ้นไปบนอวกาศอย่างละเอียดมาก ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการนำส่ง การจะนำสิ่งของที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจขึ้นไปบนอวกาศ เช่น การขึ้นไปประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานชาติ หรือแม้กระทั่งการไปดวงจันทร์ในยุค Apollo จำเป็นจะต้อง “แอบนำขึ้นไป”
การแอบนำของส่วนตัวขึ้นไปกับภารกิจอวกาศ
ในหัวข้อนี้เราจะขยายหัวข้อกว้างออกมาหน่อยเพื่อให้เห็นภาพ ว่าด้วยเรื่องการแอบนำของส่วนตัวขึ้นไปกับภารกิจอวกาศ พอพูดแบบนี้ หลายคนอาจจะตกใจว่า นักบินอวกาศไม่ได้รับอนุญาตให้นำของส่วนตัวขึ้นไปบนอวกาศหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้ว นักบินอวกาศนั้น (โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน) สามารถเลือกนำของส่วนตัวเช่น หนังสือ, อุปกรณ์อ่านหนังสือ ฟังเพลง, ภาพถ่าย, สมุดบันทึก หรือแม้กระทั่งเครื่องดนตรี ขึ้นสู่อวกาศได้ แต่ต้องมีการลงรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน เช่น ถ้าเป็นจากฝั่ง NASA ก็จะต้องมีการรายงานไปยังหน่วยงานที่ดูแล Payload ที่จะถูกส่งขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติทั้งหมด คือ Payload Operations and Integration Center ที่จะลิสต์รายชื่อสิ่งของแทบทุกชิ้นบนสถานีอวกาศ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย
ภาพของนักบินอวกาศกับของใช้ส่วนตัวจึงปรากฎออกมาให้เราเห็นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา เครื่องดนตรี หรือหนังสือ ซึ่งก็ให้เข้าใจตรงกันว่าทั้งหมดนี้ ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต้นสังกัดแล้ว
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยมีการ “แอบลักลอบนำสิ่งที่ไม่ได้แจ้งต้นสังกัด” ขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งประวัติศาสตร์ของมัน ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ ในปี 1965 นักบินอวกาศ John Young และ Gus Grissom สองฮีโร่ยุค Apollo ได้นำแซนวิช แอบเข้าไปในยาน ในภารกิจ Gemini 3 แถมยังกินโชว์ออกสื่ออีกด้วย
อ่านบทความ – การลักลอบนำขนมปังขึ้นไปกินบนอวกาศ
พอมีครั้งแรกก็ต้องมีครั้งอื่น ๆ ตามมา ในปี 1965 นักบินอวกาศ Walter Schirra ในโครงการ Gemini VI-A ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจเตรียมความพร้อมสำหรับ Apollo ได้แอบนำเครื่องดนตรี harmonica ขึ้นไปเป่าบนอวกาศ แถมไม่ใช่แค่นั้น ในหนังสือชีวประวัติของ Schirra ที่ชื่อว่า Schirra’s Space ยังระบุเอาไว้ว่า Schirra แอบนำเหล้า Scotch ขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ตาม NASA ไม่เคยออกมายืนยันข้อมูลเรื่องเหล้า Scotch แต่ถ้าเป็นจริง Schirra จะเป็นคนแรกที่แอบเอาเหล้าขึ้นไปบนอวกาศ
หลังจากนั้น ก็ได้มีการทำอะไรบ้า ๆ บอ ๆ อีกเยอะมาก เช่น การแอบเอากอล์ฟไปตีบนดวงจันทร์ โดย Alan Shepard การแอบเอาภาพโป๊จากนิตยสาร Playboy ไปบนดวงจันทร์ ของ Apollo 12 หรือถ้าเอาแบบกาว ๆ หน่อยก็คือ Edgar Mitchell ที่ไปทดลองเรื่องสัมผัสที่หกบนดวงจันทร์ (อันนี้ออกแนวเมา ๆ มากกว่ากวนตีน) ซึ่งได้ถูกรายงานไว้ใน รายงานบน The New York Times
แล้วสรุปมีรายงานเกี่ยวกับการดื่มเหล้าในอวกาศจริง ๆ หรือไม่
อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าอ่าน ๆ มาจะเจอข้อมูลที่จะเซอร์ไพรส์ทุกคน ซึ่งข้อมูลนั้นก็คือ “มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอวกาศจริง แถมไม่ใช่การแอบด้วย” แถมคนที่ดื่มก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น Buzz Aldrin ในภารกิจ Apollo 11 โดยข้อมูลนี้มาจาก บทความบน The Guardian ในปี 2012 เรื่อง How Buzz Aldrin’s communion on the moon was hushed up ที่พูดถึงสิ่งที่ตัว Aldrin เขียนไว้ในนิตยสาร Guideposts ในปี 1970
เรื่องราวที่น้อยคนที่จะรู้นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำพิธี Communion หรือศีลมหาสนิท ของ Buzz Aldrin บนดวงจันทร์ โดย Aldrin ได้นำเอาขนมปังและไวน์ ไปทำพิธีบนยาน Lunar Module ก่อนที่ Buzz และ Niel Armstrong จะลงเหยียบผิวดวงจันทร์
อย่างไรก็ตามการทำ Communion บนดวงจันทร์นั้น ไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะจากทาง NASA เพราะไม่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของภารกิจ Apollo ที่เน้นไปในทางภารกิจเชิงวิทยาศาสตร์ (ในตอนนั้น แต่สำหรับตอนนี้เรารู้สึกว่าพูดไปเถอะ เพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ เพราะเราเองก็พูดถึงประเด็นเรื่องศาสนากับวิทยาศาสตร์ไปเยอะมาก)
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากฝั่งรัสเซียว่า ในปี 1984 นักบินอวกาศ Igor Volk ก็เคยแอบนำเอา Cognac ขึ้นไปบนสถานีอวกาศ Salyut 7 ด้วยเช่นกัน แต่เป็นลักษณะของการแอบนำขึ้นไป
แต่ก็มีการดื่มกันจริง ๆ บนสถานีอวกาศที่ไม่ต้องแอบด้วย
นอกจากกรณีการแอบนำขึ้นไปของนักบินอวกาศยุคแรก ๆ หรือการดื่มเพื่อทำพิธีของ Buzz Aldrin แล้ว ถามว่ามีการดื่มกันจริง ๆ ในอวกาศ (แบบ ปาร์ตี้ กินเหล้า) มั้ย คำตอบก็คือ ก็ยังมีอยู่ดี ซึ่งเป็นกรณีของฝั่งรัสเซีย ซึ่งก็คือปาร์ตี้ Cognac อีกแล้ว ซึ่ง Alexander Lazutkin นักบินอวกาศรัสเซีย ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในงานของ Moscow’s Memorial Museum of Cosmonautics ที่รายงานผ่าน บทความของ ABC News ไว้ว่า กฎเรื่องของการดื่มแอลกอฮอล์ในฝั่งรัสเซียนั้นหลวมกว่าฝั่ง NASA มาก ในระหว่างที่พวกเขากำลังฉลองกัน นักบินอวกาศ NASA ( Jerry Linenger) ไม่ได้เข้ามาร่วมด้วย และทำหน้าที่ถ่ายภาพแทน (เศร้าจังวะ)
ในภาพ เป็นการดื่มกันหลังจากอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นในภารกิจ Mir-23 ที่เกิดไฟไหม้ในตัวโมดูล ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1997 (ซึ่งเอาจริง ๆ Mir-23 นี่ซวยมาก เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ก็เกิดอุบัติเหตุยาน Progress ชนกับตัวสถานีจนเสียหาย)
เชื่อว่ามาถึงตรงนี้ ทุกคนก็จะสะใจซะทีว่า โอเค มันมีการกินเหล้ากันบนอวกาศจริง ๆ ด้วย Lazutkin ยังเคยให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม บอกว่าจริง ๆ แล้วการดื่ม Cognac ในอวกาศนั้น เป็นเรื่องที่ดีด้วย เพราะเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
ในบทความเรื่อง How to Drink Cognac in Space ของ Smithsonian ยังอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ Jeffrey Manber CEO ของบริษัท Nanoracks (ซึ่งใครที่อ่านเราบ่อย ๆ จะได้ยินบริษัทนี้บ่อย เป็นบริษัทที่ให้บริการส่ง Payload ไปอวกาศ) ซึ่ง Manber เล่าถึงในตอนที่เขายังทำงานที่ Energia ในยุค 90 บอกว่า มีการดื่ม Cognac หรือ Vodka กันบนสถานีฯ Mir ในช่วงวันหยุดจริง ๆ แต่จะดื่มทีละนิด ไม่เกินสัปดาห์ละครั้ง หรือหลังจากงานที่หนักจริง ๆ
การส่ง Cognac ขึ้นไปบนอวกาศนั้น จะบรรจุลงในขวดขนาดไม่เกิน 250 มิลลิลิตร (ก็ประมาณขวดน้ำขวดเล็ก ๆ จิ๋ว ๆ เปรียบให้เป็นภาพอีกก็คือ แก้ว Tall ของ Starbucks คือ 350 มิลิลิตร ส่วนน้ำขวดเล็ก จะอยู่ที่ประมาณ 600 มิลลิลิตร) โดยในการกินหนึ่งครั้ง จะกินกันประมาณ 25 มิลิลิตร (เรียกว่าชิมดีกว่า) ดังนั้น ไม่เมาแน่ ๆ
จึงสรุปได้ว่า Cognac นั้นเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตของนักบินอวกาศ บนสถานีอวกาศ Mir เลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม ทางฝั่ง NASA เอง ก็ยืนยันอย่างชัดเจนว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในอวกาศ ยังคงเป็นข้อห้าม และมีกฎการดูแลนักบินอวกาสอย่างชัดเจน ทำให้นอกจากกรณีของ Mir แล้ว เราแทบจะไม่เห็นรายงานการดื่มในสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบันเลย แถมยังมีการเปิดประเด็นนี้กับฝั่งรัสเซียด้วยว่า อย่าให้มันเอาเหล้ามากินกันอีก (ฮา)
หลังจากนั้นเป็นต้นมาในยุคของสถานีอวกาศนานาชาติ ก็แทบไม่มีรายงานเรื่องการแอบเอาเหล้าขึ้นไปกินอีกเลย เว้นแต่การทดลองที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้กิน)
แล้วมีไอเดียของการดื่มเหล้า ไวน์ วิสกี้ วอดก้า ยิน หรือเครื่องดื่มมึนเมาอื่น ๆ หรือไม่
ในปี 2019 ได้มีการส่งไวน์แดง Pétrus Vintage ปี 2000 ขึ้นไปไว้บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 14 เดือน (ซึ่งต้องบอกว่า Pétrus นี่ดีและแพงมาก ๆ ขวดนึงนี่เกือบแสน ยิ่งเป็นพวก Vintage นี่อัพราคาไปได้อีกหลายแสนแน่ ๆ) พอกลับลงมา ไวน์ขวดดังกล่าวก็มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 34 ล้านบาท เลยทีเดียว
ใครที่เป็นสายเบียร์ก็ไม่น้อยหน้า เพราะในภารกิจ Inspiration4 ปี 2019 ได้มีการทดลองนำเอา hops น้ำหนัก 32 กิโลกรัม บินขึ้นไปในอวกาศด้วย ก่อนที่จะนำกลับมาบนโลกและประมูลขายเพื่อระดมทุนในงานการกุศล เพื่อเอาไปทำเป็นเบียร์
ก่อนหน้านั้นในปี 2017 บริษัท Budweiser ก็เคยทำการทดลองในการส่งเมล็ดบาร์เลย์ ขึ้นไปบนอวกาศเป็นเวลา 30 วัน หรือบริษัทผลิตคราฟเบียร์ที่ชื่อ Ninkasi ในสหรัฐฯ ก็ได้มีการทำเบียร์รุ่น Ground Control ซึ่งเป็นการส่งยีสต์ขึ้นไปกับจรวดขนาเล็กหรือ Sounding Rocket ไปที่วงโคจรแบบ Sub-orbital แล้วเอายีสต์กลับมาทำเบียร์ บอกว่าเป็นเบียร์ที่เกิดจากยีสต์ที่รอดชีวิตจากการไปอวกาศมาแล้ว (ว่าไปนั่น)
มาถึงสาย Liquor บ้าง บริษัท Ardbeg เคยทำภารกิจ ส่ง Scotch ของตัวเองขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2011 บริษัท Boutique-y เคยส่ง Gin ที่ชื่อว่า Moonshot Gin ขึ้นไปบนบอลลูนในสภาวะใกล้เคียงกับอวกาศ หรือบริษัท Suntory (อันนี้หลายคนน่าจะคุ้นเคยดี ทำเหล้าตั้งแต่พวกเหล้าพีชกระป๋อง ไปจนถึงพวก Wishky) ก็เคยส่ง Wishky ของตัวเองขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติด้วยเช่นกัน
ส่วนใครที่เป็นสายแชมเปญ บริษัท G.H. Mumm ก็เคยทำงานวิจัย ออกแบบแก้วแชมเปญสำหรับการดื่มในอวกาศ โดยทำแชมเปญรุ่นพิเศษ พร้อมแก้ว ขึ้นไปดื่มในเครื่องบินที่บินแบบ Zero-G ด้วย
สรุปแล้วการดื่มแอลกอฮอล์ในอวกาศมันยังไงกันแน่
เอาเป็นว่า วันหนึ่งมนุษย์ก็จะต้องใช้ชีวิตในอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปดาวอังคาร หรือการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร ดวงจันทร์ หรืออะไรก็ตามแต่ ที่เราเปิดประเด็นด้วยเรื่องของ Space Tourism ก็เพราะเรื่องนี้นี่แหละ เราต้องการจะบอกว่า มันเหมือนกับการกินเหล้าบนเครื่องบิน ทุกวันนี้เวลาเรานั่งเครื่องบิน เราแทบจะสามารถสั่งเหล้าได้ทุกชนิดที่มี แต่ถามว่าคนขับเครื่องบินหรือลูกเรือกินเหล้าได้มั้ย ก็ไม่ เพราะนั่นคือการทำงานของพวกเขา แต่ถามว่าเราสามารถกินเหล้าจนเมา โวยวายบนเครื่องบินได้มั้ย ก็อาจจะได้ แต่ถ้าทำก็อาจจะโดนลูกเรือจับรัดไว้กับที่นั่ง พร้อมแจ้งตำรวจจับ หรือโดนสายการบินแบนตลอดชาติ และโดนค่าปรับอีกมหาศาล ดังนั้นทุกอย่าง มันจะมีวัตถุประสงค์ของมันอยู่
จริง ๆ หนึ่งในเหตุผลที่นักบินอวกาศ โดยเฉพาะบนสถานีอวกาศนานชาติถูกห้ามไม่ให้ดื่มเหล้า ก็มีเหตุผลหลายอย่างประกอบด้วยกัน การมีสติในการทำงานก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องก็คือระบบการจัดการน้ำบนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่จะต้องหมุนเวียนน้ำ (พูดตรง ๆ ก็คือฉี่ของนักบินอวกาศ จะกลายมาเป็นน้ำดื่มอีกที) ซึ่งเครื่องพวกนี้ เขาคิดมาแล้วว่าจะทำงานยังไงให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำสะอาด การที่เพิ่มแอลกอฮอล์เข้าไปในระบบ ก็เหมือนเป็นการเพิ่มสารแปลกปลอมเข้าไป
อ่าน – นักบินอวกาศดื่มน้ำจากปัสสาวะของตัวเอง และเพื่อนร่วมภารกิจ (ที่ผ่านการกรองจนสะอาดกว่าน้ำบนโลก)
หรือกรณีว่านักบินอวกาศแต่ละคน ตัวเขาเองก็คือการทดลอง การดูผลกระทบของอวกาศต่อการใช้ชีวิต สุขภาพต่าง ๆ ทุกอย่างที่นักบินอวกาศกิน ทุกการออกกำลังกาย ทุกจังหวะการเต้นของหัวใจ แทบจะทุกก้าวถูกนำมาเป็นตัวแปรสำหรับงานวิจัยหมด ทีนี้สมมติว่าเราให้นักบินอวกาศกินเหล้า เราก็ต้องเพิ่มตัวแปรเข้าไป แล้วการดื่มเหล้าจะกระทบกับอย่างอื่นมั้ย กระทบอย่างไร ข้อมูลที่เรามียังน้อยอยู่ ดังนั้น ถ้ามีตัวแปรอื่นที่ไม่จำเป็นก็ตัดไปก่อนดีว่า
แต่ความเป็นจริง เราก็ Aware อยู่ตลอดแหละ ว่า วันหนึ่งมนุษย์ก็ต้องดื่มเหล้าในสภาวะที่เป็นอวกาศ เหมือนที่ทุกวันนี้เราดื่มเหล้ากันบนเครื่องบิน แม้ผลกระทบจากการอยู่ในเครื่องบินจะส่งผลกับเรา และสมมติว่าเราจะทำการทดลองเรื่องการดื่มเหล้าในอวกาศจริง ๆ เราเริ่มต้นจากการทำบนโลกก่อนก็ได้เช่นกันในระยะสั้น ๆ ดังนั้นเราอาจจะยังไม่ได้เห็นการทดลองให้นักบินอวกาศกินเหล้าในเร็ววันนี้ แต่จะเห็นการทดลองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหล้า แต่ไม่ได้เป็นการกินแทน (เช่น การทำแก้วไวน์ Zero-G ของ G.H. Mumm อะไรทำนองนี้)
สรุปตอบคำถามที่เป็นประเด็นหลักของตอนนี้
- ถามว่าแอบเอาเหล้ากินไปกินบนอวกาศได้มั้ย ได้ และมีคนเคยทำด้วย และหลายครั้งจนเกือบเป็นเครื่องปกติในยุคสถานีอวกาศ Mir ด้วย
- เคยมีการหินเหล้าบนอวกาศแบบกินจริงจัง กินให้เมา มั้ย คำตอบคือไม่ และไม่มีใครอยากเสี่ยง
- มีงานวิจัยและการทดลองที่เกี่ยวกับการกินเหล้าในอวกาศมั้ย คำตอบคือมี แต่ไม่เกี่ยวกับการดื่มโดยตรง แต่จะเป็นผลกระทบต่อเหล้า หรือวัตถุดิบใด ๆ ในสภาวะอวกาศแทน หรือการทำการตลาด หรือวิจัยอะไรที่เป็นเชิงแนวคิด เช่น การดื่มแชมเปญในสภาวะไร้น้ำหนัก
แต่สุดท้าย การดื่มก็คือวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง สุดท้ายมนุษย์เราก็จะเมาอยู่ดี ดังนั้นการดื่มเหล้าในอวกาศจึงเป็นหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับใครที่อยากศึกษาต่อ ทั้งในเชิงแนวคิด หรือในเชิงงานวิจัยจริง ๆ เองก็ตาม
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co